การปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตของประเทศไทย โดยบริษัท Fitch Ratings

ข่าวทั่วไป Wednesday December 3, 2008 10:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังโดยนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้แถลงข่าวการปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตของประเทศไทย โดยบริษัท Fitch Ratings เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม 2551 โดย Fitch ได้ปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตของประเทศไทยจากระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เป็นระดับที่เป็นลบ (Negative Outlook) โดยยืนยันระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-term Foreign Currency Rating) ที่ระดับ BBB+ ระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาท (Long - term Local Currency Rating) ที่ระดับ A และระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะสั้น (Short — term Rating) ที่ระดับ F2 พร้อมทั้งยืนยันระดับเครดิตของประเทศ (Country Ceiling) ที่ระดับ A- ดังนี้ การปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตของประเทศไทยดังกล่าว เนื่องมาจากความยืดเยื้อของความยุ่งเหยิงทางการเมืองของประเทศไทยที่มีต่อผู้นำทางการเมืองซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้และอาจบ่อนทำลายพื้นฐานเครดิตของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในขณะนี้ ซึ่งการขาดประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือของผู้นำทางการเมือง อาจส่งผลให้นโยบายเศรษฐกิจของประเทศถูกละเลยหรือไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ถูกต้องและชัดเจน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบกับเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองหลายเหตุการณ์ ได้แก่ การปฏิวัติรัฐประหาร การยุบเลิกพรรคการเมืองซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล 3 พรรค การต่อต้านรัฐบาลที่ยังคงยืดเยื้อและการประกาศพระราชกำหนดฉุกเฉิน การเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ไขปัญหาการแบ่งแยกทางการเมืองได้และยังคงไม่อาจคาดเดาได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะยุติลงเมื่อใด และอีกนานเพียงใดกว่าสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยจะกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง โดย Fitch ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับช่วงเวลาที่ท้าทาย จะเห็นได้จากอุปสงค์ภายนอกประเทศคาดว่าจะชะลอตัวลงตามการถดถอยของเศรษฐกิจโลก ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองยังคงส่งผลกระทบในทางลบต่ออุปสงค์ภายในประเทศ โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย (GDP) ไตรมาสที่ 3 ได้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง อีกทั้งการใช้จ่ายของรัฐบาลชะลอตัวลงและการสะสมสินค้าคงคลัง (Inventory Accumulation) คิดเป็น 2 ใน 3 ของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งนี้ Fitch คาดว่า GDP ของประเทศไทยในปี 2552 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 2540-2541 สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง 0-2265-8050 ต่อ 5510

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ