ปภ.รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 16 จังหวัด พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำและเร่งระดมสรรพกำลังเร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

ข่าวทั่วไป Wednesday November 1, 2017 16:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 23 จังหวัด ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เลย เพชรบูรณ์ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ตาก และอุบลราชธานี ยังคงมีสถานการณ์ใน 16 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี หนองบัวลำภู ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด รวม 55 อำเภอ 387 ตำบล 2,136 หมู่บ้าน 110,568 ครัวเรือน ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกมิติมุ่งดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยเป็นหลักพร้อมระดมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยควบคู่กับการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัย น้ำไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่งจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน และการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนอุบลรัตน์ ตั้งแต่วันที่ 10 – 31 ตุลาคม 2560 ทำให้เกิดน้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ 23 จังหวัด รวม 78 อำเภอ 479 ตำบล 2,820 หมู่บ้าน 42 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 125,716 ครัวเรือน 326,072 คน ผู้เสียชีวิต 10 ราย ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ใน 16 จังหวัด รวม 55 อำเภอ 387 ตำบล 2,136 หมู่บ้าน 110,568 ครัวเรือน 290,484 คน แยกเป็น ลุ่มน้ำยม 1 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย น้ำท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีสำโรง และอำเภอกงไกรลาศ ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน 1 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามง่าม อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอบึงนาราง อำเภอโพทะเล อำเภอเมืองพิจิตร อำเภอตะพานหิน อำเภอวังทรายพูน และอำเภอบางมูลนาก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอพยุหะคีรี อำเภอโกรกพระ และอำเภอชุมแสง อุทัยธานี น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเมืองอุทัยธานี สิงห์บุรี น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภออินทร์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี อำเภอพรหมบุรี และอำเภอท่าช้าง ลพบุรี น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อำเภอบ้านหมี่ อ่างทอง น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอป่าโมก อำเภอวิเศษชัยชาญ อำเภอเมืองอ่างทอง อำเภอโพธิ์ทองและอำเภอไชโย พระนครศรีอยุธยา น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางบาล อำเภอเสนา อำเภอบางปะอิน อำเภอผักไห่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางไทร และอำเภอบางปะหัน ปทุมธานี น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปทุมธานีและอำเภอสามโคก ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำท่าจีน 1 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอมโนรมย์ อำเภอสรรพยา อำเภอเมืองชัยนาท อำเภอวัดสิงห์ และอำเภอหันคา ลุ่มน้ำท่าจีน 1 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางปลาม้า อำเภอสองพี่น้อง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี และอำเภอเดิมบางนางบวช และลุ่มน้ำชี 5 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู ผลกระทบจากน้ำเขื่อนอุบลรัตน์หนุนและไหลเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีบุญเรือง อำเภอโนนสัง และอำเภอเมืองหนองบัวลำภู ขอนแก่น น้ำท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภออุบลรัตน์ อำเภอน้ำพอง และอำเภอเมืองขอนแก่น มหาสารคาม น้ำท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมืองมหาสารคาม กาฬสินธุ์ น้ำท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอฆ้องชัย และอำเภอกมลาไสย ร้อยเอ็ด น้ำท่วมพื้นที่อำเภอจังหาร ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โดยแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง พร้อมประสานจังหวัดจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวตามแผนเผชิญเหตุ รวมถึงให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตระดมทรัพยากรและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย ทั้งเต็นท์ที่พัก รถผลิตน้ำดื่ม รถไฟฟ้าส่องสว่าง รถบรรทุก รถสุขาเคลื่อนที่ เรือท้องแบน และเครื่องสูบน้ำ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังสู่ลำน้ำสายหลัก ปภ. ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา ติดตามสภาวะอากาศและสถานการณ์น้ำ และพิจารณาปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เชิงพื้นที่ พบว่า หย่อมความกดอากาศต่ำพบว่าหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก อย่างช้า ๆ เข้าปกคลุมบริเวณอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ในช่วงวันที่ 31 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2560 ทำให้ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ จึงให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและจังหวัดในพื้นที่เสี่ยง ดำเนินการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์จากปัจจัยที่มีน้ำฝน น้ำท่า และปัจจัยสภาพความเสี่ยงในพื้นที่ เพื่อประสานและบูรณาการทุกหน่วยงาน เตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงาน อำนวยความสะดวก และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย พร้อมทั้งให้แจ้งประชาสัมพันธ์สภาพอากาศเพื่อสร้างการรับรู้ แก่ประชาชนให้ติดตามข่าวสารของทางราชการและแนวทางปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ