เนคเทค จับมือพันธมิตร เสริมแกร่ง ภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทย ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ NECTEC-ACE 2021 ในรูปแบบออนไลน์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 1, 2021 11:18 —ThaiPR.net

เนคเทค จับมือพันธมิตร เสริมแกร่ง ภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทย ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ NECTEC-ACE 2021 ในรูปแบบออนไลน์

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค สวทช. ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และหน่วยงานพันธมิตร จัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทคประจำปี 2564 หรือ NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2021 (NECTEC-ACE 2021) ภายใต้แนวคิด "ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า" มุ่งเน้นด้าน "Digital Transformation for Sustainable Manufacturing and Services" เพื่อแสดงถึงการพัฒนาเทคโนโลยีให้เหมาะสมในยุคดิจิทัลที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยมีเป้าหมายแสดงผลงานทางด้านนวัตกรรมการผลิตและบริการที่ยั่งยืน ตอบโจทย์การผลิตยุคใหม่ พัฒนาไทยสู่ Industry 4.0

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า เนคเทค สวทช. ในฐานะศูนย์แห่งชาติที่มุ่งเน้นวิจัยพัฒนาด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เปรียบเสมือน"เครื่องจักรสำคัญในการสร้างฐานรากทางเทคโนโลยีให้ประเทศ" ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ามหาศาลและเป็นอุปสรรคสำคัญที่ภาครัฐและเอกชนต้องติดกับดักการลงทุนทางเทคโนโลยี ส่งผลให้การดำเนินงานหรือประกอบธุรกิจเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เนคเทค สวทช.ยังได้เตรียมความพร้อมงานวิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคต โดยร่วมกับพันธมิตรผลักดันให้เกิดระบบนิเวศน์ของการใช้เทคโนโลยีที่วิจัยและพัฒนาขึ้นให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชน ที่ให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ต่อไป

ปัจจุบันจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติทำให้ไม่สามารถจัดงานหรือทำกิจกรรมที่มีคนหมู่มากมาร่วมงานได้นั้น การจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการของเนคเทคประจำปี 2564 หรือ NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2021 (NECTEC-ACE 2021) ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่องนั้นในปีนี้เนคเทค-สวทช. ได้จับมือร่วมกับพันธมิตรสำคัญ ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ จึงได้จัดงานในรูปแบบออนไลน์ โดยมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 13-16 ธันวาคม 2564  และมีพิธีเปิดงาน ณ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด "ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า" มุ่งเน้นด้าน "Digital Transformation for Sustainable Manufacturing and Services" เพื่อแสดงถึงการพัฒนาเทคโนโลยีให้เหมาะสมในยุคดิจิทัลที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยมีเป้าหมายแสดงผลงานทางด้านนวัตกรรมการผลิตและบริการที่ยั่งยืน ตอบโจทย์การผลิตยุคใหม่ พัฒนาไทยสู่ Industry 4.0 เป็นสำคัญ

ภายในงานมีหัวข้อการสัมนาด้านเทคโนโลยี ซึ่งมุ่งเน้นการนำเสนอ แลกเปลี่ยนแนวคิดและมุมมอง โดยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานพันธมิตรภาคเอกชนด้านอุตสาหกรรมทั้งรายใหญ่และรายย่อย มาร่วมแชร์ประสบการณ์การใช้งานเทคโนโลยีของเนคเทค สวทช. รวมกว่า 30 ท่าน ในรูปแบบการสัมมนาออนไลน์กว่า 19 หัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจและไม่ควรพลาด นอกจากนี้นิทรรศการผลงานและบริการที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลกล่าว 50 ผลงาน

นายศักดิ์ณรงค์ แสงสง่าพงศ์ ประธานคณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมฯ ในฐานะองค์กรหลักภาคเอกชนที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ประกอบด้วย 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ มีนโยบายในการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ให้กับสมาชิก จึงได้จัดตั้ง "สถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม" เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนในเรื่องนวัตกรรมของภาคอุตสาหกกรรม และจัดตั้ง "สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่ออุตสาหกรรม" หรือ ICTI เพื่อส่งเสริมด้าน Digital ให้กับสมาชิก ในฐานะที่สภาอุตสาหกรรมฯ เป็นฝั่ง Demand Side   มีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเป็นจะโยชน์ต่อผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมโดยตรง ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะโรงงาน และ SME ต่างๆ ได้เข้าถึงงานวิจัยและเทคโนโลยีที่สามารถจับต้องได้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยจาก NECTEC  คอยให้การสนับสนุน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการได้ ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ จะเชิญชวนสมาชิกเข้าร่วมการประชุมวิชาการและนิทรรศการ NECTEC-ACE 2021 ครั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  ด้วยเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจนของ AIS ต่อการนำศักยภาพของ 5G มาสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ จากการเดินหน้าลงทุนพัฒนาขีดความสามารถของเทคโนโลยีโครงข่ายอย่างต่อเนื่องทำให้วันนี้โครงสร้างพื้นฐานหรือ Digital Infrastructure มีความสมบูรณ์ พร้อมให้บริการกับภาคอุตสาหกรรม โดยยึดแนวทางการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายเพื่อสร้างความสมบูรณ์ของ Digital Ecosystem เพราะเราเชื่อว่าความสามารถและพลังของพาร์ทเนอร์จะช่วยส่งเสริมธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นได้แบบทวีคูณ ทั้งนี้ AIS ยังทำงานร่วมกับภาครัฐอย่าง ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมีแผนงานสนับสนุน 5G infrastructure สำหรับเป็นสนามทดสอบ 5G (5G testbeds) เพื่อเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมการผลิต รับการมาถึงของเทคโนโลยี 5G ณ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ Sustainable Manufacturing Center: SMC อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางนวัติกรรมของภาคอุตสาหกรรมการผลิต Smart Manufacturing แห่งใหม่ในพื้นที่ EEC 

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกับการดำเนินธุรกิจให้เติบโตคือคู่ขนานสำคัญ ที่ AIS พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ที่เราพร้อมเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองของประเทศในการฟื้นฟูและสร้างการเติบโตร่วมกัน จากโครงข่ายอัจฉริยะ AIS 5G ที่มีขุมพลังความสามารถในการหนุนโลกธุรกิจให้ขับเคลื่อนไปสู่การเติบโตท่ามกลางการแข่งขันจากโลกใหม่ในปัจจุบันได้อย่างดีที่สุด โดยภายในงานทาง AIS ได้นำเสนอ Smart Manufacturing Solutions ที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมการผลิตทุกๆ ด้าน ตั้งแต่ Smart Workforce, Smart Production Line , Remote Factory , Smart Workplace , Energy & Emission Management , Smart Logistics & Warehouse พร้อมส่งมอบบริการที่หลากหลายมากที่สุดในไทยมาโชว์ในงาน อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นในการผลิต การทำงานระยะไกลสำหรับภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น ผ่านการทำงานร่วมกับ Mitsubishi, Omron, TKK และล่าสุดร่วมกับ Schneider ผู้นำด้านโซลูชันการผลิตอัจฉริยะที่จะมาเสริมการทำงานภายใต้แพลตฟอร์ม EcoStruxture ซึ่งประกอบไปด้วย 3 แอปพลิเคชั่นได้แก่ Machine Advisor ซึ่งสามารถตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆได้ว่าทำงานอย่างไร สำหรับ Augmented Operator Advisor ใช้ AR เทคโนโลยีในการดูข้อมูลต่างๆ และ Secure Connect Advisor ให้คำแนะนำผู้ที่ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ทั้งหมดนี้พบกันได้ที่ virtual booth ของ AIS

นางสุวรรณี สิงห์ฤาเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเมนส์ จำกัด กล่าวว่า ซีเมนส์มีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมกับ เนคเทค สวทช. ในการสร้างฐานรากทางเทคโนโลยีให้ประเทศ จากความร่วมมือในโครงการที่ผ่านมาตลอดจนถึงการเข้าร่วมงาน NECTEC ACE ในปีนี้ โดยซีเมนส์ได้นำเทคโนโลยีชั้นนำที่จะช่วยผลักดัน Industry 4.0 อาทิ IoT สำหรับอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยให้

ผู้ประกอบการสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์และระบบเครื่องจักรในอุตสาหกรรม รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้เพื่อนำมาพัฒนาการผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พร้อมสาธิต use case จากการใช้งานจริงมาจัดแสดง เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจทั่วไปเข้าร่วมฟังและศึกษาเพื่อเป็นต้นแบบหรือแนวทางในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยให้ก้าวหน้าต่อไป

นางสาวรัชนีกร เทวอักษร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสนับสนุนเทคโนโลยี บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า "การระบาดของโควิด-19 ทำให้เราเห็นว่าการหยุดชะงักของระบบการผลิตและซัพพลายเชนนั้นสร้างความเสียหายเพียงใด วันนี้ภาคการผลิตและอุตสาหกรรมเอง ต่างก็ทราบถึงความจำเป็นของการนำเทคโนโลยีอย่าง AI มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความสูญเสียในกระบวนการผลิต โดยในงานฯ ไอบีเอ็มและดาต้าโปร คอมพิวเตอร์ ซิสเต็มส์ ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ จะโชว์เคสในการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญสำหรับภาคการผลิตมากมายในงาน ประกอบด้วย IBM Visual AI Solutions ที่นำความสามารถของ AI ในการอ่านภาพและวิดีโอได้แบบเรียลไทม์ มาช่วยตรวจหาความบกพร่องและตำหนิของสินค้าแม้จะเป็นจุดที่เล็กมาก โดยระบบสามารถเชื่อมต่อกับกระบวนการผลิต หุ่นยนต์โรงงาน และเชื่อมต่อกับระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติ ช่วยลดความเสียหายจากสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน IBM Acoustic AI Solutions ที่นำ AI ตรวจจับเสียงของเครื่องจักร เครื่องยนต์ คอมเพรสเซอร์ เสียงลมจากจุดรั่ว เสียงการหมุนของมอเตอร์ หรือแม้แต่การสั่นสะเทือนในโครงสร้าง โดยสามารถตรวจจับเสียงการทำงานผิดปกติที่แม้แต่หูคนเรายังไม่ได้ยินเหล่านี้ ช่วยให้โรงงานทราบปัญหาของระบบพร้อมแก้ไขได้ล่วงหน้าก่อนจะเกิดความเสียหาย และสุดท้าย IBM AR for Smart Guidance ที่นำ Augmented Reality หรือ AR ที่เป็นเทคโนโลยีภาพจำลองสามมิติเสมือนจริงแบบในเกม มาช่วยพนักงานแก้ปัญหาหน้างานโดยอาศัยความช่วยเหลือระยะไกลจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงฝึกสอนพนักงานแบบ Interactive เสมือนปฏิบัติงานกับเครื่องจักรหรือชิ้นงานจริง โดยที่ผ่านมาไอบีเอ็มและพันธมิตร ได้ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าช่วยพัฒนาระบบโรงงานอัจฉริยะให้ลูกค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วโลกมาแล้ว และวันนี้เราพร้อมแล้วที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจไทยให้พร้อมเดินหน้าสู่ก้าวย่าง Industry 4.0 อย่างเต็มตัว"

ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมและลงทะเบียนเข้าร่วมงาน

ได้ที่  www.nectec.or.th/ace2021


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ