CWT ร่วมกับซีโรเวซท์ และลาวี เอ็นจิเนียริง เดินหน้าโครงการแปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าสยายปีกสู่ธุรกิจพลังงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 20, 2015 10:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--เดอะเวย์ คอมมิวนิเคชั่น บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป ผนึกกำลังกับพันธมิตรผู้มีประสบการณ์ด้านพลังงานขยะ ประกาศรุกธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเต็มตัว ร่วมกับบริษัท ซีโรเวซท์ จำกัด และบริษัท ลาวี เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เดินหน้าโครงการแปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า 3 แห่ง กว่า 40 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนกว่า 8 พันล้านบาท คาดจะลงนามสัญญาการรับจ้างกำจัดขยะกับเทศบาลแห่งหนึ่งภายในเดือน ก.ค. ปี 2558 นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ ในการดำเนินธุรกิจทางด้านพลังงานขยะ โดยก่อนหน้านี้บริษัทฯ ได้ทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU กับ บริษัท ซีโรเวซท์ จำกัด และบริษัท ลาวี เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเดินหน้าในการลงทุนพัฒนาโครงการรับจัดการขยะมูลฝอยชุมชน (Municipal Solid Waste) และนำขยะจากหลุมฝังกลบ (Landfill) มาปรับปรุงคุณภาพเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ไม่น้อยกว่า 3 แห่งในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายในการผลิตไม่น้อยกว่า 40 เมกะวัตต์ ทางบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรในการจัดทำและยื่นข้อเสนอการขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฯ ซึ่งหากข้อเสนอได้รับการพิจารณา จะนำไปสู่การจัดตั้งบริษัทร่วมทุน หรือทางเลือกอื่น ๆ ในการลงทุนตามความเหมาะสมเพื่อการดำเนินการก่อสร้างและผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะต่อไป โดยบริษัทร่วมทุนนี้จะบริหารกิจการให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ร่วมทุนและผู้ถือหุ้น นายวีระพล กล่าวว่า ทางบริษัทฯ ได้มีการศึกษาเรื่องธุรกิจพลังงานอย่างจริงจังมาระยะหนึ่งแล้ว และประเมินว่าประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะใช้พลังงานทดแทนเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย กำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปลายปีนี้ อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจัยดังกล่าว บริษัทฯ จึงเล็งเห็นโอกาสในการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไฟฟ้า อีกทั้งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการหารือกับพันธมิตรผู้มีประสบการณ์ และคลุกคลีในแวดวงพลังงานทดแทน และโรงไฟฟ้า ซึ่งก็พบว่าบริษัท ซีโรเวซท์จำกัด มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ด้านการจัดการขยะ ด้วยการแปลงขยะมูลฝอยจากแหล่งต่าง ๆ ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า ส่วนบริษัท ลาวีฯ ผู้มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และก่อสร้างโรงไฟฟ้า กว่า 40 แห่งทั้งในประเทศ และในเอเซีย ดังนั้นบริษัทฯ จึงมั่นใจที่จะรุกสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนอย่างเต็มตัว “ผมเห็นว่าปัญหาขยะในประเทศไทยเป็นปัญหาระดับชาติที่ทุกคนควรตระหนัก และร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว ผมเป็นส่วนหนึ่งที่อยากจะขออาสาเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาขยะ และเดินหน้าทำโครงการแปลงขยะมูลฝอยให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าที่เกิดประโยชน์กับประเทศอย่างมหาศาล และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ที่ดีอยู่กับเราได้นานยิ่งขึ้น พลังงานทดแทนจะเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานจากขยะ” นายวีระพล กล่าว และนายวีระพลกล่าวต่อว่า ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯมีมติอนุมัติให้บริษัทฯลงทุนในโครงการแปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าโครงการแรกในพื้นที่จังหวัดหนึ่งของภาคเหนือ ขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนประมาณ 1,468 ล้านบาท โดยดำเนินการจัดตั้งบริษัทฯร่วมทุนแห่งใหม่ในรูปแบบโฮลดิ้ง (Holding Company) ร่วมกับบริษัท ซีโรเวซท์ จำกัด (ZW) และบริษัท ลาวี่ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (LAWI) ทั้งนี้คาดว่าสัญญารับจ้างกำจัดขยะจากเทศบาลจะมีการลงนามในสัญญาดังกล่าวภายในเดือน ก.ค. ปี 2558 นางสาวทักษ์สุตา ถิ่นสันติสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีโรเวซท์ จำกัด กล่าวว่า เราในฐานะผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ทางด้านเทคโนโลยีการจัดการขยะ และแปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า การที่บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ CWT ในครั้งนี้ เพื่อเดินหน้าโครงการขยะด้วยเทคโนโลยีแบบผสมผสาน โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะ แปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า ปัจจัยสำคัญของการนำขยะมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าก็คือ เทคโนโลยีการคัดแยก และปรับปรุงคุณภาพขยะให้เป็นเชื้อเพลิงคุณภาพดี ค่าความร้อนสูงหรือ ที่เราเรียกว่า RDF (Refuse Derived Fuel) และการนำขยะเปียก หรือขยะอินทรีย์ไปใช้ประโยชน์อย่างครบวงจร นายอุดมศักดิ์ แก้วศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลาวี เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การร่วมมือกับ CWT ในครั้งนี้ บริษัทฯในฐานะผู้มีประสบการณ์ด้านการสร้างโรงไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง มีโอกาสร่วมมือกับพันธมิตรในการลดปัญหาขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ และมลพิษจากบ่อฝังกลบขยะ การที่นำขยะมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า จะทำให้ปัญหาขยะล้นเมืองลดลง ส่งผลดีโดยรวมต่อเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนด้านการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ได้อีกทางหนึ่งด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ