กรมป่าไม้ ร่วมกับ ราชบุรีโฮลดิ้ง เปิดโครงการ 60 ป่าชุมชน อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ข่าวทั่วไป Thursday January 16, 2014 15:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์ กรมป่าไม้ ร่วมกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ดำเนิน"โครงการ 60 ป่าชุมชน อนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามแนวพระราชดำริ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" ซึ่งเป็นโครงการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชปณิธานสืบสานการอนุรักษ์ทรัพยากรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการรักษาฐานทรัพยากรของประเทศที่นำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในพื้นที่ป่าชุมชนตามแนวพระราชดำริ นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "สำหรับ โครงการ 60 ป่าชุมชน อนุรักษ์พันธุกรรมพืชตามแนวพระราชดำริ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา 2 เมษายน 2558 ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริ ด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชมาดำเนินการในพื้นที่ป่าชุมชน เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลพันธุ์พืชที่มีอยู่ในป่าชุมชนโดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยมุ่งหวังให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และศึกษาพันธุ์พืชต่างๆ ที่มีอยู่ในป่าของตนเอง รู้ถึงคุณค่าและประโยชน์ของพันธุ์พืชต่างๆ อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์พันธุ์พืชท้องถิ่นและรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่คู่ชุมชนและเป็นสมบัติของชาติสืบไป พร้อมทั้งขยายแนวคิดการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชท้องถิ่นไปยังชุมชนอื่นทั่วประเทศในอนาคตซึ่งจะนำไปสู่การดูแลรักษาและอนุรักษ์ป่าไม้อย่างยั่งยืน อันสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริม ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ" "โครงการ 60 ป่าชุมชน อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ" มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ครอบคลุมป่าชุมชนเป้าหมายทั่วประเทศจำนวน ๖๐ แห่ง มีกรอบการดำเนินงาน 3 กรอบ 8 กิจกรรม ดังนี้ กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร ประกอบด้วย กิจกรรมปกปักรักษาพันธุกรรมพืช กิจกรรมสำรวจเก็บรวบรวมพันธุกรรมพืช และกิจกรรมปลูกรักษาพันธุกรรมพืช กรอบการใช้ประโยชน์ ประกอบด้วย กิจกรรมอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืช กิจกรรมศูนย์ข้อมูลพันธุกรรมพืช และกิจกรรมวางแผนพัฒนาพันธุ์พืช และกรอบการสร้างจิตสำนึก ประกอบด้วย กิจกรรมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และกิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช โดยมุ่งหวังให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อรวบรวมองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านพันธุกรรมพืช ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยกันรักษาพันธุ์พืชหายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในท้องถิ่น แต่ยังเป็นการร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน” นายพงษ์ดิษฐ กล่าว ในการนี้ ตัวแทนป่าชุมชนทั้ง 113 ท่าน จาก 60 ป่าชุมชนทั่วประเทศ ได้เข้าไปศึกษาดูงานและรับฟังการบรรยายความรู้เกี่ยวกับการก่อตั้งและบริหารจัดการที่ศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรท้องถิ่น ตำบลขนงพระ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นต้นแบบของโครงการดังกล่าว ในอดีตป่าในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลขนงพระ อำเภอ ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีสภาพเสื่อมโทรมจากการถูกบุกรุกทำลายและถมทิ้งขยะ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลขนงพระ จึงได้ร่วมมือกับปราชญ์ชาวบ้าน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาและศิลปากร รวมถึงประชาชนในตำบล จัดประชุมประชาคมเพื่อเฟ้นหาแนวทางในการรักษาฟื้นฟูผืนป่า โดยการอนุรักษ์พื้นที่ป่าสาธารณะทุ่งรกฟ้า ในเขตตำบลขนงพระ ซึ่งมีเนื้อที่ 527 ไร่ 3 งาน 27 ตารางวา อีกทั้งยังสมัครเข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 พร้อมทั้งจัดตั้ง “ศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรท้องถิ่น ตำบลขนงพระ” เพื่อเป็นฐานทรัพยากรในการพึ่งพาตนเองอันนำไปสู่แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และเป็น การปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนในพื้นที่มีความเอื้อเฟื้อต่อธรรมชาติ ร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรให้ยั่งยืน และเป็นต้นแบบการศึกษาเรียนรู้ให้แก่หน่วยงานภายนอก ในด้านของ นายบุญเลิศ พันธ์สนิท ประธานป่าชุมชนบ้านอ่าวอ้ายยอ จ.นครศรีธรรมราช หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้สะท้อนความคิดเห็นในการร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า "กิจกรรมศึกษาดูงานที่ อบต.ขนงพระ ทำให้เราเห็นว่าการขับเคลื่อนป่าชุมชน หากมีหน่วยงานราชการมาร่วมสนับสนุนด้วย จะทำให้การพัฒนาเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว ที่ป่าของ อบต.ขนงพระแห่งนี้ มี อบต.เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ในขณะที่ป่าชุมชนบ้านอ่าวอ้ายยอของเรายังไม่มี มีแต่ชาวบ้านในชุมชนช่วยกันจัดการเอง ในวันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะนำแนวคิดตรงนี้ไปปรับใช้กับป่าของเรา ในวันนี้ผมได้พาเจ้าหน้าที่ อบต. ของเรามาดูงานด้วย ทำให้เห็นถึงวิธีการดำเนินงานโดยมี อบต.ขนงพระเป็นต้นแบบ" นายบุญเลิศ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า "ยิ่งไปกว่านี้ จากการมาเรียนรู้ดูงานที่อบต.ขนงพระ ผมยังเกิดแรงบันดาลใจ ในการสร้างศูนย์เรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชที่ป่าชุมชนบ้านอ่าวอ้ายยอของเรา ผมตั้งใจว่าจะนำพืชพื้นถิ่นของภาคใต้ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์นำมาปลูกและอนุรักษ์ให้ลูกหลานในชุมชนได้เรียนรู้ เช่น ต้นหลุมพอ ต้นตะเคียน ส่วนพืชสมุนไพรก็จำพวก ปลาไหลเผือก ฤาษีสม ชิงดอกเดียว นอกจากนี้ผมยังมีความคิดจะต่อยอดด้วยการสร้าง ค่ายลูกเสือ เพื่อให้เยาวชนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงได้ใกล้ชิดกับผืนป่าและเรียนรู้ว่าผืนป่ามีคุณค่ากับมนุษย์อย่างเรามหาศาลเช่นไร" นายผิน หงษ์ยี่สิบสี่ คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านวังหงส์ จ.แพร่ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดูงานที่ อบต.ขนงพระว่า "วันนี้รู้สึกพึงพอใจมากที่ได้มีโอกาสมาร่วมกิจกรรม ความรู้ที่ได้จากการร่วมกิจกรรมในวันนี้ ผมจะนำไปถ่ายทอดให้แก่ชาวบ้านคนอื่นๆที่ไม่ได้มีโอกาสมาเรียนรู้ตรงนี้แบบผม ผมอยากให้ชาวบ้านคนอื่นๆ มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องป่าและการบริหารจัดการเช่นนี้บ้าง ทำให้เป็นการขยายความรู้ และต่อยอดความร่วมมือเรื่อง การรักษาป่าและอนุรักษ์พันธุกรรมพืชภายในชุมชน นอกจากนี้ยังอยากจะแบ่งปันความรู้ในวันนี้ให้ตำบลใกล้เคียงที่มีเขตติดต่อกับตำบลวังหงส์ของเรา ให้มีโอกาสได้รับความรู้อย่างเรา เราจะได้ช่วยกันบริหารจัดการป่าในจังหวัดแพร่ของเราให้ดีขึ้น" การศึกษาดูงาน ณ “ศูนย์อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรท้องถิ่น ตำบลขนงพระ” เป็นการขับเคลื่อนพลังให้ 60 ป่าชุมชนเป้าหมายจากทั่วประเทศ ร่วมกันเป็นแนวร่วมและต้นแบบที่จะช่วยขยายแนวคิดการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชท้องถิ่นไปยังชุมชนอื่นในอนาคต เพื่อเป็นการรักษาฐานทรัพยากรอันนำไปสู่การปกป้องรักษาพันธุ์พืชพื้นถิ่นให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติสืบไป ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) วิวรรณ พยัฆวิเชียร , ตณัดดา โพธิ์พัฒน์พงศ์ โทร. 0 2794 9941-2 อีเมล์ : wiwanp@ratch.co.th บริษัท อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์ จำกัด โทร. 0 2252 9871 อีเมล์ : hongsinunt.s@abm.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ