เปรี้ยวลืม! วิทยาศาสตร์ฯ มธ. มอบของขวัญปีใหม่ไทยแก่ชาวสวนมะนาว! โชว์นวัตกรรม “แอคทีฟแพ็คเกจจิ้ง” สดนาน 3 เดือน ส่งออกคล่อง ต้นทุนต่ำ ราคาดี

ข่าวทั่วไป Tuesday April 11, 2017 23:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. เปิดตัว แอคทีฟแพ็คเกจจิ้ง (Active Packaging)นวัตกรรมยืดอายุผลิตผลมะนาว คงรสชาติเปรี้ยวเข็ดฟัน และสีเขียวสดอยู่ได้นานสุดถึง 3 เดือน โดยนวัตกรรมดังกล่าวประกอบด้วยสูตรน้ำยากระตุ้นการสร้างคลอโรฟิลล์แบบต้นทุนต่ำ ไม่ทิ้งสารตกค้าง และกล่องแอคทีฟแพ็คเกจจิ้ง (Active Packaging) ที่ภายในกล่องประกอบด้วยฟิล์มพิเศษ ทำหน้าที่ควบคุมการซึมผ่านอากาศเข้าออก โดยนวัตกรรมดังกล่าวออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาการปลูกมะนาวนอกฤดูกาล ที่โดยปกติต้องใช้วิธีบังคับต้น ซึ่งจะทำให้ฤดูกาลถัดไปมะนาวไม่ออกผล และเสียรายได้จำนวนมาก ทั้งนี้ นวัตกรรมใช้ราคาต้นทุนในการผลิตที่ต่ำมาก เฉลี่ยแล้วเพียง 30 สตางค์ ต่อมะนาว 1 ลูก โดยในปัจจุบัน นวัตกรรมดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติม และยังไม่มีวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ แต่สำหรับเกษตรกรสวนมะนาวที่สนใจในนวัตกรรมข้างต้น สามารถขอรับคำปรึกษาได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สาขาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. หมายเลขโทรศัพท์ 0-2564-4491 หรือติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. หมายเลขโทรศัพท์ 02-564- 4440-59 ต่อ 2010 หรือเข้าไปที่ www.sci.tu.ac.th รศ.วรภัทร ลัคนทินวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.กล่าวว่า "มะนาว" นับเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรให้ความสนใจเป็นจำนวน และสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้อย่างมหาศาล โดยจากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (2556) ระบุไว้ว่า ผลผลิตมะนาวในอาเซียนกว่า 91.72เปอร์เซ็นต์มาจากประเทศไทย และในปี 2558 ที่ผ่านมาผลผลิตมะนาวทั่วประเทศมีมากกว่า 150,000 ตัน สร้างรายได้กว่า 9,296 ล้านบาท โดยประเทศที่ต้องการนำเข้ามะนาวมากที่สุดในอาเซียนได้แก่ สิงคโปร์ และมาเลเซีย แต่หนึ่งในปัญหาหลักของเกษตรกรสวนมะนาวคือ การปลูกมะนาวนอกฤดูกาลเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีราคาดี และสามารถตอบสนองความต้องการผู้บริโภค ซึ่งในปัจจุบันเป็นการใช้วิธีการบังคับต้นทำมะนาวนอกฤดู ด้วยวิธีการอดน้ำต้นมะนาวเป็นเวลา 1 เดือน จากนั้นจึงจะให้ปุ๋ยบำรุงตามปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ในฤดูกาลถัดไปต้นมะนาวจะทรุดโทรมและไม่ออกผล อันนำไปสู่การขาดแคลนรายได้จำนวนมาก รศ.วรภัทร กล่าวต่อว่า หลังจากเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงทำให้เกิดแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา ช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถมีผลผลิตมะนาวขายได้ในหน้าแล้ง โดยไม่ต้องเสียรายได้ในช่วงที่มะนาวไม่ออกผล และค่าใช้จ่ายในการบำรุง/ฟื้นฟูต้นมะนาวให้กลับมามีสภาพเดิม โดยหลังจากทำการศึกษาวิจัยเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี จึงได้ผลลัพธ์ออกมาเป็น นวัตกรรมยืดอายุผลมะนาวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยนวัตกรรมดังกล่าวจะประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ สูตรสารกระตุ้นการสร้างคลอโรฟิลล์แบบต้นทุนต่ำ ที่ใช้ฉีดที่ผลมะนาว และจะช่วยยืดอายุผลมะนาวสดได้นานถึง 3 เดือน คงรสชาติเปรี้ยวเข็ดฟัน มีผิวที่สวยสด สมบูรณ์ขึ้น พร้อมแก่การเก็บรักษา โดยที่ไม่ทิ้งสารตกค้าง สามารถส่งออกได้ตามมาตรฐานสากล และอีกส่วนหนึ่งคือ กล่องแอคทีฟแพ็คเกจจิ้ง (Active Packaging) ที่ภายในกล่องพลาสติกทัปเปอร์แวร์จะประกอบด้วยฟิล์มพิเศษ คอยทำหน้าที่ควบคุมการซึมผ่านอากาศเข้าออก รศ.วรภัทร กล่าวเสริมว่า นวัตกรรมดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมะนาว โดยมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำ เนื่องจากตัวสูตรน้ำยาเร่งคลอโรฟิลล์ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 3 สตางค์ต่อมะนาว 1 ลูก ซึ่งโดยปกติแล้วนั้นจะมีราคาอยู่ที่ 50 สตางค์ – 1บาทต่อมะนาวลูก และสำหรับกล่องแอคทีฟแพ็คเกจจิ้งสามารถหาซื้อได้ในราคา 100 บาท ซึ่งสามารถจุได้ถึง 10 กิโลกรัม ส่วนฟิล์มที่ใช้มีต้นทุนเพียง 50 สตางค์ ซึ่งสามารถใช้ได้นานถึง 3 เดือน ฉะนั้นแล้วนวัตกรรมนี้ใช้ต้นทุนที่ต่ำมาก เฉลี่ยแล้วเพียง 60 สตางค์ ถึง หนึ่งบาท ต่อมะนาว 1 ผล (ประมาณการจาก ค่าสารเคมี ค่ากล่องและค่าไฟฟ้าห้องเย็น) แต่ทำให้สามารถขายมะนาวได้ในราคาดีขึ้น และไม่ต้องเสียโอกาสในการขายผลผลิตจากกรณีการบังคับต้นมะนาวให้ออกนอกฤดูกาลอีกด้วย อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมดังกล่าวยังไม่มีการขายสูตรในเชิงพาณิชย์ โดยอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาด้านเปลือกมะนาวยุบ และปัญหาสีผิวเปลี่ยนเมื่อเก็บไว้นาน โดยสำหรับเกษตรกรสวนมะนาวที่สนใจในนวัตกรรมข้างต้น สามารถขอรับคำปรึกษาได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในขณะเดียวกันนี้ ได้ทำการเร่งศึกษาวิจัยและทดลองพัฒนาสารละลายวิตามิน เพื่อใช้ควบคู่กับกล่องแอคทีฟแพ็คเกจจิ้ง ใช้ในการยืดอายุผลผลิตลิ้นจี่ให้อยู่ได้นานขึ้น 3 เท่า โดยกำลังจะเริ่มทดสอบกับพื้นที่จริงในอำเภออัมพวา และพื้นที่ในจังหวัดลำพูน ตามลำดับ และอีกหนึ่งนวัตกรรมคือการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อยืดอายุเงาะให้อยู่ได้สูงสุด 45 วัน โดยมีแผนจะลงไปทดสอบในพื้นที่จริงที่จังหวัดจันทบุรีเร็วๆ นี้ รศ.วรภัทร กล่าวทิ้งท้าย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สาขาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. หมายเลขโทรศัพท์ 0-2564-4491 หรือติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. หมายเลขโทรศัพท์ 02-564- 4440-59 ต่อ2010 หรือเข้าไปที่ www.sci.tu.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ