ทำไมประเทศไทยต้องอิงราคาน้ำมันจากสิงคโปร์

ข่าวทั่วไป Friday August 25, 2000 12:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--ปตท.
ความหมายของราคาสิงคโปร์
เป็นตัวเลขราคาที่ผู้ค้าน้ำมันจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียเข้าไปตกลงซื้อ-ขายผ่านตลาดกลางสิงคโปร์ ไม่ใช่ ราคาที่ประเทศสิงคโปร์ หรือโรงกลั่นในสิงคโปร์ ประกาศออกมา (ตลาดซื้อ-ขายระหว่างประเทศที่เป็นแหล่งใหญ่มีเพียง 3 แห่ง คือ นิวยอร์ค ลอนดอน และสิงคโปร์)
สาเหตุที่ทำให้สิงคโปร์เป็นตลาดกลางซื้อ-ขายน้ำมันของภูมิภาค
เอเชีย
1.สิงคโปร์มีกำลังการกลั่นเหลือเพื่อการส่งออกมากที่สุด สิงคโปร์มีกำลังการกลั่น
1.2-1.5 ล้านบาร์เรล/วัน สามารถส่งออกได้ประมาณ 800,000-1,000,000 บาร์เรล/วัน เมื่อเทียบกับประเทศไทยมีกำลังการกลั่นประมาณ 800,000 บาร์เรล/วัน เหลือส่งออกประมาณ 100,000
บาร์เรล/วัน
2.ทำเลที่ตั้งของสิงคโปร์เป็นเมืองท่าที่สำคัญ สภาพทางภูมิศาสตร์ของประเทศ
สิงคโปร์เอื้อต่อการเป็นจุดศูนย์กลางการเดินเรือของเอเชีย เป็นจุดรับน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางและเป็นจุดกระจายน้ำมันสำเร็จรูปไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในเอเชียได้โดยสะดวก
3.ระบบการจัดการและสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อม สิงคโปร์มีนโยบายการบริหารประเทศ โดยมุ่งเน้นที่จะจูงใจและอำนวยความสะดวกให้กับการลงทุน และการทำธุรกิจระหว่างประเทศ เช่น ระบบบริหารราชการที่มีประสิทธิภาพสามารถติดต่อจัดตั้งหน่วยงานหรือบริษัทเพื่อทำธุรกิจได้สะดวกรวดเร็ว การมีมาตรการจัดเก็บภาษีธุรกิจในอัตราต่ำเพื่อจูงใจผู้ลงทุนสูง เป็นเหตุให้บริษัทหรือตัวแทนจากประเทศในเอเชียสามารถเข้ามาทำธุรกิจเจรจาติดต่อซื้อ-ขายผ่านตลาดสิงคโปร์ได้อย่างคล่องตัว
สาเหตุที่ไทยต้องใช้ราคาสิงคโปร์เป็นฐานการคำนวณราคาน้ำมัน
1.สะท้อนราคาตลาดและอุปสงค์-อุปทานในภูมิภาคนี้อย่างแท้จริง เนื่องจากในตลาดกลางสิงคโปร์แห่งนี้มีผู้ซื้อ-ขายจำนวนมากจากทุกประเทศในเอเชีย จึงไม่มีผู้ซื้อ-ขายรายใดรายหนึ่งสามารถเข้าไปแทรกแซงหรือปั่นราคาได้ ราคาที่ตลาดสิงคโปร์จึงเป็นราคาที่สะท้อนสภาพตลาดและสภาวะอุปสงค์-อุปทานในภูมิภาคเอเชียและของตลาดโลกอย่างแท้จริง
2.สะท้อนต้นทุนการนำเข้าของไทยในระดับต่ำสุด ตลาดสิงคโปร์เป็นตลาดซื้อ-ขายระหว่างประเทศ และเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งใกล้ไทยมากที่สุด ดังนั้น ต้นทุนในการนำเข้าจึงเป็นต้นทุนที่ถูกที่สุดที่โรงกลั่นไทยต้องแข่งขันด้วย
3.ทำให้เกิดสมดุลในการผลิตและการจัดหาของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีนโยบายระบบการค้าน้ำมันเสรี สามารถมีการนำเข้า-ส่งออกได้อย่างเสรี หากไม่กำหนดราคาขึ้น-ลงไปตามตลาดสิงคโปร์ จะทำให้เกิดปัญหาไม่สมดุลในการผลิตและการจัดหาของประเทศขึ้น กล่าวคือหากไทยกำหนดราคาของตนเองโดยรัฐเข้าไปควบคุมราคาของโรงกลั่น (ไม่ว่าจะด้วยการกำหนดให้ราคาคงที่ หรือใช้ราคาน้ำมันดิบบวกด้วยค่าใช้จ่ายคงที่) เมื่อใดที่ราคาที่กำหนดเองต่ำกว่าราคาตลาดสิงคโปร์ จะทำให้โรงกลั่นนำน้ำมันส่งออกไปขายที่ตลาดสิงคโปร์เพราะจะได้ราคาสูงกว่า ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาน้ำมันขาดแคลนในประเทศได้ และเมื่อน้ำมันขาดแคลนก็ต้องไปนำเข้ามา ซึ่งหนีไม่พ้นที่จะต้องใช้ราคาตลาดสิงคโปร์เป็นตัวอ้างอิงในการเจรจาซื้อ-ขายเพื่อนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นแหล่งใดก็ตาม และในทางกลับกัน หากเมื่อใดราคาสิงคโปร์ลดลงจนต่ำกว่าราคาที่กำหนดเอง ผู้ค้าน้ำมันในประเทศก็ไม่อยากซื้อจากโรงกลั่น เพราะนำเข้ามาจากตลาดสิงคโปร์จะถูกกว่า ซึ่งทั้งสองกรณีจะทำให้เกิดการนำเข้า-ส่งออกขึ้นโดยไม่จำเป็น ทำให้ประเทศต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศในการจ้างเรือขนส่งน้ำมันเนื่องจากประเทศไทยมีเรือบรร-ทุกน้ำมันไม่เพียงพอ
4. ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียใช้ราคาตลาดสิงคโปร์ตัวอ้างอิง ทั้งในการเจรจาซื้อ-ขายระหว่างประเทศ และใช้เป็นฐานการคำนวณต้นทุนราคาภายในประเทศ ส่วนการที่ราคาขายปลีกน้ำมันของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันนั้น ขึ้นอยู่กับระบบการจัดเก็บภาษีหรือการจ่ายเงินอุดหนุนของแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่น ประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันมีราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ประมาณ 7 บาท/ลิตร เนื่องจากรัฐบาลจ่ายชดเชยอุดหนุนอยู่ถึงประมาณ 6-7 บาท/ลิตร ซึ่ง
หากประเทศไทยไปขอซื้อน้ำมันจากมาเลเซีย รัฐบาลมาเลเซียก็ต้องเอาเงินที่อุดหนุนอยู่ออกไป ราคาก็จะกลับขึ้นมาแพงเท่ากับราคาในตลาดสิงคโปร์อยู่ดี
การใช้ราคาน้ำมันที่ขึ้น-ลงไปตามตลาดโลก จะมีผลดีมากกว่าผลเสีย
กล่าวคือในช่วงที่ราคาสูงถึงแม้จะทำให้ต้นทุนการผลิตของประเทศสูงขึ้น แต่จะไม่ทำให้
ไทยต้องเสียเปรียบในเชิงการแข่งขันกับประเทศอื่น เนื่องจากทุกประเทศทั่วโลกต่างก็มีต้นทุนที่สูง
ขึ้นเช่นกัน และนอกจากนั้นราคาที่สูงขึ้นจะเป็นตัวส่งสัญญาณให้ผู้บริโภคต้องประหยัดการใช้น้ำมัน
มากขึ้น เพื่อลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการที่จะต้องนำเข้าน้ำมัน(ดิบ) จากต่างประเทศในภาวะที่ราคาตลาดโลกอยู่ในระดับสูง ส่วนในช่วงที่ราคาตลาดโลกต่ำผู้บริโภคก็จะได้ใช้น้ำมันราคาถูกและประเทศก็จะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่แท้จริง เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ที่ไทยต้องแข่งขันด้วย--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ