คำต่อคำ:: นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวอภิปรายการพิจารณาร่าง พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2549::

ข่าวการเมือง Wednesday June 29, 2005 08:51 —พรรคประชาธิปัตย์

          กราบเรียนท่านประธานที่เคารพ กระผมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2549 มาให้สภาพิจาณา ซึ่งก็เป็นเงินมากพอสมควร คือ 1,360,000 ล้านบาท ทุกบาททุกสตางค์ก็เป็นเงินของประชาชนที่รัฐบาลได้รับอำนาจในการมาขออนุมัติสภา ที่จะนำไปใช้จ่าย
กระผมขออนุญาตกราบเรียนท่านประธานว่า ในการพิจารณางบประมาณในส่วนของฝ่ายค้าน และโดยเฉพาะในส่วนตัวของกระผมในปีนี้ก็คงจะมีประเด็นความคิดข้อสังเกต ซึ่งจะให้กับทางรัฐบาล แต่ต้องกราบเรียนว่า ปีนี้เป็นปีที่ต้องขอต่อว่ารัฐบาลสักนิดครับ เอกสารหนึ่งลังให้พวกเราดู 6 วัน โดยปกติแล้วจะให้ประมาณ 2 สัปดาห์ นะครับ อาจจะเป็นเพราะว่ากระบวนการมันล่าช้าตั้งแต่งบประมาณกลางปี แต่ว่าก็ทำให้รายละเอียดหลายอย่าง ซึ่งพวกเราจะสามารถไปค้นดูและพิจารณามาให้ข้อสังเกตในสภานี้อาจจะลดน้อยลงไปกว่าในหลายปี ซึ่งผมก็ถือว่าเป็นการเสียประโยชน์ของรัฐบาลในการที่ได้รับข้อคิดความเห็นจากการที่พวกเราจะมีเวลาในการวิเคราะห์งบประมาณได้ละเอียด
อย่างไรก็ตามครับ ผมขออนุญาตที่จะเริ่มในเรื่องของการพิจารณางบประมาณก็คือ เรื่องของภาวะเศรษฐกิจ ทั่วไป เพราะว่า ตรงนี้ก็เป็นทั้งสมติฐานในการตั้งงบประมาณและก็เป็นปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงตลอดเวลาว่า การจัดตั้งหรือการมีนโยบายงบประมาณ อย่างไรจึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่ใช่เฉพาะวันนี้ แต่สำหรับอนาคตในวันข้างหน้าทั้งใกล้และไกล กระผมคงไม่มาใช้เวทีนี้ในลักษณะที่จะให้เป็นเวทีที่รัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจดี ฝ่ายค้านบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดี กระผมคิดว่ายุคนี้ก็เป็นยุคที่เราสามารถที่จะติดตามตรวจสอบตัวเลขที่เป็นข้อเท็จจริงตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจกันได้ แล้วก็ใช้ตัวเลขร่วมกัน แต่ว่าจะอย่างไรก็ตาม กระผมต้องย้ำเหมือนกับที่เคยย้ำในวันที่ท่านแถลงนโยบายต่อสภาก็คือว่า ความพยายามของท่านที่จะวางกรอบเอาไว้ ว่า 4 ปีที่ผ่านมา เป็น 4 ปีแห่งการซ่อม และ 4 ปีต่อจากนี้ไป จะเป็น 4 ปี แห่งการสร้าง ว่าไปแล้วมันไม่สอดคล้องกับตัวเลขภาวะเศรษฐกิจเท่าไรนัก จริงอยู่ครับ 4 ปีที่แล้ว ประเทศก็ยังเพิ่งจะฟื้นตัวขึ้นมาจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ ที่รุนแรงมากเมื่อปี 2540 แต่ว่าในปี 2548 ก็ใช่ว่า ร่องรอยของวิกฤติได้หมดไปโดยสิ้นเชิงแล้ว
และในปี 2548 ก็เป็นปีที่มีปัจจัยเสี่ยง ภาวะหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นตัวบ่งบอกว่า เศรษฐกิจนั้นก็ยังมีความไม่แน่นอน มีความผันผวน บางเรื่องก็เป็นปัจจัยภายนอก บางเรื่องก็เป็นปัจจัยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเอง กระผมกราบเรียนว่า ความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจทำให้ภาวะขณะนี้รัฐบาลไม่อยู่ในฐานะที่จะไปวางใจหรือประมาทเป็นอันขาด ตัวเลขในช่วง 4 เดือนแรกที่เป็นตัวเลขมหภาคไม่ว่าจะเป็นดัชนีผลผลิตทางอุตสาหกรรม การใช้กำลังการผลิตในประเทศตัวชี้วัดเกี่ยวกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคความเชื่อมั่นของผู้บริโภค หรือแม้กระทั่งตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในภาคเอกชนนั้น ล้วนแล้วแต่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจนั้นอยู่ในภาวะที่จะชะลอตัวก็ไม่เชิญจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องก็ไม่ใช่ คือยังไม่ถึงขั้นที่จะทรุดหรือเสื่อมถอยลงไปอย่างชัดเจนนัก แต่ก็มองเห็นชัดเหมือนกันว่าถ้าไปคิดว่าเป็นแนวโน้มที่เป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเส้นตรงก็ไม่ใช่เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นตรงนี้คือจุดที่ทำให้การวิเคราะห์การพิจารณาต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขที่น่าเป็นห่วงในช่วง 4 เดือนแรกที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ได้มีการขาดดุลมา และในส่วนของตัวเลขเงินเฟ้อ ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่สูงขึ้นมา ที่กระผมต้องกราบเรียนสิ่งนี้เพราะว่ารัฐบาลตายใจไม่ได้เป็นอันขาดว่าจะสามารถคาดเดาหรือเก็งภาวะเศรษฐกิจได้อย่างถูกต้อง ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าการบริหารที่ไม่ระมัดระวังหรือการประเมินสถานการณ์ที่ผิดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ตัวอย่างแรกที่อยากจะกราบเรียนก็คือว่าวันที่ท่านนายกฯเข้ามารับตำแหน่งในการดำรงตำแหน่งสมัยนี้มีโอกาสพบกับประชาชนผ่านวิทยุเป็นครั้งแรกในชั่วสัปดาห์แรกหลายโอกาสสิ่งแรกที่ท่านได้พูดไว้ก็คือว่า 4 ปีข้างหน้านี้ท่านจะไม่ให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นอันขาด วันนี้กระผมกราบเรียนว่าคงจะต้องมาปรับมาประเมินกันใหม่ และวันนี้ผมก็เข้าใจสิ่งที่รัฐบาลพูดว่าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในตัวของมันเองไม่ได้แปลว่าเป็นเรื่องที่เลวร้ายหรือแปลว่าวิกฤตกาลถูกต้อง แต่กระผมกราบเรียนเพียงให้เห็นครับว่าแค่ระยะเวลาผ่านมาไม่กี่เดือนจากการตั้งเป้าว่าขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ได้เลย วันนี้ก็คงต้องยอมรับว่าจะต้องปรับแนวทางยอมรับให้มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดแต่จะควบคุมอย่างไรไม่ให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนั้นลุกลามขยายตัวออกไปจนนำไปสู่วิกฤตกาล
นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่กระผมอยากจะกราบเรียน และก็เลยจะไปกระทบ กระทบกับการตั้งเป้าหมายต่าง ๆ ที่เป็นนโยบายทางเศรษฐกิจและเป็นนโยบายงบประมาณ เช่น ผมยกตัวอย่างว่าเมื่อมีการประเมินว่าจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้นเราก็ต้องไปดูว่าการตัดสินใจที่จะใช้เงินงบประมาณทั้งเงินงบประมาณแท้ ๆ ทั้งเงินกู้ลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ซึ่งคาดว่าจะต้องมีการนำเข้าสินค้าในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงหรือประมาณร้อยละ 30 ขึ้นไปก็จะทำให้การประมาณการเกี่ยวกับดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด ได้รับผลกระทบ เช่น ถ้าไม่มีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่เราก็จะพบว่าประมาณการเดิมก็คือทั้งปีนี้ และปีหน้าประเทศไทยก็ยังไม่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ว่าพอทันทีที่มีการตัดสินใจที่จะไปลงทุนตามแผนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ประมาณการของรัฐบาลเองก็บ่งบอกว่าปีหน้าการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะมีขึ้น เร็วขึ้น ในสัดส่วนที่สูงขึ้นยิ่งนี้เป็นต้น
การตั้งเป้าหมายนโยบายในบางเรื่องมันจึงจำเป็นจะต้องมาปรับมาดูว่าจะทำได้หรือไม่อย่างไร และจะต้องทำอะไรเพิ่มเติมอีกเพื่อให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ เช่น เมื่อเห็นชัดเจนว่าดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มที่จะติดลบไปอาจจะถึงสัดส่วนร้อยละ 4 ภายใน 2 ปีข้างหน้า ร้อยละ 4 ของรายได้ประชาติ รัฐบาลก็จะต้องปรับแนวเพื่อมาเร่งรัดในเรื่องการส่งออก และรายได้จากการท่องเที่ยว รัฐบาลก็ตั้งเป้าว่าการส่งออกจะให้ได้ร้อยละ 20 แต่ว่าเวลาผ่านมาตัวเลขผ่านมา 4 เดือน 5 เดือน แนวโน้มก็ทำท่าจะไม่เป็นไปตามเป้า ขณะที่การท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้ที่จะมาชดเชยในส่วนของการขาดดุลการค้าก็ได้รับผลกระทบจากกรณีธรณีพิบัติ และก็ทำให้รัฐบาลน่าจะต้องมีมาตรการพิเศษ หรือโครงการพิเศษเพื่อที่จะกระตุ้นเพื่อฟื้นฟูตัวนี้ขึ้นมา
เพราะว่าตัวเลขในขณะนี้ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเข้าพักในโรงแรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของยอดนักท่องเที่ยวที่เดินทางในต่างประเทศ แม้กระทั่งการท่องเที่ยวในประเทศเอง ถ้าไปดูในบางพื้นที่เช่น กรณีของอันดามันจะเห็นว่า 4 เดือนแรก 5 เดือนแรก กระทบกระเทือนมาก เพราะฉะนั้นตรงนี้คื่อสิ่งที่กระผมกราบเรียนว่าสมมติฐานที่พยายามยืนยันกันอยู่ว่า 4 ปีจากนี้สร้างอะไรก็ได้มันคงต้องมีการทบทวน
กรณีที่ 2 ที่เห็นได้ชัดว่าผู้บริหารประเทศได้มีการเก็งหรือคาดการณ์ภาวะการณ์ผิดพลาดก็คือเรื่องของราคาน้ำมัน กระผมกราบเรียนท่านประธานไปตั้งแต่วันที่มีการแถลงนโยบายว่าวันที่รัฐบาลตัดสินใจว่าจะเอาเงินของกองทุนน้ำมันไปตรึงราคาน้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน ตั้งแต่มกราคมปีที่แล้ว ผมเคยท้วงเอาไว้ว่ามาตรการอย่างนี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อภาวะของราคาน้ำมันเป็นภาวะผิดปกติชั่วคราว รัฐบาลมั่นใจแล้วหรือว่าที่ตัดสินใจวันนั้นจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ถ้าราคาน้ำมันมันไม่ได้ขึ้นชั่วคราว แล้วจะมาแก้ไขปัญหากันอย่างไร ผมได้ต่อว่าผ่านท่านประธานไปว่าที่จริงรัฐบาลมองเห็นแล้วว่าประเมินผิดตั้งแต่กลางถึงปลายปีที่แล้ว แต่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เพราะว่ากังวลปัจจัยทางการเมืองเนื่องจากจะมีการเลือกตั้งจนกระทั่งในวันที่ท่านเข้ามารับตำแหน่ง หนี้ของกองทุนน้ำมันมันจึงขึ้นมาอยู่ที่ 65,853 ล้าน พอท่านจะแถลงนโยบายมันก็ขึ้นมาประมาณ 70,000 ล้าน วันนั้นกระผมเองยืนตรงนี้ ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลเลยว่าจำเป็นจะต้องแก้ไขเรื่องนี้โดยเร่งด่วน เพราะถ้าหากปล่อยดำเนินการต่อไป นอกจากหนี้สินของกองทุนน้ำมันจะพอกพูนขึ้นแล้ว ความไม่แน่นอนก็จะกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันการที่ยังมีการบิดเบือนกลไกราคาอยู่ก็กระทบต่อผู้เกี่ยวข้องและผู้ค้า
นอกจากนั้นมาตรการความไม่แน่นอนและต่อมาจะต้องมีการปรับตัวอย่างรุนแรงยังเป็นช่องทางที่จะให้บางกลุ่มสามารถแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบได้ ผมได้เสนอแนวทางว่าถ้ารัฐบาลอยากจะช่วยแทนที่จะไปสร้างภาวะความไม่แน่นอนและภาระหนี้สินน่าจะต้องเอามาตรการในเรื่องของภาษีสรรพสามิตมาทำให้เป็นระบบที่รองรับกับราคาน้ำมัน ซึ่งภาษีสรรพสามิตนั้นรัฐบาลก็เก็บอยู่บวกกับภาษีท้องถิ่นแล้วลิตรหนึ่งก็เกิน 2 บาท เวลาผ่านมาจนถึงวันนี้รัฐบาลเหมือนกับรับข้อเสนอผมไปเพียงครึ่งเดียว คือในที่สุดก็ยังไม่สามารถจัดการให้ระบบมันย้อนกลับไปสู่ระบบที่อิงกับราคาตลาดในการลอยตัวได้ และระหว่างที่ยังลังเลอยู่ ก็ทำให้ขณะนี้หนี้ในกองทุนน้ำมันสะสมเกิน 9 หมื่นล้านแล้ว ไม่ใช่น้อยๆนะครับ 9 หมื่นล้าน สร้างสนามบินได้อีกแห่ง 9 หมื่นล้านนี้ก็จะต้องเป็นภาระสำหรับประชาชนต่อไป และที่สำคัญคือว่าการช่วยเหลือขณะนี้ก็เป็นในลักษณะซึ่งขาดความแน่นอน ไม่เป็นระบบ จะเอาภาษีสรรพสามิตมาช่วยก็ช่วยแบบครึ่งๆกลางๆ เสียดาย บอกให้ลิตรละบาทก่อน และในขณะที่ราคาพุ่งสูงต่อไปกลับจะลดความช่วยเหลือตรงนี้ โดยจะไปลดการช่วยเหลือลงมา 50 สตางค์ เพื่อที่จะในที่สุดก็คือยังพยายามเก็บเงินเข้ารัฐบาลต่อ
ตัวอย่างอันนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า มันเป็นการบริหารงานบนพื้นฐานของการคาดการณ์ที่ผิดพลาด ซึ่งกระผมก็กราบเรียนว่า ไม่แปลกครับ มันผิดพลาดกันได้ แต่ถ้าผิดพลาดแล้วต้องเร่งแก้ไข อย่าสะสมปัญหา อย่าทำให้สิ่งนี้มันยืดเยื้อต่อไป วันนี้ปัญหาก็มาหลายจุด 1. จริงๆแล้วราคาก็ยังสูงมากและกระทบกับพี่น้องประชาชนอย่างรุนแรง ถ้าท่านลองนึกย้อนกลับไปว่าแทนที่จะเอาเงินเกือบแสนล้านไปตรึงราคาเฉยๆ แต่ได้ใช้แนวทางที่เค้าได้ทำกันมาก็คือว่า เอาเงินก้อนเดียวกันนี่ แต่ไปช่วยให้มันตรงจุดตรงกลุ่ม เพราะว่าภาระในเรื่องราคาน้ำมัน มันไม่ได้กระจายไปเท่าเทียมกันหรือเสมอกัน บางภาคธุรกิจเขาเดือดร้อนมากกว่า จะเป็นภาคประมง จะเป็นภาคขนส่ง อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็เป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
ประการที่ 2 ก็คือว่า เรื่องของหนี้ที่ขณะนี้สะสมเกือบ 9 หมื่นล้าน และยังสะสมต่อไป ก็ต้องกราบเรียนท่านประธานว่าต้องเตือนพี่น้องประชาชนว่า ขณะนี้ก็ยังมีส่วนต่างอยู่อีกมากกว่าลิตรละ 1 บาท จริงๆแล้วเกือบจะ 1.50 บาทด้วยซ้ำ ภาระที่สะสมไปนี้แทนที่จะพยายามเอาเงินงบประมาณหรือเงินภาษีที่เก็บได้มาชำระ ไม่เป็นภาระในอนาคต รัฐบาลก็เลือกไม่ทำ มาจัดงบกลางปีเพิ่มเติม ซึ่งกระผมก็มีข้อสังเกตว่างบกลางปีตรงนั้นก็ยังแทบไม่ได้ใช้เลย และตอนนี้ในที่สุดก็บอกว่าจะให้ตัวกองทุนหรือสำนักงานไปออกพันธบัตร พูดง่ายๆคือเปลี่ยนหนี้ตัวนี้ เลื่อนหนี้ตัวนี้ออกไปก่อน เสียดอกเบี้ย รัฐบาลก็ค้ำประกันไม่ได้ ที่รัฐบาลค้ำประกันไม่ได้ก็เพราะว่าสำนักงานเป็นองค์การมหาชน ท่านประธานครับท่านนายกฯอาจจะไม่ทราบนะครับ สภาชุดที่แล้วผมยืนตรงนี้ล่ะครับ ท่านรมช.คลังนั่งตรงนั้นล่ะครับ ผมบอกท่านแล้วว่าตอนแก้กฎหมายหนี้สาธารณะ องค์การมหาชนเค้าไม่เหมือนองค์กรท้องถิ่น เค้าปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล เหตุอันใดรัฐบาลไปห้ามไม่ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันหนี้ขององค์การมหาชน แต่ตอนนั้นก็ยืนยันว่าทำไม่ได้ วันนี้คนที่เค้าทำงานเค้าก็หนักใจ เพราะเมื่อรัฐบาลค้ำประกันไม่ได้ มันก็ต้องไปให้หลักประกันกับคนที่เค้าจะมาซื้อพันธบัตรว่า แล้วเงินจะเอามาคืนเขาอย่างไร
วันนี้ก็ต้องบอกท่านประธานผ่านไปยังประชาชนว่ารัฐบาลก็ต้องไปบอกเขาแล้วนะครับว่า เงินจะมาโดยการ 1. เร่งลอยตัวราคาน้ำมัน และ 2. เมื่อใดที่ราคาน้ำมันในประเทศอื่นในโลกลด รัฐบาลไทยจะไม่ลดตาม จะให้คนไทยใช้น้ำมันแพง ในขณะที่ราคาในโลกลดลง พูดกันไว้ว่าอาจจะถึงลิตรละ 50 สตางค์ นี่เป็นตัวอย่างของการบริหารที่ผมคิดว่า ต้องกลับไปทบทวนเป็นบทเรียนว่า การเก็งการคาดการมันผิดพลาดได้ ไม่เป็นไร แต่ว่าเมื่อผิดพลาดต้องเร่งแก้ไข และตรงนี้ที่ผมย้ำอีกครั้งว่า มันเป็นจุดที่ตอกย้ำว่า การบริหารจัดการหลายอย่าง ในที่สุดไปอิงกับการเมืองมากจนเกินไป ปัญหามันจึงสะสมคั่งค้างมาอย่างนี้ ผมเรียนเรื่องนี้ไว้เพื่อจะบอกว่าภาพรวมเศรษฐกิจ ท่านนายกฯ ลองไปดูได้ว่า ตัวเลขการประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็เหมือนกัน น่าสังเกตก็คือว่าถ้าไปเทียบตัวเลขประมาณการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ตั้งแต่ปี 44 จนถึง ปี 47 เป็นรายไตรมาส และเปรียบเทียบกับตัวเลขจริงจะพบว่า ตั้งแต่ปี 44 มาจนถึงต้นปีที่แล้ว สศค.จะประมาณการตัวเลขต่ำกว่าตัวเลขจริง คือในที่สุดเศรษฐกิจดีกว่าที่คิด
แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาจนวันนี้ทุกไตรมาส ทิศทางจะเป็นตรงกันข้าม คือตัวเลขจริงจะน้อยกว่าตัวเลขของการประมาณการ เพราะฉะนั้นตัวนี้ก็เป็นจุดหนึ่งซึ่งกระผมกราบเรียนว่า อยากจะให้รัฐบาลได้ใช้ความระมัดระวังและยอมรับมากขึ้นว่าภาวะเศรษฐกิจบนความไม่แน่นอนตรงนี้ จะต้องมีการปรับหลักคิดแนวทางในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายงบประมาณ ที่ผมเรียนอย่างนี้ผมเข้าใจดีว่ารัฐบาลก็มีหน้าที่ที่จะให้เกิดความเชื่อมั่น และก็คงไม่ต้องการให้คนไทยตื่นตระหนกกับภาวะที่เกิดขึ้น เพราะภาวะเศรษฐกิจหรือปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้าเข้ามา เราก็อยู่ในวิสัยที่จะจัดการได้ ผมก็ช่วยยืนยันให้กับทางรัฐบาลได้ครับว่า มันยังไม่ถึงขั้นวิกฤตหรอก แต่ว่าขอให้บอกความจริงและขอให้การส่งสัญญาณชัด ท่านนึกออกมั้ยครับว่าตอนนี้ทุกคนมาบอกว่าผิดหวังว่าประชาชนไม่ได้ประหยัดการใช้พลังงานเหมือนกับที่ตั้งใจเอาไว้ ไปรณรงค์ต้นเดือน มิ.ย. ที่ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ทั่วประเทศ ดับไฟหนึ่งดวง ปิดแอร์บางช่วง และก็บอกว่าไม่ได้รับการตอบสนอง คือการรณรงค์หรือการจะส่งสัญญาณใดๆให้กับประชาชนมันต้องทำเป็นระบบต่อเนื่องและให้คนเห็นว่าเป็นความชัดเจนเป็นแบบอย่างจริงๆ คือทั้งพูดทั้งทำสอดคล้องกันต่อเนื่อง เป็นเรื่องยากที่จะให้ประชาชนคนทั้งประเทศมาคิดถึงการประหยัดเมื่อแนวทางรัฐบาลที่ผ่านมามีแต่ยุยงให้มีการใช้จ่าย เป็นเรื่องยากที่บอกว่าประชาชนต้องประหยัดน้ำมันเมื่อรัฐบาลเองก็ยืนยันว่าประชาชนไม่ต้องจ่ายราคาตามตลาด นี่คือสิ่งที่ผมกราบเรียน
เพราะฉะนั้นวันนี้ท่านต้องช่วยดูครับ และพูดให้ชัดมากขึ้นในทางเศรษฐกิจภาระหนักก็คงตกไปอยู่ที่ท่าน รมว.คลังที่จะต้องบอกให้ชัดว่า สรุปวันนี้แนวทางที่บอกว่า 4 ปีสร้าง มันต้องเป็นการสร้างบนพื้นฐานของความระมัดระวังอย่างไร ถ้าคิดแต่ว่าเป้าหมายสูงสุดคือการขยายตัวที่เร็วที่สุด สูงที่สุด ไม่คำนึงถึงเงินเฟ้อ ไม่คำนึงถึงดุลบัญชีเดินสะพัด มันก็จะอันตราย ถ้ายังมีความคิดว่ามีปัญหาตรงไหน จะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ก็เพียงใส่เงินเข้าไปแล้วปัญหาจะแก้ไขได้ มันไม่ใช่ ตรงนี้คือสิ่งที่ผมอยากจะย้ำและอยากจะบอกว่า วันนี้จึงต้องมาดูของจริงมากขึ้น ชีวิตจริงของคนทั้งในฐานะผู้ผลิตและผู้บริโภคมากขึ้น ผมอยากให้รัฐบาลระวังว่าถ้ายังยืนยันว่าทุกอย่างจะต้องดี เศรษฐกิจจะต้องโต ทุกอย่างต้องทำให้ได้ตามเป้า หลังจากที่ประกาศใช้กฎหมายงบประมาณแบบนี้ไปแล้ว แล้วภาวะเศรษฐกิจมันไม่แน่นอน มันไม่เป็นใจ ประชาชนจะรับเคราะห์ 2 ทาง
ทางที่ 1 ก็คือ เรื่องของเงินเฟ้อ ของแพง รัฐบาลจะต้องไปทุ่มกระตุ้นตรงนั้นตรงนี้ ซึ่งมันไม่ใช่ว่ากระตุ้นไปแล้วทุกคนได้ประโยชน์เท่าเทียมกัน แต่ในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้การกระตุ้นที่ไม่ระวัดระวัง ที่ทุกคนต้องรับเคราะห์รับกรรมคือของแพงขึ้น
ข้อที่ 2 ก็คือว่า ถ้ายังมุ่งมั่นว่าจะต้องใช้จ่ายเงินมากมายมหาศาลอย่างนี้ สุดท้ายก็ไปไล่เก็บภาษี ผมไม่โต้แย้งหรอกครับเรื่องประมาณการรายได้ จะจัดเก็บได้หรือไม่ เพราะผมก็กราบเรียนท่านประธานไป กราบเรียนท่านนายกฯไปแล้วว่า ระบบของเราจะเก็บจริงๆตามเป้าดูจะเก็บได้เสมอ แต่มันเดือดร้อนผู้ผลิตรายย่อย มันเดือดร้อนประชาชนคนตัวเล็กๆ ที่ทำค้าขายไม่มากจริงๆครับ เพราะมันเป็นเป้านิ่งเข้าได้ง่ายที่สุด ท่านประธาน เพื่อน ส.ส. หรือ ครม. ไปสัมผัสได้ครับ เขาก็ยังบ่นกันมากว่าการที่จะต้องไปดำเนินการเค้นภาษีเพื่อให้ได้เป็นไปตามเป้าก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันนี้คือสิ่งที่ต้องย้ำในแง่ของเรื่องของภาพรวมเศรษฐกิจและนโยบายงบประมาณ
และก็ฝากกราบเรียนว่าเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงท่านก็ยังเน้นไม่พอครับ จะต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้ว่าเข้าไปเชื่อมต่อกับแนวบริหารเศรษฐกิจหลักของรัฐบาลอย่างไร ท่านประธานที่เคารพครับ ความไม่แน่นอนและการกำหนดทิศทางที่ชัดเจนในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ มันต้องต่อเนื่องไปถึงนโยบายทางด้านอื่นๆด้วย ผมกราบเรียนเพียงให้เห็นเป็นตัวอย่างง่ายๆว่า ตัวเลขที่กระผมกราบเรียนว่าน่าเป็นห่วงในเรื่องของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในภาคใต้ผลกระทบคงไม่ใช่จากธรณีพิบัติเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากความไม่สงบในจังหวัดในภาคใต้หลายจังหวัด ทั้งจังหวัดชายแดนและจังหวัดที่ต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องจริงจัง ต้องเข้าใจว่านโยบายความมั่นคงก็ผิดพลาดไม่ได้เหมือนกัน นโยบายการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในก็ผิดพลาดไม่ได้เหมือนกัน เพราะตรงนี้กำลังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบกระเทือนกับความเชื่อมั่น กระทบกระเทือนต่อภาวะเศรษฐกิจด้วย
ท่านประธานครับภายใต้ภาวะอย่างนี้ สิ่งที่กระผมอยากจะเน้นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดก็คือ การใช้เงินงบประมาณต้องมีประสิทธิภาพ ต้องทำให้มันคุ้มค่า เมื่อประชาชนลำบากมากขึ้น เมื่อเศรษฐกิจไม่แน่นอน ทุกบาททุกสตางค์ที่รัฐบาลใช้ เก็บมาจากประชาชน ขอให้มันเต็มเม็ดเต็มหน่วย ขอให้มันใช้ไปแล้วได้ผลจริงๆ ปีนี้จริงแล้วเอกสารงบประมาณในหลายต่อหลายโครงการดีขึ้นครับ คือ ให้รายละเอียด ให้ตัวชี้วัด ให้เป้าหมายชัดขึ้น แต่จะอย่างไรก็ตามงบประมาณก้อนใหญ่ๆหลายก้อนก็ยังเป็นปัญหาเดิมๆ
ตัวแรกหนีไม่พ้นงบกลางครับ ซึ่งท่านยังจะใช้วิธีตั้งงบประมาณลอยๆไว้เป็นหลักหมื่นล้าน ต่อเนื่องมาแล้วเป็นปีที่ 4 ปีที่ 5 ซึ่งกระผมเคยกราบเรียนว่าที่จริงแล้วไม่สอดคล้องกับการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภานัก เพราะเป็นการมาขอให้ฝ่ายนิติบัญญัติให้เช็คเปล่า อนุมัติกันไปลอยๆและปล่อยให้ฝ่ายบริหารตัดสินใจได้ ผมเข้าใจดีว่างบตัวนี้ท่านต้องการที่จะให้เกิดความคล่องตัว แต่ว่าวันนี้มันต้องมาประเมินกันจริงๆว่า มันมีประสิทธิภาพหรือเปล่า มันรองรับสถานการณ์จริงหรือเปล่า เพราะว่ามันไม่ใช่ปีแรก ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทำ และต้องกราบเรียนว่าตัวเลขมันก็ฟ้องอยู่พอสมควร วันอาทิตย์ที่ผ่านมาที่ท่านายกฯต้องประชุมเพราะอะไรครับ งบท่านบอกค้างอยู่ในท่อเป็นหลักแสนล้าน 3 แสนล้าน ผมก็ไปดู ปี 2545 ท่านตั้งงบลอยๆไว้ 58,000 ล้านภายใต้ชื่อว่าเป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจ วันนั้นประกาศแข็งขันเลยครับว่าใช้เท่าที่จำเป็น หมดปีงบประมาณถ้ายังไม่ได้ใช้ก็เลิกกันไป
ที่สุดมันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ท่านพูด ถึงวันนี้งบกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านไปแล้วตั้งแต่ปี 2545 ก็ยังเบิกจ่ายไม่ครบ ยังขาดอยู่ร้อยละ 15 และท่านก็ไม่ยกเลิก ยังเอางบนี้มาทบเพื่อไปใช้ตามแนวทางที่ท่านเองกำหนด ปีถัดมาจากงบปรับโครงสร้าง 16,600 ล้าน นี่ก็ยังใช้ไม่หมด ขาดอยู่ร้อยละ 17 หรือร้อยละ 16 โดยประมาณ ปี 2547 งบเสริมสร้างศักยภาพ นี่ก็มึนตัวเลขที่ใช้จ่ายไปก็ยังใกล้เคียงกันก็มีค้างสะสมมา 2547 ท่านจัดงบกลางปีด้วย
ก็มีค้างสะสมมา ปี 2547 ท่านจัดงบกลางปีด้วย เป็นงบลอยรายจ่ายเพิ่มเติม 59,000 ล้านบาท อนุมัติจ่ายไปแล้วเท่าไรทราบไหมครับ ร้อยละ 22.3 เพราะต้องการที่จะดึงอำนาจเอาไว้ที่ผู้บริหารสูงสุดในส่วนกลาง งบประมาณที่ตั้งขึ้นมาต้องร้อยละ เกือบร้อยละ 80 มันไม่ได้ใช้จนหมดปีงบประมาณไป ผมยังไม่พูดถึงงบปี 2548 นะ และงบกลางปี 2548 อีกนะครับ ซึ่งการเบิกจ่ายต้องต่ำกว่าร้อยละ 22 ลงไปอีก ปีนี้ก็เปลี่ยนชื่ออีก จริงๆ แล้วก็เหมือนเดิมนะครับ ผมเชื่อว่าท่านเองยังไม่แยกแยะเลยว่าตรงไหนปรับโครงสร้าง ตรงไหนเสริมสร้าง ศักยภาพครับ ปีนี้ทำกลยุทธ์รับรองการเปลี่ยนแปลง
ปีนี้ท่านนายก ก็จะตั้งไว้ที่ส่วนกลางอีก 27,200 ล้านบาท ใช้จ่ายเพื่อปรับกลยุทธ และรองรับการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันก็มีงบลอยเหมือนกัน คราวนี้ไปที่กลุ่มจังหวัดและจังหวัด ก็คงจะเป็นกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการหรือซีอีโอ อีก 40,000 ล้านบาท ผมต้องพูดย้ำตรงนี้เพราะว่า ผมเห็นว่ามันยังอยู่บนปรัชญาความเชื่อที่ผิด คือ พยายามยึดอำนาจทุกอย่าง สั่งการไปจากส่วนกลาง กระผมเคยพูดในที่นี้ ในช่วงงบประมาณกลางปี แม้กระทั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดเองนะครับ งบซีอีโอที่ว่าก็เคยมีการประเมินในกพร. ว่า ในที่สุดก็ไม่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ ที่น่าสนใจคือ ถ้าย้อนกลับไปดูงบผู้ว่าซีอีโอช่วงแรกๆ ท่านยังตั้งผ่านเพื่อเอาไปใช้ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ต่อมาท่านก็ไม่ให้ แล้วผมก็มาเทียบเคียงดูว่า ในขณะที่ท่านก็ยังตั้งหน้าตั้งตาว่าจะต้องมีงบกองไว้ตรงนี้จำนวนมาก งบที่ท่านสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขยับขึ้นมาเป็นสัดส่วนแค่ร้อยละ 24.1 ตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญปีหน้าต้องขยับขึ้นไปถึงร้อยละ 35
วันนี้เท่ากับรัฐบาลยอมรับนะครับว่า ทำตามกฎหมายไม่ได้แล้ว และก็คงคิดที่จะแก้ไขกฎหมายอยู่ ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะแก้ไขไปในแนวทางใด แต่ว่าผมกราบเรียนเรื่องนี้เพื่อที่จะบอกว่า ทำไมรัฐบาลไม่เชื่อคนของท้องถิ่นบ้าง ในขณะที่ตัวเองก็กันงินเอาไว้เยอะแยะ ใช้จ่ายก็ไม่หมด หลายโครงการก็ไม่สัมฤทธิ์ ตามผลที่ตั้งไว้ แต่ท้องถิ่นซึ่งควรจะได้เงินตามกฎหมายมากกว่านี้ถึงร้อยละ 10 ของงบประมาณทั้งหมด ท่านไม่ขยับให้เขา ซึ่งมันก็แสดงให้เห็นว่า ความพยายามที่จะสนับสนุนนโยบายการกระจายอำนาจมันไม่ได้มีอย่างจริงจัง และผมมองว่า รัฐบาลกำลังคิดครับว่า คราวหลังไม่อยากมาแบ่งงบประมาณตรงนี้ แต่ว่าอยากให้ท้องถิ่นจัดเก็บรายได้เอง เพิ่มขึ้น ซึ่งโดยหลักก็ไม่ผิด แต่กราบเรียนท่านประธานไปยังท่านนายกฯ นะครับว่า บังเอิญผมทราบว่าตัวหลักที่จะมาดูตรงนี้คงจะเป็นการไปรื้อภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่เพื่อปรับมาเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งหลักการก็ไม่เป็นปัญหาหรอกครับ
แต่ฝากเป็นข้อสังเกตนิดเดียวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ แนวคิดที่จะทำกฎหมายใหม่ ยังเข้าใจว่า จะเปลี่ยนแปลงจากภาษีปัจจุบันตรงที่ว่า ไม่ยกเว้นแม้กระทั่งที่อยู่อาศัย ซึ่งตรงนี้ขอกราบเรียนนะครับว่า บางทีเราไปเข้าใจว่า ภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดินไม่เก็บคนยากจน แต่ว่าแนวทางไปยกเว้นเรื่องที่อยู่อาศัย ไม่ยกเว้นที่อยู่อาศัยที่ทำอยู่ในปัจจุบันนะครับ ปัจจุบันจะยกเว้น อันนี้กระทบกระเทือนครับ ชาวแฟลตก็โดน แม้กระทั่งบ้านเอื้ออาทร บ้านมั่นคงทั้งหลายก็ต้องโดนหมด อันนี้ขอฝากกลับไปนะครับไปทบทวนดูนะครับ อย่าไปคิดว่าตรงนี้จะเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นไปเก็บแล้วก็เป็นแนวทางที่จะแบ่งเบาภาระรัฐบาลไม่ต้องแบ่งงบประมาณในส่วนของรัฐบาลไปให้
ท่านประธานที่เคารพครับ นอกจากเงินที่ท่านตั้งขึ้นตรงนี้ลอยๆ แล้วนะครับ วิธีการทำงานที่ผ่านมา ท่านก็จะมีคาวมคิด มีนโยบายที่เกิดขึ้นทันทีทันใด และก็อนุมัติเงินงบประมาณไปไปตั้งบริษัท ไปตั้งโครงการต่างๆ เวลาผ่านมา 4 ปี ผมก็ลองไปดูว่า เงินของประชาชนที่ท่านอนุมัติให้ไปใช้ตรงนั้นตรงนี้มันเป็นอย่างไร ผมก็ตกใจ ผมก็หยิบตัวอย่างมาบางตัวเท่านั้นเช่น ท่านอนุมัติให้ตั้งบริษัทไทยจัดการลองสเตย์จำกัด เอาเงินไป 100 ล้าน ปรากฏว่า ประเมินผลในเดือนพ.ค. ก็คือว่า จริงๆ มียอดนักท่องเที่ยวในกลุ่มลองสเตย์นะครับเข้ามาประเทศไทยประมาณ 500,000 คน ต่อปี แต่ว่าที่จะมาใช้บริการบริษัทนี้ไม่ถึง 200 คน 3 ปีที่ผ่านมาก็ขาดทุนมาโดยตลอด บริษัทไทยแลนด์พรีวิเลจคาร์ด จำกัด ตอนนั้นท่านนายกบอกว่า 5 ปี สมาชิก 1 ล้านคน ไทยรับเงินเหนาะๆ 1 ล้านล้านบาทเข้ากระเป๋าล่วงหน้า ปีแรกขอสัก 1 แสนราย ณ วันนี้สมาชิกไม่ถึงล้านครับ 800 คน
บริษัทต่อไป บริษัทรวมค้าปลีกเข้มแข็งจำกัด ขาดทุนแล้วก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายครับ เดิมตั้งเป้าหมายว่าจะมีสมาชิก มีคนมาใช้บริการเป็นหลายหมื่นนะครับ แต่ว่าตอนนี้บอกว่าเออีที มียอดสั่งซื้อจากสมาชิกที่ยังเหลืออยู่อีกประมาณ 6-10 ล้าบาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าน้อยมาก ร้านค้าต้นแบบมีเพียง 30 แห่ง จากตั้งเป้าไว้ 100 แห่ง เงินงบประมาณเหลืออยู่ 100 ล้าน หลังจากที่ได้รับมาตอนแรก 395 ล้านหมดไปกับการติดตั้งคอมพิวเตอร์ วางระบบสารสนเทศ อบรมบุคลากร 200 ล้านบาท ขาดทุนไม่เป็นไปตามเป้า ก็ไม่แน่ใจว่าจะเดินต่อไปอย่างไร
กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นครับ ขาดทุนอยู่พอสมควรไปผลิตเสื้อผ้ายี่ห้อไทยโก้ ไม่ได้รับการตอบรับ ผลิตเสื้อเชิ้ต 1,200 กว่าตัว ยังเหลืออีก 200 กว่าตัว เกงเกงผลิตมา 2,000 ตัวเหลือ 1,500 กว่าตัว บริษัทส่งเสริมการค้าเอสเอ็มอีจำกัด ขาดทุนอยู่พอสมควร ขาดทุนจากการบริหารเนื่องจากมีการทดลองทำตลาดในต่างประเทศโดยไม่มีการศึกษากลุ่มลูกค้าให้ชัดเจนก่อนที่จะนำสินค้าไปจำหน่าย ที่จริงมีอีกพอสมควรนะครับ อุตสาหกรรมขนมไทย ห้องปฏิบัติการตรวจสอบ ประเด็นของกระผมก็คือว่า นโยบายเหล่านี้ออกมาเพื่อความฮือฮา เพื่อให้เกิดความตื่นเต้น เพื่อให้เกิดภาพทางการเมือง แต่จะเกิดได้แต่ละครั้งใช้เงินของประชาชน พอผ่านไปก็ลืมไปหมดแล้วครับว่าเป้าหมายจริงๆ คืออะไร ทำไม่ได้ คนเขาก็ตั้งใจทำงานทั้งนั้นนะครับ ผมไม่ไปตำหนิคนที่ทำงานในบริษัทเหล่านี้เลย เขาก็ตั้งใจทำงาน แต่ว่ามันเป็นนโยบายที่ขาดการคิดการวางแผน มันไม่ใช่นโยบายที่คิดมาเพื่อทำจริง มันหวังผลชั่วครู่ชั่วยาม เรื่องภาพ แล้วสุดท้ายทุกคนก็ต้องมาแบกรับความเสียหาย อันนี้ก็เป็นจุดที่กระผมกราบเรียนว่า อยากให้มาทบทวนดูในโอกาสที่ท่านตั้งต้นใหม่ในรัฐบาลนี้ในการจัดสรรงบประมาณ ต่างๆ
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ