รูปแบบและปัจจัยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 18, 2005 14:41 —สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับรูปแบบและปัจจัยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
ด้วยศักยภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
1. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
การพัฒนาชนบทที่ยั่งยืนเป็นเป้าหมายสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) ซึ่งได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางเพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบพอเพียง พึ่งตนเองและยั่งยืน การที่ชุมชนจะยั่งยืนได้ก็ต้องมาจากการพึ่งตนเอง โดยนำองค์ความรู้และความชำนาญจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีในชุมชนและจากการที่บรรพบุรุษสะสมมาจนกระทั่งปัจจุบันออกมาใช้อย่างเต็มศักยภาพ การฟื้นฟูและพัฒนาความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นในรูปของการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น การศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชน และการสนับสนุนศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชนจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็น เพราะเป็นการให้กลุ่มคนนำเอาประสบการณ์ ความรู้ และความเชี่ยวชาญ ที่เป็นองค์ความรู้เดิมมาพัฒนา ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลง ให้เกิดประโยชน์และมีมูลค่ามากขึ้น สร้างเอกลักษณ์และความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ชุมชน สังคม และประเทศชาติตลอดจนสร้างความผาสุกให้กับตนเองและครอบครัว
2. การดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
คณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและพลังงาน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เสนอให้มีการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ด้วยศักยภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยขอเสนอจัดตั้งคณะทำงานศึกษารูปแบบการดำเนินการโครงการวิจัยชุมชน ซึ่งได้เชิญนักวิชาการที่มีความชำนาญการเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน ตลอดจนผู้นำชาวบ้านในท้องถิ่นร่วมเป็นคณะทำงานฯ และร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ ดำเนินการศึกษาวิจัยด้วยการลงเก็บสำรวจข้อมูลในท้องถิ่น ทั้งสี่ภูมิภาค มาเป็นข้อมูลประกอบและสังเคราะห์จัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
3. กรอบการศึกษา
การวิจัยนี้มุ่งศึกษารูปแบบและปัจจัยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนด้วยศักยภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยทำการศึกษาจากผู้นำตามธรรมชาติ ผู้นำตามโครงสร้าง และประชากรในชุมชน ในทั้งสี่ภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งทำการศึกษาถึงรูปแบบและปัจจัยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนที่สอดคล้องกับศักยภาพด้านทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านเกษตรกรรม โภชนาการ และอาหารแปรรูป ด้านการปลูกฝังจิตสำนึก ด้านการบริหารจัดการ ด้านภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในท้องถิ่น ด้านการแสวงหาความรู้ ด้านการมีส่วนร่วม และด้านการเมืองและการปกครองท้องถิ่น รวมทั้งกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนและกระบวนการถ่ายทอดความรู้จากสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันการศึกษาในท้องถิ่น ตลอดจนการรับรู้สิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญมาตราที่ 76 และ 78 ของประชากรในชุมชน
4. ประเด็นปัญหาสำคัญ
4.1 จากปัญหาด้านการบริโภคนิยมทำให้ประชาชนเป็นนักบริโภค ซึ่งก่อให้เกิดความเร่งรีบในการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติ ความไม่ซื่อสัตย์ ขาดคุณธรรม ความเห็นแก่ตัว ความไม่มัธยัสถ์ และคล้อยตามเทคโนโลยีที่เป็นของต่างประเทศไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งทำให้เกิดความอ่อนแอในชุมชน
4.2 เงินงบประมาณที่รัฐสนับสนุนให้กับชุมชน ในรูปแบบต่างๆ เช่น โครงการพักชำระหนี้เกษตรกร โครงการกองทุนหมู่บ้าน การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ซึ่งโครงการเหล่านี้หากไม่มีการติดตามและแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดอาจจะเกิดปัญหาอย่างร้ายแรงตามมาภายหลัง เงินเป็นปัจจัยหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง
4.3 กระบวนการชุมชนและเครือข่ายชุมชนต่างๆ ยังไม่มีความเข้มแข็ง ยังไม่มีความเชื่อมโยงกันในระหว่างเครือข่าย ไม่มีความสามัคคีในการทำงาน การทำงานร่วมกันยังยึดอยู่ที่ผลประโยชน์ที่ได้รับเป็นหลัก ทำให้การพัฒนาชุมชนเป็นไปในทางกายภาพเท่านั้น ไม่ลงลึกถึงจิตวิญญาณของการพัฒนาที่แท้จริง ทำให้ชุมชนเกิดความไม่เข้มแข็ง
4.4 การทำงานของสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นยังมีความแตกต่างจากชุมชนอย่างยิ่ง การศึกษา การวิจัยที่ไม่คำนึงถึงรากเง่าของชุมชนทำให้การศึกษาก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ยังขาดการถ่ายทอดความรู้และการประสานงานระหว่างสถาบันการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น ชุมชนด้วย ทำให้เกิดการส่งผลต่อความอ่อนแอของชุมชนอย่างถาวรด้วย
4.5 การมีส่วนร่วมของชุมชนยังไม่มีอย่างแท้จริง เป็นเพียงการร่วมกันมารับผลประโยชน์ในแต่ละครั้งเท่านั้น เมื่อไม่มีผลประโยชน์ก็จะไม่สามารถร่วมกันได้อย่างจริงจัง
4.6 การประกอบอาชีพของประชาชนในชุมชนยังขาดความรู้ในเรื่องของการผลิต การแปรรูปอาหารหลักการตลาดระดับหมู่บ้าน ท้องถิ่นและระดับการค้าที่สูงขึ้นไป ทำให้ระบบเศรษฐกิจของชุมชนยังไม่เกิดความเข้มแข้งในสภาพความเป็นอยู่
4.7 ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนเองมีการใช้อย่างไม่มีการอนุรักษ์ มีการใช้เกินกำลังความสามารถของทรัพยากรธรรมชาติที่จะรับได้ (Carrying Capacity) ทำให้ทรัพยากรเหล่านั้นเกิดความเสื่อมโทรมลงไปอย่างมากทั้งทรัพยากรประมง ป่าไม้และอื่นๆ
4.8 การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานของชุมชนยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร ทำให้ประชาชนต้องแสวงหาความต้องการพื้นฐานให้เพียงพอก่อน การพัฒนาชุมชนเองจึงเป็นส่วนด้อยที่ประชาชนจะพิจารณา
4.9 ปัญหาเรื่องการสื่อสาร ทั้งข้อมูลข่าวสาร ในเรื่องการศึกษา เศรษฐกิจ การผลิต และความรู้ต่างๆ ยังมีการสื่อสารไปสู่ชุมชนน้อยมาก ทำให้การเรียนรู้ของชุมชนยังไปได้ไม่ไกลนัก
4.10 ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นั้นในบางชุมชนยังมีปัญหาอยู่มาก เช่น การจัดตั้งกลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ ในชุมชน ซึ่งรัฐเองก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างถาวร ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
4.11 ปัญหาการมีส่วนร่วมในการบริหารชุมชนของประชาชนเอง จากปัญหาอิทธิพลและผลประโยชน์ในชุมชนทำให้การมีส่วนร่วมในการบริหารงานของชุมชนมีปัญหา เนื่องจากถูกกลุ่มอิทธิพลบีบบังคับ
5. ข้อเสนอแนะ
5.1 ข้อเสนอแนะในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และจิตสำนึกของชุมชน
5.1.1 สร้างความเข้มแข็งของชุมชนโดยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้รู้จักมัธยัสถ์ รักสันโดษ สร้างจิตสำนึกให้รู้จักคุณค่าของการมีชีวิตที่พอดี มีการบูรณาการระหว่างกายกับจิตวิญญาณและควรมีความซื่อสัตย์ มีคุณธรรม ทั้งในเรื่องส่วนตัวและในเรื่องส่วนรวมให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งรู้จักคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติรอบๆ ตัวเองดังคำขวัญที่ว่า “มีชีวิตที่พอดี มีชีวีที่พอเพียง” นำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ และลดการบริโภคนิยม
5.1.2 ควรมีองค์ความรู้และความสามารถในการสร้างองค์ความรู้ที่เอื้อต่อการเป็นประชาสังคม และการกำหนดทิศทางข้างหน้าของชุมชนนั้นต้องอาศัยการสร้างและการสะสมองค์ความรู้ เพื่อสามารถปรับใช้และเป็นพื้นฐานให้เกิดการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ต่อไป
5.1.3 การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนนั้น ควรมีเป้าหมายให้ชุมชนสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้ นั่นคือชุมชนควรจะต้องสร้างขึ้นจากการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีผู้นำชุมชนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาชุมชน เพื่อให้ชุมชนเปลี่ยนจากการเป็นผู้รอรับความช่วยเหลือมาเป็นผู้มีส่วนช่วยเหลือ โดยคนในชุมชนต้องเรียนรู้ที่จะเสียสละเพื่อชุมชน
5.2 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
5.2.1 รัฐต้องดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญตามมาตรา 46 56 59 76 79 80และมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยอาจมีรายละเอียดอาทิเช่น
1) รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำหนดนโยบายการวางแผนทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ
2) รัฐต้องเปิดเผยข้อมูล คำชี้แจงและเหตุผล ในการดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่อาจมี
ผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับ
ชุมชนท้องถิ่น และต้องให้ชุมชนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว
3) ส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หรือ
การใช้อย่างอนุรักษ์ ละเว้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เกินกำลังความสามารถของทรัพยากรธรรมชาติที่จะสร้างเสริมตัวเองได้ (Carrying Capacity) โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรรณรงค์ให้ประชาชนในชุมชนใช้ประโยชน์จากป่าไม้อย่างอนุรักษ์และสร้างสรรค์ ไม่สร้างความเสื่อมโทรมให้กับป่าไม้ รวมทั้งร่วมกันดูแลรักษาป่าไม้ให้มีสภาพสมบูรณ์มากขึ้นและยั่งยืนตลอดไป
4) รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสงวน บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุล
5) ส่งเสริมให้มีการนำทรัพยากรที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ (Recycle) นำมาใช้ในระดับชุมชน ท้องถิ่นและระดับชาติมากยิ่งขึ้น
6) รัฐควรคุ้มครองและส่งเสริมในการตั้งกลุ่มต่างๆ ในชุมชน เช่น กลุ่มสตรี เด็กและเยาวชน ความเสมอภาคของหญิงและชาย ความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว เป็นต้น และผลักดันให้ กลุ่มต่างๆ เหล่านี้มีความเข้มแข็งเพื่อใช้เป็นฐานในการพัฒนาชุมชน
5.2.2 ส่งเสริมความปลอดภัยในชุมชน ให้ชุมชนเกิดความสงบสุขในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อ
จะได้เกิดสติในการทำงานและเสียสละให้แก่ชุมชนเพิ่มมากยิ่งขึ้น
5.2.3 ควรหาทางช่วยเหลือและส่งเสริมในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ
ของประชาชนในชุมชน การแนะนำอาชีพที่เหมาะสมให้กับประชาชนในท้องถิ่น การจัดหางาน และการสร้างงานในชุมชนให้มากยิ่งขึ้น
5.2.4 ควรให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนงบประมาณในด้านสาธารณูปโภค และด้าน
สาธารณสุข เพื่อนำไปใช้ในการสร้าง ปรับปรุง และพัฒนาชุมชนให้มากยิ่งขึ้น
5.2.5 ส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นหลักพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน ดังนั้น รัฐจึงควรสนับสนุนให้ขยายเป้าหมายของการรวมกลุ่มไปทางด้านการผลิต การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้เกิดมูลค่าเพิ่มในชุมชน
5.3 ข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของชุมชนให้เข้มแข็ง
เพื่อให้ชุมชนได้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงขอเสนอแนะแนวทางในการปฏิบัติ ดังนี้
5.3.1 การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนควรใช้กระบวนการเครือข่ายองค์กรชุมชน และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเครือข่ายการวิจัยเชิงพื้นที่ และควรจัดให้มีศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนที่มีมาตรฐานและมีความสามารถในการให้คำปรึกษา ถ่ายทอดความรู้และให้ข้อมูลต่างๆ ที่ควรทราบแก่ประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ส่งเสริมศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนหรือแหล่งข้อมูลของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งจะต้องเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของชุมชน เพื่อการเรียนรู้และการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
5.3.2 ควรมีการจัดการและพัฒนาทีมวิจัยของชุมชน โดยพัฒนาศักยภาพของทีมที่ก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ข้ามศาสตร์ เพื่อเป็นการสร้างสมรรถนะขององค์กรและผู้เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพและมีความเข้มแข็งเกิดขึ้นในชุมชน
5.3.3 ส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างหลากหลาย ซึ่งการมี
ส่วนร่วมในทางการเมืองนี้หมายถึง การกระทำใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นมาจากความสมัครใจ เพื่อมีอิทธิพลในการเลือกสรรนโยบายสาธารณะและการบริหารนโยบายของรัฐ ตลอดจนการเลือกผู้นำทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นในระดับชาติหรือระดับท้องถิ่นก็ตาม
5.3.4 ควรมีข้อมูลพื้นฐานของชุมชนในทุกๆ ด้าน เพราะจะทำให้ชุมชนรู้จักตนเอง รู้ถึงจุดแข็งและจุดอ่อน เพื่อจะได้มองเห็นปัญหาของชุมชน เข้าใจความเชื่อมโยงภายในสังคมของตนเอง อันเป็นรากฐานสำคัญในการกระตุ้นให้ผู้คนเข้ามาร่วมกันคิดแก้ปัญหา
5.3.5 ควรมีเทคนิคและวิธีการประชุมเพื่อระดมความคิด และเวทีชาวบ้าน ซึ่งการประชุมระดมความคิดเป็นกิจกรรมที่สร้างโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วม และเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดกิจกรรมสาธารณะ ดังนั้นการมีเทคนิคและกระบวนการในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกระดับ จึงถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก ซึ่งจะก่อให้เกิดความสามัคคีและเกิดความร่วมมือในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนมากขึ้น
5.3.6 ควรมีระบบการติดต่อและการสื่อสารอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เนื่องจากระบบการ
สื่อสารมีความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วม และกระบวนการเรียนรู้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นช่องทางที่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและสร้างความเข้าใจต่อกัน เช่น วิทยุชุมชน จะนำไปสู่การดำเนินวิถีชีวิต และดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมชุมชนที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการใช้และอนุรักษ์ทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่ อนึ่ง สื่อของชุมชนควรจะมีความสามารถที่จะลดอิทธิพลของสื่อโฆษณาในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการบริโภคของชุมชนอย่างฟุ่มเฟือยจนก่อให้เกิดหนี้สินของครัวเรือนและชุมชน และใช้ทรัพย์สินสำรองของชุมชนที่มีอยู่จนชุมชนไม่สามารถดำรงความเข้มแข็งและเป็นตนเองได้ ทั้งนี้ การส่งวิทยุกระจายเสียง เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 40
5.3.7 จัดให้สถาบันการศึกษาที่อยู่ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน มหาวิทยาลัยราชภัฎ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อเป็นสถาบันที่คอยส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยมีการระบุปัญหา วางแผนการแก้ไข และนำไปสู่การปฏิบัติในชุมชน รวมไปถึงระบบประเมินผลการทำงานโดยใช้การวิจัย การมีส่วนร่วมและการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ