รายงานดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ประจำเดือน ธ.ค.49

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 9, 2007 11:28 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือน ธันวาคม 2549
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม 2549 โดยสรุปจากการสำรวจราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 88 รายการ ครอบคลุมหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก กระเบื้อง วัสดุฉาบผิว สุขภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปาและวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม 2549
ในปี 2543 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเท่ากับ 100 และเดือนธันวาคม 2549 เท่ากับ 131.5สำหรับเดือนพฤศจิกายน 2549 คือ 132.0
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม 2549 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนพฤศจิกายน 2549 ลดลงร้อยละ 0.4
2.2 เดือนธันวาคม 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9
2.3 เฉลี่ยทั้งปี 2549 เทียบกับปี 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7
3. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม 2549 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2549 ลดลงร้อยละ 0.4 (พฤศจิกายน 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8) สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของสินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ เหล็กตัวซี เหล็กฉาก ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัสและเหล็กแผ่นเรียบดำ) ร้อยละ 0.5 หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ (ทรายถมที่ ดินถมที่ อิฐและอลูมิเนียม) ร้อยละ 1.1 เนื่องจากภาวะการก่อสร้างยังทรงตัว ประกอบกับราคานำเข้าเหล็กลดลง จากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น
4. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม 2549 เทียบกับเดือนธันวาคม 2548 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.9 (พฤศจิกายน 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1) เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2549 ที่สำคัญ คือ หมวดสุขภัณฑ์ (โถส้วมและที่ปัสสาวะ) ร้อยละ 19.0 หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา (สายไฟฟ้าและสายเคเบิล) ร้อยละ 16.3 และหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ เหล็กตัวซีและท่อเหล็ก) ร้อยละ 8.3 เป็นผลจากต้นทุนการผลิตเมื่อเทียบกับปี 2548 สูงขึ้น
5. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเฉลี่ยทั้งปี 2549 เทียบกับปี 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549 จากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาเกือบทุกหมวดยกเว้นเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่สำคัญ คือ หมวดสุขภัณฑ์ ร้อยละ 12.7 หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ร้อยละ 9.8 และ หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ (ทราย หิน อิฐ อลูมิเนียมและยางมะตอย) ร้อยละ 8.8 เป็นผลจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ