เฮย์กรุ๊ป เผยผลสำรวจเงินเดือนและการจ่ายโบนัส

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 14, 2013 15:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--เฮย์กรุ๊ป วันที่ 8 พฤศจิกายน บริษัท เฮย์กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารองค์กรระดับโลก ได้จัดงานสัมมนาประจำปี 2556 ที่โรงแรม เดอะ แลนด์มาร์ค กรุงเทพ เพื่อเปิดเผย ผลสำรวจอัตราค่าตอบแทนประจำปี 2556 รวมถึงแนวโน้มและผลกระทบในปี 2557 โดยที่ปรึกษาจากบริษัทเฮย์กรุ๊ปได้เปิดเผยว่า เนื่องด้วยตลาดแรงงานของไทยมีการเติบโตและมีการแข่งขันกันมากขึ้น ทำให้องค์กรต่างๆ ต้องสร้างความผูกพันต่อองค์กรของพนักงาน พัฒนาศักยภาพด้านความเป็นผู้นำ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในด้านการให้ค่าตอบแทน เพื่อที่องค์กรจะสามารถดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีศักยภาพไว้ได้ เป็นเวลามากกว่า 10 ปี ที่บริษัท เฮย์กรุ๊ป ได้ทำการสำรวจ และเปิดเผยแนวโน้มการจ่ายค่าจ้างค่าตอบแทน รวมไปถึงแนวโน้มที่น่าสนใจในเรื่องของทรัพยากรบุคคล สำหรับผลสำรวจในปีนี้ เราได้ทำการสำรวจร่วมกับองค์กรชั้นนำในประเทศไทยกว่า 200 แห่ง ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อศึกษาถึงนโยบายการจ่ายค่าตอบแทน อัตราการขึ้นเงินเดือน การจ่ายโบนัส และการคาดการณ์แนวโน้มในปีหน้า แนวโน้มการขึ้นเงินเดือนในแต่ละอุตสาหกรรม จากผลการสำรวจที่บริษัท เฮย์กรุ๊ป ได้จัดทำขึ้นนั้น ชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มโดดเด่นในเรื่องของการขึ้นเงินเดือนในปี 2557 สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ โดยอยู่ที่ร้อยละ 7.08 ตามมาด้วยกลุ่มสาธารณูปโภค (พลังงานไฟฟ้า) อยู่ที่ร้อยละ 6.91 และกลุ่มเคมีภัณฑ์อยู่ที่ร้อยละ 6.64 เนื่องด้วยเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสายอาชีพเฉพาะทาง ทั้งนี้ แนวโน้มการขึ้นเงินเดือนในปี 2557 โดยเฉลี่ยของทุกอุตสาหกรรมลดลงเล็กน้อย โดยปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 6.13 ในขณะที่ปีที่แล้วอยู่ที่ร้อย 6.18 แนวโน้มการขึ้นเงินเดือนตามระดับของพนักงาน หากพิจารณาการขึ้นเงินแยกตามระดับของพนักงานนั้นจะพบว่าพนักงานระดับล่างจะมีอัตราการขึ้นเงินเดือนสูงกว่าพนักงานระดับบน โดยในปี 2557 กลุ่มพนักงานที่มีประสบการณ์ (Supervisory/Junior Professional) มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นเงินเดือนสูงกว่าพนักงานระดับอื่น โดยอยู่ที่ร้อยละ 6.21 แนวโน้มการจ่ายโบนัสในแต่ละอุตสาหกรรม ในส่วนของการจ่ายโบนัสรวมประจำปี 2556 มีแนวโน้มว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับโบนัสสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มสาธารณูปโภค โดยอัตราการจ่ายอยู่ที่ 4.73 เดือน ตามด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ อยู่ที่ 3.91 เดือน และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต อยู่ที่ 3.66 เดือน เปรียบเทียบการจ่ายค่าตอบแทนในแต่ละอุตสาหกรรม จากผลการสำรวจพบว่า อุตสาหกรรมที่จ่ายเงินเดือน (Basic Salary) สูงสุด 3 อันดับแรกในปีนี้ คือ กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ตามด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) และกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อัตราการลาออกตามระดับของพนักงาน อัตราการลาออกของพนักงานโดยเฉลี่ยในปี 2556 นั้นไม่แตกต่างจากปี 2555 โดยอัตราการลาออกของพนักงานยังคงอยู่ที่ร้อยละ 13 และพนักงานระดับปฏิบัติการ (Clerical/ Operations) ก็ยังคงมีอัตราการลาออกสูงที่สุด (ร้อยละ 13 ในปี 2555 และร้อยละ 14 ในปี 2556) นโยบายการบริหารค่าจ้างค่าตอบแทน หากพิจารณาการบริหารโครงสร้างเงินเดือนพบว่า องค์กรส่วนใหญ่ ยังคงใช้โครงสร้างค่าตอบแทนรูปแบบเดียวสำหรับทุกตำแหน่งในองค์กร อย่างไรก็ตาม องค์กรหลายแห่งเริ่มมีแนวโน้มการบริหารโครงสร้างค่าตอบแทนมากกว่า 1 โครงสร้างมาใช้ในองค์กร เช่น การบริหารเฉพาะสายงาน โดยเฉพาะสายงานที่มีการแข่งขันสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนั้นแล้ว องค์กรส่วนมากยังใช้เงินเดือนพื้นฐาน (Basic Salary) ในการบริหารค่าตอบแทน แต่ก็มีแนวโน้มว่าหลายองค์กรจะเปลี่ยนจากการมองแค่เงินเดือนพื้นฐาน มาเป็นการมองค่าจ้างค่าตอบแทนแบบโดยรวม (Total Remuneration) และเมื่อพิจารณาด้านนโยบายการจ่ายค่าจ้างค่าตอบแทน แม้องค์กรส่วนมากจะกำหนดนโยบายการจ่ายค่าจ้างค่าตอบแทนที่ค่ากลางเมื่อเปรียบเทียบกับตลาด (P50) แต่ก็พบว่าองค์กรหลายแห่งมีแนวโน้มกำหนดนโยบายการจ่ายมากกว่าค่ากลาง (P50 — P75) เนื่องจากตลาดการแข่งขันด้านอัตราค่าตอบแทนมีการแข่งขันที่สูงขึ้น ฉะนั้นหลายองค์กรจึงต้องการที่จะจ่ายค่าตอบแทนพนักงานสูงกว่าค่ากลางของตลาดเพื่อจะดึงดูดและรักษาพนักงานเอาไว้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ