ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สธ. 12/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจการจัดการกองทุนรวม การจัดการกองทุนส่วนบุคคลการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์และการจัดจำหน่ายหล

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 17, 2018 15:31 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สธ. 12/2561

เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนของ

ผู้ประกอบธุรกิจการจัดการกองทุนรวม การจัดการกองทุนส่วนบุคคล

การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์และการ

จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน และการเป็น

ผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และข้อกำหนด

กรณีที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้

_______________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 109 วรรคหนึ่ง และมาตรา 141 วรรคหนึ่ง (2) โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 19 และมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ข้อ 7(1) ประกอบกับข้อ 5(2) และ (3) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 3/2561 เรื่อง การดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจการจัดการกองทุนรวม การจัดการกองทุนส่วนบุคคล การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน และการเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2561และข้อ 1(3) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 59/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์และกำหนดเวลาในการยื่นรายงานของบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 สำนักงานออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ประกาศนี้ไม่ใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจที่มีหน้าที่ดำรงเงินกองทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ

ข้อ 3 ในประกาศนี้

คำว่า “ผู้ประกอบธุรกิจ” “บริษัทจัดการ” “บริษัทจัดการกองทุนรวม” “บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล” และ “ส่วนของผู้ถือหุ้น” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าว ที่กำหนดไว้ในประกาศการดำรงเงินกองทุน

“ประกาศการดำรงเงินกองทุน” หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจการจัดการกองทุนรวม การจัดการกองทุนส่วนบุคคล การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน และการเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

“บริษัทจัดการที่บริหารกองอสังหาริมทรัพย์หรือกองโครงสร้างพื้นฐาน” หมายความว่า บริษัทจัดการที่มีการประกอบธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังนี้

(1) การจัดการกองทุนรวมดังนี้

(ก) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

(ข) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน

(ค) กองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน

(ง) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง

(จ) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

(2) การเป็นทรัสตีหรือผู้จัดการกองทรัสต์ สำหรับทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือโครงสร้างพื้นฐาน

“บริษัทจัดการที่ไม่บริหารกองอสังหาริมทรัพย์และกองโครงสร้างพื้นฐาน” หมายความว่า บริษัทจัดการอื่นที่ไม่ใช่บริษัทจัดการที่บริหารกองอสังหาริมทรัพย์และกองโครงสร้างพื้นฐาน

“ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางซื้อขายหน่วยลงทุน” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่เป็นหน่วยลงทุน ใบทรัสต์ของทรัสต์ที่มีลักษณะทำนองเดียวกับกองทุนรวมหรือหลักทรัพย์อื่นที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดให้เป็นหลักทรัพย์ที่มีลักษณะการลงทุนทำนองเดียวกับหน่วยลงทุน แต่ไม่รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวที่มีลักษณะหนึ่งลักษณะใดดังนี้

(1) มีการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจ

(2) มีการซื้อขายหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อลูกค้าผ่านสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าว

“กรมธรรม์ประกันภัย” หมายความว่า กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดที่เกิดขึ้นจากการประกอบวิชาชีพ (professional indemnity insurance)

“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” หมายความว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ข้อ 4 ข้อกำหนดในรายละเอียดตามประกาศนี้ กำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติในเรื่องการดำรงเงินกองทุน การรายงานการดำรงเงินกองทุน และการดำเนินการในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันดังต่อไปนี้

(1) กรณีเป็นบริษัทจัดการที่ไม่บริหารกองอสังหาริมทรัพย์และกองโครงสร้างพื้นฐานและผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางซื้อขายหน่วยลงทุน ให้เป็นไปตามภาค 1

(2) กรณีเป็นบริษัทจัดการที่บริหารกองอสังหาริมทรัพย์หรือกองโครงสร้างพื้นฐาน ให้เป็นไปตามภาค 2

ภาค 1

หลักเกณฑ์สำหรับบริษัทจัดการที่ไม่บริหารกองอสังหาริมทรัพย์

และกองโครงสร้างพื้นฐาน และผู้ประกอบธุรกิจ

ตัวกลางซื้อขายหน่วยลงทุน

ข้อ 5 ความในภาคนี้ไม่ใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้หยุดประกอบธุรกิจจากสำนักงานและอยู่ระหว่างหยุดการประกอบธุรกิจตามที่ได้รับอนุญาตนั้น

ข้อ 6 ในภาคนี้

“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า บริษัทจัดการที่ไม่บริหารกองอสังหาริมทรัพย์และกองโครงสร้างพื้นฐาน และผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางซื้อขายหน่วยลงทุน

“เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก” หมายความว่า ทรัพย์สินดังต่อไปนี้

(1) เงินฝาก บัตรเงินฝาก ใบรับฝากเงิน หรือตราสารอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกับเงินฝาก

(2) ข้อตกลงที่เป็นไปตามหลักชะรีอะฮ์ (Shariah) และมีลักษณะที่เทียบเคียงได้กับเงินฝาก โดยคู่สัญญาที่เทียบเคียงได้กับผู้ฝากสามารถเรียกคืนเงินต้นจากคู่สัญญาฝ่ายที่เทียบเคียง ได้กับผู้รับฝากได้เต็มจำนวน ณ เวลาใด ๆ

(3) สลากออมทรัพย์ที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

(4) สลากออมสินพิเศษที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารออมสิน

“สถาบันการเงิน” หมายความว่า

(1) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(2) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นซึ่งเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน

(3) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

“ผู้มีภาระผูกพัน” หมายความว่า ผู้ที่มีภาระผูกพันในการชำระหนี้ตามตราสารทางการเงินในฐานะผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน แล้วแต่กรณี

“หน่วยของโครงการจัดการลงทุนต่างประเทศ” หมายความว่า หน่วยของโครงการจัดการลงทุน (collective investment scheme) ซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับกองทุนรวม แต่ไม่รวมถึงโครงการจัดการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์หลักในการลงทุนโดยตรงในทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) หรือในอสังหาริมทรัพย์หรือในกิจการที่ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวต้องจัดตั้งโดยได้รับอนุญาต จดทะเบียน หรือการดำเนินการอื่นใดในทำนองเดียวกันจากหน่วยงานกำกับดูแลหลัก (home regulator) ดังต่อไปนี้ ที่มีอำนาจกำกับดูแลโครงการจัดการลงทุนต่างประเทศหรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว

(1) หน่วยงานกำกับดูแลของประเทศกลุ่มอาเซียนที่ลงนามร่วมกันใน Memorandum of Understanding Concerning Cooperation and Exchange of Information on Cross-border Offers of ASEAN Collective Investment Schemes to Non-retail Investors หรือ Memorandum of Understanding on Streamlined Authorisation Framework for Cross-border Public Offers of ASEAN Collective Investment Schemes

(2) หน่วยงานกำกับดูแลของประเทศในภูมิภาคเอเชียภายใต้กรอบเอเปค (Asia Pacific Economic Cooperation : APEC) ที่ลงนามร่วมกันใน Memorandum of Cooperation on the Establishment and Implementation of the Asia Region Funds Passport

“การจัดอันดับความน่าเชื่อถือ” หมายความว่า การจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่จัดทำโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน ซึ่งเป็นการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ตามตราสารหรือสัญญา

ข้อ 7 ในการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การคำนวณและการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุน ให้เป็นไปตามหมวด 1 ของภาคนี้

(2) การดำเนินการในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ ให้เป็นไปตามหมวด 2 ของภาคนี้

หมวด 1

การคำนวณและการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุน

ข้อ 8 ความในหมวดนี้ไม่ใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจที่มีการกำกับดูแลฐานะทางการเงินตามกฎหมายอื่น

ส่วนที่ 1

สินทรัพย์สภาพคล่องและกรมธรรม์ประกันภัย

ที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุน

ข้อ 9 สินทรัพย์สภาพคล่องที่สามารถใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง ได้แก่ สินทรัพย์ที่ปราศจากภาระผูกพันดังต่อไปนี้ และต้องไม่มีลักษณะเป็นการลงทุนระยะสั้นโดยมีเจตนาเพื่อการขายต่อหรือแสวงหาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงหรือความแตกต่างของราคา

(1) เงินสด

(2) เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝากของสถาบันการเงินที่สามารถขอไถ่ถอนได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องกำหนดเวลาการไถ่ถอน

(3) ลูกหนี้ค่าธรรมเนียมค้างรับที่มีอายุครบกำหนดชำระหนี้คงเหลือไม่เกิน 90 วัน

(4) ตราสารหนี้ภาครัฐไทยดังนี้

(ก) ตั๋วเงินคลัง

(ข) พันธบัตรรัฐบาล

(ค) พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย

(ง) พันธบัตร ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือหุ้นกู้ ที่กระทรวงการคลังหรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้มีภาระผูกพัน

ในกรณีที่ตราสารหนี้ตามวรรคหนึ่ง (4) วรรคหนึ่ง มีอายุคงเหลือเกินกว่า 10 ปี ตราสารหนี้ดังกล่าวต้องมีการซื้อขายโดยเฉลี่ยทุก 2 สัปดาห์และมีอัตราการเปลี่ยนมือ (turnover) ย้อนหลัง 3 เดือนล่าสุดโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.25 ของยอดคงค้าง

(5) ตราสารหนี้ต่างประเทศที่มีลักษณะทำนองเดียวกับตราสารหนี้ภาครัฐไทยตามวรรคหนึ่ง (4) ซึ่งมีรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศเป็นผู้มีภาระผูกพัน

(6) ตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน พันธบัตรและหุ้นกู้ แต่ไม่รวมถึงตราสารหนี้ที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง ตราสารหนี้ด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ และหุ้นกู้ที่ผู้ถือมีภาระผูกพัน

ในกรณีที่ตราสารหนี้ตามวรรคหนึ่ง (6) วรรคหนึ่ง มีอายุคงเหลือเกินกว่า 3 เดือน ตราสารหนี้ดังกล่าวต้องมีการซื้อขายโดยเฉลี่ยทุก 2 สัปดาห์และมีอัตราการเปลี่ยนมือย้อนหลัง 3 เดือน ล่าสุดโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.25 ของยอดคงค้าง

(7) หุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีรายชื่อในการคำนวณดัชนี SET100

(8) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงิน

(9) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีกำหนดระยะเวลาการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนไว้ไม่เกิน 90 วัน และมีนโยบายการลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

(ก) มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องประเภทใดประเภทหนึ่งหรือหลายประเภทตามวรรคหนึ่ง (1) (2) (4) (5) (6) (7) หรือ (8) ทั้งนี้ หากเป็นกรณีที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องตามวรรคหนึ่ง (2) (5) หรือ (6) สินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าวต้องมีผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 11 ด้วย

(ข) มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง (9) (ก)

(10) หน่วยของโครงการจัดการลงทุนต่างประเทศที่มีลักษณะในทำนองเดียวกับสินทรัพย์ในวรรคหนึ่ง (8) หรือ (9)

ในกรณีที่ระยะเวลารับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง (9) หรือหน่วยตามวรรคหนึ่ง (10) ที่มีลักษณะทำนองเดียวกับหน่วยลงทุนดังกล่าวเกินกว่า 60 วัน ให้นำมูลค่าของทรัพย์สินดังกล่าว มาคำนวณการดำรงเงินกองทุนได้เพียงร้อยละ 50 ของมูลค่าของทรัพย์สินนั้น

ข้อ 10 สินทรัพย์สภาพคล่องตามข้อ 9 วรรคหนึ่ง (4) (5) และ (6) ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ต้องเป็นตราสารหนี้ที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

(2) ในกรณีที่มีการจ่ายผลตอบแทนจากสินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าว ผลตอบแทนนั้นต้องอยู่ในรูปของอัตราดอกเบี้ยคงที่หรืออัตราดอกเบี้ยลอยตัว

(3) ในกรณีเป็นตราสารหนี้ที่มีการรับรอง รับอาวัล สลักหลัง หรือค้ำประกันตราสาร ต้องเป็นการรับรองตลอดไป รับอาวัลทั้งจำนวน สลักหลังโอนประเภทมีสิทธิไล่เบี้ยโดยไม่มีข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของผู้สลักหลัง หรือค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข แล้วแต่กรณี

ข้อ 11 สินทรัพย์สภาพคล่องตามข้อ 9 วรรคหนึ่ง (2) (5) และ (6) ต้องมีผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้ (investment grade)

การจัดอันดับความน่าเชื่อถือตามวรรคหนึ่งให้หมายถึงการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสาร เว้นแต่ในกรณีที่สินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าวไม่มีผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของ ตราสาร ให้พิจารณาเลือกใช้ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของผู้มีภาระผูกพัน ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้มีภาระผูกพันดังกล่าวเป็นธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นให้หมายความรวมถึงอันดับความน่าเชื่อถือสนับสนุน (support credit rating) ซึ่งสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือประเมินจากแนวโน้มที่ธนาคารดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลเมื่อมีกรณีจำเป็น

การพิจารณาใช้ข้อมูลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการพิจารณาใช้ข้อมูลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยอนุโลม

ข้อ 12 การใช้กรมธรรม์ประกันภัยเพื่อการดำรงเงินกองทุน ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์โดยครบถ้วนดังต่อไปนี้

(1) ต้องเป็นกรมธรรม์ประกันภัยซึ่งอย่างน้อยต้องมีเงื่อนไขความคุ้มครองที่ครอบคลุมความเสียหายต่อลูกค้าหรือบุคคลภายนอกที่เกิดจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจ และผู้บริหารหรือบุคลากรของผู้ประกอบธุรกิจที่ได้กระทำไปในนามของผู้ประกอบธุรกิจ อันเนื่องจากสาเหตุดังนี้

(ก) ความบกพร่องของผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจในการกำกับดูแลหรือจัดให้มีระบบงานที่เพียงพอเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสม

(ข) เอกสารสิทธิที่แสดงความเป็นเจ้าของทรัพย์สินของกองทุนหรือลูกค้าเสียหาย

(ค) การประเมินมูลค่าทรัพย์สินของลูกค้าที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นบริษัทจัดการ

(2) ผู้รับประกันภัยต้องได้รับการจัดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (financial strength rating) ในครั้งล่าสุดในอันดับและจากสถาบันจัดอันดับที่สำนักงานยอมรับ เว้นแต่ในกรณีที่ไม่มีการจัดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ผู้รับประกันภัยดังกล่าวต้องมีผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหรือคู่สัญญา (issuer rating) ในอันดับที่ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้

(3) ในการคำนวณมูลค่าของกรมธรรม์ประกันภัยในการดำรงเงินกองทุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(ก) ในกรณีที่กรมธรรม์ประกันภัยมีข้อกำหนดให้ผู้เอาประกันภัยรับผิดต่อความเสียหายส่วนแรก (deductible) มิให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเอามูลค่าความรับผิดต่อความเสียหายดังกล่าวมานับรวมเป็นวงเงินเพื่อการดำรงเงินกองทุน

(ข) ในกรณีเป็นการประกันภัยแบบกลุ่มหรือมีผู้รับผลประโยชน์หลายราย ให้คำนวณมูลค่าของกรมธรรม์ประกันภัยในการดำรงเงินกองทุนได้เพียงเท่ากับมูลค่าตามสัดส่วนของจำนวนเงินซึ่งผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิจะได้รับ

(ค) ในกรณีที่กรมธรรม์ประกันภัยมิได้ครอบคลุมความเสียหายย้อนหลังเป็นระยะเวลา 10 ปีนับถึงวันที่ผู้ประกอบธุรกิจรายงานการดำรงเงินกองทุนต่อสำนักงานหรือนับแต่วันที่เริ่มประกอบธุรกิจ ให้คำนวณมูลค่าของกรมธรรม์ประกันภัยในการดำรงเงินกองทุนได้เพียงร้อยละ 50 ของจำนวนเงินซึ่งผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิจะได้รับที่หักด้วยความรับผิดต่อค่าเสียหายส่วนแรก (ถ้ามี) แล้ว

ส่วนที่ 2

การคำนวณเงินกองทุน

ข้อ 13 ให้ผู้ประกอบธุรกิจคำนวณอัตราหรือมูลค่าของเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามประกาศการดำรงเงินกองทุนทุกวันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือน

ข้อ 14 การคำนวณมูลค่าของเงินกองทุนสภาพคล่อง ให้เป็นไปตามแบบรายงานการดำรงเงินกองทุนและคำอธิบายประกอบการรายงานที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน

ข้อ 15 ให้ผู้ประกอบธุรกิจคำนวณมูลค่าของเงินกองทุนสภาพคล่องที่ดำรงได้หรือกรมธรรม์ประกันภัยที่ใช้ในการดำรงเงินกองทุนในวันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือน เว้นแต่กรณีที่ ปรากฏเหตุที่อาจทำให้มูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัยที่ใช้ในการดำรงเงินกองทุนดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป ให้ผู้ประกอบธุรกิจคำนวณมูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวใหม่ตามหลักเกณฑ์และภายในระยะเวลาดังต่อไปนี้

(1) เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญอันอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัย ให้คำนวณมูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัยในวันที่เกิดเหตุการณ์นั้น เว้นแต่เป็นกรณีที่วันดังกล่าวเป็นวันหยุดทำการ ให้คำนวณมูลค่าในวันทำการถัดไป

(2) เมื่อมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือไถ่ถอนสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัยในวันใด ให้คำนวณมูลค่าของสินทรัพย์สภาพคล่องหรือกรมธรรม์ประกันภัยในวันนั้น

(3) ในกรณีที่สินทรัพย์สภาพคล่องเป็นหุ้น ให้คำนวณมูลค่าสินทรัพย์ทุกสิ้นวันทำการ

(4) ในกรณีที่สินทรัพย์สภาพคล่องเป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหรือหน่วยของโครงการจัดการลงทุนต่างประเทศที่มีการลงทุนในหุ้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เมื่อมีการเปิดเผยมูลค่าของหน่วยลงทุนหรือหน่วยดังกล่าวแล้ว ให้คำนวณมูลค่าสินทรัพย์นั้นทุกวันทำการ

ส่วนที่ 3

การรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุน

และการจัดเก็บข้อมูล

ข้อ 16 ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการสำหรับข้อมูลที่เกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาดังต่อไปนี้

(1) จัดทำรายงานการดำรงเงินกองทุนตามแบบรายงานการดำรงเงินกองทุนและคำอธิบายประกอบการรายงานดังกล่าวที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงานและจัดส่งให้สำนักงาน ภายใน 5 วันทำการนับแต่วันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือน

(2) จัดทำรายงานมูลค่าความเสียหายอันเนื่องจากการปฏิบัติงาน (operational risk loss) รายปีปฏิทิน ตามแบบรายงานข้อมูลความเสียหายที่เกิดจาก operational risk และคำอธิบายประกอบการรายงานดังกล่าวที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มกราคมของปีถัดไป

ข้อ 17 ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการให้มีเอกสารเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนย้อนหลังไม่น้อยกว่า 5 ปี ไว้ ณ ที่ทำการของผู้ประกอบธุรกิจในลักษณะที่พร้อมเรียกดูหรือจัดให้สำนักงานตรวจสอบได้เมื่อได้รับการร้องขอ

หมวด 2

การดำเนินการในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจ

ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้

ข้อ 18 ในหมวดนี้

“เงินกองทุนขั้นต้น” หมายความว่า เงินกองทุนขั้นต้นตามเอกสารการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจตามประกาศการดำรงเงินกองทุน แนบท้ายประกาศการดำรงเงินกองทุน

“เงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความต่อเนื่องของธุรกิจ” หมายความว่า เงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความต่อเนื่องของธุรกิจตามเอกสารการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจ ตามประกาศการดำรงเงินกองทุน แนบท้ายประกาศการดำรงเงินกองทุน

“เงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความรับผิดจากการปฏิบัติงาน” หมายความว่า เงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความรับผิดจากการปฏิบัติงานตามเอกสารการดำรงเงินกองทุนของ ผู้ประกอบธุรกิจตามประกาศการดำรงเงินกองทุน แนบท้ายประกาศการดำรงเงินกองทุน

ข้อ 19 ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความรับผิดจากการปฏิบัติงาน ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) มีหนังสือแจ้งการไม่สามารถดำรงเงินกองทุนพร้อมด้วยสาเหตุ โดยยื่นต่อสำนักงานภายในวันทำการถัดจากวันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้

(2) จัดส่งแผนหรือแนวทางแก้ไขต่อสำนักงานภายใน 7 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ เว้นแต่ก่อนครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวสามารถแก้ไขเงินกองทุน ให้เป็นไปตามประกาศดำรงเงินกองทุนได้ ให้จัดส่งรายงานการแก้ไขดังกล่าวให้สำนักงานทราบ ภายในวันทำการถัดจากวันที่สามารถแก้ไขเงินกองทุนให้เป็นไปตามประกาศการดำรงเงินกองทุนได้แทนการจัดส่งแผนหรือแนวทางแก้ไขนั้น

ในกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควร ผู้ประกอบธุรกิจอาจขอผ่อนผันระยะเวลาในการจัดส่งแผนหรือแนวทางแก้ไขต่อสำนักงานได้ ตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดในคู่มือสำหรับประชาชน

(3) ดำเนินการตามแผนหรือแนวทางดังกล่าวเพื่อให้สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนให้เป็นไปตามที่ประกาศการดำรงเงินกองทุนกำหนดโดยเร็ว และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดในแผนหรือแนวทางนั้นซึ่งต้องไม่เกินกว่า 30 วันนับแต่วันที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้

(4) มีหนังสือแจ้งผลการดำเนินการให้สำนักงานทราบภายในวันทำการถัดจากวันที่สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้

(5) ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ภายในระยะเวลาตาม (3) ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการตามข้อ 21 โดยอนุโลม

ข้อ 20 ในระหว่างที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความรับผิดจากการปฏิบัติงานหรืออยู่ในระหว่างดำเนินการตามข้อ 19(3) ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ จนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามประกาศการดำรงเงินกองทุน

(1) ห้ามให้บริการแก่ลูกค้ารายใหม่

(2) ห้ามลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจเพิ่มเติม เว้นแต่เป็นการลงทุนในทรัพย์สินดังนี้

(ก) เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝาก

(ข) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงินที่ไม่มีการลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับต่างประเทศ โดยต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการบริหารสภาพคล่องของผู้ประกอบธุรกิจเท่านั้น

(ค) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลดความเสี่ยง

(3) ในกรณีเป็นบริษัทจัดการกองทุนรวม ห้ามเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ยังมิได้มีการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก

(4) ในกรณีเป็นบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล ห้ามรับจัดการเงินทุนของลูกค้าเพิ่มเติม เว้นแต่เป็นกรณีการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมและนายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(5) ในกรณีเป็นผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางซื้อขายหน่วยลงทุน ห้ามเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ใบทรัสต์ของทรัสต์ที่มีลักษณะทำนองเดียวกับกองทุนรวม หรือหลักทรัพย์อื่นใด ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดให้เป็นหลักทรัพย์ที่มีลักษณะการลงทุนทำนองเดียวกับหน่วยลงทุนเว้นแต่เป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ดังกล่าวที่มีการเสนอขายอยู่แล้วในวันก่อนวันที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความรับผิดจากการปฏิบัติงาน

ข้อ 21 ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความต่อเนื่องของธุรกิจหรือเงินกองทุนขั้นต้น หรือไม่สามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความรับผิดจากการปฏิบัติงานตามระยะเวลาที่กำหนดในแผนหรือแนวทาง หรือระยะเวลาที่ได้รับการผ่อนผันตามข้อ 19(3) หรือไม่สามารถดำรงฐานะทางการเงินตามกฎหมายอื่นที่กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวจนเป็นเหตุให้ต้องระงับการประกอบธุรกิจ ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) ระงับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในประเภทที่เกี่ยวข้องกับการดำรงเงินกองทุนจนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามประกาศการดำรงเงินกองทุนหรือดำรงฐานะได้ตามกฎหมายอื่นที่กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว แล้วแต่กรณี และได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ตามปกติ เว้นแต่เป็นกรณีดังนี้

(ก) การดำเนินการตามความจำเป็นและสมควรเพื่อป้องกันมิให้มูลค่าทรัพย์สินซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการได้รับความเสียหาย หรือการใช้สิทธิเพื่อประโยชน์ของกองทุนรวม ลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ลงทุน หรือเพื่อเปลี่ยนตราสารที่ครบกำหนดไถ่ถอนกับผู้ออกตราสารดังกล่าว

(ข) การบริหารเงินสะสมและเงินสมทบของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เป็นลูกค้าอยู่แล้วในขณะนั้น หรือการจ่ายเงินให้แก่สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สิ้นสมาชิกภาพ

(2) แจ้งการไม่สามารถดำรงเงินกองทุนหรือฐานะทางการเงิน พร้อมด้วยสาเหตุและการระงับการประกอบธุรกิจตาม (1) เป็นลายลักษณ์อักษรให้แก่สำนักงานและผู้ถือหน่วยลงทุน ลูกค้า หรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี ภายในวันทำการถัดจากวันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้

(3) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังนี้ แล้วแต่กรณี

(ก) ในกรณีเป็นบริษัทจัดการกองทุนรวม ให้ดำเนินการตามข้อ 22

(ข) ในกรณีเป็นบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้ดำเนินการตามข้อ 23

(ค) ในกรณีเป็นผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางซื้อขายหน่วยลงทุนที่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า ให้ดำเนินการตามข้อ 24

(4) แจ้งการดำเนินการตาม (3) เป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้ถือหน่วยลงทุน ลูกค้า หรือคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แล้วแต่กรณี โดยไม่ชักช้า

(5) กระทำการหรืองดเว้นการกระทำอื่นใดตามที่สำนักงานกำหนด เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ตามประกาศการดำรงเงินกองทุน

ข้อ 22 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถดำรงเงินกองทุนตามข้อ 21 ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรายอื่นเข้าจัดการกองทุนรวมภายใต้การจัดการของตนภายใน 30 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้

ในการคัดเลือกบริษัทจัดการกองทุนรวมรายอื่นตาม (1) วรรคหนึ่ง บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสำคัญและต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมแต่ละกองด้วย และในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนบริษัทจัดการกองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนรวมรายเดิมต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว

(2) ในระหว่างดำเนินการให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรายอื่นเข้าจัดการกองทุนรวมภายใต้การจัดการตาม (1) บริษัทจัดการกองทุนรวมรายเดิมสามารถจัดการกองทุนรวมภายใต้กาจัดการได้เพียงเพื่อการดูแลรักษาประโยชน์หรือการใช้สิทธิประโยชน์เพื่อมิให้กองทุนรวมได้รับความเสียหายเท่านั้น

(3) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรายอื่นรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนในวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมรายอื่นเข้าบริหารจัดการกองทุนรวมและมีความประสงค์จะขายคืนหน่วยลงทุน โดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอย่างน้อย 30 วันนับแต่วันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมรายอื่นเข้าบริหารจัดการกองทุนรวมเว้นแต่เป็นกองทุนรวมที่มีกำหนดระยะเวลาการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนเป็นช่วง (interval fund) ซึ่งมิได้มีช่วงเวลารับซื้อคืนหน่วยลงทุนในช่วงระยะเวลา 30 วันดังกล่าว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรายอื่นนั้นรับซื้อคืนหน่วยลงทุนโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนในช่วงที่จะมีการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนในครั้งถัดไป ทั้งนี้ เฉพาะการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามคำสั่งของผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นครั้งแรกเท่านั้น

ข้อ 23 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลไม่สามารถดำรงเงินกองทุนตาม

ข้อ 21 ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ในกรณีเป็นการจัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลรายเดิมติดต่อลูกค้าโดยเร็วเพื่อสอบถามความประสงค์ของลูกค้าว่าจะให้จัดการทรัพย์สินของลูกค้าอย่างไร ระหว่างวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้

(ก) เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเพื่อให้ลูกค้ามีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้นโดยตรง

(ข) ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลรายเดิมดำเนินการเพื่อให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลรายอื่นเข้าจัดการกองทุนส่วนบุคคลได้

ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลรายเดิมไม่สามารถติดต่อลูกค้าได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (1) วรรคหนึ่ง (ก)

ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลรายเดิมดำเนินการจัดการทรัพย์สินของลูกค้าตามวิธีการในวรรคหนึ่ง (1) วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามข้อ 21

(2) ในกรณีเป็นการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลรายเดิมติดต่อคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยเร็ว และดำเนินการเพื่อให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลรายอื่นเข้าจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามข้อ 21

ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลรายเดิมต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว

ข้อ 24 ในกรณีเป็นผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางซื้อขายหน่วยลงทุนที่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าและไม่สามารถดำรงเงินกองทุนตามข้อ 21 ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 5 วันทำการนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ว่าไม่สามารถดำรงเงินกองทุนได้ เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันระยะเวลาจากสำนักงานเนื่องจากมีเหตุจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดในคู่มือสำหรับประชาชน

(1) ดำเนินการให้ลูกค้าเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ถือหลักทรัพย์โดยตรง

(2) โอนบัญชีการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าแต่ละรายไปยังผู้ประกอบธุรกิจประเภทหนึ่งประเภทใดดังนี้เป็นผู้ให้บริการแทน ทั้งนี้ ตามที่ลูกค้าแจ้งความประสงค์ไว้

(ก) ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางซื้อขายหน่วยลงทุนรายอื่น

(ข) บริษัทจัดการกองทุนรวมซึ่งเป็นผู้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมนั้น ๆ

ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางซื้อขายหน่วยลงทุนรายเดิมต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว

ข้อ 25 ผู้ประกอบธุรกิจสามารถขอผ่อนผันระยะเวลาในการดำเนินการตามข้อ 19(3) ข้อ 22(1) วรรคหนึ่ง ข้อ 23 วรรคหนึ่ง (1) วรรคสาม หรือวรรคหนึ่ง (2) ได้ตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดในคู่มือสำหรับประชาชนโดยต้องยื่นคำขอต่อสำนักงานล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 วันก่อนครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ สำนักงานจะพิจารณาผ่อนผันโดยคำนึงถึงเหตุจำเป็นและสมควร

ภาค 2

หลักเกณฑ์สำหรับบริษัทจัดการที่บริหารกองอสังหาริมทรัพย์

หรือกองโครงสร้างพื้นฐาน

ข้อ 26 ให้บริษัทจัดการที่บริหารกองอสังหาริมทรัพย์หรือกองโครงสร้างพื้นฐานที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในข้อ 27

(1) มีการจัดการกองทุนรวมหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยมีส่วนของผู้ถือหุ้น ณ วันสุดท้ายของเดือนใด ๆ ไม่ถึง 30 ล้านบาท แต่ไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท

(2) มีการจัดการเฉพาะกองทุนส่วนบุคคลที่ไม่รวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยมีส่วนของผู้ถือหุ้น ณ วันสุดท้ายของเดือนใด ๆ ไม่ถึง 15 ล้านบาท แต่ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับบริษัทจัดการที่มีการกำกับดูแลฐานะทางการเงินตามกฎหมายอื่น

ข้อ 27 ให้บริษัทจัดการที่มีหน้าที่ตามข้อ 26 ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) รายงานส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสำนักงานภายในวันทำการถัดจากวันที่บริษัทจัดการรู้หรือควรรู้ว่าส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าจำนวนดังนี้ แล้วแต่กรณี

(ก) 30 ล้านบาท ในกรณีเป็นบริษัทจัดการที่มีการจัดการกองทุนรวมหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(ข) 15 ล้านบาท ในกรณีเป็นบริษัทจัดการที่มีการจัดการเฉพาะกองทุนส่วนบุคคลที่ไม่รวมถึงกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(2) จัดทำแผนการปรับปรุงเพื่อให้มีส่วนของผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าจำนวนตามวรรคหนึ่ง (1) (ก) หรือ (ข) แล้วแต่กรณี และให้ยื่นต่อสำนักงานภายใน 15 วันนับแต่วันที่บริษัทจัดการรู้หรือควรรู้ว่าส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าจำนวนดังกล่าว เว้นแต่ก่อนพ้นกำหนดเวลาบริษัทจัดการสามารถเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้นให้เป็นไปตามจำนวนดังกล่าวได้

(3) ดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามแผนการปรับปรุงที่ได้ยื่นต่อสำนักงานตามวรรคหนึ่ง (2) และรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนดังกล่าว ตลอดจนรายงานส่วนของผู้ถือหุ้น ณ วันสุดท้ายของเดือนต่อสำนักงานภายในวันทำการที่ 7 ของเดือนถัดไป ทั้งนี้ จนกว่าบริษัทจัดการจะมีส่วนของผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าจำนวนตามวรรคหนึ่ง (1) (ก) หรือ (ข) แล้วแต่กรณี

ให้บริษัทจัดการแจ้งต่อสำนักงานเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันทำการถัดจากวันที่บริษัทจัดการนั้นสามารถดำรงส่วนของผู้ถือหุ้นได้โดยมีจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนตามวรรคหนึ่ง (1) (ก) หรือ (ข) แล้วแต่กรณี

ข้อ 28 ในกรณีที่บริษัทจัดการที่บริหารกองอสังหาริมทรัพย์หรือกองโครงสร้างพื้นฐานไม่สามารถดำรงเงินกองทุนตามประกาศการดำรงเงินกองทุน ให้บริษัทจัดการดังกล่าวปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) รายงานต่อสำนักงานภายในวันทำการถัดจากวันที่บริษัทจัดการรู้หรือควรรู้ถึงการไม่สามารถดำรงเงินกองทุนดังกล่าว

(2) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังนี้ แล้วแต่กรณี

(ก) ในกรณีเป็นบริษัทจัดการกองทุนรวม ให้ดำเนินการตามข้อ 29

(ข) ในกรณีเป็นบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้ดำเนินการตามข้อ 30

(3) กระทำการหรืองดเว้นการกระทำอื่นใดตามที่สำนักงานกำหนด เพื่อให้บริษัทจัดการสามารถกลับมาดำรงเงินกองทุนได้ตามประกาศการดำรงเงินกองทุน

ข้อ 29 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถดำรงเงินกองทุนตามข้อ 28ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรายอื่นเข้าจัดการกองทุนรวม ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อ 31 ภายใน 15 วันนับแต่วันที่บริษัทจัดการรายเดิมรู้หรือควรรู้ถึงการไม่สามารถดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนดังกล่าว เว้นแต่มีเหตุจำเป็นและสมควร สำนักงานอาจพิจารณาขยายระยะเวลาออกไปได้ ทั้งนี้ การคัดเลือกบริษัทจัดการกองทุนรวมรายอื่นนั้นต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสำคัญ และในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนบริษัทจัดการกองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนรวมรายเดิมต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว

หากบริษัทจัดการกองทุนรวมรายเดิมไม่สามารถดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดตาม (1) วรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการดำเนินการเลิกกองทุนรวม

(2) ระงับการประกอบธุรกิจการจัดการกองทุนรวมจนกว่าจะสามารถดำรงเงินกองทุนได้ตามประกาศการดำรงเงินกองทุน และได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้ดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรเพื่อป้องกันมิให้มูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวมซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการได้รับความเสียหาย เพื่อใช้สิทธิเพื่อประโยชน์ของกองทุนรวมในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ลงทุน หรือเพื่อเปลี่ยนตราสารที่ครบกำหนดไถ่ถอนกับผู้ออกตราสารดังกล่าว

ข้อ 30 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลไม่สามารถดำรงเงินกองทุนตามข้อ 28 ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้ด้วย

(1) รายงานให้ลูกค้าทราบถึงการไม่สามารถดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนภายในวันทำการถัดจากวันที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลรู้หรือควรรู้ถึงการไม่สามารถดำรงเงินกองทุนดังกล่าว

(2) ห้ามมิให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลกับลูกค้ารายใหม่ หรือยอมให้ลูกค้าเพิ่มเงินทุนของกองทุนส่วนบุคคล หรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อความ ในสัญญากับลูกค้ารายเดิมอันอาจส่งผลกระทบต่อความเพียงพอของเงินกองทุน แต่ไม่รวมถึง

(ก) การบริหารเงินสะสมและเงินสมทบของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เป็นลูกค้าอยู่แล้วในขณะนั้น

(ข) การจ่ายเงินให้แก่สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สิ้นสมาชิกภาพ

(3) หากบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลได้รับแจ้งจากลูกค้าว่าประสงค์จะเปลี่ยนให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลรายอื่นเป็นผู้รับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวเปลี่ยนให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลรายอื่นเข้าจัดการกองทุนส่วนบุคคลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากลูกค้า ทั้งนี้ ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนบริษัทจัดการกองทุน ส่วนบุคคล ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลรายเดิมเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว

ข้อ 31 ในการเปลี่ยนบริษัทจัดการกองทุนรวมตามข้อ 29(1) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรายเดิม ดำเนินการด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) ขอมติโดยเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งคิดตามจำนวนหน่วยลงทุนรวมกันเกินร้อยละ 50 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวมนั้น

(2) ขอรับความเห็นชอบจากสำนักงาน

ภาค 3

บทเฉพาะกาล

ข้อ 32 ในกรณีที่บริษัทจัดการที่ไม่บริหารกองอสังหาริมทรัพย์และกองโครงสร้างพื้นฐานหรือผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทำประกันภัยความรับผิดที่เกิดขึ้นจากการประกอบวิชาชีพเพื่อการดำรงเงินกองทุนไว้ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ บริษัทจัดการสามารถใช้วงเงินคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวเพื่อทดแทนเงินกองทุนสภาพคล่องสำหรับการดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความรับผิดจากการปฏิบัติงานตามประกาศการดำรงเงินกองทุนได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในข้อ 12 ทั้งนี้ เมื่อครบระยะเวลา 1 ปีนับจากวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับแล้ว หากบริษัทจัดการประสงค์จะใช้วงเงินคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวเพื่อทดแทนเงินกองทุนสภาพคล่องต่อไป การใช้กรมธรรม์ประกันภัยนั้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 12 ด้วย

ประกาศ ณ วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2561

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่มา: http://www.sec.or.th/


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ