สศก. เผย ราคาน้ำมันลด ดัน GDP เกษตรขยายตัว ระบุ ต้นทุนลด-รายได้เกษตรกรเพิ่ม

ข่าวทั่วไป Friday January 29, 2016 11:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สศก. แจงสถานการณ์ราคาน้ำมันต่อภาคเกษตร เผย ราคาน้ำมันดีเซลที่ลดลงเหลือ 19.50 บาท/ลิตร ในปี 59 ดัน GDP ภาคเกษตร ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.24 ระบุ ส่งผลกระทบด้านบวกต่อภาคเกษตรทั้งในแง่ต้นทุน และรายได้ของเกษตรกร ในขณะที่กระทบต่อราคาสินค้าเกษตรลดลง นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ช่วงปี 2557-2558 จะเห็นได้ว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีความผันผวนค่อนข้างมาก และตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 – มกราคม 2559 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤษภาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 63.67 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 31.29 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในเดือนมกราคม 2559 สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันหลายชนิดในประเทศลดลงด้วย เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศในปริมาณมาก โดยเฉพาะจากแหล่งในตะวันออกกลาง คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ซึ่งในส่วนของน้ำมันดีเซลมีสัดส่วนการใช้ภายในประเทศมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 47 ของการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทั้งหมดของประเทศ โดยเฉพาะในภาคการขนส่งและภาคการผลิตต่างๆ และสำหรับภาคเกษตร มีการใช้น้ำมันดีเซลคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 21.43 ของการใช้น้ำมันดีเซลทั้งประเทศ (บัญชีพลังงานของประเทศไทยปี 2557) โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้น้ำมันดีเซลในกิจกรรมการผลิตและการขนส่งสินค้าเกษตร ในการนี้ สศก. ได้วิเคราะห์ผลกระทบของราคาน้ำมันดีเซลที่มีต่อภาคเกษตร โดยเปรียบเทียบราคาขยายปลีกน้ำมันดีเซล 2 ระดับ คือ 1. ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเฉลี่ยในปี 2559 ลดลงไปอยู่ที่ระดับ 19.50 บาท/ลิตร หรือลดลงร้อยละ 20.54 และ 2. ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลดลงไปอยู่ที่ระดับ 18.50 บาท/ลิตร หรือลดลงร้อยละ 24.61 เมื่อเปรียบเทียบกับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเฉลี่ยในปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 24.54 บาท/ลิตร จะมีผลกระทบต่อภาคเกษตรในด้านต่างๆ ด้านนางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการและโฆษก สศก. กล่าวเพิ่มเติมในรายละเอียดถึงผลกระทบ ซึ่ง สศก. ได้วิเคราะห์ออกมาทั้ง 4 ด้าน (ณ 26 มกราคม 59) คือ 1. ผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต พบว่า หากระดับราคาเฉลี่ยของน้ำมันดีเซลลดลงไปอยู่ที่ระดับ 19.50 และ 18.50 บาท/ลิตร จะทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคเกษตรโดยรวมลดลงประมาณร้อยละ 11.16 และ 13.40 ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาผลกระทบเป็นรายสาขาการผลิต พบว่า สาขาบริการทางการเกษตร เป็นสาขาที่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของราคาน้ำมันมากที่สุด เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่ต้องใช้น้ำมันดีเซลเป็นปัจจัยหลัก เช่น การเตรียมดิน ไถพรวนดิน และเก็บเกี่ยวผลผลิต ในกรณีราคาน้ำมันอยู่ที่ 19.50 บาท/ลิตร ต้นทุนการผลิตจะลดลงร้อยละ 13.53 และกรณีราคาน้ำมันอยู่ที่ 18.50 บาท/ลิตร ต้นทุนการผลิตจะลดลงร้อยละ 16.23 สำหรับสาขาที่ได้รับผลกระทบรองลงมา ได้แก่ สาขาประมง ซึ่งกรณีราคาน้ำมันปรับลดลงมาอยู่ที่ 19.50 บาท/ลิตร ต้นทุนการผลิตสาขาประมงจะลดลงร้อยละ 12.05 และกรณีราคาน้ำมันอยู่ที่ 18.50 บาท/ลิตร ต้นทุนการผลิตจะลดลงร้อยละ 14.46 เนื่องจากการทำประมงทะเลมีสัดส่วนการใช้น้ำมันประมาณร้อยละ 50 ของต้นทุนการผลิตรวม เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเรือประมงที่ใช้เครื่องยนต์ไม่ว่าจะเป็นเรือประมงพาณิชย์หรือเรือประมงพื้นบ้าน ส่วนสาขาพืช พบว่า การลดลงของราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตจากการใช้น้ำมันในกิจกรรมการผลิตพืช เช่น การใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรในการเตรียมดิน การเก็บเกี่ยวผลผลิต และการสูบน้ำ รวมถึงผลทางอ้อมจากการที่ราคาปุ๋ยและสารเคมี ค่าไฟฟ้า และค่าจ้างบริการทางการเกษตร ลดลงตามราคาน้ำมัน ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงด้วย สำหรับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลงไปอยู่ที่ระดับ 19.50 และ 18.50 บาท/ลิตร พบว่า ต้นทุนการผลิตรวมของสาขาพืชลดลงร้อยละ 11.00 และ 13.20 ตามลำดับ สาขาปศุสัตว์ กิจกรรมการผลิตปศุสัตว์โดยส่วนใหญ่มีการใช้น้ำมันโดยตรงไม่มากนัก แต่ราคาน้ำมันที่ลดลงจะทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ มันสำปะหลัง กากถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของการผลิตปศุสัตว์มีแนวโน้มลดลง โดยกรณีราคาน้ำมันที่ 19.50 บาท/ลิตร ต้นทุนการผลิตปศุสัตว์จะลดลงร้อยละ 10.90 และกรณีราคาน้ำมันที่ 18.50 บาท/ลิตร ต้นทุนการผลิตจะลดลงร้อยละ 13.07 และสาขาป่าไม้ มีการใช้น้ำมันดีเซลในการขนส่งไม้ซุงและไม้ท่อนเป็นหลัก ในกรณีราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 19.50 บาท/ลิตร ต้นทุนการผลิตจะลดลงร้อยละ 10.53 และกรณีราคาน้ำมันอยู่ที่ 18.50 บาท/ลิตร ต้นทุนการผลิตจะลดลงร้อยละ 13.02 2. ผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับลดลง นอกจากจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตทางการเกษตรลดลงแล้ว ยังส่งผลต่อเนื่องให้ราคาสินค้าเกษตรและค่าจ้างบริการทางการเกษตร ลดลงตามไปด้วย สำหรับ สาขาที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ สาขาบริการทางการเกษตร กรณีราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยลดลงไปอยู่ที่ 19.50 และ 18.50 บาท/ลิตร จะทำให้ค่าจ้างบริการทางการเกษตรโดยรวมลดลงร้อยละ 5.59 และ 7.70 ตามลำดับ สาขาประมง ราคาสินค้าประมงมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะสินค้าประมงทะเล กรณีราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยลดลงไปอยู่ที่ 19.50 และ 18.50 บาท/ลิตร จะทำให้ราคาสินค้าประมงโดยรวมลดลงร้อยละ 4.08 และ 4.91 ตามลำดับ สาขาพืช ราคาน้ำมันที่ลดลงเป็น 19.50 และ 18.50 บาท/ลิตร ส่งผลให้ราคาสินค้าของสาขาพืชโดยรวมลดลง ร้อยละ 2.36 และ 2.73 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้า พบว่า ราคาพืชหลายชนิดมีความเชื่อมโยงกับราคาน้ำมัน โดยพืชที่ได้รับผลกระทบทางด้านราคาค่อนข้างมาก ได้แก่ อ้อยโรงงาน ยางพารา และปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะยางพารา ซึ่งมีราคาเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับราคาน้ำมัน เนื่องจากเป็นสินค้าทดแทนในการผลิตยางสังเคราะห์ เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลดลง มีผลให้พอลิเมอร์ที่เป็นผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันมีราคาลดลงด้วย โรงงานอุตสาหกรรมจึงหันไปใช้พอลิเมอร์ในการผลิตยางสังเคราะห์แทน ทำให้ความต้องการใช้ยางพาราลดลง สำหรับราคาพืชพลังงานทดแทน เช่น มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และปาล์มน้ำมัน มีทิศทางลดลงเช่นเดียวกัน เนื่องจากการลดลงของราคาน้ำมัน ทำให้ความต้องการพืชพลังงานไปผลิตเป็นพลังงานทดแทนลดลง สาขาปศุสัตว์ ราคาน้ำมันที่ลดลงได้ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้าปศุสัตว์ลดลง ทำให้ราคาสินค้าปศุสัตว์มีแนวโน้มลดลงด้วย โดยกรณีราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยลดลงไปอยู่ที่ 19.50 และ 18.50 บาท/ลิตร จะส่งผลให้ราคาสินค้าปศุสัตว์โดยรวมลดลงร้อยละ 1.52 และ 1.82 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้า พบว่า ไก่เนื้อได้รับผลกระทบทางด้านราคามากกว่าสุกร สาขาป่าไม้ กรณีราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยลดลงไปอยู่ที่ 19.50 และ 18.50 บาท/ลิตร จะทำให้ราคาผลผลิตป่าไม้โดยรวมลดลงร้อยละ 1.34 และ 1.61 ตามลำดับ 3. ผลกระทบต่อรายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตร พบว่า ราคาน้ำมันที่ลดลงส่งผลกระทบต่อด้านต้นทุนการผลิตการเกษตรมากกว่าด้านราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ กล่าวคือ ต้นทุนการผลิตลดลงมากกว่าราคาที่ลดลง โดยกรณีราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยลดลงไปอยู่ที่ 19.50 และ 18.50 บาท/ลิตร จะทำให้รายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.17 และ 2.60 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตร ในปีเพาะปลูก 2557/58 ซึ่งอยู่ที่ 56,611 บาท/ครัวเรือน สำหรับสาขาบริการทางการเกษตรมีรายได้เงินสดสุทธิเพิ่มขึ้นมากที่สุด รองลงมา คือ สาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง และสาขาป่าไม้ ตามลำดับ เมื่อพิจารณาสินค้าพืชเป็นรายสินค้า พบว่า รายได้เงินสดสุทธิของการผลิตข้าว เพิ่มขึ้นมากที่สุด รองลงมา คือ ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และปาล์มน้ำมัน สำหรับสินค้าปศุสัตว์ รายได้เงินสดสุทธิของการผลิตสุกร เพิ่มขึ้นมากที่สุด รองลงมา คือ ไก่เนื้อ 4. ผลกระทบต่อการเติบโตของภาคเกษตรในภาพรวม (GDP ภาคเกษตร) ราคาน้ำมันดีเซลที่ลดลงจากระดับ 24.50 บาท/ลิตร ในปี 2558 เป็น 19.50 บาท/ลิตร ในปี 2559 จะทำให้มูลค่าเพิ่มของภาคเกษตร หรือ GDP ภาคเกษตร ปี 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.24 และกรณีปรับลดลงเป็น 18.50 บาท/ลิตร GDP ภาคเกษตร จะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.29 ผลกระทบของราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ลดลงต่อGDP ภาคเกษตร สาขาการผลิต การเปลี่ยนแปลงของอัตราการเติบโตของGDP ภาคเกษตร (ร้อยละ) ณ ราคาน้ำมัน 19.50 บาท/ลิตร ณ ราคาน้ำมัน 18.50 บาท/ลิตร ภาคเกษตร 0.24 0.29 สาขาพืช 0.25 0.30 สาขาปศุสัตว์ 0.17 0.20 สาขาประมง 0.15 0.18 สาขาบริการทางการเกษตร 0.28 0.33 สาขาป่าไม้ 0.08 0.10 ที่มา: จากการคำนวณโดยกองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ