อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทย ผนึกกลุ่ม GSA กดดันปากีสถาน อินเดีย กลุ่มอียู ยกเลิกมาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาล หวั่นซัพพลายในตลาดโลกล้น กดราคาดิ่งเหว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 14, 2018 13:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--เอ็ม ที มัลติมีเดีย อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทย ผนึกกลุ่ม GSA ร่วมกดดันอียู ปากีสถานและอินเดีย ยกเลิกมาตรการอุดหนุนส่งออกน้ำตาลสู่ตลาดโลก หวั่นผลผลิตส่วนเกินในตลาดช่วงฤดูการผลิตปี 2561/62 เพิ่มสต็อคน้ำตาลโลกเป็น 103 ล้านตัน ทำให้สัดส่วนปริมาณสต็อคต่อการบริโภคสูงถึง 55.7% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะกดดันราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลงต่อไปอีกสู่ระดับ 9 เซนต์/ปอนด์ และส่งผลกระทบต่อราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตหน้า นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า จากการประชุมกลุ่มพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการค้าน้ำตาลโลก หรือ Global Sugar Alliance (GSA) ซึ่งประกอบด้วยประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่ของโลก ได้แก่ บราซิล ออสเตรเลีย แคนาดา โคลัมเบีย กัวเตมาลาและไทย ที่มีความกังวัลต่อสถานการณ์การดำเนินมาตรการอุดหนุนการผลิตและการส่งออกน้ำตาลที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลก โดยอียูได้อุดหนุนเกษตรกรผู้เพาะปลูกบีท ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมา อียูเริ่มกลับมาส่งออกน้ำตาลอีกครั้ง โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้คาดว่าจะอียูส่งออกน้ำตาลส่วนเกินแล้วกว่า 2.6 ล้านตัน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศผู้ผลิตและส่งออกอื่นๆ ที่ปฏิบัติตามกฎกติกาการค้าโลก ขณะที่ประเทศปากีสถาน ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนการส่งออกน้ำตาลเพื่อลดอุปทานภายในประเทศในช่วงปีที่มีปริมาณผลผลิตเป็นจำนวนมาก โดยมีการอุดหนุนค่าขนในการส่งออกน้ำตาลให้แก่โรงงานสูงกว่าต้นทุนค่าขนส่งจริง อีกทั้ง ยังตั้งกำแพงภาษีนำเข้าน้ำตาลในอัตราสูง และกำหนดภาษีการขาย (Sales tax) สูงกว่าน้ำตาลที่ผลิตในประเทศ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศ เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า ส่วนประเทศอินเดียซึ่งมีปริมาณผลผลิตน้ำตาลในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 32 ล้านตัน และคาดว่าในปีการผลิตหน้า (ปี 2561/62) จะเพิ่มเป็น 35ล้านตัน เป็นผลให้อินเดียกลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่รองจากประเทศบราซิล โดยรัฐบาลอินเดียมีการสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าอ้อยให้แก่ชาวไร่โดยตรง ซึ่งสูงกว่าที่ข้อตกลงทางการเกษตรของ WTO ที่กำหนดให้อุดหนุนได้ไม่เกิน 10% ของมูลค่าอ้อยรวมทั้งหมด จึงทำให้มีปริมาณน้ำตาลส่วนเกินที่ผลิตออกสู่ตลาดโลกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการอุดหนุนการผลิตและการส่งออกน้ำตาลในตลาดโลกได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทยที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำจากปริมาณผลผลิตน้ำตาลส่วนเกินที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในปีการผลิต 2561/62 ปริมาณสต๊อคน้ำตาลโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 103 ล้านตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 96.81 ล้านตัน ส่งผลให้สัดส่วนของปริมาณสต๊อกต่อการใช้น้ำตาลของโลกในปี 2561/62 เพิ่มเป็น 55% และจะกดดันราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลงเหลือเพียง 9 เซนต์/ปอนด์ จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 11-13เซนต์/ปอนด์ "อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยเห็นควรให้การสนับสนุนและร่วมมือกับ GSA หากจะดำเนินการฟ้องร้อง WTO เพื่อขอให้ประเทศเหล่านี้ยกเลิกการอุดหนุนการผลิตและการส่งออกน้ำตาล ที่มีผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีความผันผวนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยทั้งระบบที่ใช้ราคาน้ำตาลตลาดโลกมาคำนวณเป็นราคาอ้อย ซึ่งหากราคาน้ำตาลโลกอยู่ในภาวะตกต่ำย่อมส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในที่สุด" นายวิบูลย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ