สมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมลงนามกับ 5 หน่วยงาน พัฒนาระบบการประกันภัยพืชผลการเกษตรสู่ความยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 3, 2018 11:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--สมาคมประกันวินาศภัยไทย เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2561 สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจในโครงการวิจัยเรื่อง การพัฒนาระบบการประกันภัยพืชผลการเกษตรของประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ตามที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการเป็นผู้บริหารจัดการความเสี่ยงภัยธรรมชาติด้านการเพาะปลูกให้กับเกษตรกรในโครงการประกันภัยข้าวนาปี มาตั้งแต่ปี 2554 และได้มีการพัฒนาระบบการประกันภัยข้าวนาปีมาโดยตลอด ทั้งรูปแบบและวิธีในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงื่อนไขความคุ้มครอง การคิดค่าเบี้ยประกันภัย รวมถึงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้มีการพัฒนาระบบการเชื่อมข้อมูลการทำประกันภัยข้าวนาปี กับ ธ.ก.ส. และเชื่อมข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และรายงานข้อมูลความเสียหายรายแปลงในพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ กับกรมส่งเสริมการเกษตร จึงทำให้มีข้อมูลที่สมบูรณ์พร้อมในการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ให้กับเกษตรกรได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบออนไลน์เคลม แอพพลิเคชั่น "มะลิ" สำหรับเกษตรกรสามารถตรวจสอบสถานะการประกันภัย และสถานะการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ง่ายและรวดเร็ว ผ่านโทรศัพท์มือถือได้ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย ซึ่งจากการมุ่งมั่นพัฒนาระบบการประกันภัยในโครงการประกันภัยข้าวนาปี ทำให้สมาคมฯ สามารถดำเนินการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ให้กับเกษตรกรได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว สร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบการประกันภัยพืชผลเพื่อเป็นเครื่องมือให้กับเกษตรกรสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงนั้นยังเป็นสิ่งจำเป็นและต้องได้รับการพัฒนารูปแบบการประกันภัยอย่างต่อเนื่อง เช่น วิธีการประเมินความเสียหายโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม ที่ภาครัฐได้ให้การสนับสนุนอยู่แล้ว และสอดคล้องกับความเสียหายกับเกษตรกรในแต่ละเขตพื้นที่ ซึ่งอยู่ในโซนความเสี่ยงภัยที่แตกต่างกัน จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกความเข้าใจ ในโครงการวิจัยเรื่อง การพัฒนาระบบการประกันภัยพืชผลการเกษตรของประเทศไทย ในครั้งนี้ การลงนามบันทึกความเข้าใจในโครงการวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ร่วมกันศึกษาและพัฒนาระบบการประกันภัยพืชผลการเกษตรที่เหมาะสมและครอบคลุมเกษตรกรส่วนใหญ่ทั่วประเทศไทย ตลอดจนศึกษาบทบาทที่เหมาะสมของภาครัฐในการผลักดันการพัฒนาตลาดประกันภัยพืชผลที่ยั่งยืนของประเทศ และร่วมกันนำระบบประกันภัยพืชผลทางการเกษตรที่พัฒนาไว้ไปทดลองใช้จริงในพื้นที่นำร่องกับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชนต่อไป ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะนำมาซึ่งองค์ความรู้และงานวิจัยเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ และนำมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมในการนำไปใช้จริงได้ต่อไป โดยมีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งผลที่จะได้รับจากโครงการวิจัยนี้คือ (1) ระบบประกันภัยพืชผลทางการเกษตรที่ครอบคลุมและยั่งยืนขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เพิ่มเสถียรภาพทางการเงินให้เกษตรกร ตลอดจนลดภาระทางการคลังของรัฐบาลในระยะยาว (2) ระบบฐานข้อมูลภาคเกษตรที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยต่อยอดให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้เกษตรกรได้หลากหลายมากขึ้น และ (3) mobile application ที่ครบวงจรขึ้น ทั้งในการส่งเสริมให้เกษตรกรไทยเป็นทั้งผู้สร้างข้อมูลที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และผู้ใช้ข้อมูลอย่างมีส่วนร่วม ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบฐานข้อมูลภาคเกษตร ไปพร้อม ๆ กับการเข้าถึงข้อมูล เทคโนโลยี และบริการทางการเงินอย่างยั่งยืนของเกษตรกรไทย ทั้งนี้ การร่วมมือข้างต้น มีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย ร่วมเป็นที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งจากการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย เชื่อมั่นว่าการศึกษาวิจัยจะสามารถนำมาใช้นำเสนอรูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยพืชผลให้เหมาะสม และครอบคลุมพืชเศรษฐกิจหลากหลายชนิด สอดคล้องกับนโยบายรัฐ และนำไปสู่การพัฒนาระบบการประกันภัยพืชผลที่ยั่งยืน และยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรไทยได้อย่างแน่นอน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ