นายกฯ สั่งขยายผลเชิงพาณิชย์อีสาน 4.0 ทั้งไก่ไม่เก๊าท์-โคราชวากิว-โปรตีนจิ้งหรีด

ข่าวทั่วไป Monday November 5, 2018 16:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายกฯ สั่งขยายผลเชิงพาณิชย์อีสาน 4.0 ทั้งไก่ไม่เก๊าท์-โคราชวากิว-โปรตีนจิ้งหรีด "สุวิทย์ เมษินทรีย์" รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เดินหน้าต่อยอดโครงการล้านนา 4.0 เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ทำเนียบรัฐบาล ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ได้นำโครงการอีสาน 4.0 พลิกโฉมประเทศไทย ด้วยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่ดำเนินงานโดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์(สอว.) จัดนิทรรศการอีสาน 4.0 พร้อมนำผลงานวิจัยเด่นที่สามารถขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ ที่ขึ้นชื่อ อาทิ ไก่ 3 โลว์(LOW) ซึ่งเป็นไก่ที่มี พิวรีน หรือ ยูริคต่ำ ไขมันต่ำ และคอเรลเตอรอล ต่ำ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ไก่ไม่เก๊าท์ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โคพันธุ์ "โคราชวากิว" ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โปรตีนจากแมลง ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ข้าวเปลือกเพาะงอก ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นต้น ปรากฏว่าได้รับความสนใจชมและชิมจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า โครงการอีสาน 4.0 เป็นโครงการที่เป็นรูปธรรมจากงานวิจัยต่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ โดยตนได้สั่งการให้ ดร.สุวิทย์ เร่งประชาสัมพันธ์ไก่ไม่เกาส์ให้คนรู้จัก และให้ทำตลาดให้ดี ขณะที่ นมเอ็มมิลค์ เอทูพลัส ที่ดื่มแล้วไม่แพ้ ให้ลองวิจัยน้ำนมข้าวเหมือนนม ส่วน ข้าวเปลือกเพาะงอก ให้ทำตลาดให้ดี วางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ให้ดี ถ้าผลิตสู่ตลาดมากขึ้นต้องรักษามาตรฐานของราคาให้ได้ สำหรับโปรตีนจิ้งหรีดเพื่อสุขภาพ ให้ส่งเสริมเป็นอาชีพเสริมแก่เกษตรที่ปลูกข้าวไม่ได้ในที่แล้ง หรือทำเกษตรปกติไม่ได้ ด้าน ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ได้ให้ สอว.รับไปดำเนินการให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ในวันที่ 7 พ.ย.นี้ ตนจะลงพื้นที่ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เพื่อเปิดโครงการล้านนา 4.0 ซึ่งเป็นการขยายเครือข่าย 4.0 ออกสู่ภูมิภาค เพื่อนำงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ครบวงจรในภูมิภาค สู่เชิงพาณิชย์ รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถจ่อยอดเพิ่มเติมในเชิงธุรกิจได้ ในการก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 การขับเคลื่อนโดยภูมิภาคมีความสำคัญยิ่ง ดังนั้นหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนของรัฐบาลเพื่อตอบโจทย์การเป็น ไทยแลนด์ 4.0 คือการส่งเสริมการลงทุนและเกิดการสร้างนวัตกรรมผ่านทางอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั่วประเทศตามจุดแข็งและโอกาสในพื้นที่นั้นๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ