สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 29 ส.ค. – 2 ก.ย. 59 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 5-7 ก.ย. 59

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 5, 2016 16:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--ปตท. สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 2.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.36เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 44.31เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.13เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 1.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.58เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ · สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration หรือ EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ส.ค. 59 เพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 525.9 ล้านบาร์เรล · Baker Hughes รายงานจำนวนแท่น (Rig) ขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ก.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 1 Rig มาอยู่ที่ 407 Rig · Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบWTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน และ NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ส.ค. 59 กลุ่มผู้จัดการกองทุนลดสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลงจากสัปดาห์ก่อน 20,810 สัญญา มาอยู่ที่ 220,386 สัญญา · กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry หรือ METI) ของญี่ปุ่นรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบเดือน ก.ค. 59 ลดลงจากปีก่อน 8.5% อยู่ที่ 3.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน · Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในทะเลเหนือจากแหล่งผลิต Brent, Forties, Oseberg และ Ekofisk (BFOE) ในเดือน ต.ค. 59 จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 13,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 793,000 บาร์เรลต่อวัน ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก · รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของอิหร่าน นาย Bijan Zanganeh ตอบรับเข้าร่วมการประชุมนอกรอบของประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อหาข้อตกลง Freeze Production ในเดือนหน้า และกล่าวว่าอิหร่านพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกลุ่มผู้ผลิต OPEC และ Non-OPEC · Bureau of Safety and Environmental Enforcement ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซปริมาณใน Gulf of Mexico (GOM) รวม 352,946 BOE หรือ Barrel of Oil Equivalent เป็น 22% ของปริมาณการผลิตในบริเวณดังกล่าวหยุดดำเนินการเพราะพายุ Tropical Depression · EIA ประเมินปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจาก Shale oil ของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 59 ลดลงจากเดือนก่อน 80,000บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 4.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน · กลุ่มกองกำลังติดอาวุธ Niger Delta Greenland Justice Mandate (NDGJM) ในไนจีเรียวางระเบิดท่อขนส่งน้ำมัน Ogor-Oteri ที่ใช้ขนส่งน้ำมันเบนซินและดีเซลรวม 33,000 ลิตรต่อวัน ของบริษัทในเครือบริษัทน้ำมันแห่งชาติไนจีเรีย กลุ่ม NDGJM แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยที่กลุ่ม Niger Delta Avenger (NDA) ที่หันไปเจรจากับรัฐบาล กำลังการผลิตน้ำมันของไนจีเรียไม่ฟื้นตัวได้ในเร็ววันเพราะกองกำลังติดอาวุธรายอื่นยังไม่ยุติบทบาท แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์ปรับเพิ่มขึ้นจากแรงหนุนเงินดอลลาร์อ่อนค่า เพราะการจ้างงานภาคอุตสาหกรรม (นอกภาคเกษตรกรรม) ในสหรัฐฯ ชะลอตัวต่ำกว่าประมาณการณ์ ทำให้ตลาดลดประเมินความเป็นไปได้ที่ FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในการประชุม FOMC วันที่ 20-21 ก.ย. นี้ลง อีกทั้งประธานาธิบดี Putin ของรัสเซียเห็นว่าการประชุมของประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบเพื่อหามาตรการคงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และตนจะแสดงจุดยืนของรัสเซียข้างต้นแก่ รองมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย Mohammed bin Salman ระหว่างการประชุมG-20 เพื่อย้ำว่าความร่วมมือของรัสเซียกับซาอุดีอาระเบียเป็นประโยชน์ต่อตลาดน้ำมันโลก นอกจากนี้ National Bureau of Statistics ของจีนนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อเก็บในคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve หรือ SPR) อย่างต่อเนื่องโดยนำเข้าเพิ่มขึ้น 43 ล้านบาร์เรล ตั้งแต่ช่วงกลางปี 58 - ไตรมาส1/59 มาอยู่ที่ระดับ 233 ล้านบาร์เรล ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณการนำเข้า 33 วัน และจีนมีแผนเก็บสำรอง SPR ที่ 550 ล้านบาร์เรล ภายในปี 63 อย่างไรก็ตามการส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียมีที่ท่าว่าจะกลับคืน แต่ต้องติดตามว่าจะยั่งยืนหรือไม่ เพราะสถานการณ์ทางการเมืองในลิเบียเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังจะเห็นได้จาก บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC.) ต้องจ้างเรือขนส่งเพื่อรับน้ำมันจากท่า Ras Lanuf (กำลังการส่งออก 220,000 บาร์เรลต่อวัน) เพราะผู้ซื้อไม่ต้องการรับความเสี่ยง ในกรณีที่ลิเบียไม่สามารถส่งมอบน้ำมัน ทางด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะอยู่ในช่วง 44-49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล , NYMEX WTI อยู่ระหว่าง 42-47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ ดูไบ จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 40-45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจาก อุปสงค์น้ำมันเบนซินในตลาดยุโรปแข็งแกร่งและดึง อุปสงค์ Naphtha บางส่วนเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำมันเบนซิน และ Platts รายงานโรงกลั่นของรัฐวิสาหกิจจีนมีแผนปิดดำเนินการซ่อมแซมในเดือน ส.ค. และ ก.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 1.21 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 1.09 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ ส่งผลให้ผู้ค้าคาดปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินของจีน เดือน ส.ค. และ ก.ย. 59 ลดลงต่ำกว่าระดับเดือน ก.ค. 59 อีกทั้งอุปทานน้ำมันเบนซินจากไต้หวันส่งมอบเดือน ก.ย. 59 ลดลงเนื่องจากโรงกลั่น Talin (กำลังการกลั่น 300,000 บาร์เรลต่อวัน) ปิดดำเนินการหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเบนซิน(Residual Fluid Catalytic Cracking หรือ RFCC) กำลังการผลิต 80,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม Platts รายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินในเอเชียชะลอตัว หลังจาก บริษัท Pertamina ของอินโดนีเซียได้เสร็จสิ้นการเข้าซื้อน้ำมันเบนซินในตลาด ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน International Enterprise Singapore (IES)รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 31 ส.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 280,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.64 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 27 ส.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน200,000 บาร์เรล 2.1 % อยู่ที่ 10.3 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 52-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงโดยในภูมิภาคเอเชียถูกกดดันจากภาวะอุปทานล้นตลาด ขณะที่ Arbitrage ไปยังตะวันตกปิด และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 31 ส.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 50,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 14.08 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อีกทั้ง บริษัท JX Nippon Oil & Energy ของญี่ปุ่นมีแผนส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นในเดือน ก.ย. 59 นี้ เพราะการขนส่งน้ำมันในเดือน ส.ค. 59 ต้องล่าช้าเพราะพายุไต้ฝุ่น อย่างไรก็ตาม Reuters รายงานภาพรวมตลาดจรน้ำมันดีเซลที่สิงคโปร์ เดือน ส.ค. 59 คึกคัก โดยมีการซื้อขายในปริมาณรวม 10.6 ล้านบาร์เรล สูงกว่าเดือน ก.ค. 59 ที่ระดับ6.4 ล้านบาร์เรล ขณะที่รัสเซียมีแผนส่งออกน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำ จากท่า Primorsk ที่ทะเลบอลติค ในเดือน ก.ย.59 ลดลง จากเดือนก่อน 1.2 ล้านบาร์เรล หรือ 15.2 % ที่ระดับ 6.6 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นซ่อมบำรุง และPAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 27 ส.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน994,000 บาร์เรล หรือ 8.3 % อยู่ที่ 11.1 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 50-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ