สวนดุสิตโพล: “ความเครียดของคนไทย” ณ วันนี้

ข่าวผลสำรวจ Monday September 21, 2020 07:47 —สวนดุสิตโพล

สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ทำให้คนไทยต้องร่วมกันต่อสู้กับภาวะวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานและยังคงมีความเสี่ยงอยู่ ปัญหารุมเร้าทั้งในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และปัญหาส่วนตัว ที่ส่งผลให้ความเครียดของแต่ละคนนั้นมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป และอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ด้านสุขภาพจิต หรือเกิดความเจ็บป่วยทางร่างกายได้ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่มีผลกระทบและควรเร่งแก้ไข “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็น ของประชาชนทั่วประเทศกรณี “ความเครียดของคนไทย ณ วันนี้” จำนวนทั้งสิ้น 1,358 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 16-18 กันยายน 2563 สรุปผลได้ ดังนี้

1. “ความเครียดของคนไทย” ณ วันนี้ ที่มีต่อ “การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเรื่องส่วนตัว”
อันดับ   ด้านการเมือง                              ภาพรวม       อันดับ   ด้านเศรษฐกิจ                   ภาพรวม
 1     การทุจริตคอร์รัปชัน                          63.93%        1     ของกิน-ของใช้แพง               67.76%
 2     ความขัดแย้งทางการเมือง                     46.65%        2     ข่าวเศรษฐกิจ                   58.06%
 3     การเคลื่อนไหวทางการเมือง/การชุมนุม           42.32%        3     เงินไม่พอใช้                    56.80%
 4     ข่าวการเมือง                              39.02%        4     เป็นหนี้ ต้องกู้ยืม                 50.64%
 5     การแก้ไขรัฐธรรมนูญ                         35.61%        5     ตกงาน ไม่มีงานทำ               45.32%

อันดับ   ด้านสังคม                                 ภาพรวม       อันดับ   ด้านส่วนตัว                     ภาพรวม
 1     โรคโควิด-19                              57.49%        1     การทำงาน                     40.43%
 2     อาชญากรรมต่างๆ เช่น ปล้น ฆ่า ข่มขืน           55.49%        2     สุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ             27.19%
 3     การบูลลี่ (เหยียด/กลั่นแกล้ง/ข่มเหงรังแก)        40.58%        3     เรื่องในครอบครัว บุตรหลาน คู่ครอง  25.09%
 4     ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า          36.21%        4     การเรียน                      16.58%
 5     อุบัติเหตุ ความประมาท                       36.16%        5     การคบเพื่อน                    13.19%

2.  สิ่งที่คนไทยอยากทำเมื่อรู้สึกเครียดมาก คือ
อันดับ 1   ออกไปเที่ยว ช้อปปิ้ง ซื้อของ          51.47%
อันดับ 2   เล่นเน็ต เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ ไอจี          35.35%
อันดับ 3   กิน          33.51%
อันดับ 4   เล่นกีฬา ออกกำลังกาย          31.15%
อันดับ 5   เข้าวัด ใช้ธรรมะบำบัด          27.17%

*หมายเหตุ ผู้ตอบสามารถระบุความคิดเห็นได้มากกว่า 1 เรื่อง (ค่าร้อยละจึงคำนวณในแต่ละข้อ)

สรุปผลการสำรวจ : ความเครียดของคนไทย ณ วันนี้

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ความเครียดของคนไทย ณ วันนี้” กลุ่มตัวอย่าง 1,358 คน สำรวจวันที่ 16-18 กันยายน 2563 จะเห็นได้ว่าเรื่องที่ประชาชนเครียดมากที่สุด คือ ของกินของใช้แพง 67.76% รองลงมาคือ ทุจริตคอร์รัปชัน 63.93% และโควิด-19 57.49% สิ่งที่ คนอยากทำเมื่อรู้สึกเครียดมาก คือ ออกไปเที่ยว ช้อปปิ้ง 51.47% เล่นเน็ต 35.35% และกิน 33.51%

จะเห็นได้ว่าเรื่องปากท้องยังคงเป็นเรื่องที่ประชาชนกังวลจนส่งผลต่อความเครียดมากที่สุด เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ เงินไม่พอใช้ เป็นหนี้ ตกงาน เป็นปัญหากระทบกับ ประชาชนโดยตรง เมื่อเครียดแล้วประชาชนก็อยากคลายเครียดด้วยการไปเที่ยว ช้อปปิ้ง ซื้อของ แต่เมื่อเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นก็ทำให้ยังไม่มีเงินไปช้อปปิ้ง ทำให้เกิดความเครียด วนเวียนกันต่อไป ปัญหาเศรษฐกิจจึงเป็นปัญหาที่รุมเร้าทั้งรัฐบาลและประชาชนอย่างแท้จริง

โดย นางสาวพรพรรณ บัวทอง

นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

โทร 086-3766533

จากผลการสำรวจความเครียดของคนไทยในช่วงก่อนมีการชุมนุมทางการเมือง ในวันที่ 19 กันยายน 2563 จะเห็นได้ว่าประชาชนเกิดความกังวลเกี่ยวกับเรื่อง ปากท้อง ก็คือของกินของใช้ราคาแพงอันเป็นความต้องการของมนุษย์ (Needs) มนุษย์ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในทรัพย์สิน ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของตนก่อนสิ่งอื่นใด รองลงมาก็เป็นเรื่องของหน้าที่พลเมืองที่หวงแหนผลประโยชน์ของประเทศชาติ (Belongingness and Love Needs) จึงมีความกังวลเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นช่วง ของการอภิปรายงบประมาณประจำปี 2564 และตามด้วยความกังวลเกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ทั่วโลก ซึ่งนั่นก็คือความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและครอบครัว (Safety Needs) และเมื่อมีความเครียดสะสมก็จะใช้กลไกในการป้องกันตัวเอง โดยหาทางระบายออกด้วยการพาตนเองออกไปจากบริบทของความเครียดและความกังวลนั้น ตามศักยภาพที่มี นั่นก็คือ มีแรงขับ (Drive) ที่จะออกไปเที่ยว ช้อปปิ้ง และเล่นเน็ต

หากรัฐบาลนำข้อมูลการสำรวจไปใช้ให้เป็นประโยชน์ นั่นก็คือ การควบคุมกลไกราคาของกินของใช้ไม่ให้สูงจนเกินไป และออกมาตรการกระตุ้นส่งเสริมการ ท่องเที่ยวและการช้อปปิ้งในประเทศอย่างครบวงจรก็จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยได้ในช่วงฤดูการท่องเที่ยวช่วงปลายปีนี้ ที่มีมาตรการความปลอดภัยในแบบฉบับ New Normal และที่สำคัญก็คือ ให้ความสำคัญกับความโปร่งใส (Accountability) การบริหารงบประมาณปี 2564 ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สฤษดิ์ ศรีโยธิน

ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

โทร. 081-6126207

ที่มา: สวนดุสิตโพล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ