บทสรุปภาวะการส่งออกของประเทศไทย เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2547

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 28, 2004 15:31 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. เศรษฐกิจไทยในปี 2547 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 6-7  โดยไตรมาสแรก GDP ขยายตัวประมาณร้อยละ 6.5  และประมาณร้อยละ 6.3 ในไตรมาสที่สอง
2. ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสำคัญอันดับที่ 23 ของโลก ในปี 2546 มีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 1.20 ของการส่งออกรวมในตลาดโลกมูลค่าประมาณ 6,670 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ปี 2545 ไทยอยู่อันดับที่ 23 สัดส่วนร้อยละ 1.19)
3. ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าสำคัญอันดับที่ 22 ของโลก ในปี 2546 มีสัดส่วนการนำเข้าประมาณร้อยละ 1.11 ของการนำเข้าในตลาดโลกมูลค่าประมาณ 6,832 พันล้านเหรียญสหรัฐ(ปี 2545 ไทยอยู่อันดับที่ 22 สัดส่วนร้อยละ 1.10)
4. การค้าของไทยเดือน ม.ค.-ก.ค. 2547 มีมูลค่า 108,218.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.76 แยกเป็นการส่งออกมูลค่า 54,463.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.16 การนำเข้ามีมูลค่า 53,754.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.63 ไทยได้เปรียบดุลการค้าเป็นมูลค่า 708.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 77.25 สำหรับเดือน กรกฎาคม 2547 ดุลการค้าเกินดุลเป็นมูลค่า 76.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
5. กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกในปี 2547 ที่มูลค่า 92,274 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 การส่งออกเดือน ม.ค.-ก.ค. 2547 มีมูลค่า 54,463.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 59 ของเป้าหมายการส่งออก
6. สินค้าส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรก สัดส่วนรวมกันร้อยละ 82.27 ของมูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค.-ก.ค. 2547 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง มีดังนี้
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 3 รายการ คือ วงจรพิมพ์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ และส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 103.12, 145.09 และ 130.46 ตามลำดับ
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 มี 6 รายการ คือ ข้าว เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ แผงสวิทช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เลนซ์ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องคอมเพรสเซอร์ของเครื่องทำความเย็น เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.10, 93.93, 75.73, 61.19, 61.78 และ 62.84 ตามลำดับ
7. ตลาดส่งออกสำคัญ 50 อันดับแรก สัดส่วนรวมกันร้อยละ 95.54 ของมูลค่าการส่งออกเดือน ม.ค.-ก.ค. 2547 ตลาดที่มีมูลค่าการส่งออกเปลี่ยนแปลงสูง มีดังนี้
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 มี 2 ตลาดได้แก่ อิรักและลิเบีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 248.32 และ 152.59 ตามลำดับ
- เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 มี 8 ตลาด ได้แก่ แอฟริกาใต้ อิหร่าน บราซิล บังคลาเทศ ตุรกี ฟินแลนด์ กรีซ และเซเนกัล โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 69.90, 83.58, 54.12, 55.99, 69.57, 84.00, 55.33 และ 86.03 ตามลำดับ
8. การนำเข้า:
8.1 สินค้านำเข้ามีสัดส่วนโครงสร้างดังนี้
- สินค้าเชื้อเพลิง สัดส่วนร้อยละ 12.85 เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.29
- สินค้าทุน สัดส่วนร้อยละ 43.55 เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.70
- สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สัดส่วนร้อยละ 30.67 เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.89
- สินค้าบริโภค สัดส่วนร้อยละ 7.95 เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.19
- สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง สัดส่วนร้อยละ 3.87 เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.41
- สินค้าอื่นๆ สัดส่วนร้อยละ 1.12 เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.55
8.2 แหล่งนำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก
มีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 67.56 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น(ม.ค.-ก.ค. 2547) ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยอรมนี และซาอุดีอาระเบีย สัดส่วนร้อยละ 24.15, 8.13, 7.79, 5.78, 4.54, 4.39, 4.02, 3.25, 3.03 และ 2.47 โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 30.16, 30.06, 8.81, 27.50, 37.06, 32.77, 40.12, 52.42, 8.98 58.77 ตามลำดับ
9. ข้อคิดเห็น:
1. เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองขยายตัวร้อยละ 6.3 ลดลงจากร้อยละ 6.5 ในไตรมาสแรก เนื่องจากผลกระทบต่อเนื่องของปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และปัจจัยราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมากได้สร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3 ในปลายไตรมาสที่สอง ทำให้เศรษฐกิจปรับตัวชะลอลง
โดยในไตรมาสที่สองของปี 2547 การใช้จ่ายของครัวเรือนและการลงทุนภายในประเทศยังคงเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 5.5 ลดลงจากร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรก ถึงแม้จะมีการปรับเงินเดือนข้าราชการและรายได้ของภาคเกษตรขยายตัวในเกณฑ์ดีขึ้น(จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกโดยเฉพาะข้าวและยางพารา) แต่ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินที่ปรับเพิ่มขึ้นส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของประชาชน ส่วนการลงทุนรวมภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 12.1 ลดลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 16.2 โดยลดลงจากการลดการลงทุนก่อสร้างของภาครัฐเป็นสำคัญ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวในระดับสูงทั้งในการก่อสร้างและเครื่องจักรอุปกรณ์ซึ่งส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าลดลง
ในด้านการผลิต สาขาเกษตรลดลงร้อยละ 7.5 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง ผลผลิต ลดลงใน 3 หมวด คือ 1) พืชหลักได้แก่ ข้าวนาปรัง อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด จากภาวะฝนแล้ง 2) ประมง โดยเฉพาะกุ้งส่งออกเนื่องจากการไต่สวน Anti-dumping ของสหรัฐฯทำให้มีการเร่งส่งออกกุ้งไปในไตรมาสที่ 1 และชะลอการลงทุนเลี้ยงกุ้งเพิ่มขึ้นจากความไม่มั่นใจในตลาดส่งออก 3) ปศุสัตว์ ทั้งไก่เนื้อและไก่ไข่เนื่องจากการระบาดของโรค ไข้หวัดนก สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 7.7 เท่ากับไตรมาสที่ 1 อุตสหกรรมส่วนใหญ่ยังคงขยายตัวได้ตามภาวะส่งออกยกเว้นหมวดอาหาร เนื่องจากผลผลิตสาขาเกษตรลดลงและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น
2. การส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งมีตลาดที่สำคัญคือ ยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น โดย ยุโรปนำเข้ากุ้งปีละประมาณ 5.5 แสนตัน สหรัฐฯนำเข้าปีละประมาณ 5 แสนตัน และญี่ปุ่นนำเข้าปีละ 3-3.5 แสนตัน ซึ่งขณะนี้การส่งออกไปสหรัฐฯไทยต้องเสียภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด(Anti-dumping) เบื้องต้นร้อยละ 5.56- 10.25 จนกว่าคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศ(ITC) ของสหรัฐฯ จะประกาศผลการตัดสินความเสียหายขั้นสุดท้ายในวันที่ 31 มกราคม 2548 ซึ่งอัตราภาษี AD ขั้นสุดท้ายจะเป็นภาษีนำเข้าเป็นระยะเวลาอีก 5 ปี
ส่วนการส่งออกไปยุโรป ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) มาตั้งแต่ปี 2542 และกำลังขอให้สหภาพยุโรปทบทวนการคืนสิทธิ GSP ให้สินค้ากุ้งไทยในการเปิด ทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรโครงการใหม่ของยุโรปที่จะเริ่มตั้งแต่ปี 2549-2558 ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการตัดสิทธิ GSP ให้สามารถขอคืนได้ หากแสดงข้อมูลได้ว่าได้รับผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิ GSP จริง ซึ่งสินค้ากุ้งไทยมีมูลค่าการส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรปลดลงมาโดยตลอดนับตั้งแต่ถูกตัดสิทธิ GSP โดยในปี 2542 EU นำเข้ากุ้งจากไทยประมาณ 18,000 ตัน ส่วนในปี 2547 (ม.ค.-ก.ค.) ปริมาณการส่งออกกุ้งของไทยไปสหภาพยุโรป มีเพียง 3,768 ตัน มูลค่าประมาณ 965 ล้านบาท ทั้งนี้ ภาคเอกชน คาดหวังว่าหากไทยได้รับสิทธิ GSP คืน จะทำให้ไทยเสียภาษีกุ้งแช่แข็งในอัตรา 4.2% จากอัตราภาษีปกติ 12% และกุ้งปรุงแต่งจะเสียภาษีในอัตรา 7% จากอัตรา 20% ซึ่งจะส่งผลให้ไทยส่งออกกุ้งไปยังสหภาพยุโรปได้เพิ่มขึ้น
สำหรับการส่งออกกุ้งไปญี่ปุ่น แม้ไม่มีมาตรการเข้มงวดในการนำเข้า แต่กลับพบว่าการ ส่งออกกุ้งของไทยไปญี่ปุ่นเติบโตลดลง ในขณะที่ประเทศเวียดนามและอินเดีย ยังคงส่งออกกุ้งไปญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้นสูง เนื่องจากผู้เลี้ยงกุ้งไทยหันมาเลี้ยงกุ้งขาวมากขึ้นแต่ญี่ปุ่นต้องการกุ้งกุลาดำ ซึ่งเหลือผู้เลี้ยงเพียงไม่กี่ประเทศ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนามและไทย ส่วนทางแถบอเมริกาใต้แทบไม่มีการเลี้ยงกุ้งกุลาดำแล้ว ดังนั้นเกษตรกรไทยควรจะเลี้ยงกุ้งขาวและกุ้งกุลาดำควบคู่กันไป แม้ว่ากุ้งขาวจะเลี้ยงง่าย อัตรารอดสูงและต้นทุนต่ำ แต่จากการที่หลายประเทศเข้มงวดการนำเข้าไทยจึงควรให้ความสำคัญกับตลาดหลักอย่างญี่ปุ่นด้วย
3. ผู้นำเข้าสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปในสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณมายังกลุ่มผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยให้ปรับลดราคาสินค้าลงเพื่อให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับจีน เนื่องจากประเทศทั่วโลกรวมทั้งสหรัฐฯ จะยกเลิกโควตานำเข้าสิ่งทอในปี 2548 ตามพันธกรณีความ ตกลงสิ่งทอขององค์การการค้าโลก(WTO) หากผู้ส่งออกไทยไม่ลดราคาลง ผู้ซื้อในสหรัฐฯอาจจะหันไปนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากจีนที่มีราคาถูกกว่าแทน ซึ่งสินค้าที่ผู้นำเข้าสหรัฐฯ ต้องการให้ผู้ส่งออกไทยปรับลดราคาลงส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯเป็นจำนวนมาก เช่น กางเกงผ้าฝ้าย เสื้อยืดทำจากฝ้าย หากผู้ส่งออกต้องการรักษาระดับราคา ก็ต้องเร่งปรับตัวให้มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น โดยพัฒนาการออกแบบและเพิ่มคุณภาพสินค้า แต่ถึงแม้จะมีการยกเลิกการกำหนดโควตานำเข้าสิ่งทอในปี 2548 สหรัฐฯ ก็ยังมีมาตรการปกป้องตลาดภายในประเทศ(Safeguard) ซึ่งกำหนดให้จีนส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอเข้าไปจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯได้ ในปริมาณเท่ากับการส่งออกในปีโควตาสุดท้าย เท่านั้น ดังนั้น หากจีนส่งออกสินค้าสิ่งทอไปยังสหรัฐฯมากกว่าปริมาณการส่งออกในปี 2547 ก็จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูง และผู้ส่งออกจีนยังมีต้นทุนในการบริหารโควตาอีกประมาณร้อยละ10-15 ของราคา FOB เท่ากับว่าผู้ส่งออกไทยจะมีต้นทุนในการส่งออกต่ำกว่าจีนแม้ต้นทุนการผลิตจะสูงกว่า ซึ่งจะเอื้อให้ผู้ส่งออกไทยสามารถบริหารราคาให้ใกล้เคียงกับสินค้าจีนได้ในระหว่างการพัฒนาและปรับตัว
4. การเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น คลอบคลุมทั้งในเรื่องของสินค้า การค้าบริการ การลงทุนและความร่วมมือระหว่างกัน โดยทั้งสองฝ่ายคาดว่าจะสามารถสรุปผลการเจรจาได้ภายในต้นปี 2548 ในการเจรจาครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน 2547 ไทยต้องการผลักดันให้ญี่ปุ่นนำสินค้าทุกรายการเข้าสู่บัญชีลดภาษี รวมทั้งสินค้าเกษตร 4 รายการ ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลังและน้ำตาล ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทย ส่วนญี่ปุ่นต้องการให้ไทยคุ้มครองการลงทุนของญี่ปุ่นและลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการ ในประเด็นการเข้าสู่ตลาด ขณะนี้ญี่ปุ่นยื่นรายการสินค้า 8,107 รายการ คิดเป็นร้อยละ 86 ของมูลค่าการนำเข้าจากไทยของญี่ปุ่น โดยระบุว่าจะมีสินค้าไม่นำเข้าสู่บัญชีลดภาษี(Exclusion list) จำนวน105 รายการ ส่วนของไทยยื่นรายการสินค้าทั้งหมด แต่อาจจะถอนสินค้าบางรายการออกหากญี่ปุ่นไม่ยอมนำสินค้าเกษตรอ่อนไหว 4 รายการเข้าสู่บัญชีลดภาษี
สำหรับการเจรจากับเขตการค้าเสรีกับสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 11-15 ต.ค. 2547 ที่ฮาวายประเทศสหรัฐฯ จะหารือกันในประเด็นการเข้าถึงตลาด(Market Access) คือการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านศุลกากร อัตราภาษีแต่ละรายการสินค้า ก่อนกำหนดแนวทางการเจรจาที่เริ่มต้นภายในต้นปีหน้า ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมการเจรจา พร้อมให้เอกชนส่งข้อมูลและชี้แจงเหตุผลการขอเป็นรายการสินค้าอ่อนไหว และจะพิจารณาถึงผลกระทบต่อความต้องการใช้ในประเทศและการเสียเปรียบในการแข่งขัน คาดว่ารายการสินค้าอุตสาห-กรรมอ่อนไหวจะมีทั้งสิ้น 55 รายการใน 6 กลุ่มสินค้า ได้แก่ โลหะ(เหล็กและทองแดง) ปิโตรเคมี ไข่ผง สิ่งพิมพ์ กระจกและยาง โดยกลุ่มสินค้าสีมี 8 รายการแจ้งเหตุผลว่าไทยมี ต้นทุนการผลิตสูงเพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบอัตราภาษีร้อยละ 10-30 จึงไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าของสหรัฐฯได้ สินค้าไข่ผง 2 รายการให้เหตุผลว่าการเปิดเสรีสินค้านี้จะกระทบราคาไข่ในประเทศซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพของประชาชน สินค้าพลาสติก 1 รายการ เนื่องจากสหรัฐฯมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย สินค้ายาง 1 รายการด้วยผลกระทบที่อาจเกิดกับสิ่งแวดล้อมเพราะสหรัฐฯต้องการส่งยางใช้แล้วมายังไทย และกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ขอให้ห้ามการให้สิทธิภาษี 0% แก่สิ่งพิมพ์ภาษาไทยจากต่างประเทศเพราะอาจส่งผลกระทบกับภาษาไทยได้ การเจรจา FTA กับสหรัฐฯคาดว่าต้องใช้เวลานานถึง 40 เดือน เนื่องจากมีรายการสินค้าที่ทับซ้อนและสินค้าอ่อนไหวจำนวนมาก ไม่ต้องการเร่งรัดสรุปและหากไทยต้องเสียประโยชน์ก็จะยังไม่ลงนาม
ด้านผู้เชี่ยวชาญนโยบายการค้าของ London School of Businessให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีของประเทศในภูมิภาคเอเชียว่าไม่ควรเร่งดำเนินการเพราะอาจจบลงด้วยข้อสรุปเพียงครึ่งเดียวและได้รับประโยชน์เพียงเล็กน้อย ต่างกับสิงคโปร์ที่เป็นประเทศปลอดภาษี มีอุตสาหกรรมหลักในภาคบริการและไม่มีอุตสาหกรรมภาคเกษตร จึงเจรจาต่อรองกับองค์กรการค้าโลกและจัดทำเขตการค้าเสรีได้โดยง่าย ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เปิดเจรจา FTA กับหลายประเทศในเวลาเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่ายังมีการทำวิจัยและวิเคราะห์ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเรื่องตำแหน่งที่เหมาะสมของไทยในการเจรจาต่อรองกับหลายประเทศ ความเกี่ยวโยงของข้อตกลง FTA กับพันธะสัญญาใน WTO และความเหมาะสมต่อนโยบายการขยายเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการเร่งสรุปผลการเจรจา FTAโดยขาดการทำการศึกษาอย่างเพียงพอ อาจส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเจรจา
ที่มา: http://www.depthai.go.th
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ