สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 16-20 พ. ค. 59 และ แนวโน้มสัปดาห์ที่ 23-27 พ. ค. 59 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 23, 2016 16:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--ปตท. สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 2.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.71เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 2.48เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 3.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 3.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 56.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก - Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐอเมริกา สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20พ.ค. 59 ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 318 Rig แต่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 51.2% - 21 พ.ค. 59 Reuters รายงานกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่หยุดทำการ (Supply Disruptions) ทั่วโลก ได้แก่ ลิเบีย ,ไนจีเรีย, อิรัก, คูเวต ,ซาอุดีอาระเบีย และ แคนาดา โดยใช้ข้อมูลจาก EIA และ Reuters อยู่ที่ระดับ3.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 5 ปี - Reuters รายงานกองกำลังแบ่งแยกดินแดน Niger Delta Avengers ระเบิดท่อขนส่งน้ำมันดิบMarakaba ของ Chevron Corp. และเข้าโจมตีแหล่งผลิตของ Chevron ทั้งนี้ Niger Delta Avengers ยื่นคำขาด ช่วงต้นเดือน พ.ค. 59 ให้บริษัทน้ำมันออกจากพื้นที่ให้หมดภายใน 2 สัปดาห์ และห้ามดำเนินการซ่อมแซมใดๆจนกว่ากลุ่มจะแบ่งแยก Niger Delta ออกจากไนจีเรียสำเร็จ - International Energy Agency (IEA) ระบุในรายงานประจำเดือน พ.ค. 59 ว่าปริมาณการบริโภคน้ำมันของอินเดียสูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% ล่าสุดในเดือน เม.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 4.39 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ IEA คาดว่าในปีนี้อินเดียจะบริโภคน้ำมันเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งมากกว่าญี่ปุ่น 100,000 บาร์เรลต่อวัน และจะทำให้อินเดียบริโภคน้ำมันมากเป็นอันดับ 3ของโลกแทนที่ญี่ปุ่น รองจากสหรัฐฯ และจีน - Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTIในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 พ.ค. 59 สถานะการถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ก่อน 35,657 สัญญา มาอยู่ที่ 253,689 สัญญา ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ - Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 พ.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 541.3 ล้านบาร์เรล - รายงานประจำเดือน พ.ค. 59 ของ OPEC ระบุว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC เดือน เม.ย. 59เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 190,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 32.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 8 ปี - Oasis Petroleum Inc. บริษัทผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ เผยว่าในครึ่งหลังของปีนี้ ทางบริษัทมีแผนผลิตน้ำมันดิบจากหลุมที่ได้ขุดเจาะรอไว้ล่วงหน้า (Drilled-but-Uncompleted Well) มากกว่าการลงทุนขุดเจาะใหม่ และบริษัทชี้ว่าจะกลับมาขุดเจาะใหม่หากราคาน้ำมันดิบอยู่ในช่วง 50-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สอดคล้องกับที่บริษัทผลิต Shale Oil และ Gas รายใหญ่เช่น Pioneer Natural Resources Co. และ Hess Corp. ได้ส่งสัญญาณไว้ - สหภาพแรงงาน CGT Union ของฝรั่งเศสหยุดงานประท้วงทั่วประเทศเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 59 ต่อต้านการปรับข้อกฎหมายด้านแรงงานของรัฐบาลส่งผลให้โรงกลั่นของบริษัท Total 3 แห่ง กำลังการกลั่นรวม 700,000 บาร์เรลต่อวัน ต้องลดอัตราการกลั่น แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงจากเหตุไฟป่าในแคนาดามีแนวโน้มคลี่คลายหลังฝนตก บริเวณ Fort McMurrayซึ่งเป็นแหล่งผลิต Oil Sands และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นยกเลิกคำสั่งอพยพฉุกเฉินบางพื้นที่แล้ว ขณะที่การหยุดงานประท้วงในฝรั่งเศสทำให้โรงกลั่น 3 แห่งของบริษัท Total กำลังการกลั่นรวม 700,000 บาร์เรล ต้องหยุดดำเนินการ (คิดเป็น 62% ของกำลังการกลั่นทั้งหมดของบริษัท) อีกทั้งปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม Reuters รายงานกำลังการผลิตน้ำมันดิบหยุดดำเนินการทั่วโลก ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 3.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงกลางเดือนที่ระดับ 3.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากท่าส่งออกในเวเนซุเอลาชำรุดเพราะขาดการซ่อมบำรุง ท่ามกลางปัญหาภายในประเทศที่รัฐบาลต้องประกาศเหตุฉุกเฉิน ให้ติดตาม การลงประชามติในอังกฤษ (Brexit) ที่จะมีขึ้นในเดือน มิ.ย. 59 หลายสถาบันแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแยกตัว อาทิ รัฐมนตรีคลังของฝรั่งเศสกล่าวว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังประเทศ G7 ไม่เห็นด้วยที่อังกฤษจะถอนตัวออก ขณะที่ผลสำรวจของสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมเยอรมนี รายงานบริษัทเยอรมนีที่ประกอบธุรกิจในอังกฤษ 61% เตรียมลดการลงทุน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เคลื่อนไหวในกรอบ 46.5-49.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 45.0-48.0 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในกรอบ 43-46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจากหน่วยงานศุลกากรของเวียดนามรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป ในเดือน เม.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 32 % อยู่ที่ 11.9 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้เวียดนามเป็นผู้นำเข้ามันเบนซินรายใหญ่ในภูมิภาคเอเชียรองจากอินโดนีเซีย และบริษัท Idemitsu Kosan ในญี่ปุ่นหยุดดำเนินการหน่วย Desulfurizer(กำลังการกลั่น 42,000 บาร์เรลต่อวัน) ของโรงกลั่นน้ำมัน Hokkaido (กำลังการกลั่น 160,000 บาร์เรลต่อวัน) หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 59 ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 14 พ.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 160,000 บาร์เรล อยู่ที่ 11.5 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีนปรับราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินภายในประเทศขึ้น 120 หยวนต่อตัน (ประมาณ 0.48 บาทต่อลิตร) และ Platts คาดการณ์ผู้ค้าอาจสูบถ่ายน้ำมันเบนซินจากเรือขนส่งที่ผู้ค้าเช่าลอยลำเก็บน้ำมัน (Floating Storage) อยู่รอบสิงคโปร์ ขึ้นเก็บบนฝั่ง ในช่วง1-2 สัปดาห์นี้ เพราะผู้ค้าคาดว่าราคาน้ำมันที่จะเพิ่มขึ้นในเดือน มิ.ย. 59 ไม่คุ้มกับค่าเช่าเรือขนส่ง และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 18 พ.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 812,000 บาร์เรล หรือ 5.6 % หรือ อยู่ที่ 15.34 ล้านบาร์เรล โดยสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 58-61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจากข่าว Platts รายงานตลาดน้ำมันดีเซลชนิด 0.05%S ในเอเชียคึกคักเพราะ สภาพอากาศแล้งกระตุ้นความต้องการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าและการกสิกรรม โดยเฉพาะในอินเดียและเวียดนาม ขณะที่ Pakistan State Oil Co. (PSO) ซื้อน้ำมันดีเซลชนิด 0.05%S จากตลาดจรในเดือน พ.ค. 59 ปริมาณรวม 1.6 ล้านบาร์เรล เนื่องจากไม่ได้รับการส่งมอบตามสัญญาระยะยาว (Term) ที่มีกับ Kuwait Petroleum Corp. (KPC) ของคูเวต อย่างไรก็ตาม IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 18 พ.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.2 ล้านบาร์เรล หรือ 12 % มาอยู่ที่ 11.07 ล้านบาร์เรล และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 14 พ.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.0 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 11.6 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ