ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ณ วันนี้ มีหลายประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นข่าวการทำรัฐประหาร การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ การสรรหา รมว.คลังคนใหม่ ที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้ เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศที่มีต่อ“ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ณ วันนี้” จำนวนทั้งสิ้น 1,517 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 9-11 กันยายน 2563 สรุปผลได้ ดังนี้
*หมายเหตุ ผู้ตอบสามารถระบุความคิดเห็นได้มากกว่า 1 เรื่อง (ค่าร้อยละจึงคำนวณในแต่ละข้อ)
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 1,517 คน ใน 3 ประเด็นหลัก ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมือง ณ วันนี้ พบผลว่า ประเด็นกระแสข่าวการทำรัฐประหาร กลุ่มตัวอย่างมีทั้งเชื่อและไม่เชื่อ โดยไม่เชื่อ 58.08% และเชื่อ 41.92% คิดว่าน่าจะเกิดรัฐประหารขึ้นได้ 46.67% ส่วนประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ คิดว่าไม่น่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 41.79% และประเด็นความคิดเห็นเกี่ยวกับ รมว. คลังคนใหม่นั้น เห็นว่า ควรมี ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐกิจ 81.72% ซื่อสัตย์ 75.20% และเน้นทำงานเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง 65.12%
จากผลการสำรวจถึงแม้ประชาชนจะไม่เชื่อกระแสการทำรัฐประหาร แต่ก็ยังมองว่ามีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ แสดงให้เห็นว่าประชาชนได้เรียนรู้จากอดีต ที่ผ่านมาว่าเมื่อเกิดความขัดแย้งและมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้น การทำรัฐประหารมักจะตามมาเสมอ ทั้งนี้เห็นว่าการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติยังไม่ใช่ทางออก ถึงจะช่วยลดความขัดแย้ง มีความเป็นกลาง แต่ก็อาจไม่ได้รับการยอมรับ สุดท้ายในประเด็นของ รมว.คลัง ที่ยังแขวนอยู่ในขณะนี้ ประชาชนชี้ว่า คนที่เหมาะสมนั้นต้อง เก่งด้านเศรษฐกิจ ไม่ทุจริต ต้องเข้ามาทำงานแก้ปัญหาเพื่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง
โดย นางสาวพรพรรณ บัวทอง
นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
โทร 086-3766533
ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของประชาชนที่มีต่อคุณสมบัติของขุนคลังคนใหม่มากกว่ากระแสข่าวการรัฐประหาร แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมือง ปัจจุบันจะมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ก็ตาม ซึ่งสาเหตุของความไม่เชื่อว่าจะเกิดการรัฐประหารขึ้นในขณะนี้ อาจเป็นเพราะสถานการณ์และตัวแปร ที่จะนำไปสู่การทำรัฐประหารยังมีไม่มากพอ แต่ก็มิได้หมายความว่าจะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นในการเมืองไทย สำหรับข้อพิจารณาเกี่ยวกับแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาล แห่งชาติหรือการเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น ดูเสมือนจะไม่มีความเป็นไปได้เลย เพราะเมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนทางการเมืองในเรื่องระบบรัฐสภาและเสียง ข้างมากของฝ่ายรัฐบาลแล้ว จะเห็นว่ารัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีแต้มต่อทางการเมืองอยู่หลายขุม ทั้ง ส.ว. ส.ส. และพรรคร่วมรัฐบาลที่ยังมี ความเหนียวแน่นและไม่มีการถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลเลย ดังนั้น ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ณ วันนี้ที่จะนำไปสู่ความเปราะบางของรัฐบาล คือ ปัญหาภาวะ เศรษฐกิจตกต่ำซึ่งเป็นปัญหาที่นายกรัฐมนตรีต้องเร่งแก้ไขเพื่อมิให้รัฐบาลต้องตกต่ำตามภาวะเศรษฐกิจในยุค NEW NORMAL เพราะขาดความเชื่อมั่นต่อประชาชน
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์
คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
โทร. 092-3232833
ที่มา: สวนดุสิตโพล