ปาฐกถา โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการสัมมนา “แผนนำทางการส่งออกไทย : โอกาสและความท้าทาย”

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 9, 2005 13:10 —กระทรวงการคลัง

                                     ปาฐกถา โดย 
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ในการสัมมนา
“แผนนำทางการส่งออกไทย : โอกาสและความท้าทาย”
โรงแรมแชงกรีลา
28 เมษายน 2548
ท่านประธานกรรมการ ท่านผู้บริหาร แขกผู้มีเกียรติ วันนี้ต้องขอบพระคุณ EXIM Bank The Nation กรุงเทพธุรกิจ และกระทรวงการคลัง ที่ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาที่ให้ความรู้ความเข้าใจกับนักธุรกิจ ผู้ส่งออกของไทย ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะต้องทำ และต้องทำมากขึ้น วันนี้ผมจะไม่พูดอะไรยืดยาว แต่ผมจะมาบอกว่าผมคิดอะไร และผมอยากจะทำอะไร ผมอยากจะเห็น EXIM Bank อยากจะเห็นหน่วยราชการไทย อยากจะเห็นภาคเอกชนไทยทำอะไรบ้าง
เมื่อปี 2544 กระผมเข้ามารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นครั้งแรก ผมจำได้ว่าเขียนอยู่ใน Mission statement ของภารกิจของการทำงานว่าสิ่งซึ่งเป็นความท้าทายของรัฐบาลชุดแรกมีอยู่ 2 ประการ
ประการที่ 1 ก็คือจะทำอย่างไรให้ประเทศพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจ
ประการที่ 2 ทำอย่างไรที่จะมีการปฏิรูปประเทศให้มีความเข้มแข็งและสามารถสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้
ในขณะนั้นมีคนถามมาหลายคนว่าทำไมต้องมีการปฏิรูป? ปฏิรูปอะไร? เพื่ออะไร? ปัญหาประเทศคือวิกฤติเศรษฐกิจ ผมก็ได้เรียนตอบเขาเหล่านั้นว่าวิกฤติเศรษฐกิจมันเกิดขึ้นไม่ใช่เพราะว่าปัจจัยหนึ่งปัจจัยใด แต่มันเกิดขึ้นจากความอ่อนแอของปัจจัยเชิงโครงสร้างของประเทศ ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมานาน ไม่สอดรับความเป็นจริงโลก ฉะนั้นเมื่อโครงสร้างไม่มีการพัฒนา ความเปลี่ยนแปลงข้างนอกมีมากกว่า มันขึ้นอยู่กับเวลาเท่านั้นเองว่าเมื่อไรที่จะแสดงอาการ ฉะนั้น วิกฤติการณ์ทางการเงินในขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนความอ่อนแอปัจจัยเชิงโครงสร้าง
พอมาปี 2546 ขณะนั้นเศรษฐกิจเริ่มก้าวพ้นจากวิกฤติการณ์ การเติบโตค่อนข้างดีทีเดียวในปีนั้น ผมจำได้ว่าจากการสัมมนาโครงการส่วนใหญ่ก็จะถามว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะรุ่งไหม? ตลาดหุ้นจะพุ่งหรือเปล่า? ทุกอย่างมองในแง่ดีหมด ผมจำได้ว่ามีอยู่งานหนึ่งเป็นงานสัมมนาของสมาคมเศรษฐศาสตร์ ผมพูดในวันนั้นบอกว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดในขณะนั้นไม่ใช่มองว่าปีหน้าจะไปได้แค่ไหน GDP ไปได้ดีเท่าไร แต่จริงๆ แล้วในขณะนั้นเป็นช่วงจังหวะโอกาสดีที่สุดที่จะเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทย เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น หน้าตักเรามีทุนมากขึ้น เราต้องเริ่มก้าวขึ้นสู่การปฏิรูปอย่างจริงจัง
ทำไมถึงต้องมีการปฏิรูป? ขณะนั้น GDP ก้าวไปสูงมาก เท่าไรจำไม่ได้ แต่สิ่งที่เรารู้อยู่แก่ใจก็คือว่าพอเรามาดูภายในประเทศ คนส่วนใหญ่ยากจน เมื่อคนส่วนใหญ่ยากจน อำนาจซื้อต่างๆ ตลาดในประเทศไม่สามารถรองรับการเติบโตได้ ประเทศยังคงต้องพึ่งพิงต่างประเทศ กิจกรรมเศรษฐกิจต่างประเทศ เช่น การส่งออก พอเราดูโครงสร้างการส่งออก เราจะรู้ทันทีว่าจุดอ่อนมันสะท้อนทันที สินค้าส่งออกไทย Margin ต่ำ Imported content สูง ที่สำคัญคือสินค้าส่วนใหญ่เราไม่ได้เลือก แต่เป็นสินค้าซึ่งต่างประเทศเลือกมาลงทุนในประเทศไทย เวลาเราส่งออกก็ไม่สามารถจะ Control ตลอด Value chain ของสินค้าได้ เราเพียงแค่ผลิต ขาย FOB ที่เหลือมูลค่าเพิ่มทั้งหลายนั้นคนอื่นเอาไปกินหมด ถ้าตลาดโลกดีแจ่มใส Export ก็เติบโต เมื่อไรที่ตลาดโลกซบ สินค้าเราก็ขายไม่ออก การส่งออกของไทยขึ้นอยู่กับ Cycle ของสินค้าไม่กี่ตัว เมื่อไรตัวเลข Index ซบ Export ตกทันที เราเห็นชัดเจนว่าการส่งออกของเรามีจุดอ่อน สินค้าส่วนใหญ่มีมูลค่าน้อยมาก เราเพิ่ม Value added น้อย หมายความว่าผมนำสินค้าเข้ามา 80 ผมเพิ่มเป็นอีก 20 Value added 20 บาท เป็นการต่อเติมโดยเอาแรงงานเข้าแลก ไม่ใช่กำหนดค่าจากตัวมันเอง แต่เป็นการ Added ในส่วนที่เพิ่ม
พอเรามาดูเรื่องของกิจกรรมอื่นๆ อาทิ การท่องเที่ยว ประเทศไทยเป็นประเทศซึ่งไม่มีแหล่งท่องเที่ยวซึ่งอลังการ ประเภทที่ว่าคนทั้งโลกตั้งใจว่าเกิดมาต้องมาดูสัก 1 ครั้ง เมืองไทยไม่มี แต่เมืองไทยมีบางสิ่งบางอย่างที่มาแล้วสัมผัสได้ รู้สึกได้ คำว่า “Thainess” ความเป็นไทย คนที่ไม่เคยมานั้นจะไม่รู้สึก ประเด็นของผมก็คือว่าโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งที่จะรองรับเหล่านี้เรามีไม่พร้อม สุกเอา เผากินมาตั้งแต่เป็นสิบๆ ปี แล้ว จะทำอย่างไรที่จะทำให้มีสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ในการที่จะดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา อยู่ให้นาน จับจ่ายใช้สอย
กิจกรรมต่างประเทศคือสิ่งที่เราต้องพึ่งพา คือการลงทุนต่างประเทศ นโยบาย BOI ไม่ได้ปรับเปลี่ยนเลยมานาน โซน 1 โซน 2 โซน 3 เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ทั้งที่ในขณะนี้ทุกคนรู้ว่าทุกประเทศแข่งขันการดึงการลงทุนเข้าประเทศ เราคิดอะไร สิงคโปร์คิดอย่างนั้นล่วงหน้า มาเลเซียก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน ทุกคนแข่งขันกัน แต่นโยบายเราไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง อุตสาหกรรมอะไรที่เราจะต้องแข่ง อุตสาหกรรม อะไรที่เราจะทำให้เข้มแข็งขึ้น อุตสาหกรรมอะไรที่เราจะตัดทิ้งในอนาคต
จุดอ่อนของเชิงโครงสร้างในเมืองไทยก็คือว่าแต่ละหน่วยงาน แต่ละกรม กอง แต่ละกระทรวง ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันในเชิงยุทธศาสตร์ ในทางปฏิบัติไม่ได้มีการเชื่อมโยงกันเลย เกษตรต้องทำกับเกษตร ตัดตอนสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมก็ทำแต่เรื่องของอุตสาหกรรม พาณิชย์ก็ทำเรื่องพาณิชย์ ต่างประเทศทำเรื่องต่างประเทศ การประสานงานกันไม่มี การทำงบประมาณก็ไม่มีการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน
ประเทศไทยเมื่อไม่สามารถพึ่งตลาดภายในประเทศได้ ต้องพึ่งตลาดประเทศ ส่งออก ท่องเที่ยว การลงทุนต่างประเทศ แต่ทั้ง 3 จุดนี้ยังมีจุดอ่อนซึ่งต้องยกเครื่อง ถ้าเมื่อไรที่เราไม่ยกเครื่องสิ่งเหล่านี้ คุณจะทำให้มี Momentum ทางเศรษฐกิจในระยะยาว ทำได้ยากมาก เมื่อไรที่มี Shock เกิดขึ้น ถ้าเป็น Shock ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับจุดอ่อนของเรา เรายังยืนรับได้ ยกตัวอย่างปี 2547 ทั้งปีเลย ไข้หวัดนก ม็อบรัฐวิสาหกิจ เรื่อยมาจนปลายปีสึนามิ เหตุการณ์ Shock เหล่านี้เรายังยืนอยู่ได้ ถ้ามีเพียงความไม่แน่นอน เรายืน GDP อยู่ได้ที่ 6.1% แต่พอต้นปีขึ้นมา Shock อีกตัวหนึ่งก็จี้เข้ามา ช็อกตัวนี้น้ำมันขึ้นไปเรื่อยๆ Margin การส่งออกที่ต่ำอยู่แล้ว รออยู่แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะรองรับได้ แค่คำนวณง่าย ๆ มันต้องรู้อยู่แล้วว่า ถ้าขืนเป็นอย่างนี้ ฐานะเราจะไม่ดี แต่เราโชคดีที่มีหน้าตักอยู่เกือบ 50 billon US dollars เก็บไว้เป็นทุนจากความพยายามสะสมมา 3 — 4 ปี เราคำนวณดูภาพว่าถ้าหาก Import ยังโตอยู่เรื่อยๆ 20% กว่า คุณต้องเอารายได้ส่งออก รายได้ท่องเที่ยว รายได้จากการลงทุนต่างประเทศ เข้ามา Cover พอมาถึงตรงนี้ คุณต้องรู้ว่าในช่วงสั้น คุณเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตไม่ได้ คุณมีทางเดียวต้องเร่งเต็มที่ ทั้งเอกชนและรัฐบาล ไม่มีเวลาให้สบายๆ เพราะเขาไม่ทำเติมที่เขาก็ขาดดุลการค้า ครบ 1 ปี เงินที่มีอยู่ 50 บาท ก็พร่องไปๆ ถ้าเราพร่องไปมาก ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจก็จะน้อยลง ฉะนั้นตรงนี้คือจุดเริ่มต้นที่ผมเริ่มเดินสาย
ผมเดินสายไปที่กระทรวงพาณิชย์ ปรับเป้า ถามว่าคุณทำได้เท่าไร คุยกับผู้ส่งออกรายใหญ่ ตลาดต่างประเทศเป็นอย่างไร สู้ไหวไหม? ทุกคนมองว่าทำเพิ่มได้ ทำไหว ปรับเป้า Set เป้าเพิ่มถัวเฉลี่ยร้อยละ 20 ทำไหวไหม? ส่วนนี้ต้องเพิ่ม Activity อะไรบ้าง? เช่นเพิ่มกิจกรรมในต่างประเทศ เพิ่มบุคลากร วาง Road map ในการลุยตลาดต่างประเทศ ผู้ส่งออกไทยขออะไรบ้าง ขอเรื่องการอำนวยความสะดวก ขอให้กระทรวงพาณิชย์จัด Exhibition ขอให้มี Road show พาเขาไปต่างประเทศ ไปประเทศใหม่ๆ ปรับเป้าใหม่ร้อยละ 20 ไม่ใช่เป็นการบังคับ เพราะมันบังคับไม่ได้ เป็นเป้าที่ทุกคนทุกคนทำได้และพร้อมที่จะสู้ ถ้าเขาไม่พร้อมที่จะสู้ขาดดุลการค้าแน่นอน
การส่งออกโตขึ้นร้อยละ 20 แต่แม้กระนั้นเราขาดดุลการค้ากว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะว่าการนำเข้าพลังงานโตขึ้นร้อยละ 80 เราเห็นชัดว่าตัวเลขโจทย์ข้อนี้ ถ้าคุณไม่เร่ง Steam Maintain การส่งออก วิ่งเต็มที่เรื่องการท่องเที่ยว เรื่อง Investment โดยเฉพาะตัวบัญชีเดินสะพัด เราก็เดินสายที่ท่องเที่ยว ที่ BOI ถามว่าทั้งปีนี้เขาต้องสานต่อไป แล้วก็วิ่งอย่างเต็ม Steam ไม่มีเวลาพัก
ขณะเดียวกันพลังงาน เราต้องประหยัดอย่างจริงจัง ในประเทศไทยผมยังไม่เห็นความรู้สึกที่ต้องการประหยัดเลย เพิ่มขึ้นมาร้อยละ 80 นี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และราคามันสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้ภาคเอกชนเริ่มตอบสนองแล้ว เขาจะมีการจัดพบปะกันเพื่อรณรงค์ในการประหยัดพลังงานกันอย่างจริงจัง ผมดีใจว่าเขาพยายามทำ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งซึ่งเป็นช่วงสั้นที่เราจะพยายามอุดรอยรั่ว ไม่ใช่ว่าถ้าเราวิ่งเต็มที่ แม้จะพร่องไปบ้าง ก็พร่องกันไปเพราะเรามีทุนตุนเอาไว้พอสมควร
แต่สิ่งสำคัญคือว่าเราไม่สามารถมัวแต่วิ่งระยะสั้น เราแค่ปรับตัวไปวันๆ เพราะนับวันการแข่งขันยิ่งรุนแรง โลกยิ่งเปลี่ยนแปลง และถ้าเราไม่เปลี่ยนในช่วงว่างที่เป็นจุดอ่อนของเชิงโครงสร้างของเราจะยิ่งเปราะบาง และที่เราขาดดุลการค้ามันไม่ได้สะท้อนว่าเราไม่เก่ง แต่มันสะท้อนจุดเปราะบางของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยออกมา และก็พอดีมันเกิดการ Shock ในจุดที่เป็นจุดอ่อนของเรา คือการส่งออก ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องทำควบคู่ไปกับการเร่งทำงาน ก็คือคุณต้องเร่งผ่าตัดทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างภาคการผลิต ยกตัวอย่างง่ายๆ ภาคการผลิตการเกษตร ของเรานี้จริงๆ แล้วคือเกษตร อุตสาหกรรมที่จำเป็น ก็ควรจะเปลี่ยนจากเกษตรเป็นแปรรูปเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่า แต่แนวคิดซึ่งเราได้รับจากนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งเขียนตำราให้เราอ่าน Value added เป็นความคิดที่ล้าสมัย ผมเรียนมา 40 ปีแล้ว ในยุคนี้ Value หรือมูลค่าของสินค้า มันอยู่ที่จะ Create จะสร้างมันอย่างไร ในตลอดช่วง Value chain
Value chain คือว่าตั้งแต่เริ่มเป็นวัตถุดิบ จนกระทั่งไปถึงมือลูกค้า ไม่ใช่แค่ขั้นตอนการผลิตแล้วก็ขายให้ Importer ไปส่งออก อันนั้นเขาไม่เรียกว่าผู้ส่งออก เขาเรียกว่าผลิตเพื่อขาย ฉะนั้นในช่วง Value chain เหล่านี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งว่าทุกๆ ขั้นตอนควรจะ Create value ฉะนั้นกระทรวงเกษตรฯ เป็นเจ้าภาพแรกเลยที่ต้องมีการผ่าโครงสร้าง คุณต้องรู้ว่าสินค้าใดที่เป็นหลักชัยของคุณในอนาคตข้างหน้า มีกี่ประเภท มีคนที่รับผิดชอบชัดเจนเพื่อสร้างคุณภาพตั้งแต่สายพันธุ์จนกระทั่งถึงขั้นที่ว่าเข้าสู่ตลาด การที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ครั้งหนึ่งเราเคยภูมิใจว่าการเลียนแบบ เป็นความภูมิใจ สมัยนี้มีแต่จะเจ๊ง ฉะนั้นจะ Renovation คุณต้องมีนวัตกรรม มีสมอง มีข้อมูล มีเทคโนโลยี
วันนั้นผมไปพูดในที่ประชุมอธิการบดีทั่วประเทศว่าเมืองไทยมีคนเก่งอยู่เยอะ อยู่ในสถาบันการศึกษา แต่การต่อท่อระหว่างสถาบันการศึกษากับนโยบายทางการเมืองกับภาคเอกชนนั้น ไม่มีท่อต่อเลย สถาบันการศึกษากับการเมือง ผ่านมาทางคนที่มาเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี มันจบแค่นั้น ท่อต่อระหว่างมหาวิทยาลัยกับเอกชนก็คือการทำ Training ฝึกอบรม ตรงนี้มีบางสิ่งบางอย่างซึ่งถ้าเรายกเครื่องมันได้เกิดประโยชน์มหาศาล ทำไมภาคการศึกษาไม่ต่อท่อการทำ Research เอา Know-how ต่อท่อภาคการผลิต ทำไมอเมริกาสามารถก้าวกระโดดเหนือญี่ปุ่นได้ในเชิงเทคโนโลยี ทั้งที่แพ้เมื่อ 20 ปีที่แล้วก็เพราะว่าการเอาสถาบันการศึกษากับภาคเอกชนมาร่วมกันเป็น Research center เมืองไทยจะเป็นอย่างนั้นได้หรือไม่? ผมไปดูที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เครื่องไม้เครื่องมือเต็มไปหมดเลย อาจารย์มหาวิทยาลัยอยากจะทำวิจัย แต่ไม่ให้วิจัย ทำไมการ Design ลักษณะเช่นนี้ไม่ให้เชื่อมต่อกัน ระดมเอามันสมองเหล่านี้เข้ามา Link กับภาคเอกชน เข้ามา Link กับภาครัฐบาลเพื่อ Create value ให้กับสินค้าที่ผลิตขึ้น
คุณบอกว่าคุณต้องการสินค้าเกษตรแปรรูป เกษตรแปรรูปสมัยนี้ไม่ใช่แค่ว่าเอาไก่แช่แข็งแล้วแปรรูป ทำเนื้อสเต็กไก่ ต้องไปถึงขั้นตอนของการทำ Package ขาย Retail Positioning สร้าง Value ขั้นตอนเหล่านี้ให้ 10 บาท แต่เมื่อไปถึงขั้น Branding ให้ 80 บาท มูลค่า 70 บาทที่เหลือนี้เราไม่เคยมีสิทธิเลย ถูกตัดตอนหมดเพราะพวกเราไม่เคยไปสนใจกับมัน เราเอาง่ายเข้าว่า Styling เราไม่เคยคิดถึงเรื่องของความสวยงาม มาตรฐานเราไม่เคยคิดถึงความเป็นสากล สิ่งเหล่านี้ต้องมีการทำกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นกระทรวงที่ต่อท่อจากกระทรวงเกษตร จากขั้นตอนการผลิต ถ้าคุณสามารถ Create value ใหม่ขึ้นมาได้ สิ่งสำคัญก็คือว่าทำอย่างไรที่จะเข้าไปสู่ตลาดโลก Value เหล่านี้จะสามารถเป็นไปได้ ถ้าเพิ่มค่าได้
ในโลกยุคปัจจุบันและอนาคต สิ่งแรกและสำคัญคือ Market access คือการเข้าถึงตลาด ในขณะนี้หลังจากที่มีความชะงักงันของการประชุมในลักษณะ Multilateral นั้น FTA พอมีการเปิดเป็นการเพิ่มตลาดใหม่ทันที ผู้ส่งออกได้ประโยชน์อะไร สินค้าบางตัวต้องมีการนำเข้าต้นทุนสูงลิ่ว ประเทศบางประเทศซึ่งภาษีสูงลดลงมา ฉะนั้นมันเป็นการเปิดประตูบานแรก แต่เมื่อเปิดประตูแล้ว ต้องมีการระดมพลังรัฐบาล เอกชน เพื่อไปสำรวจตลาดส่งออกจากการเปิดตลาดมันเข้าไปถึงขั้นตอนการเจาะตลาด สมมุติว่าผม Deal FTA จบกับนิวซีแลนด์ คนที่ต้องเป็นหน่วยหน้ากล้าตาย ทะลวงไปเจาะตลาด คือราชการ กรมส่งเสริมการส่งออก EXIM Bank BOI ผู้ที่มีความเชื่อมต่อทางยุทธศาสตร์ ต้องเจาะเข้าไปให้ได้ ข้อมูลการค้าเป็นอย่างไร และข้อมูลการค้าในเชิงลึกว่าสินค้าแต่ละประเภท Market share ไทยมีเท่าไร บางอันมันมี Market share เยอะแล้ว เข้าไปขยายได้ไม่มาก ตรงไหนมีโอกาสสูงกว่าเก็บเป็นข้อมูล รุกสู่ตลาดต่างประเทศ
จากนั้นก็ไปสู่ขั้นการขยายตลาด แต่ไม่ใช่แค่ส่งออกอย่างเดียว หลังจากส่งออกมีกิจกรรมมหาศาลเลย การพัฒนาตลาด การพัฒนาช่องทางจัดจำหน่าย การพัฒนาความหลากหลายของสินค้า เป็นการเข้าไปสู่ Market control ของ Market share ที่ผ่านมาเราบอกว่าเราเป็นประเทศส่งออก แต่ Share ของ Export ของเรานั้น 1% ของ Growth 10 ปีที่ผ่านมานั้นเพิ่มขึ้นแค่ศูนย์จุดกว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง สิ่งเหล่านี้แสดงถึงอะไร? ภาครัฐบาล ภาคเอกชนต้องคิดใหม่ ต้องผ่าตัด มันไม่เพียงแค่การส่งออก ขณะนี้และอนาคตนั้นมันก้าวกระโดดจากการส่งออกสู่การลงทุนไปต่างประเทศ เพื่อไป Control source การแข่งขันที่นั่น ไม่ใช่ว่าแค่ผลิตอยู่ในนี้แล้วส่งออกไป
ประเทศสิงคโปร์แต่เดิมเขามี Trade government board อะไรสักอย่าง เป็นบอร์ดทางการค้า ขณะนี้เขาเปลี่ยนมาเป็นคำว่า International Enterprise Singapore (IE Singapore) Concept เปลี่ยน เขาต้องการผลักดันให้บริษัทของสิงคโปร์จากการที่ผลิตเพื่อส่งออก (Exporter) กลายเป็นคนที่สามารถก้าวไปสู่ระดับโลกได้
เมืองไทยมีกี่บริษัทที่มีดีกรีระดับโลก มีน้อยมาก TOP 50 บริษัท ไม่มีเมืองไทยแม้แต่บริษัทเดียว อาเซียนมีประมาณ 7 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกงมีอยู่ประมาณ 9 บริษัทใหญ่ๆ นัยสำคัญคืออะไร? นัยสำคัญคือว่าเมื่อการแข่งขันการค้าทางการค้าระหว่างประเทศก้าวจากการผลิตเพื่อการส่งออกธรรมดา สู่การ Control market access ไปสู่การสร้าง Value added ในต่างประเทศ ไปสู่การลงทุนการค้าในต่างประเทศ แข่งกันในตลาดทั่วโลก แล้วถ้าโครงสร้างของเรายังเป็นเพียงแค่ว่าการส่งเสริมการส่งออก เราจะทำอย่างไร? กรมส่งเสริมการส่งออก ฝันเอาไว้ก็คือว่า โครงสร้างต้องเอื้ออำนวยให้มีการขยายไปสู่จุดเหล่านี้ สำนักงานในต่างประเทศ ต้องพร้อมเสมอจากการเจาะสู่การลงทุน
EXIM Bank ที่ผมอยากจะเห็น ไม่ใช่เพียงแค่ Facilitate ให้เกิดการส่งออก ต้องมีสาขาในต่างประเทศ และแทนที่จะคิดว่าลูกค้ามาหาเรา หรือเราพาลูกค้าไปต่างประเทศ ไม่ เราคิดกลับกัน ร่วมกับกรมส่งเสริมการส่งออก มองว่า Roadmap ที่จะเจาะตลาดใหญ่ๆ ญี่ปุ่น จีน อเมริกา ยุโรป ตลาดตะวันออกกลาง เมืองไหน จุดไหนจะเจาะมาก เปิดสาขาจูงมือกันไป BOI การดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาต้องมียุทธศาสตร์ว่าสอดรับกับทุกอย่างที่กำลังเดินอยู่ระหว่างส่งออกกับ EXIM Bank ทุกหน่วยงานต้องมีการร้อยเข้าด้วยกัน ทุกอย่างจะหนุนไปด้วยกัน งบประมาณทำด้วยกัน Marketing Thailand จะสามารถสร้าง Impact ได้แรง สิ่งเหล่านี้ผนวกกับการท่องเที่ยวมันก็มีพลัง
ผมอยากจะเขย่าให้ตื่นจากความฝันว่าเราเป็นผู้ส่งออก เรามีหลายอย่างที่เหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่เราขาดอยู่บางสิ่ง คือความจริงจังในการปฏิรูป เราเห็นทุกอย่างเป็นเรื่องง่าย ลองคิดดูสิว่าถ้าเราจริงจังกับเรื่องการใช้พลังงานทดแทนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว วันนี้จะมีความเหนื่อยขนาดนี้หรือ? อุตส่าห์เก็บเงินแทบตาย ส่งออกแทบตาย หารายได้แทบตาย เพื่อไปจ่ายค่าน้ำมัน ที่เราผลิตไม่ได้
ตรงนี้ผมอยากจะเห็นสิ่งเหล่านี้ ก็เลยชวนรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องประสานงานกับหลายกระทรวง เริ่มเขย่า เริ่มผ่าตัด และเป็นการผ่าตัดที่เรายินดีที่จะตายด้วย เพราะเราผ่าตัดอย่างนี้เป็นการผ่าตัดให้พร้อมเพื่อก้าวกระโดด ถ้าเราไม่ผ่าตัดมันเราคิดว่าเราเป็นกบที่เก่งในการปรับตัวในการปรับปรุง ปรับปรุงไปเรื่อยๆ ท่านเคยได้ยินนิยายเรื่องกบต้มไหม? เขาเอากบใส่กาในน้ำจุดไฟ กบจะเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของผิวตามอุณหภูมิของน้ำ จุดไปเรื่อยๆ ร้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่สุดท้ายกบตัวนั้น กลายเป็นกบต้ม ในโลกแห่งการแข่งขันนั้น คุณมีทางเดียวคือว่าจุดแข็งอยู่ไหน เตรียมพร้อมก้าวกระโดดไปยืนในจุดนั้น Samsung, LG ไม่สามารถมายืนอยู่หน้า Sony ได้เลย แต่ใช้เวลา 10 ปี ขณะนี้เขายืนอยู่หน้า Sony ได้เลย
เมืองไทยในขณะนี้เรียกได้เลยว่าฐานะเรายังดีอยู่ได้ Challenge ที่เราเห็นในระยะสั้น จะ Maintain momentum การเติบโตได้อย่างไร ความเชื่อมั่นต้องมี ยังไม่ทันไรเลย ใจฟ่อแล้ว แล้วอย่างนี้จะไปรบกับใคร เมื่อความเชื่อมั่นมี ต้องมีสติ สติคืออะไร ระยะสั้นเราขาดดุลสู้มัน สู้ยิบตา แต่ขณะเดียวกันต้องปฏิรูปต้องผ่าโครงสร้าง จังหวะนี้ถ้าไม่ผ่าก็ไม่ต้องแล้ว การเมืองเสถียรภาพ ทุนเรามี เรามีจังหวะเวลา ถ้าไม่เปลี่ยนตอนนี้เราจะไม่มีโอกาสเปลี่ยน
ถ้าเรามุ่งมั่นในเส้นทางนี้ หน่วยงานราชการทุกหน่วยงานจะเริ่มประสานงานกัน วางแผนการรุกต่างประเทศกัน งบประมาณแผ่นดินก็พยายามจัดเพื่อรุกสู่ต่างประเทศ ในขณะเดียวกันภาคเอกชนก็ให้ตื่นตัวขึ้นมาว่าความสามารถการแข่งขันเริ่มร่อยหรอลง ต้องยกเครื่องแล้ว จะทำอย่างไรถึงจะยกเครื่อง ก็ผ่านไปทาง Training ผ่านไปทางสร้างนวัตกรรม
ผมกำลังพยายามขอร้องสภาอุตสาหกรรมไทยทั้งหลาย ให้เริ่มเน้นในเชิงของนวัตกรรม ต่อท่อกับมหาวิทยาลัย เน้นการวิจัย เน้นการบริหารการจัดการ ถ้าเรารุกไปข้างหน้าเรื่อยๆ ลักษณะเช่นนี้เราไม่แพ้ เมื่อวานนี้ทานข้าวกับลูกชายประธาน Toyota เขาบอกว่าอีก 2 ปีจะลงทุนอีก 37,000 ล้าน ประเทศที่ไม่มีศักยภาพ บริษัทไหนจะมา แต่นี้ไม่มีถอยเลยแม้แต่บริษัทเดียว แล้วถ้าเราเอาแต่มัวแต่กังวลว่าไม่ดี เราจะแย่ เราไม่ฮึดสู้ และจะให้ฝรั่งที่ไหนสู้? ถ้าเรามัวแต่บอกประเทศเราจะแย่ ถ้าเราไม่เชื่อมั่นในประเทศของเรา แล้วจะให้ใครมาเชื่อมั่นในประเทศของเรา จุดเริ่มต้นจริง ๆ อยู่ที่ตัวเรา ฐานเราแข็งเราสู้ได้ แต่ต้องจริงจังจริงใจกับการรุกด้วย
ฉะนั้น EXIM Bank เอาการบ้านไปคิดดู ทำอย่างไรผ่าตัดก้าวกระโดด เป็นคนนำว่าไปตะวันออกกลาง จะรุกประเทศไหน เมืองไหน ในอเมริกาภัตตาคารไทยเต็มหมด แต่กู้ยืมเงินไม่ได้ EXIM Bank ถึงเวลาหรือยังที่จะ Back ผู้ประกอบการไทยให้ก้าวกระโดดทีละประเทศๆ? แล้วผมจะพยายามให้ท่านนายกรัฐมนตรีดัน ไปเรื่อยๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าเราทำอย่างนี้อย่างต่อเนื่องสัก 4 ปีไม่มีคำว่าเสีย มีแต่ได้กับได้ เพียงแต่เหนื่อยหน่อยเท่านั้นเอง แต่มันเป็นความเหนื่อยที่คุ้มค่า เป็นความเหนื่อยที่สร้างอนาคตให้ประเทศไทย ไม่ใช่นั่งอยู่กับที่แล้วรอให้ฟ้าดินมากำหนดโชคชะตาเรา เมื่อไรราคาน้ำมันจะลด
คนเรามี 2 แบบ สู้กับบ่น ผมเชื่อว่าคนไทยผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง เราเพราะสู้ ฉะนั้นผมอยากให้กำลังใจ EXIM Bank ทำให้ดีผมจะไปเยี่ยม EXIM Bank ไปฟังแนวยุทธศาสตร์ที่ท่านจะทำ ขอขอบคุณที่จัดงานสัมมนาในครั้งนี้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ภาพข่าวกระทรวงการคลังวันที่ 28 เมษายน 2548
กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
สุรีย์พร ชัยยะรุ่งสกุล : ถอดเทป/พิมพ์
เชาวลิตร์ บุณยภูษิต : Edit

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ