บีโอไอพบนักลงทุนญี่ปุ่นภาคเหนือ ยืนยันนโยบายส่งเสริมการลงทุนไม่เปลี่ยน

ข่าวทั่วไป Friday June 8, 2001 15:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--บีโอไอ
บีโอไอนัดพบนักลงทุนญี่ปุ่นภาคเหนือ ชี้แจงสร้างความชัดเจนเรื่องนโยบายส่งเสริมการลงทุนระบุนโยบาย-สิทธิประโยชน์ไม่เปลี่ยนแปลง แต่เน้นงานด้านการตลาดและเพิ่มการสนับสนุนเอสเอ็มอี
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือกับกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นในภาคเหนือ ณ โรงแรมเวสทิน รีเวอร์ไซด์ พลาซ่า จังหวัดเชียงใหม่ (6 มิ.ย.44) ว่า การจัดประชุมครั้งนี้เพื่อมารับฟังปัญหาอุปสรรค์ด้านการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น รวมทั้งขอความคิดเห็นเกี่ยวกับ การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในภาคเหนือ เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ลำพูน เต็มไม่สามารถรองรับอุตสาหกรรมที่จะมาลงทุนใหม่หรือขยายการลงทุนได้
นอกจากนี้ยังได้ชี้แจงให้นักลงทุนได้เข้าใจเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเรื่องที่รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นการใช้ชิ้นส่วนและวัตถุดิบในประเทศว่า รัฐบาลเพียงต้องการส่งเสริมให้มีการใช้ชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบในประเทศให้มากขึ้น จะไม่มีการบังคับหรือตั้งเงื่อนไขให้บริษัทถือปฏิบัติแต่ประการใด แต่จะเป็นลักษณะของการส่งเสริมและสนับสนุนให้ใช้ชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่า เช่น ในรูปของกิจกรรม "โครงการผู้ซื้อพบผู้ขาย" ซึ่งหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2540
สำหรับนโยบายการบังคับใช้ชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบในประเทศนั้น บีโอไอเพิ่งยกเลิกไปเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 ที่ผ่านมา และจะไม่กลับมาใช้อีกเพราะผิดกฎ WTO
ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์นั้นก็จะไม่มีการลด แต่จะมีการขยายบทบาทของบีโอไอในด้านบริการมากขึ้น เช่น งานของศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน รวมทั้งจะทำงานด้านการตลาด และการสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมให้มากขึ้น
สำหรับปัญหาอุปสรรคที่นักลงทุนญี่ปุ่นภาคเหนือประสบมี 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ ความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐบาลและกฎระเบียบต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ ปัญหาความล่าช้าของการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และปัญหาเรื่องโครงสร้างภาษีที่ค่อนข้างซับซ้อน
นายจักรมณฑ์กล่าวว่าในเรื่องของการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ขณะนี้รัฐบาลได้มอบให้กรมสรรพากรไปศึกษาเพื่อแก้ปัญหาให้ผู้ส่งออกแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกสามารถขอคืนภาษีได้ภายใน 60 วัน โดยจะมีการจัดชั้นของผู้ส่งออกที่มีประวัติดีและมีการส่งออกสม่ำเสมอเป็นลูกค้าชั้นดี
ในปี 2543 การลงทุนของญี่ปุ่นในภาคเหนือมี 21 โครงการ มูลค่าการลงทุน 7,603 ล้านบาทส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีถึง 11 โครงการ เงินลงทุนรวม 3,840 ล้านบาท
การลงทุนญี่ปุ่นภาคเหนือแนวโน้มสดใส
นายวิญญู เล้าพูนพิทยะ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในภาคเหนือพบว่า แนวโน้มตลาดส่งออกในผลิตภัณฑ์หลัก (ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์) ของภาคเหนือในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังมีอัตราเพิ่มขึ้น และจากการพูดคุยกับผู้บริหารชาวญี่ปุ่น พบว่ายอดจำหน่ายและตลาดส่งออกของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าก็ยังมีแนวโน้มดีเช่นกัน จึงคาดว่าน่าจะมีการขยายการลงทุนในผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในภาคเหนือมากขึ้น
ส่วนผลิตภัณฑ์เด่นที่น่าจับตามองอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มเกษตรและผลิตผลทางเกษตร โดยเฉพาะการแปรรูปอาหารเพื่อการส่งออก ภาคเหนือยังคงรักษาตลาดการส่งออกได้ในระดับดี เนื่องจากมีการพัฒนา ผลิตภัณฑ์ที่สามารถสนองความต้องการของตลาดได้ ถึงแม้จะมีกระแสการแข่งขันจากประเทศจีนอย่างรุนแรงก็ตาม
การจัดนัดพบนักลงทุนญี่ปุ่นภาคเหนือนี้ บีโอไอจะจัดเป็นประจำทุกปี เพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรค และข้อคิดเห็นที่จะเป็นประโยชน์ในการนำไปปรับปรุงการให้บริการของภาครัฐ และแก้ปัญหาให้นักลงทุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการขยายการลงทุนของบริษัทที่ลงทุนอยู่แล้วและดึงดูดการลงทุนของนักลงทุนรายใหม่
การประชุมครั้งนี้มีนักลงทุนญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทไทยที่ร่วมทุนกับญี่ปุ่น จำนวน 54 คน เข้าร่วมหารือ--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ