กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.76 มองว่าการเลือกตั้งนายก อบจ. มีความสำคัญต่อการพัฒนาท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 39.14 ของกลุ่มตัวอย่างคิดว่าตนเองและครอบครัวได้รับประโยชน์น้อยจากการเลือกตั้งท้องถิ่น ในขณะที่ร้อยละ 36.78 เห็นว่าตนเองได้รับประโยชน์มาก สองกลุ่มนี้มีสัดส่วนใกล้เคียงกันแต่อาจมีการรับรู้ข้อมูลที่แตกต่างกันรวมถึงความพึงพอใจต่อการดำเนินงานที่ผ่านมาของ อบจ. ด้วย
*ไม่แน่ใจ 6.06%
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 62.21 ของกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่า "บ้านใหญ่" มีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นมาก ซึ่งอาจเป็นอิทธิพลผ่านการสนับสนุนผู้สมัครหรือการสร้างกระแสความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และร้อยละ 57.66 คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการซื้อสิทธิขายเสียงเกิดขึ้น สะท้อนถึงความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับความโปร่งใสในการเลือกตั้ง
*ไม่แน่ใจ 9.93%
พรรคก้าวไกลยังคงเป็นพรรคที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นมากที่สุดในการแก้ปัญหาท้องถิ่น ร้อยละ 32.53 นำหน้าพรรคเพื่อไทยที่มีคะแนนร้อยละ 19.79 โดยผลการเลือกตั้งนายก อบจ. จะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งระดับชาติครั้งต่อไปร้อยละ 77.44 หากนำผลมาวิเคราะห์ร่วมกันก็อาจทำให้เห็นกระแสของพรรคก้าวไกลที่เพิ่มสูงขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้เช่นกัน
นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่าจากผลสำรวจครั้งนี้สะท้อนถึงความรับรู้และมุมมองของประชาชนต่อการเลือกตั้งนายก อบจ. ว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยประชาชนเห็นว่าอิทธิพลของ ?บ้านใหญ่? นั้นส่งผลต่อการเลือกตั้งซึ่งอาจเป็นอิทธิพลผ่านการสนับสนุนผู้สมัคร และยังกังวลเกี่ยวกับการซื้อสิทธิขายเสียง ดังนั้นการสร้างความโปร่งใสและความเข้าใจที่ชัดเจนในการเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้
นางสาวพรพรรณ บัวทอง
ประธานสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
โทร 086-3766533
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาวินี รอดประเสริฐ อาจารย์โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา การเมืองท้องถิ่นถูกจับตามองอย่างมากเพราะหลายพื้นที่มีการเลือกตั้งนายก อบจ. จากผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลมีตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นข้อมูลที่น่าสนใจในการเลือกนายก อบจ. คือ ประชาชนส่วนใหญ่ทราบว่านายก อบจ. มีหน้าที่ในการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งมีตัวเลขถึงร้อยละ 70.76 และตัวเลขต่อมาที่น่าสนใจ คือ ประชาชนคิดว่า ?บ้านใหญ่? ที่เราทราบกันดีมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นซึ่งไม่ใช่แค่ท้องถิ่นระดับใหญ่อาจรวมไปถึงท้องถิ่นทุกระดับ โดยตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 62.21 นำมาซึ่งการตัดสินจากประชาชนว่าผลการเลือกตั้งนายก อบจ.จะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองในการเลือกตั้งระดับชาติครั้งต่อไป หากมองจากผลสำรวจในข้อนี้ที่มีคะแนนสูงมากคงเป็นคำตอบให้กับหลายคนได้ว่าสำหรับประเทศไทยนั้น การเมืองระดับชาติมีผลกับการเมืองท้องถิ่นและการเมืองทั้งสองระดับนี้ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และเป็นโจทย์ใหญ่ให้บรรดาพรรคการเมืองทั้งหลาย หากอยากได้รับเลือกตั้งครั้งต่อไปจะต้องทำอย่างไรกับการเมืองท้องถิ่น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาวินี รอดประเสริฐ
อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต
โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต