หลักเกณฑ์การจัดระดับผู้ประกอบการส่งออกที่ดี

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday December 19, 2002 12:01 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

                                   คำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ท. 596 /2545
เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดระดับผู้ประกอบการส่งออกที่ดี
เพื่อให้การพิจารณาคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ประกอบการส่งออกที่สุจริต เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว อันจะเป็นประโยชน์แก่การส่งออกของประเทศ กรมสรรพากรจึงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจัดระดับผู้ประกอบการส่งออกที่ดีของกรมสรรพากร ดังนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิก
(1) คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.58/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดระดับผู้ประกอบการส่งออกที่ดี ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2542
(2) คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.31/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดระดับผู้ประกอบการส่งออกที่ดี ลงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2543
(3) คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.198/2543 เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการพิจารณาจัดระดับผู้ประกอบการส่งออกที่ดี สำหรับผู้ประกอบการส่งออกที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์บริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2543
(4) คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.48/2544 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดระดับผู้ประกอบการส่งออกที่ดี กรณีเป็นผู้ส่งของออกระดับบัตรทองของกรมศุลกากร ลงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2544
(5) คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.246/2544 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดระดับผู้ประกอบการส่งออกที่ดี ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2544
(6) คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.247/2544 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดระดับผู้ประกอบการส่งออกที่ดี กรณีเป็นผู้ส่งของออกระดับบัตรทองของกรมศุลกากร ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2544
ข้อ 2 คุณสมบัติของผู้ประกอบการส่งออกที่ขอรับการจัดระดับให้เป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดี
2.1 กรณีเป็นผู้ประกอบการส่งออกทั่วไป
(1) เป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
(2) มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป
(3) มีการส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศในอัตราส่วนตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไปของยอดขายรวม สำหรับระยะเวลา 12 เดือน ก่อนยื่นคำขอรับการจัดระดับ และได้นำเงินตราต่างประเทศ จากการนั้นเข้ามาในประเทศไทยหรือมีหลักฐานการหักกลบลบหนี้
(4) มีความมั่นคง ต่อเนื่องและน่าเชื่อถือในการประกอบการ และมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน อาคาร โรงงาน ฯลฯ
(5) มีทรัพย์สินสุทธิมากกว่าหนี้สินสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีสุดท้ายก่อนยื่นคำขอรับการจัดระดับ
(6) มีประวัติการเสียภาษีที่ดี มีการเสียภาษีสอดคล้องกับสภาพเป็นจริงของกิจการ ไม่มีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงภาษี
(7) เป็นสมาชิกของสมาคมหรือองค์กรภาคเอกชน (ในทางการค้า) เช่น
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ฯลฯ และสมาคมหรือองค์กรดังกล่าวรับรองฐานะการเงินว่ามีความมั่นคงและเชื่อถือได้
2.2 กรณีเป็นผู้ส่งของออกระดับบัตรทองของกรมศุลกากร
(1) เป็นผู้ส่งของออกระดับบัตรทองของกรมศุลกากร
(2) เป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
(3) มีการส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศในอัตราส่วนตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไปของยอดขายรวม สำหรับระยะเวลา 12 เดือน ก่อนขอรับการจัดระดับ และได้นำเงินตราต่างประเทศ จากการนั้นเข้ามาในประเทศไทยหรือมีหลักฐานการหักกลบลบหนี้
(4) มีความมั่นคง ต่อเนื่องและน่าเชื่อถือในการประกอบการ และมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน อาคาร โรงงาน ฯลฯ
(5) มีทรัพย์สินสุทธิมากกว่าหนี้สินสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีสุดท้ายก่อนขอรับการจัดระดับ
(6) มีประวัติการเสียภาษีที่ดี มีการเสียภาษีสอดคล้องกับสภาพเป็นจริงของกิจการไม่มีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงภาษี
(7) เป็นสมาชิกของสมาคมหรือองค์กรภาคเอกชน (ในทางการค้า) เช่นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ฯลฯ และสมาคมหรือองค์กรดังกล่าวรับรองฐานะการเงินว่ามีความมั่นคงและเชื่อถือได้
นอกจากคุณสมบัติดังกล่าว ผู้ประกอบการส่งออกอาจมีคุณสมบัติเพิ่มเติมซึ่งเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาเป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดี คือ
1. มีระบบการจัดการและระบบการควบคุมภายในที่ดี เช่น มีระบบการตรวจสอบภายใน การจัดทำประมาณการแผนการส่งออก มีงบการเงินเป็นรายเดือนหรือรายไตรมาส
2. ได้รับการรับรองระบบมาตรฐาน (ISO) แขนงต่าง ๆ จากสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
3. ได้รับรางวัลหรือประกาศเกียรติคุณด้านต่างๆ ทั้งจากหน่วยงานของรัฐบาลและหรือภาคเอกชน
4. คุณสมบัติอื่นๆ ในทำนองเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้น
2.3 กรณีที่คุณสมบัติไม่ครบถ้วน แต่มีเหตุอันสมควร คณะกรรมการพิจารณาจัดระดับผู้ประกอบการส่งออกที่ดี อาจพิจารณายกเว้นคุณสมบัติดังกล่าวให้ได้
ข้อ 3 เงื่อนไข
ผู้ประกอบการส่งออกที่จะได้รับการจัดระดับให้เป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดี จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ด้วย
3.1 ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยการนำเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร ตามวิธีปฏิบัติในการขอให้นำเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร แนบท้ายคำสั่งนี้
3.2 กรณีมีสถานประกอบการหลายแห่ง ต้องได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกัน
3.3 ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่รับรองงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ยื่นคำขอต้องได้รับการแต่งตั้งจากมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้แจ้งชื่อ เลขทะเบียนของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พร้อมทั้งชื่อสำนักงานผู้สอบบัญชี และให้แจ้งชื่อผู้ทำบัญชีพร้อมทั้งสำนักงานบัญชีด้วย
ข้อ 4 สิทธิประโยชน์
4.1 ระยะเวลาการได้รับคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม
(1) ผู้ประกอบการส่งออกที่ดีที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะได้รับการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม
(2) ผู้ประกอบการส่งออกที่ดีที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา จะได้รับการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทั้งนี้ สิทธิดังกล่าวมีกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับแต่เดือนภาษีที่อธิบดีกรมสรรพากรอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดี
ในกรณีที่มีหลักฐานหรือข้อมูลชัดแจ้งว่า ผู้ประกอบการส่งออกที่ดียื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ไม่ถูกต้อง และเห็นสมควรตรวจก่อนคืน กรมสรรพากรจะแจ้งเหตุที่ไม่สามารถคืนภาษีภายในเวลาที่กำหนดให้ผู้ประกอบการส่งออกที่ดีทราบ
4.2 ได้รับบริการที่ดีและการอำนวยความสะดวกในการติดต่อราชการ รวมทั้งได้รับข้อมูลเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่นจากกรมสรรพากร
ข้อ 5 การยื่นคำขอรับการจัดระดับเป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดี
5.1 ให้ผู้ประกอบการส่งออกที่มีคุณสมบัติตามข้อ 2 และได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อ 3 ซึ่งมีความประสงค์จะได้รับการจัดระดับเป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดี ยื่นคำขอตามแบบแนบท้ายคำสั่งนี้ (สด.1) พร้อมเอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ในการพิจารณาโดยยื่นต่อหน่วยงาน ดังนี้
(1) ส่วนวางแผนและประเมินผล สำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ กรณีอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่
(2) ฝ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่ายและคืนภาษีของสำนักงานสรรพากรพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร ฝ่ายกรรมวิธีและคืนภาษีของสำนักงานสรรพากรพื้นที่นอกเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการที่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม
5.2 ก่อนระยะเวลา 3 เดือนที่สิทธิประโยชน์จะสิ้นสุดลง ถ้าผู้ประกอบการส่งออกมีความประสงค์จะขอเป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดีต่อไป ให้ยื่นคำขอรับการจัดระดับเป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดีใหม่ได้
ข้อ 6 กรมสรรพากรจะดำเนินการตรวจสภาพกิจการของผู้ประกอบการส่งออกทั่วไปที่ยื่นคำขอเป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดี เพื่อให้ทราบว่ามีการเสียภาษีสอดคล้องกับสภาพเป็นจริงของกิจการ ก่อนอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดี
ข้อ 7 กรมสรรพากรอาจดำเนินการตรวจสอบผู้ประกอบการส่งออกที่ดีได้ เมื่อมีเหตุอันสมควร เช่น มีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงภาษีอากร และหากพบประเด็นความผิดชัดแจ้ง หรือพบว่าขาดคุณสมบัติ หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในหลักเกณฑ์ตามคำสั่งนี้ จะถูกเพิกถอนการเป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดีทันที
ข้อ 8 ผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดระดับเป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดีตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.58/2542ฯ ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2542 และ ท.48/2544ฯ ลงวันที่ 25 มกราคม 2544 และยังไม่ครบกำหนดเวลาสิ้นสุดสิทธิประโยชน์ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามคำสั่งนี้ไปจนครบกำหนดเวลา
ข้อ 9 บรรดาระเบียบ คำสั่ง หรือหนังสืออื่นใดในส่วนที่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดในคำสั่งนี้ ให้เป็นอันยกเลิก
ข้อ 10 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2546 เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 19 ธันวาคม 2545
ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล
( นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล )
อธิบดีกรมสรรพากร
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ