ปี 2020 เป็นปีที่คนไทยต้องทำงานอย่างหนักทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง สังคม โควิด-19 และฝุ่นพิษ PM 2.5 ประชาชน จึงต้องหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน ?สวนดุสิตโพล? มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณี ?การดูแลสุขภาพของคนไทยในปี 2020? จำนวนทั้งสิ้น 1,135 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 12-17 ธันวาคม 2563 สรุปผลได้ ดังนี้
*หมายเหตุ ผู้ตอบสามารถระบุความคิดเห็นได้มากกว่า 1 เรื่อง (ค่าร้อยละจึงคำนวณในแต่ละข้อ)
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง ?การดูแลสุขภาพของคนไทยในปี 2020? กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,135 คน สำรวจวันที่ 12 - 17 ธันวาคม 2563 พบว่า คนไทยหันมาดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น ร้อยละ 68.10 จากสถานการณ์ต่าง ๆ ในปี 2020 ทำให้คนไทยวิตกกังวล เรื่องสุขภาพมากขึ้น ร้อยละ 67.75 มีค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ร้อยละ 59.38 สิ่งที่ดูแลสุขภาพของตนเองเป็นพิเศษ คือ การป้องกันตัวเอง จากโควิด-19 ร้อยละ 89.48 รองลงมาคือ อาหารการกิน และการออกกำลังกาย โดยสิ่งที่สนใจอยากรู้เพิ่มเติม คือ เทคนิคในการดูแลสุขภาพตนเอง ร้อยละ 71.98
จากผลการสำรวจจะเห็นได้ว่า คนไทยหันมาสนใจดูแลตนเองเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องการมีสุขภาพดี รักษาร่างกายให้อยู่กับตนเองได้อย่างมีคุณภาพ ไม่เป็นภาระต่อผู้อื่น เพราะการที่คนไทยอยู่ในสถานการณ์บ้านเมืองที่เคร่งเครียด เศรษฐกิจไม่ดี โควิด-19 ก็ยังระบาด รวมถึงฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่หนาแน่น การฝากความหวัง ไว้กับรัฐบาลในการแก้ปัญหาก็หวังได้ไม่มากนัก ทำให้คนไทยต้องหันมาดูแลตนเองมากขึ้น มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น เพื่อให้ตนเองมีสุขภาพที่ดีผ่านปี 2020 ไปให้ได้นั่นเอง
โดย นางสาวพรพรรณ บัวทอง
นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
โทร 086-3766533
การดูแลสุขภาพของคนไทยในปี 2020 พบว่ามีการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น จากการเกิดสถานการณ์พ้องของโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาด จึงทำให้คนไทยสนใจ ดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ เกิดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นมิติที่ดีที่คนไทยหันมาใส่ใจสุขภาพ เน้นการส่งเสริมสุขภาพร่างกายทั้งเรื่องของการรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นการใช้อาหารให้เป็นยา รวมถึงเพิ่มกิจกรรมการออกกำลังกายในวิถีชีวิต สอดคล้องกับนโยบายของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่ใส่ใจสุขภาพคนไทย ใน 5 มิติ (5 อ.) ได้แก่ อาหาร อากาศ ออกกำลังกาย อารมณ์ และอุจจาระ ทั้งนี้ หากเพิ่ม อ.6 เรื่องของ ?ออมทรัพย์? คงทำให้การมีอายุยืนขึ้นของคนไทย เกิดความสมดุล เกิดความสุขในครอบครัว สังคม และชุมชน
ดังนั้น การดูแลสุขภาพของคนไทยจะสร้างความแข็งแรงของคนไทยไปพร้อมกับอายุที่ยืนยาวขึ้น ลดภาระการดูแลสุขภาพของประชากรสูงวัยในครอบครัวลง ด้วยสุขภาพที่ดีขึ้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ด้วยการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพในการดูแลสุขภาพตนเองต่อไป
โดย ผศ.ดร.ดวงเนตร ธรรมกุล
อาจารย์ประจำวิชาสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
โทร 089-1310107