ประกาศสรุปผลการศึกษาร่วมว่าด้วยการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-นิวซีแลนด์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 27, 2004 11:15 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          วันนี้  เมื่อเวลา 09.00 น. นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดแถลงข่าว เรื่อง 
“ผลการศึกษาร่วมว่าด้วยการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-นิวซีแลนด์” ณ ห้องประชุมกิติยากร กระทรวง
พาณิชย์ โดยเปิดเผยว่า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และนาง Helen Clark นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ได้หารือ
ร่วมกันในระหว่างการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค เมื่อเดือนตุลาคม 2546 ที่กรุงเทพฯ และตกลงที่จะให้มี
การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Closer Economic Partnership: CEP) ระหว่างกัน โดยให้มีการทำ
การศึกษาร่วมก่อนที่จะเริ่มการเจรจา และให้สรุปผลการเจรจาในการประชุมผู้นำเอเปค 2004 (จะมีขึ้นที่
ประเทศชิลี ในเดือนพฤศจิกายน 2547) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงการต่างประเทศและการค้า
นิวซีแลนด์ ได้เริ่มทำการศึกษาร่วมกัน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2546 ขณะนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยวัตถุประสงค์
ของการศึกษาเพื่อพิจารณาถึงแนวทาง ประโยชน์ และความร่วมมือที่จะเกิดจากการทำความตกลงการค้าเสรี
ระหว่างกัน
นายการุณ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันการค้าของไทยกับนิวซีแลนด์ยังมีไม่มากนัก ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา
(2542-2546) การค้ารวมมีมูลค่าเฉลี่ย 396.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.31 ของมูลค่าการค้า
รวมของไทยกับทั้งโลก โดยการส่งออกเฉลี่ยมีมูลค่า 229.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าเฉลี่ยมีมูลค่า
96.04 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกของไทยไปยังนิวซีแลนด์ที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติก
อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เหล็ก ผลิตภัณฑ์พลาสติก เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน กุ้งสดแช่เย็นและแช่แข็ง
สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์นม ธัญพืชและธัญพืชสำเร็จรูป ไม้ซุง ไม้แปรรูปและไม้อื่นๆ ผัก ผลไม้
เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เส้นใยใช้ในการทอ ผลิตภัณฑ์-หนัง อุปสรรคสำคัญในการส่งออกของไทย ได้แก่
ภาษีบางสินค้าของนิวซีแลนด์ยังอยู่ในระดับสูง และมาตรการด้านสุขอนามัยที่เข้มงวด
ผลการศึกษาโดยสรุปเห็นว่าความตกลงฯ จะเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย ซึ่งแม้ว่าประโยชน์ในการ
เพิ่มการค้าที่ไทยคาดว่าจะได้รับจะไม่สูงนัก เนื่องจากนิวซีแลนด์เป็นตลาดขนาดเล็ก มีประชากรเพียงประมาณ
4 ล้านคน และมูลค่าการค้าระหว่างกันมีประมาณปีละ 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น ปัจจุบันร้อยละ 95
ของสินค้านิวซีแลนด์ภาษีเป็น 0 อยู่แล้ว แต่สินค้าบางกลุ่มที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออก ยังมีภาษีอยู่ในระดับสูง
คือ
ระหว่างร้อยละ 17-19 เช่นกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วน สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น นอกจากนั้น
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือการขยายการค้าบริการโดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว ที่ทั้งสองฝ่ายต่างมี
ศักยภาพ ด้านการศึกษา และการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี ซึ่งนิวซีแลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่มีความก้าวหน้าทาง
การศึกษาและเทคโนโลยีสูง”
ด้านนางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า แม้ว่านิวซีแลนด์จะ
เป็นตลาดขนาดเล็ก แต่มีอำนาจซื้อสูง โดยในปี 2546 รายได้ต่อหัวสูงถึง 16,746 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ของ
ไทยเพียง 2,149 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ สินค้าที่ไทยจะมีโอกาสในการส่งออกไปยังนิวซีแลนด์ได้มากขึ้น
ได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารทะเลกระป๋องและอาหารแปรรูป (เช่น กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง
และปลาปรุงแต่ง) สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เหล็ก และผลิตภัณฑ์พลาสติก สินค้าที่อาจจะได้รับผลกระทบ ได้แก่
ผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ เนื้อสัตว์ และสินค้าประมง (เช่น กุ้งล๊อบสเตอร์)
ส่วนการค้าบริการจะขยายตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวและการศึกษา ทั้งนี้ในปัจจุบันมี
นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปนิวซีแลนด์ จำนวน 19,000 คนต่อปี และนักท่องเที่ยวนิวซีแลนด์เดินทางมายัง
ไทยจำนวน 60,000 คนต่อปี ส่วนจำนวนนักเรียนไทยที่ศึกษาในนิวซีแลนด์มีจำนวน 3,400 คน การจัดทำ
ความตกลงการค้าเสรีจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าบริการระหว่างสองประเทศ การค้าสินค้า
บริการที่เพิ่มมากขึ้นจะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายโอนทักษะและความรู้ ซึ่งความคิดและประสบการณ์
ของผู้ให้บริการจากทั้งสองประเทศเมื่อรวมกันแล้วจะทำให้ได้สินค้าด้านบริการที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก
แนวโน้มการลงทุนสองฝ่ายจะเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านตลาดระหว่างประเทศ และกลยุทธ์
เพื่อพัฒนาความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก โดยตั้งแต่ปี 2528 ถึง 2546 มีมูลค่าการลงทุน 25.5 ล้าน
เหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ และการสร้างพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษาครั้งนี้ยังได้ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับจาก
ความร่วมมือภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีที่มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องทาง
การค้า เช่น มาตรการศุลกากร มาตรการสุขอนามัย และมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม เป็นต้น ต่อจากนี้ทั้ง
สองฝ่ายจะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจา โดยจะมีการหารือเบื้องต้นระหว่างคณะเจรจาในเดือนพฤษภาคม และ
เริ่มการเจรจาอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน ศกนี้ ซึ่งฝ่ายไทยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะ
เจรจา และตั้งเป้าหมายสรุปผลการเจรจาเปิดตลาดในเดือนพฤศจิกายน 2547
สาระสำคัญของผลการศึกษาสรุปได้ ดังนี้1. ปัจจุบันการค้าระหว่างกันยังมีน้อย จึงมีโอกาสที่จะ
ขยายการค้าระหว่างกันได้อีก
แม้นิวซีแลนด์จะเป็นตลาดขนาดเล็ก มีประชากรเพียงประมาณ 4 ล้านคน แต่มีอำนาจในการซื้อสูง
โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อคน 16,746 เหรียญสหรัฐ ต่อปี เทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อคนของไทย 2,149 เหรียญสหรัฐ
ต่อปี และปัจจุบันการค้าของไทยกับนิวซีแลนด์ยังมีไม่มากนัก มีมูลค่าประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัด
ส่วนเพียงร้อยละ 0.3 ของมูลค่าการค้ารวมของไทยกับทั้งโลกเท่านั้น และร้อยละ 1.3 ของมูลค่าการค้ารวม
ของนิวซีแลนด์กับทั้งโลก ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจึงยังมีโอกาสที่จะขยายการค้าระหว่างกันได้มากขึ้น ซึ่งการจัดทำ
ความตกลงการค้าเสรีจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสนันสนุนให้เกิดโอกาสดังกล่าว
2. ความแตกต่างของโครงสร้างการผลิต การค้า และความชำนาญ ทำให้เกิดการเกื้อหนุนกัน
มากกว่าเป็นการแข่งขัน
ไทยและนิวซีแลนด์มีโครงสร้างการผลิตและการค้าที่ต่างกัน โดยนิวซีแลนด์จะเน้นในด้านสินค้าบริการ
โดยมีมูลค่าประมาณ 2 ใน 3 ของ GDP (GDP ของนิวซีแลนด์ในปี 2546 มีมูลค่า 63.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ)
ธุรกิจที่มีการเติบโตสูง ได้แก่ การขนส่งและการสื่อสาร ขณะที่ธุรกิจการท่องเที่ยวและการศึกษาเป็นแหล่งราย
ได้จากต่างชาติที่สำคัญ ส่วนในภาคการเกษตรของนิวซีแลนด์นั้นมีขนาดค่อนข้าง-เล็ก มีมูลค่าร้อยละ 4.9 ของ
GDP สินค้าเกษตรที่สำคัญได้แก่ ผลิตภัณฑ์นม เนื้อสัตว์ ขนแกะ แอ๊ปเปิ้ล กีวี่ หัวหอม และผักแปรรูป
โดยภาคเกษตรกรรมของนิวซีแลนด์คิดเป็นร้อยละ 51 ของการส่งออก ซึ่งเป็นสินค้าจำพวกเนื้อแกะ เนื้อวัว
และผลิตภัณฑ์นม ตลาดหลักของนิวซีแลนด์ ได้แก่ ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียว
กันนิวซีแลนด์มีการนำเข้าหลักจาก ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา
ในขณะที่โครงสร้างด้านการผลิตและการค้าของไทย จะเน้นในด้านสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้า
เกษตรกรรมซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55 ของ GDP (GDP ของไทยในปี 2546 มีมูลค่า 136.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ)
และเป็นร้อยละ 80 ของมูลค่าส่งออกของไทย สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง
ยางพารา กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง น้ำตาล คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ถยนต์และชิ้นส่วน
ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้านำเข้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เครื่องจักร
น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากทั้งสองประเทศจะมีความชำนาญที่แตกต่างกัน ดังนั้น
จึงจะเป็นการเกื้อหนุนซึ่งกันและกันมากกว่าการแข่งขันกัน ส่วนภาคบริการของไทย คิดเป็นร้อยละ 45 ของ
GDP โดยในปี 2545 การส่งออกมีมูลค่า 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ บริการหลัก ได้แก่ การท่องเที่ยว การขน
ส่งและการก่อสร้าง
ภาคบริการที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพที่สามารถขยายความร่วมมือกันได้ คือ ด้านการท่องเที่ยวและการ
ศึกษา
ด้านการลงทุน ปัจจุบันการลงทุนระหว่างไทย-นิวซีแลนด์ มีไม่มากนัก ตามข้อมูลของสำนักงานคณะ
กรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นิวซีแลนด์มีการลงทุนในไทยมากเป็นลำดับที่ 43 โดย ตั้งแต่ปี 2528 ถึง
2546 มีมูลค่าการลงทุน 25.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.03 ของมูลค่าการลงทุนเข้าสู่ประเทศ
ไทย โดยนิวซีแลนด์มีการลงทุนเข้าสู่ไทยมากที่สุดในปี 2542 มีมูลค่า 8.3 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็น
การลงทุนในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ นอกจากนี้ยังมีการลงทุนร่วมในไทยในหลาย ๆ กิจการ เช่น
โรงพยาบาล บริษัทผลิตเครื่องฉีดพลาสติก บริษัทที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัทผลิตก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น
ความตกลงการค้าเสรีจะช่วยให้ทั้งสองประเทศมีความสนใจที่จะมีการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น รวมทั้งไทยจะ
ได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี ข้อมูลด้านตลาดระหว่างประเทศ และกลยุทธ์เพื่อพัฒนา
ความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก
3. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับนิวซีแลนด์
1) แม้ปัจจุบันภาษีนำเข้าของนิวซีแลนด์จะอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราภาษีปกติของนิวซีแลนด์อยู่
ระหว่างร้อยละ 5—7 และร้อยละ 95 ไม่มีการเก็บภาษี แต่มีบางอุตสาหกรรมที่ยังคงมีอัตราภาษีที่สูงระหว่าง
ร้อยละ 17-19 ได้แก่ สินค้าในหมวดสิ่งทอ เสื้อผ้าและรองเท้า รถยนต์และชิ้นส่วน หากภาษีนำเข้าของ
นิวซีแลนด์ลดลงหรือยกเลิกไป รวมทั้งการที่จะมีความร่วมมือในการขจัดหรือผ่อนคลายอุปสรรคทางการค้า
มาตรการที่มิใช่ภาษีอื่น ๆ
สินค้าไทยที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี ได้แก่
1.1) รถยนต์และชิ้นส่วน — เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงสุดในการส่งออกของไทยไปนิวซีแลนด์ ในปี
2546 มีมูลค่าการส่งออก 84.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 25 ของมูลค่าส่งออกของไทยไปนิวซีแลนด์
รายการสินค้าสำคัญ ได้แก่ รถกระบะ และรถจี๊ป อัตราภาษีนำเข้าของนิวซีแลนด์อยู่ระหว่างร้อยละ 0-22.5
หากไทยสามารถผลักดันให้นิวซีแลนด์มีการลดภาษีในภาคอุตสาหกรรมนี้ จะมีส่วนช่วยให้ไทยสามารถส่งออกไป
ยังนิวซีแลนด์ได้มากขึ้น
1.2) เครื่องใช้ไฟฟ้า — นิวซีแลนด์มีแนวโน้มความต้องการในภาคอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น และเป็น
อุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและมีความสามารถในการแข่งขันสูง ดังนั้นการขยายการส่งออกไปยัง
นิวซีแลนด์นั้นมีความเป็นไปได้สูง โดยขณะนี้อัตราภาษีของนิวซีแลนด์อยู่ที่ ประมาณร้อยละ 0-10
1.3) อาหารทะเลกระป๋อง อาหารแปรรูป — สินค้าจำพวกกุ้งแช่แข็งของไทยมีส่วนแบ่งตลาดใน
นิวซีแลนด์มากถึงประมาณร้อยละ 75 โดยมีอัตราภาษีนำเข้าของนิวซีแลนด์อยู่ระหว่างร้อยละ 0-6.5
1.4) สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม — เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกสูง และมีโอกาสในการส่ง
ออกไปยังตลาดนิวซีแลนด์มากขึ้น แต่ขณะนี้นิวซีแลนด์มีการเก็บภาษีระหว่างร้อยละ 0-20 รวมทั้งมีการเก็บภาษี
ตามสภาพและตามราคา ซึ่งถือเป็นการเก็บภาษีที่สูงมากเมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ
1.5) เหล็ก — เป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีความสามารถในการขยายตลาดและมีศักยภาพในการแข่งขัน
โดยปัจจุบันนิวซีแลนด์มีการเก็บภาษีระหว่างร้อยละ 5-7
1.6) ผลิตภัณฑ์พลาสติก — เป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการขยายไปยังตลาดนิวซีแลนด์ โดยมีภาษีนำ
เข้าของนิวซีแลนด์อยู่ระหว่างร้อยละ 0-7 ในขณะเดียวกันนิวซีแลนด์มีการส่งออกสินค้าพลาสติกมายังไทยเช่น
เดียวกัน โดยปัจจุบัน ไทยมีภาษีนำเข้าอยู่ระหว่างร้อยละ 5-30
2) การแก้ไขปัญหามาตรการสุขอนามัย ปัจจุบันสินค้าเกษตรของไทยที่ประสบปัญหาการส่งออก
ได้แก่ ไก่สดแช่แข็ง ไก่ต้มสุก เป็ดต้มสุก ผักและผลไม้สด และซอสปรุงรส ซึ่งการจัดทำความตกลงการค้าเสรี
จะเป็นโอกาสสำหรับความร่วมมือที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้
3) ในด้านการบริการและการลงทุน จะเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจสำคัญ ๆ ของไทย ได้แก่ การ
ท่องเที่ยว ร้านอาหาร การศึกษา สถานบริการความงามและสุขภาพ และการก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลต่อ
การขยายตัวทางการค้าอีกทางหนึ่งด้วย
4. ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
ภายใต้การเปิดตลาดการค้าเสรี นิวซีแลนด์มีแนวโน้มในการเข้ามาเปิดตลาดกับไทยมากขึ้น ซึ่งภาค
อุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายของนิวซีแลนด์และคาดว่าไทยจะได้รับผลกระทบ ได้แก่
4.1 ผลิตภัณฑ์จากนม — การเปิดตลาดกับนิวซีแลนด์ จะส่งผลให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจาก
นิวซีแลนด์เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากเป็นสินค้าที่นิวซีแลนด์มีศักยภาพในการแข่งขันสูง สินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ
คือ นมผง ขณะเดียวกันสินค้าที่อาจได้รับประโยชน์จากการเปิดตลาด คือ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เนื่อง
จากจะช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบ อย่างไรก็ดีปัจจุบันไทยมีการควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมในบางรายการ ทั้งใน
การเก็บภาษี การจำกัดปริมาณการนำเข้า
4.2 ผักและผลไม้ — การลดภาษีจะทำให้มีการนำเข้าจากนิวซีแลนด์มากขึ้นที่สำคัญได้แก่ แอ๊ปเปิ้ล
แครอท และมันฝรั่งแช่แข็ง ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องจากราคาที่ต่ำลงจะมีส่วนทำให้มีการบริโภคแทนผักและผลไม้ไทย
บางประเภท
4.3 เนื้อสัตว์ — เป็นสินค้าส่งออกสำคัญและมีศักยภาพของนิวซีแลนด์ อย่างไรก็ดีไทยไม่มีการนำ
เข้าเนื้อสัตว์จากนิวซีแลนด์มากนัก โดยส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อวัวและเนื้อแกะสำหรับการบริโภคในตลาดระดับสูง
4.4 ประมง — สินค้าประมงของไทยอาจได้รับผลกระทบจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น แต่อุตสาหกรรม
ประเภทประมงแปรรูป อาจจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนการผลิตที่ลดลง เช่น การผลิตทูนากระป๋อง ซึ่งใน
ปัจจุบันไทยมีการนำเข้าปลาทูนาจากนิวซีแลนด์บางส่วน
อย่างไรก็ดี โดยภาพรวมแล้วสินค้าที่จะมีการนำเข้ามากขึ้นในกลุ่มเหล่านี้จะทำให้เกิดการแข่งขันกับ
สินค้าประเภทเดียวกับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศอื่น ผู้บริโภคจึงจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันด้านราคา
คุณภาพ และความหลากหลายของสินค้า
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวร
นิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ