“แบงก์อิสลามฯ” ไฟเขียวปล่อยสินเชื่อเมล์ NGV 1.5 พันล้านบาท สนองนโยบายรัฐเปลี่ยนรถลดมลพิษ - ช่วยชาติประหยัดพลังงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 2, 2009 16:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--ธนาคารอิสลามฯ “แบงก์อิสลามฯ” ขานรับนโยบายรัฐฯ ปล่อยสินเชื่อผู้ประกอบการรถมินิบัส เปลี่ยนรถใหม่เป็น NGV วงเงิน 1.5 พันล้าน พร้อมเตรียมจัดสรรวงเงินเพิ่ม หากโครงการได้รับการตอบรับที่ดี นายสุเทพ สืบสันติวงศ์ ประธานอนุกรรมการบริหาร ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือ ibank เปิดเผยถึงนโยบายในการปล่อยสินเชื่อโครงการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เพื่อสร้างอาชีพใหม่ โครงการ 3 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการโดยสารสาธารณะ ประเภทมินิบัสให้เปลี่ยนมาใช้ NGV ว่า ทางธนาคารฯ ได้เตรียมวงเงินจำนวน 1,500 ล้านบาท ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารในเขตกรุงเทพฯ เพื่อเป็นการสนองนโยบายภาครัฐ ที่มีแผนและนโยบายในการปรับเปลี่ยนรถโดยสารทั่วประเทศ ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพดีขึ้น รวมถึงแนวคิดในการรณรงค์ให้ใช้พลังงานทดแทน เพื่อช่วยประหยัดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบัน ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้รถโดยสารปรับเปลี่ยนมาใช้เอ็นจีวี ซึ่งได้เริ่มบังคับมาตั้งแต่ปี 2550 และสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่มีผู้ประกอบการบางส่วนยังไม่ได้เปลี่ยนรถ เพราะขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ภาครัฐขอความร่วมมือกับธนาคารของรัฐฯ ให้ช่วยสนับสนุนโครงการนี้ ทาง ibank ซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารของรัฐฯ จึงได้จัดงบประมาณส่วนนี้ เพื่อนำมาสนับสนุนให้โครงการเป็นรูปธรรมเร็วที่สุด “สำหรับเงื่อนไขของการปล่อยสินเชื่อ ทางธนาคารฯ ได้กำหนดให้มีการวางเงินดาวน์ร้อยละ 20 ของราคารถบัส ที่มีราคาประมาณ 3-4 ล้านบาท ระยะเวลาในการผ่อนชำระสูงสุด 72 เดือน หรือ 6 ปี โดยคิดอัตรากำไรร้อยละ 5.5-7.5 ต่อปี ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดมีประวัติทางการเงินที่ดี มีศักยภาพ และมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจด้านนี้มานาน ทางธนาคารฯ จะมีเงื่อนไขพิเศษให้ ” นายสุเทพกล่าว อย่างไรก็ดี นายสุเทพเชื่อว่า หากผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการจะคุ้มค่ากับการลงทุนในระยะยาว เพราะรถโดยสารปัจจุบันต้องจ่ายค่าน้ำมันประมาณ 3-4 บาทต่อกิโลเมตร แต่หากหันมาใช้พลังงานเอ็นจีวี จะเสียค่าใช้จ่ายเพียงกิโลเมตรละ 1 บาท ซึ่งหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ และมีผู้ประกอบการต้องการสินเชื่อเพิ่ม ทางธนาคารพร้อมที่จะเพิ่มวงเงินให้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โทร.0-2650-6999

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ