กกพ. จับมือ 3 การไฟฟ้า ประเดิมโครงการนำร่อง Thailand Demand Response

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 19, 2013 15:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--professional image maker กกพ. จับมือ 3 การไฟฟ้า ประเดิมโครงการนำร่อง Thailand Demand Responseทดสอบความพร้อมในการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินทางด้านพลังงานมุ่งลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า พร้อมลดภาระผู้ใช้ไฟ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) พลิกโฉมหน้าการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าด้วย โครงการนำร่องส่งเสริมการลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงความต้องการไฟฟ้าสูงสุด หรือ Thailand Demand Response ระหว่างวันที่ 25 – 27 ธันวาคม 2556 โดยจะเป็นการทดสอบกลไก Demand Response เพื่อบริหารจัดการการใช้พลังงานในช่วงเวลาความต้องการไฟฟ้าสูงสุด และจะนำผลทดสอบที่ได้มาเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์หยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติในช่วงเดือนเมษายน และเดือนมิถุนายน 2557 ปีหน้านี้ ซึ่งผลที่จะได้คือปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงในช่วงเวลาใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Period) และลดการใช้น้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้า ตลอดจนช่วยลดภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าในส่วนของค่าเอฟที (Ft) ได้อีกด้วย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้กล่าวถึงแนวทางการดำเนินโครงการว่า เนื่องจากแหล่งก๊าซธรรมชาติ แหล่งเยตากุน จะหยุดบำรุงรักษาในช่วงเวลาจะดำเนินโครงการในระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2556 – 8 มกราคม 2557 โครงการนำร่อง Thailand Demand Response จึงเกิดขึ้นในรูปแบบการขอความร่วมมือลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากกลุ่มเป้าหมายที่เคยเข้าร่วมโครงการมาแล้วจากเหตุการณ์หยุดจ่ายก๊าซแหล่งยานาดา เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2556 ที่ผ่านมา โดยโครงการนำร่องฯ นี้มีเป้าหมายหลักเพื่อทดสอบความพร้อมที่จะนำกลไก Demand Response มาใช้บริหารจัดการในช่วงเวลาความต้องการไฟฟ้าสูงสุดวิกฤตในช่วงเดือนเมษายน และเดือนมิถุนายน 2557 ต่อไป “กกพ. ร่วมกับ 3 การไฟฟ้าฯ จะจัดให้มีการประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์แนวทางการดำเนินโครงการนำร่องฯ กับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ในวันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2556 นี้ เวลา 13.30 น. เป็นต้นไป ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล ถนนศรีอยุธยา และจะเปิดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมดังกล่าว ร่วมลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในกรณีที่สามารถดำเนินการได้ในวันดังกล่าวด้วย ซึ่งกลุ่มเป้าหมายจะเป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มอาคารธุรกิจ ห้างสรรพสินค้า ที่เคยเข้าร่วมโครงการมาแล้วเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2556 ที่ผ่านมา จำนวนทั้งสิ้น 46 ราย” ดร.ดิเรก กล่าว ด้าน ดร.พัลลภา เรืองรอง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวเสริมว่า การดำเนินโครงการนำร่องฯ นี้มีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าประมาณ 200 เมกะวัตต์ ในระหว่างวันที่ 25 – 27 ธันวาคม นี้ ตั้งแต่เวลา 13.00 – 20.00 น. เนื่องจากเป็นช่วง Peak Period ของระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยให้ กฟผ. ที่ทำหน้าที่ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าและรับผิดชอบโครงการ DSM เป็นผู้บริหารการลดการใช้ไฟฟ้า และให้ กฟน. กฟภ. ทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวม หรือ Load Aggregator ส่งข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละราย เพื่อคำนวณส่วนต่างระหว่างปริมาณการใช้ไฟฟ้าของผู้เข้าร่วมโครงการ ในระหว่างวันที่ 25 – 27 ธันวาคม นี้ เทียบกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าฐานเฉลี่ย หรือ Baseline ในระยะเวลา 10 วันก่อนการเริ่มโครงการนำร่องฯ โดย กฟน. และ กฟภ. จะรวบรวมข้อมูลส่งให้ กฟผ. ไปประเมินศักยภาพของโครงการต่อไป อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กกพ. ได้คาดการณ์ว่า หากสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 4.2 ล้านหน่วยตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะทำให้ประหยัดการใช้นำมันเตาได้ประมาณ 25.2 ล้านบาท ซึ่งหมายถึงค่า Ft ในงวดถัดไปจะลดลงได้ประมาณ 0.05 สตางค์ต่อหน่วย “สำหรับการดำเนินการต่อไป กกพ. จะพัฒนารูปแบบของโครงการ Demand Response ให้สามารถจูงใจผู้ใช้ไฟฟ้าให้ลดการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ด้วยการให้เงินชดเชยบางส่วนจากค่า Ft ที่ประหยัดได้ เพื่อให้โครงการ Demand Response เป็นกลไกถาวรในการแก้ไขวิกฤต และลดต้นทุนค่าไฟฟ้า รวมทั้งชะลอการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ต่อไป” ดร.พัลลภา สรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ