ฟิทช์คงอันดับเครดิต เอสซีจี เคมิคอลส์ ที่ A+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 25, 2022 08:58 —ThaiPR.net

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด หรือ SCGC ที่ 'A+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวโครงการหุ้นกู้ระยะกลาง (Medium-Term Notes Program หรือ MTN) ของบริษัทฯ ซึ่งเป็นโครงการหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิมูลค่ารวมไม่เกินหนึ่งแสนล้านบาท ที่ระดับ 'A+(tha)'

อันดับเครดิต 'A+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ SCGC อยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ คือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ('A+(tha)',แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 ซึ่งเป็นผลมาจากการพิจารณาของฟิทช์ถึงระดับความสัมพันธ์ที่ SCGC มีต่อ SCC ซึ่งจะส่งผลถึงการสนับสนุนที่จะได้รับจาก SCC ที่มีสถานะทางเครดิตที่เข็งแกร่งกว่า ในด้านต่างๆ ดังนี้ ความสัมพันธ์เชิงกฎหมาย (Legal Incentive) อยู่ในระดับปานกลาง, ความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Incentive) อยู่ในระดับสูง และความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงาน (Operational Incentive) อยู่ในระดับปานกลาง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทย่อย (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria)

ฟิทช์พิจารณาให้สถานะเครดิตโดยลำพัง ของ SCGC อยู่ที่ 'a-(tha)' ซึ่งถูกจำกัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ของบริษัทฯ ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงในช่วง 2 ปีข้างหน้า อันเป็นผลมาจากแผนการลงทุนขนาดใหญ่ โดยปัจจัยดังกล่าวได้ถูกชดเชยด้วยสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในฐานะหนึ่งในผู้นำในธุรกิจปิโตรเคมีในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งมีฐานลูกค้าอยู่ในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

ความสัมพันธ์เชิงกฎหมายในระดับปานกลาง - ฟิทช์พิจารณาความสัมพันธ์เชิงกฎหมายที่ SCGC มีต่อ SCC ซึ่งจะส่งผลถึงการสนับสนุนที่จะได้รับจาก SCC อยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจาก SCC ได้ให้การค้ำประกันในลักษณะไม่มีเงื่อนไข และไม่สามารถยกเลิกได้แก่วงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินจำนวน 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ของ SCGC สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีในโครงการ Long Son Petrochemicals (LSP) ในประเทศเวียดนาม ซึ่งฟิทช์คาดว่าจำนวนหนี้ที่ได้รับการค้ำประกันดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นตามการเบิกใช้วงเงินตามความคืบหน้าของการก่อสร้างโรงงานจนถึงปี 2566 ที่เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของหนี้ทั้งหมดของ SCGC และลดลงตามการผ่อนชำระมาอยู่ในระดับร้อยละ 20-50 ในปีต่อๆ ไป

ความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ในระดับสูง - ฟิทช์พิจารณาว่า SCGC มีความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ที่จะส่งผลถึงการสนับสนุนที่จะได้รับจาก SCC อยู่ในระดับสูง เนื่องจาก สัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ SCGC ต่อ EBITDA รวมของ SCC อยู่ในระดับที่สูงประมาณร้อยละ 40-50 กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์เป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้าง EBITDA มากที่สุดในสามกลุ่มธุรกิจหลักของกลุ่ม โดยกลุ่มธุรกิจอื่นของกลุ่มได้แก่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง (ร้อยละ 25-35 ของ EBITDA ของ SCC) และธุรกิจแพคเกจจิ้ง (ร้อยละ 20-30 ของ EBITDA ของ SCC) ฟิทช์คาดว่าสัดส่วนของ EBITDA ของ SCGC ใน EBITDA รวมของกลุ่ม SCC จะเพิ่มสูงขึ้นอีกหลังจากปี 2566 เมื่อโครงการ LSP เปิดดำเนินการ นอกจากนี้ ในปัจจุบัน สินทรัพย์ถาวรของ SCGC ยังมีสัดส่วนสูงที่สุดในสินทรัพย์ถาวรรวมของกลุ่ม และสัดส่วนดังกล่าวน่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการลงทุนในโครงการ LSP

ความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงานในระดับปานกลาง - ฟิทช์พิจารณาว่าระดับโครงสร้างการบริหารและการใช้แบรนด์สินค้าร่วมกัน (Management and Brand Overlap) ระหว่าง SCC และ SCGC อยู่ในระดับสูง โดย SCC มีบทบาทในการกำหนดและประสานการบริหารในบริษัทย่อยหลักๆ รวมถึง SCGC ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับกลุ่ม และมีการใช้แบรนด์ของกลุ่มร่วมกันในนาม "SCG" ในทุกกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง, เคมิคอลส์, และธุรกิจแพคเกจ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์พิจารณาว่าการผสานประโยชน์ทางด้านการดำเนินงาน (Operational Synergies) ระหว่าง SCC และ SCGC อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากธุรกิจหลักในกลุ่มของ SCC เป็นธุรกิจที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ประโยชน์ในด้านการลดต้นทุนการดำเนินงานที่บริษัทแม่ได้รับจากบริษัทย่อยไม่มีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นปัจจัยลดทอนความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงานโดยรวม

สถานะเครดิตโดยลำพังถูกจำกัดจากอัตราส่วนหนี้สินที่สูง- ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สิน FFO net leverage ของ SCGC จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 3.7 เท่า ณ สิ้นปี 2564 และ 5.6 เท่า ณ สิ้นปี 2565 (2.3 เท่า ณ สิ้นปี 2563) จากค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูง ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการ LSP อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวจะลดลงมาอยู่ที่ 4.2 เท่า ณ สิ้นปี 2566 เมื่อโครงการ LSP เริ่มเปิดดำเนินการ SCGC มีแผนการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 5-6.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2564-2565

EBITDA เติบโตสูง - ฟิทช์คาดว่า EBITDA ในปี 2564 ของ SCGC จะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากโครงการขยายกำลังการผลิตโอเลฟินส์ (โครงการ MOCD) ที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ประกอบกับปริมาณการขายและส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ (spreads) ที่สูงขึ้น ฟิทช์คาดว่า SCGC จะรักษา EBITDA ที่แข็งแกร่งที่ระดับประมาณ 2.5-3.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2565-2566 แม้ว่าฟิทช์จะคาดการณ์ว่า spreads ในผลิตภัณฑ์เคมิคอลส์จะลดลง โดยเฉพาะโพลีโอเลฟินส์ ฟิทช์เชื่อว่าปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการซื้อที่แข็งแกร่งจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดจาก spreads ที่ลดลงเนื่องจากกำลังการผลิตใหม่ที่เข้ามาในตลาด

กลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย - ประมาณร้อยละ 40 ของรายได้ของ SCGC มาจากกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคและบรรจุภัณฑ์ และประมาณร้อยละ 40 มาจากกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของความต้องการซื้อสินค้าและการฟื้นตัว ของกำไรของบริษัทฯในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า

สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง - สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGC ได้รับการสนับสนุนจากสถานะความเป็นผู้นำตลาดทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย SCGC มีกำลังการผลิตใหญ่เป็นอันดับสองในกลุ่มสินค้าโพลีโอเลฟินส์และใหญ่ที่สุดในกลุ่มสินค้าพีวีซี (คำนวณตามสัดส่วนการถือหุ้น) ในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน ฟิทช์คาดว่าสถานะทางการตลาดของ SCGC จะแข็งแกร่งขึ้นในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า จากโครงการ LSP ซึ่งเป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกและมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศเวียดนาม ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตโพลีโอเลฟินส์ให้กับบริษัทฯ ประมาณร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลให้ SCGC มีสถานะเป็นผู้ผลิตโพลีโอเลฟินส์รายใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนเมื่อโครงการแล้วเสร็จตามคาดในปี 2566

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

SCGC ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวในระดับเดียวกับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ สะท้อนถึงความสัมพันธ์เชิงกฎหมาย (Legal Incentive) ในระดับปานกลาง, ความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Incentive) ในระดับสูง และความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงาน (Operational Incentive) ในระดับปานกลาง ซึ่งจะมีผลต่อการสนับสนุนที่จะได้รับจาก SCC ในขณะที่สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGC ที่ a-(tha) สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในอาเซียนในกลุ่มธุรกิจโพลีโอเลฟินส์และพีวีซี สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGC ถูกจำกัดจากการที่บริษัทอยู่ในช่วงขยายการลงทุน ซึ่งทำให้มีแรงกดดันต่ออัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ในช่วงสองปีข้างหน้า

ฟิทช์พิจารณาเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่าง SCC กับ SCGC อยู่ในระดับสูงกว่าความสัมพันธ์ระหว่าง SCC กับบริษัทย่อยอีกบริษัทหนึ่ง ได้แก่ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (SCGP, 'A+(tha)', แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ, สถานะเครดิตโดยลำพัง a(tha)) เนื่องจาก SCGC มีความสัมพันธ์ในเชิงกฎหมายกับบริษัทแม่อยู่ในระดับสูงกว่า จากการที่บริษัทแม่มีการค้ำประกันหนี้ของ SCGC ประมาณร้อยละ 50 ของหนี้สินทั้งหมดของ SCGC ในขณะที่บริษัทแม่ไม่มีการค้ำประกันหนี้ใดของ SCGP นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ในเชิงกลยุทธ์ของ SCGC ที่มีต่อบริษัทแม่อยู่ในระดับสูงกว่าเช่นกัน จากสัดส่วน EBITDA ของ SCGC ต่อ EBITDA รวมของกลุ่มและสัดส่วนการลงทุนของ SCGC ต่อการลงทุนรวมของกลุ่มที่อยู่ระดับที่สูงกว่าสัดส่วนดังกล่าวของ SCGP เป็นอย่างมาก

สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGC อยู่ในระดับต่ำกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC, 'AA+(tha)', แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ, สถานะเครดิตโดยลำพัง aa-(tha)) ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันที่ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดย PTTGC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าและมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีกว่า รวมทั้งมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า SCGC

สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGC อยู่ในระดับเดียวกันกับสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP, 'A+(tha)', แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ, สถานะเครดิตโดยลำพัง a-(tha)) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีกระบวนการกลั่นน้ำมันที่มีความคอมเพล็กซ์มากที่สุดในประเทศไทย ทั้งสองบริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในระดับเดียวกันในธุรกิจของตนเอง SCGC มีความสามารถในการสร้าง EBITDA ที่สูงกว่า เนื่องจาก TOP ต้องเผชิญกับความผันผวนของธุรกิจโรงกลั่นที่มีอัตรากำไรที่ต่ำกว่า ทั้ง SCGC และ TOP ต่างอยู่ในช่วงที่มีการลงทุนสูง ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม TOP มีความเสี่ยงในการลดอัตราส่วนหนี้สินลงมาในช่วงอนาคตอันใกล้ ซึ่งสะท้อนจากแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ

สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้เติบโตในอัตราสูงกว่าร้อยละ 60 ในปี 2564 (ปี 2563 ลดลงร้อยละ 17.3 และเก้าเดือนแรกของปี 2564 เติบโตร้อยละ 55.6) โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการ MOCD ที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ประกอบกับปริมาณการขายและระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้น
  • รายได้ลดลงเล็กน้อยในอัตราร้อยละ 1-3 ในปี 2565 และเติบโตสูงในปี 2566 เมื่อโครงการ LSP เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์
  • EBITDA Margin อยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 16 ในปี 2564 (ปี 2563 ร้อยละ 16.6 และเก้าเดือนแรกของปี 2564 ร้อยละ 19) เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบที่คาดว่าจะลดลงในไตรมาส 4 ปี 2564 และลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 11-13 ในปี 2565-2566 เป็นผลมาจากกำลังการผลิตใหม่ที่คาดว่าจะเข้ามาในตลาดซึ่งจะกดดันส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ
  • ค่าใช้จ่ายลงทุน ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2564-2566

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:

  • การปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCC หากความสัมพันธ์ระหว่าง SCGC และ SCC ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
    ปัจจัยลบ:
  • การปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCC
  • ความสัมพันธ์ระหว่าง SCGC และ SCC ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับอันดับเครดิตของ SCC ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตได้แสดงในรายงานอันดับเครดิตของฟิทช์ลงวันที่ 24 มกราคม 2565 ดังนี้
ปัจจัยบวก:

  • ฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิต เว้นแต่จะมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการขยายธุรกิจเคมิคอลส์ในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การเปิดดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบของโครงการ LSP ในประเทศเวียดนาม
    ปัจจัยลบ:
  • FFO net leverage อยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง

สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่เพียงพอ: SCGC มีหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2565 จำนวน 5.2 หมื่นล้านบาท ร้อยละ 86 ของจำนวนนี้เป็นเงินกู้ยืมระหว่างกันจากบริษัทแม่ซึ่งมีลักษณะเป็นวงเงินหมุนเวียน สภาพคล่องของ SCGC ได้รับการสนับสนุนจาก SCC ภายใต้ระบบบริหารการเงินแบบรวมศูนย์ที่บริษัทแม่ ในขณะที่แหล่งเงินทุนที่ใช้สำหรับโครงการ LSP ในช่วงสองปีข้างหน้ามาจากวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินหลายแห่ง นอกจากนี้ สภาพคล่องของ SCGC ยังได้รับการสนับสนุนจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี

ข้อมูลบริษัท
SCGC เป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย SCC และและเป็นบริษัทหลักของกลุ่ม SCC ในการดำเนินธุรกิจเคมิคอลส์ ซึ่งกลุ่ม SCC เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย SCGC เป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีขั้นปลายที่ใหญ่ป็นอันดับสองในประเทศไทยและอาเซียน สำหรับกลุ่มสินค้าหลักของบริษัทฯ ได้แก่ โพลีโอเลฟินส์และพีวีซี

อันดับเครดิตที่เกี่ยวโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตของ SCGC เกี่ยวโยงกับอันดับเครดิตของ SCC


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ