'ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-ถั่วลิสง-ถั่วเหลือง’ พืชทางเลือกกำไรดี ทดแทนนาข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม จ.ขอนแก่น

ข่าวทั่วไป Friday February 8, 2019 11:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น นายฉกาจ ฉันทจิระวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จ.ขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri - Map) ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น พบว่า สินค้าเกษตรสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดของจังหวัด ได้แก่ ข้าวเหนียวนาปี ข้าวหอมมะลิ และอ้อยโรงงาน โดยข้อมูลสำรวจสินค้า ทั้ง 3 ชนิดพบว่า จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ปลูกข้าวที่เหมาะสม (S1,S2) จำนวน 2.39 ล้านไร่ และพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) จำนวน 3.28 ล้านไร่ โดยผลตอบแทนสุทธิจากการผลิต ข้าวเหนียวนาปี ในพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) เกษตรกรได้กำไร 1,743 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม(S3,N) เกษตรกรขาดทุน 1,735 บาท/ไร่ ส่วนข้าวหอมมะลิ พื้นที่เหมาะสม (S1,S2) เกษตรกรได้กำไร 1,822 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) เกษตรกรขาดทุน 1,791 บาท/ไร่ อ้อยโรงงาน มีพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) สำหรับการปลูก 2.36 ล้านไร่ และพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) 3.38 ล้านไร่ ผลตอบแทนสุทธิในพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) เกษตรกรได้กำไร 3,729 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) ได้กำไร 2,785 บาท/ไร่ หากพิจารณาสินค้าทางเลือกให้แก่เกษตรกร เพื่อปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรแทนการทำนาข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม ตามแผนที่Agri-Map จังหวัดขอนแก่น พบว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น1 สามารถให้ผลตอบแทนสุทธิที่สูงกว่าข้าวเหนียวนาปี โดยมีต้นทุน 4,076 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ เกษตรกรได้กำไร 452 บาท/ไร่ ถั่วลิสงรุ่น2 (ฤดูแล้ง) มีต้นทุน 7,454 บาท/ไร่ เกษตรกรได้กำไร 1,841 บาท/ไร่ และถั่วเหลืองรุ่น2 (ฤดูแล้ง) ต้นทุน 2,107 บาท/ไร่ เกษตรกรได้กำไร 1,622 บาท/ไร่ ทั้งนี้ ยังมีพืชอีกหลายชนิดที่เป็นที่ต้องการของตลาด อาทิ ข้าวโพดต้นสด ไม้ดอก พืชผัก หญ้าเนเปียร์ การเลี้ยง หมูหลุม และโคเนื้อ ซึ่งเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรสามารถเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม เกษตรกรจะต้องมีการศึกษาข้อมูลรอบด้าน ทั้งต้นทุนและผลตอบแทนในการผลิตสินค้านั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตพืช/เลี้ยงสัตว์ชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยดำเนินการ ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับศึกษาข้อมูลเรื่องการตลาดให้รอบคอบ หากท่านที่สนใจต้องการสอบถามเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สศท.4โทร. 043 261 513 หรืออีเมล zone4@oae.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ