สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 8-12 ส.ค. 59 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 15-19 ส.ค. 59 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 15, 2016 15:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--ปตท. สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นทุกชนิด น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 2.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 41.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI)เพิ่มขึ้น 2.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 43.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 2.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 2.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก · Reuters รายงานท่าส่งออกน้ำมันดิบ Zueitina (ปริมาณการสูบถ่ายน้ำมัน 150,000) ของลิเบียยังปิดทำการ เนื่องจากกลุ่ม ติดอาวุธ Libya National Army (LNA) ขู่ว่าจะโจมตีเรือขนส่งน้ำมันดิบ ซึ่งจะก่อให้เกิดการปะทะระหว่างกลุ่ม LNA และกลุ่มติดอาวุธ Petroleum Facilities Guard (PFG) ที่ได้เซ็นสัญญายอมเปิดท่าส่งออกดังกล่าว กับรัฐบาลลิเบียที่สหประชาชาติยอมรับ หรือ Government of National Accord (GNA) หากเกิดการปะทะขึ้นอาจทำให้ท่าส่งออกเสียหายและส่งผลให้ลิเบียไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตมากกว่าระดับปัจจุบันที่ประมาณ330,000 บาร์เรลต่อวัน · สำนักสถิติแห่งชาติของจีนรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของจีนในเดือน ก.ค. 59 ลดลงจากเดือนก่อน 90,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 3.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงต่อเนื่องกัน 5 เดือน สู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี เนื่องจากแหล่งผลิตเก่าแก่เริ่มให้ผลผลิตถดถอยมาก · Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบWTI ในตลาดซื้อขาย ล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน และ NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ส.ค. 59 กลุ่มผู้จัดการกองทุนเพิ่มสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 17,671 สัญญา มาอยู่ที่ 97,973 สัญญา เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบเดือน ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ ·Baker Hughes รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ส.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 15 Rig มาอยู่ที่ 396 Rig เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 7 และเพิ่มขึ้นมากสุดตั้งแต่ ธ.ค. 58 ด้านBarclays คาดการณ์ว่าจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่1/60 ·รายงานฉบับเดือน ส.ค. 59 ของ OPEC เผยซาอุดีอาระเบียผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. 59 เพิ่มขึ้น 200,000บาร์เรลต่อวันแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน ·EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ส.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 523.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters ที่คาดว่าจะลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.0 ล้านบาร์เรล แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบช่วงปลายสัปดาห์ก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นรุนแรง ICE Brent และ NYMEX WTI ต่างเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล สู่ระดับสูงสุดตั้งแต่กลางเดือน ก.ค. 59 เนื่องจากนาย Khalid al-Falih รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบียออกแถลงการณ์สนับสนุนการประชุมนอกรอบระหว่างผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ทั้งในและนอก OPEC ระหว่างร่วมงาน International Energy Forum (IEF) ที่ประเทศแอลจีเรีย ช่วงวันที่ 26-28 ก.ย. 59 หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของกาตาร์เสนอการประชุมนอกรอบดังกล่าวเมื่อต้นสัปดาห์ก่อน ให้สังเกตว่ากระแสข่าวการประชุมทำนองนี้ได้ผลักดันราคาน้ำมันดิบให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาสที่ 2/59 แม้ผลการประชุมจะไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมนักในการคงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบก็ตาม นอกจากนี้ ทางด้านการเคลื่อนย้ายของเงินทุน (Fund Flows) เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีทิศทางอ่อนค่าลงตั้งแต่ต้นสัปดาห์ก่อนและยังทรงตัวในระดับต่ำเมื่อวันศุกร์ที่ 12 ส.ค. 59 จากผลกระทบของยอดขายปลีกซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ ในสัปดาห์นี้ให้ติดตามตัวเลขบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้แก่ ยอดสร้างบ้านใหม่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (อัตราเงินเฟ้อ) และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม อันจะมีผลต่อความเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านกรอบความเคลื่อนไหวเชิงเทคนิคสัปดาห์นี้ราคา ICE Brent อยู่ที่ 44.0-49.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคา NYMEX WTI อยู่ที่ 42.0-47.0 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคา Dubai 40.0-45.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับตัวสูงขึ้นจากข่าว โรงกลั่นน้ำมัน Cilicap (กำลังการกลั่น348,000 บาร์เรลต่อวัน) ในอินโดนีเซีย ของบริษัท Pertamina ปิดซ่อมแซมหน่วย Residual Fluid Catalytic Cracking หรือ RFCC (กำลังการผลิต 30,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค. 59 และคาดว่าจะใช้เวลาซ่อมบำรุง 20-25 วัน ด้านปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ส.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.01 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 15.05 ล้านบาร์เรล และ PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ ในยุโรปบริเวณ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) สัปดาห์สิ้นสุด 4 ส.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือ 9.7 % อยู่ที่ 9.9 ล้านบาร์เรล, Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่นสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ส.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 380,000 บาร์เรล มาอยู่ที่10.38 ล้านบาร์เรล และ Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรอง gasoline เชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ส.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 235.4 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts คาดอุปทานน้ำมันเบนซินในเอเชียยังคงล้นตลาดต่อเนื่อง เพราะโรงกลั่นในเอเชียเหนือยังส่งออกจำนวนมาก อาทิ Sinochem ของจีน และ Tasweeq ของกาตาร์ออกประมูลขายเบนซินส่งมอบเดือน ก.ย. 59 ปริมาณรวม 500,000 บาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 49-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจาก Egyptian General Petroleum Corp. (EGPC) ของอียิปต์ และ Saigon Petro ของเวียดนามออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซลปริมาณรวม 1.2 ล้านบาร์เรล ส่งมอบเดือน ก.ย. 59 และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ส.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.85 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 13.59 ล้านบาร์เรล และ EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ส.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 151.2 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts รายงานอุปทานน้ำมันดีเซลในเอเชียล้นตลาด โดยมีผู้ส่งออกรายใหญ่เสนอประมูลขายในตลาดจรต่อเนื่อง เช่น Kuwait Petroleum Corp. และ Platts รายงาน Arbitrage น้ำมันดีเซลจากเอเชียไปตะวันตกปิด ด้านปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล PJK รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ ในยุโรปบริเวณ ARA สัปดาห์สิ้นสุด 4 ส.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 500,000 บาร์เรล หรือ 1.1 % อยู่ที่ 24.5 ล้านบาร์เรล และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่นสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ส.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 110,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.59 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ