กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศความพร้อมไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะทำงานความร่วมมืออาเซียนด้านทรัพย์สินทางปัญญาครั้งที่ 31 เดือนพฤษภาคม ศกหน้า เตรียมสู่เป้าหมายการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

ข่าวทั่วไป Wednesday December 3, 2008 15:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยผลการประชุมคณะทำงานความร่วมมืออาเซียนด้านทรัพย์สินทางปัญญา (ASEAN Working Group on Intellectual Property Corporation: AWGIPC) ครั้งที่ 30 ที่เมืองฮอยอัน ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเมื่อเร็วๆนี้ว่าที่ประชุมได้มีการประเมินความคืบหน้าการดำเนินงานของอาเซียนในส่วนทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 ซึ่งการดำเนินงานส่วนใหญ่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ และประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงาน ฯ ครั้งที่ 31 เดือนพฤษภาคม 2552 “แผนงานที่กำหนดไว้ ได้แก่ การปรับปรุงระบบลิขสิทธิ์ของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพโดยให้ประเทศอาเซียนศึกษาการมีส่วนร่วมของอุตสาหกรรมที่มีลิขสิทธิ์เป็นองค์ประกอบพื้นฐานต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้แล้วเสร็จภายในปี 2552 ซึ่งสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียศึกษาเสร็จแล้ว ขณะที่ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม อยู่ระหว่างทำการศึกษา การจัดตั้งองค์กรจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ (CMO) และหรือ Copyright Tribunal ในประเทศสมาชิกอาเซียนภายในปี 2558 โดยให้ประเทศที่ยังไม่มีหน่วยงานดังกล่าวทำการศึกษารูปแบบที่เหมาะสม และจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศที่มีหน่วยงานให้แล้วเสร็จภายในปี 2552 โดยสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนามมีองค์กรดังกล่าวแล้ว ส่วนประเทศไทย ลาว กัมพูชา และบรูไนจะเร่งทำการศึกษาและดำเนินการต่อไป การสร้างเครือข่ายการให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญาแก่ภาคธุรกิจ (ASEAN Business Development Service: ASEAN BDS) ภายในปี 2558 ทั้งนี้ ไทย อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ได้เริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจแล้ว ขณะที่ประเทศอาเซียนที่เหลือจะต้องเร่งดำเนินการรวบรวมข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในปี 2552 และจัดสร้างเครือข่าย BDS on-line ในระหว่างภูมิภาคอาเซียนให้แล้วเสร็จในปี 2556 ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ร่วมกันยกร่างรูปแบบฐานข้อมูลที่จะลงใส่ไว้ใน ASEAN Website เพื่อเสนอให้สมาชิกพิจารณาต่อไป” นางพวงรัตน์กล่าว นางพวงรัตน์กล่าวต่อไปว่า “นอกจากนี้มีการจัดทำระบบคำขอจดทะเบียนแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของอาเซียนภายในปี 2556 ซึ่งอาเซียนจะต้องร่วมกันพัฒนา Model สำหรับการรับคำขอจดทะเบียนให้เสร็จภายในปี 2552 ทั้งนี้ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ได้แสดงความพร้อมเข้าร่วมโครงการนำร่องเพื่อใช้ Model นี้ขณะที่ประเทศอาเซียนอื่นๆยังไม่สามารถเข้าร่วมได้ เพราะยังไม่พร้อมด้านกฎหมาย และเทคนิค การเข้าเป็นภาคี Madrid Protocol ภายในปี 2558 โดยให้ประเทศที่ยังไม่ได้เป็นภาคีทำการศึกษาผลประโยชน์ของการเข้าเป็นภาคีให้เสร็จสิ้นภายในปี 2552 และแก้ไขกฎหมายที่จำเป็นให้แล้วเสร็จภายในปี 2556 ซึ่งสิงคโปร์ และเวียดนามเป็นภาคีของ Madrid Protocol แล้วส่วนไทย และอินโดนีเซียอยู่ระหว่างทำการศึกษา การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภูมิภาคอาเซียนในเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพยากรพันธุกรรม และวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านการเชื่อมโยงฐานข้อมูลภายในปี 2558 โดยให้สมาชิกรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในประเทศของตนให้แล้วเสร็จภายในปี 2554 และการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนในเรื่องการลดภาระการตรวจสอบสิทธิบัตรระหว่างกัน โดยสิงคโปร์เป็นผู้ยกร่างแนวทางการดำเนินการ ส่วนอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และลาว ได้แสดงความพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ส่วนไทยได้เสนอข้อคิดเห็นเพื่อให้สิงคโปร์นำไปปรับปรุงเนื่องจากในกรณีของประเทศไทยการนำผลการตรวจสอบของประเทศอื่นมาใช้เพื่ออ้างอิงจะต้องแปลเป็นภาษาไทยก่อน ไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงได้โดยตรง” รายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ อินทิรา ใจอ่อนน้อม เอกภพ พันธุรัตน์ บริษัท 124 คอมมิวนิเคชั่นส จำกัด (มหาชน) โทร. 0-2662-2266

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ