เอ็นพีเอสเปิดบ้านติวเข้มผู้นำเยาวชนเรื่องพลังงานปลูกได้ โครงการ “เด็กไทยคนเก่ง ร่วมอนุรักษ์พลังงานทดแทน”

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 27, 2015 16:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์ เตรียมความพร้อมประกวดแผนประชาสัมพันธ์ “มารู้จักพลังงานปลูกได้กันเถอะ”ชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เช้าตรู่วันหนึ่งที่อากาศสดใส เด็กๆ หลายคนยังคงทำภาระกิจเตรียมตัวไปโรงเรียน ขณะที่เยาวชนกว่า 40 ชีวิต กำลังออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดปราจีนบุรี จุดหมายของพวกเขาคือ “ค่ายผู้นำเยาวชน เด็กไทยคนเก่งร่วมอนุรักษ์พลังงานทดแทน” พร้อมด้วยคำถามในใจเกี่ยวกับพลังงาน และเด็กๆ อย่างพวกเขาจะสามารถช่วยประเทศชาติได้อย่างไรบ้าง สถานการณ์พลังงานในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตเนื่องจากการก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักมากถึง 70% กำลังจะหมดภายใน 15 ปี ขณะความต้องการใช้เชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องหาแหล่งพลังงานทดแทนที่ยั่งยืน เพื่อรองรับกับวิกฤตพลังงานนี้ ด้วยตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างพลังงานทดแทนควบคู่กับการสร้างความเข้าใจเรื่องพลังงานที่ถูกต้องโดยเฉพาะในหมู่เยาวชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นพีเอส ผู้นำด้านพลังงานทดแทนจากพลังงานปลูกได้ ร่วมกับกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดโครงการ “เด็กไทยคนเก่ง ร่วมอนุรักษ์พลังงานทดแทนประกวดแผนประชาสัมพันธ์ชิงโล่รางวัลพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษามูลค่า 30,000 บาท ในหัวข้อ “มารู้จักพลังงานปลูกได้กันเถอะ” เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องพลังงานและนำความรู้ที่ได้จากโครงการไปเผยแพร่ให้แก่บุคคลรอบข้าง อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน คณะกรรมการได้คัดเลือกนักเรียน 40 คนจาก 20 โรงเรียน จาก 500 ทีมที่ส่งแนวคิดเรื่องพลังงานทดแทนเข้าร่วมประกวด เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม“ค่ายผู้นำเยาวชน เด็กไทยคนเก่งร่วมอนุรักษ์พลังงานทดแทน” ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน ณ โรงแรมทวาราวดี รีสอร์ท จังหวัดปราจีนบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องพลังงานและการประชาสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ เพื่อเตรียมตัวลงสนามในภาคปฏิบัติ และกลับนำกลับมาเสนอผลงานความสำเร็จต่อคณะกรรมการอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2558 นี้ 40 ผู้นำเยาวชน ได้เยี่ยมชมเพื่อรับทราบข้อมูลการผลิตไฟฟ้าชีวมวลที่โรงไฟฟ้าเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย หรือโรงไฟฟ้าเอ็นพีเอส ซึ่งตั้งอยู่ที่ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี และทำความรู้จักกับ “ต้นพลังงาน” ซึ่งเป็นกล้าไม้ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาสายพันธ์ให้เหมาะกับการนำไปปลูกเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า โดยลักษณะทั่วไปคล้ายกับต้นยูคาลิปตัสหรือต้นกระดาษฯ แต่มีคุณสมบัติพิเศษคือเนื้อไม้ให้ค่าความร้อนสูง ใช้เวลาปลูกเพียง 2-3 ปี ก็สามารสนำมาใช้ผลิตเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าได้ โดยต้นพลังงาน 1 ต้นสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 60 กิโลกรัม “ต้นพลังงาน” จึงเป็นแหล่งพลังงานที่ปลูกสร้างใหม่ได้ตลอดเวลาและยังสร้างรายได้ให้เกษตรกรพร้อมกับช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้ นอกจากนี้ น้องๆ ยังได้รับฟังการบรรยายจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ จากอาจารย์ประสิทธิ์ นุ่นสังข์ นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ในหัวข้อ “ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานทดแทน” ซึ่งเป็นสาระเกี่ยวกับวิกฤตพลังงานในประเทศไทย ข้อดี ข้อจำกัดของพลังงานรูปแบบต่างๆ และทั้งความจำเป็นที่จะต้องหาพลังงานทดแทนมารองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังมีอาจารย์วิฑูรย์ กนกทิพย์พรชัย กูรูด้านการสื่อสารกิจกรรมการตลาดและประชาสัมพันธ์ มาให้ความรู้ในเรื่อง “การวางแผนประชาสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์” อีกด้วย นอกจากนี้ น้องๆ ยังได้สนุกสนานและเรียนรู้ในเรื่องพลังงานทดแทนไปกับกิจกรรมภาคสนาม อาทิ การคัดแยกพืชที่ใช้ผลิตเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ทั้งต้นพลังงาน หญ้าเนเปียร์ และต้นมันสำปะหลัง ,ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยในกระบวนการผลิตไฟฟ้า อาทิ เทคโนโลยีสะอาด CFB (Circulating Fluidized Bed) หม้อต้มไอน้ำแบบหมุนเวียนที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกถึงความสามารถในการเผาไหม้เชื้อเพลิงแบบสมบูรณ์ และเทคโนโลยีการดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิตย์ ESP (Electro Static Precipitator) มีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นได้ถึง 99.5% รวมทั้งการใช้ขี้เถ้าที่เหลือจากการเผาไหม้ของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ได้รับการตรวจสอบมาตรฐานจากสำนักวิจัยและพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในการปรับสภาพดินให้มีความเหมาะสมกับการปลูกพืช เนื่องจากสามารถลดความเป็นกรดในดินลงและช่วยให้ดินมีความพรุนตัวสูง ตลอดจนการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์เรื่องพลังงานทดแทน ที่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนและประเทศชาติ ผ่านมิสเตอร์เอ็นพีเอสในจินตนาการของน้องๆ นายอภิชัย ซอปิติพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นพีเอส กล่าวว่า “เอ็นพีเอส ผู้นำด้านพลังงานทดแทนจากพลังงานปลูกได้ ตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งพลังงานที่กำลังจะหมดไป จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างแหล่งพลังงานทดแทนที่ยั่งยืนเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของคนไทย ภายใต้แนวคิด “ปลูกพลังงาน เพื่อความยั่งยืนแห่งอนาคต” จึงร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรต่างๆ จัดโครงการ “เด็กไทยคนเก่ง ร่วมอนุรักษ์พลังงานทดแทน” เพื่อมอบความรู้ด้านพลังงานทดแทนให้แก่เยาวชน นำกลับไปถ่ายทอดและสร้างความเข้าใจที่เรื่องพลังงานที่ถูกต้องและจะทำให้ผู้ใช้รู้คุณค่าพลังงาน ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและนำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในที่สุด” อาจารย์ประสิทธิ์ นุ่นสังข์ นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า “สถานการณ์การขาดแคลนพลังงานเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เนื่องจากพลังงานเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนประเทศ ทางหน่วยงานต่างๆ จึงต้องเร่งให้ความรู้ความเข้าใจกับเยาวชนและประชาชนทั่วไป รวมถึงสร้างจิตสำนึกที่ดี โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ในด้านพลังงานทดแทน” อาจารย์วิฑูรย์ กนกทิพย์พรชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารกิจกรรมการตลาดและประชาสัมพันธ์ เพื่อนำไปเขียนแผนประชาสัมพันธ์ ส่งประกวดชิงโล่รางวัลพระราชทานในรอบต่อไป อาจารย์วิฑูรย์ได้กล่าวว่า “เยาวชนรุ่นใหม่ มีความพร้อมที่จะเรียนรู้และเปิดรับสิ่งใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องที่ดีในการเริ่มปลูกฝังเรื่องพลังงานให้แก่น้องๆ โดยเฉพาะเรื่องพลังงานปลูกได้ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่น้องๆจะนำความรู้ตรงนี้ไปบอกต่อกับครอบครัว เพื่อนที่โรงเรียน เพื่อเผยแพร่เรื่องพลังงานทดแทน” นอกจากนี้อาจารย์วิฑูรย์ยังเผยเคล็ดลับในการทำแผนประชาสัมพันธ์ที่ดีว่าต้องเริ่มด้วยความเข้าใจในชิ้นงานและต้องเข้าถึงเนื้อหาและกลุ่มเป้าหมายที่น้องๆต้องการสื่อสารด้วย จึงจะประสบความสำเร็จในการทำแผนประชาสัมพันธ์ อาจารย์ปัทมา โพธิ์งาม จากโรงเรียนดอนฉิมพลีพิทยาคม จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ให้ความเห็นต่อการเข้าร่วมโครงการฯนี้ว่า “อยากให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องพลังงานทดแทน เพราะนักเรียนไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องพลังงาน คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว และการมาเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ทำให้รู้ว่าประเทศไทยมีพลังงานปลูกได้ที่จะเข้ามาทดแทนพลังงานหลักที่จะหมดไป” อาจารย์ปัทมายังเสริมอีกว่า “นอกจากเด็กๆแล้ว ผู้ใหญ่ก็ต้องมีส่วนช่วยในการสอนและปลูกฝังเยาวชนในเรื่องพลังงานเช่นเดียวกัน” ด้านอาจารย์นิตยา ลิขิตภิญโญ โรงเรียนสายปัญญาในพระบรมราชินูปถัมภ์ กรุงเทพฯ กล่าวว่า “นักเรียนสนใจเข้าร่วมโครงการนี้ด้วยตัวเอง แล้วค่อยมาติดต่อกับอาจารย์ ส่วนตัวคิดว่าเป็นโครงการที่ดี เพราะให้แนวความคิดใหม่ๆด้านพลังงาน ในเรื่องพลังงานทางเลือกที่เราสามารถปลูกเองได้ มีความมั่นคงมากกว่าพลังงานธรรมชาติ ควรต้องให้ความรู้เยาวชนมากขึ้นเพราะเยาวชนไม่ค่อยคำนึงถึงผลกระทบของการขาดแคลนพลังงาน และคิดว่านักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะตื่นตัวในเรื่องพลังงานมากขึ้น” หลังจบค่าย ผู้นำเยาวชนตัวน้อยด.ญ.วนา ภูษิตาศัย หรือ น้องแตง จากโรงเรียนรุ่งอรุณ กรุงเทพฯ กล่าวว่า “รู้สึกประทับใจที่ได้เยี่ยมชมโรงงานและเล่นฐานกิจกรรม เพราะได้รู้จักเพื่อนใหม่ ทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นเกมที่สนุกด้วย ได้ความรู้ด้วยและทำให้รู้เรื่องปัญหาพลังงานและเปิดมุมมองเรื่องต้นพลังงาน” นอกจากนี้น้องแตงยังกล่าวอีกว่าหลังจากโครงการนี้จะอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานให้คุ้มค่าโดยเริ่มจากตนเองก่อน ด.ญ. วนัสพร เจริญไพบูลย์สิน หรือ น้องแก้ม อีกหนึ่งเยาวชนคนเก่งผู้มีความสนใจด้านพลังงานเป็นทุนเดิมและอยากร่วมโครงการนี้ด้วยตนเอง จากโรงเรียนสายปัญญาในพระบรมราชินูปถัมภ์ กรุงเทพฯ กล่าว่า “รู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมโครงการ เพราะได้ความรู้ถึงข้อจำกัดของพลังงานธรรมชาติและรู้เรื่องการสร้างสมดุลโดยใช้พลังงานทดแทน” น้องแก้มยังอยากจะเผยแพร่ความรู้ที่ได้รับต่อให้กับเพื่อนๆในโรงเรียนอีกด้วย “เรื่องพลังงานไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่และไกลตัวอีกต่อไป ผมเชื่อว่าเยาวชนทุกคนสามารถช่วยประเทศชาติได้ โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นการช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่ หากแต่เริ่มจากสิ่งเล็กๆ จากตัวเรา และขยายไปสู่คุณพ่อคุณแม่ เพื่อน ทุกคนที่เรารักและสังคมที่เราอยู่อาศัย ขณะเดียวกันผู้ใหญ่เองควรให้ความสำคัญและปลูกฝังสำนึกที่ดีในการใช้พลังงานอย่างรับผิดชอบ ทั้งการทำกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัวและที่ทำคัญคือการลงมือให้เห็นจริง เพราะตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน” นายอภิชัย กล่าวปิดท้าย “ค่ายผู้นำเยาวชน เด็กไทยคนเก่งร่วมอนุรักษ์พลังงานทดแทน” ปิดฉากลงแล้วด้วยรอยยิ้ม แต่กลับเป็นการเริ่มต้นของ 40 ผู้นำเยาวชนไฟแรง ที่พกพาแนวคิดและความรู้เพื่อลงสนามเผยแพร่เรื่องการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ในหัวข้อ “มารู้จักพลังงานปลูกได้กันเถอะ” ต่อไป แม้หลายคนจะออกตัวว่าพวกเขายังเด็ก แต่เชื่อว่าไอเดียการประชาสัมพันธ์ของพวกเขาอาจทำให้ผู้ใหญ่หลายๆ คนหันมาฟังและนำมาปรับใช้ก็เป็นได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ