ซีพีเอฟ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจสู่เป้าหมายความยั่งยืนปี 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 27, 2019 11:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--เจริญโภคภัณฑ์อาหาร บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายความยั่งยืนปี 2563 พร้อมขับเคลื่อนเป้าหมายระยะยาวด้านสวัสดิภาพสัตว์ การบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการบรรจุภัณฑ์ ครอบคลุมกิจการในประเทศและต่างประเทศ นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า เป้าหมายการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในปี 2563 ที่สำคัญ ภายใต้วิสัยทัศน์ "ครัวของโลก" เดินหน้าตามกลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อสังคมสู่ความยั่งยืนภายใต้ 3 เสาหลัก คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ ซึ่งให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร สุขภาพโภชนาการ สวัสดิภาพสัตว์ การจัดหาวัตถุดิบอย่างรับผิดชอบ การพัฒนาและสนับสนุนชุมชน ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการบรรจุภัณฑ์ การจัดการพลังงาน น้ำ และของเสีย สอดคล้องกับความสนใจและความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้บริโภค บริษัทฯได้ประกาศนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์ วิสัยทัศน์ระดับโลกด้านการใช้ยาต้านจุลชีพด้วยความรับผิดชอบ การบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายความยั่งยืนระยะยาวระหว่างปี 2568 – 2571 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals :SDGs) และสอดคล้องตามหลักการของข้อตกลงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact : UN Global Compact) นโยบายสวัสดิภาพสัตว์ ของ ซีพีเอฟ ได้กำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการอย่างเคร่งครัด มีจริยธรรมสอดคล้องตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของประเทศและประเทศคู่ค้า ข้อกำหนดของลูกค้าและมาตรฐานสากลด้านสวัสดิภาพสัตว์อย่างต่อเนื่อง โดยนำหลักอิสระ 5 ประการ* (Five Freedoms) มาใช้ในการจัดการธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ การผลิตเนื้อสัตว์ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ภายใต้นโยบายสวัสดิภาพสัตว์ ฟาร์มสุกรแม่พันธุ์อุ้มท้องจะเปลี่ยนเป็นระบบการเลี้ยงแบบคอกขังรวม 100% ภายในปี 2568 สำหรับกิจการในประเทศไทย ซึ่งมีการปรับปรุงฟาร์มแม่พันธุ์สุกรอุ้มท้องเพิ่มขึ้นจาก 24% ในปี 2560 เป็น 33% ในปี 2561 ส่วนกิจการในต่างประเทศจะดำเนินการให้แล้วเสร็จปี 2571 ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 7% ธุรกิจสัตว์ปีก ได้ศึกษาเพื่อพัฒนาฟาร์มไก่ไข่ในประเทศไทย ไปสู่ระบบการเลี้ยงแบบปล่อยในโรงเรือน (cage free) ตั้งแต่ปี 2561 ตลอดจนฟาร์มไก่เนื้อในไทยมีเจ้าหน้าที่สวัสดิภาพสัตว์ปีก (Poultry Welfare Officer) 100% ในปีที่ผ่านมาซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายปี 2563 ส่วนกิจการในต่างประเทศดำเนินการแล้ว 63% ในปี 2561 โดยฟาร์มไก่เนื้อในประเทศไทยทั้งหมดเป็นระบบการเลี้ยงตามหลักการสวัสดิภาพสัตว์ ตั้งแต่ปี 2543 ซีพีเอฟ ประกาศวิสัยทัศน์ระดับโลกด้านการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ ซึ่งเน้นการผลิตอาหารที่มีความปลอดภัย มีคุณภาพ และยึดหลักความยั่งยืน ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างมีความรับผิดชอบและสมเหตุผล (Responsible and Prudent Use of Antibiotics) ควบคู่ไปกับการ ปฏิบัติตามแนวทางนโยบายสวัสดิภาพสัตว์ของบริษัทฯ และการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีมนุษยธรรม ซึ่งส่งเสริมให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรงตามธรรมชาติ จะช่วยแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา (Antimicrobial Resistance : AMR) ตอบสนองความต้องการของตลาดโลก นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาขยะพลาสติกโดยเฉพาะจากบรรจุภัณฑ์ โดยมุ่งมั่นพัฒนาออกแบบและจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด "เศรษฐกิจหมุนเวียน" หรือ Circular Economy ตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อใช้ทรัพยากรในการผลิตบรรจุภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงการใช้งานตลอดอายุของบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่การรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ การปกป้องผลิตภัณฑ์ในระหว่างการขนส่ง การบริโภค การจัดการบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค ตลอดจนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สามารถยืดอายุของอาหารให้ยาวนานขึ้น เพื่อลดการสูญเสียอาหารที่ไม่ถูกบริโภค (Food Waste) บริษัทฯ มีการจัดหาบรรจุภัณฑ์ที่มีการนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในบรรจุภัณฑ์ที่ไม่มีการสัมผัสกับอาหารโดยตรงหรือใช้สำหรับการขนส่ง เช่น กล่องกระดาษลูกฟูก ซึ่งใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตตั้งแต่ 70-100% ขณะที่สินค้ากลุ่มหมูสดและไก่สดแช่เย็นบรรจุในถาดพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ทำจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ หรือ โพลีแลคติค แอซิส (Polylactic Acid : PLA) นับเป็รายแรกของประเทศไทย โดยในปี 2561 สามารถลดการใช้ถาด PET ได้กว่า 3.9 ล้านชิ้น หรือ กว่า 60 ตัน เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 132 ตันคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ นายวุฒิชัย กล่าวย้ำว่า เป้าหมายระยะยาวด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกในประเทศไทยต้องนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reusable) นำมาใช้ใหม่ (Recyclable) นำไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ได้ (Upcyclable) หรือ สามารถย่อยสลายได้ (Composable) 100% ในปี 2568 สำหรับกิจการในประเทศ ส่วนกิจการในต่างประเทศจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2573 "ซีพีเอฟ ไม่เพียงดำเนินการให้สำเร็จตามเป้าหมายเท่านั้น แต่ยังคงมุ่งมั่นตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยความรับผิดชอบ เพื่อให้สังคมดี สิ่งแวดล้อมดี และคุณภาพชีวิตที่ของประชาคมโลก" นายวุฒิชัย กล่าว ซีพีเอฟ ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกอย่างต่อเนื่อง เช่น สายธุรกิจผลิตไก่เนื้อครบวงจรมีการใช้กระบะสแตนเลสเพื่อขนย้ายผลิตภัณฑ์ในกระบวนการผลิต สายธุรกิจการเลี้ยงสัตว์น้ำนำ Q-Pass Tank มาใช้บรรจุลูกพันธุ์กุ้งเพื่อส่งมอบให้ลูกค้า และสายธุรกิจอาหารสัตว์บกนำถังบรรจุอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ (Bulk Feed Tank) มาทดแทนการใช้ถุงพลาสติก ขณะที่ ซีพีเฟรชมาร์ท มีการรณรงค์ด้วยการงดให้บริการถุงพลาสติกแก่ลูกค้า คาดว่าจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้กว่า 5 ล้านชิ้นต่อปี นายวุฒิชัย กล่าวเสริม สำหรับรายงานความยั่งยืนประจำปี 2561 ของ ซีพีเอฟ ฉบับนี้ จัดพิมพ์ด้วยหมึกถั่วเหลืองและพิมพ์บนกระดาษที่จัดหาอย่างรับผิดชอบ น้ำหนักเบาและดีต่อสายตา สอดคล้องกับนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายความยั่งยืนของบริษัทฯ./ *หลักอิสระ 5 ประการ (Five Freedoms) ประกอบด้วย 1. ปราศจากความหิว กระหาย และการให้อาหารที่ไม่ถูกต้อง 2. ปราศจากความไม่สะดวกสบายอันเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อม 3. ปราศจากความเจ็บปวด บาดเจ็บ และโรคภัย 4. ปราศจากความกลัวและความทุกข์ทรมาน 5. อิ สระในการแสดงพฤติกรรมตามปกติของสัตว์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ