ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สน. 7/2562 เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับระบบงานและการจัดการของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 1, 2019 11:35 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สน. 7/2562

เรื่อง หลักเกณฑ์ในรายละเอียดเกี่ยวกับระบบงานและการจัดการ

ของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือ

ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ

__________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 109 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และข้อ 5(1) ประกอบกับข้อ 12 วรรคหนึ่ง (6) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 35/2556 เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556 และข้อ 5 วรรคสาม ประกอบกับข้อ 6 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 15/2560 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 และข้อ 5/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 15/2560 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 6/2562 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้ง และจัดการของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 สำนักงานออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 13/2560 เรื่อง ระบบงานและการรายงานเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ข้อ 2 ในประกาศนี้

“กองทุนรวม” หมายความว่า กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษตามประกาศการจัดตั้งและจัดการกองทุน UI

“บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม

“สัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายต่างประเทศที่มีลักษณะในทำนองเดียวกันรวมถึงตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่มีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

“ตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง” หมายความว่า ตราสารทางการเงินหรือสัญญาซึ่งมีข้อตกลงและเงื่อนไขที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นองค์ประกอบรวมอยู่ด้วย โดยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวมีลักษณะครบถ้วนดังต่อไปนี้

(1) ทำให้การชำระหนี้ที่กำหนดไว้ตามตราสารทางการเงินหรือสัญญาดังกล่าวไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องมาจากปัจจัยอ้างอิงตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้น เช่น อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ราคาหลักทรัพย์ หรือดัชนีราคาทรัพย์สิน เป็นต้น

(2) มีลักษณะในเชิงเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่ไม่สัมพันธ์กับตราสารทางการเงินหรือสัญญาดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ

(3) เป็นผลให้สถานะความเสี่ยงโดยรวมและราคาของตราสารทางการเงินหรือสัญญาดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

“การลงทุนแบบซับซ้อนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า การลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีกลยุทธ์แบบซับซ้อน (complex strategic investment) หรือการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีความซับซ้อน (exotic derivatives)

“มูลค่าหน่วยลงทุน” หมายความว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิหารด้วยจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดเมื่อสิ้นวันทำการที่คำนวณนั้น

“วันทำการซื้อขายหน่วยลงทุน” หมายความว่า วันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนที่บริษัทจัดการกำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม

“วันทำการ” หมายความว่า วันเปิดทำการตามปกติของบริษัทจัดการ

“ประกาศการจัดตั้งและจัดการกองทุน UI” หมายความว่า ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทน. 15/2560 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบัน หรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

“ประกาศการจัดการกองทุนทั่วไป” หมายความว่า ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สน. 87/2558 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ข้อ 3 ข้อกำหนดในรายละเอียดตามประกาศนี้ กำหนดขึ้นเพื่อให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยมาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและประกาศการจัดตั้งและการจัดการกองทุน UI ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อกำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

(1) การคำนวณและประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุน ราคาขายและราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุน ให้เป็นไปตามหมวด 1

(2) การชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุน ให้เป็นไปตามหมวด 2

(3) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการ ให้เป็นไปตามหมวด 3

(4) การจัดส่งรายงานเพื่อแสดงข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนรวม ให้เป็นไปตามหมวด 4

(5) ระบบงานและการรายงานการทำธุรกรรมอย่างมีนัยสำคัญ ให้เป็นไปตามหมวด 5

(6) ระบบงานสำหรับการลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ให้เป็นไปตามหมวด 6

หมวด 1

การคำนวณและประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุน

ราคาขายและราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุน

ข้อ 4 ให้บริษัทจัดการคำนวณและประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน ราคาขายและราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ การกำหนดความถี่ในการดำเนินการดังกล่าวต้องสอดคล้องกับนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมและคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ

(1) คำนวณและประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนอย่างน้อยในวันดังนี้

(ก) คำนวณทุกสิ้นวันทำการก่อนวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุน และประกาศภายในวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุน

(ข) คำนวณทุกสิ้นวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุน และประกาศภายในวันทำการถัดไป

(ค) คำนวณทุกสิ้นวันที่เกิดเหตุการณ์ที่น่าเชื่อได้ว่าจะมีผลกระทบต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิหรือมูลค่าหน่วยลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

(2) คำนวณและประกาศราคาขายและราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนอย่างน้อยในวันดังนี้

(ก) คำนวณทุกสิ้นวันทำการก่อนวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุน และประกาศภายในวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุน

(ข) คำนวณทุกสิ้นวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนโดยใช้มูลค่าหน่วยลงทุนของวันดังกล่าวเป็นเกณฑ์ในการคำนวณราคา และประกาศภายในวันทำการถัดไป

หมวด 2

การชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุน

ข้อ 5 ให้บริษัทจัดการชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ขายคืนหน่วยลงทุนภายใน 5 วันทำการ เว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในโครงการจัดการกองทุนรวม ทั้งนี้ ระยะเวลาที่กำหนดต้องสอดคล้องกับนโยบายการลงทุนของกองทุน และคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ

หมวด 3

การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการ

ข้อ 6 บริษัทจัดการจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการได้ต่อเมื่อมีการกำหนดอัตราและวิธีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมและหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1) การเรียกเก็บเป็นจำนวนคงที่ หรือเป็นอัตราร้อยละของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม หรือเป็นอัตราคงที่ต่อหน่วยลงทุน

(2) การเรียกเก็บโดยอิงกับผลการดำเนินงาน (performance based management fee) โดยบริษัทจัดการต้องเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการและตัวอย่างการคำนวณค่าธรรมเนียม ทั้งนี้ การเรียกเก็บดังกล่าวต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับนโยบายการลงทุนด้วย

ค่าธรรมเนียมซึ่งเรียกเก็บจากกองทุนรวม เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินกว่าอัตราขั้นสูงของค่าธรรมเนียมรวม ที่ระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมและหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน

หมวด 4

การจัดส่งรายงานเพื่อแสดงข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนรวม

ข้อ 7 ในการจัดส่งรายงานเพื่อแสดงข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนรวมทุกรอบระยะเวลาบัญชี และทุกรอบระยะเวลา 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชีหรือของปีปฏิทินตามข้อ 3 แห่งประกาศ การจัดตั้งและจัดการกองทุน UI ประกอบกับข้อ 35 ข้อ 36 และข้อ 37 แห่งประกาศการจัดการกองทุนทั่วไป ให้บริษัทจัดการดำเนินการจัดส่งแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนและสำนักงานภายใน 4 เดือน นับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีหรือรอบระยะเวลา 6 เดือน แล้วแต่กรณี

หมวด 5

ระบบงานและการรายงานการทำธุรกรรมอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อ 8 ความในหมวดนี้ให้ใช้บังคับกับกองทุนรวมที่มีการทำธุรกรรมอย่างมีนัยสำคัญในธุรกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้

(1) สัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(2) การกู้ยืมเงินเพื่อประโยชน์ในการจัดการลงทุนของกองทุนรวม

(3) การขายหลักทรัพย์หรือตราสารหนี้โดยมีสัญญาซื้อคืนเพื่อประโยชน์ในการจัดการลงทุนของกองทุนรวม

(4) การขายหลักทรัพย์ที่ต้องยืมหลักทรัพย์มาเพื่อการส่งมอบ

เพื่อประโยชน์ตามความในวรรคหนึ่ง คำว่า “การทำธุรกรรมอย่างมีนัยสำคัญ” หมายความว่า การทำธุรกรรมของกองทุนรวมในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) การทำธุรกรรมที่เป็นการลงทุนแบบซับซ้อนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและมีมูลค่าความเสียหายสูงสุด (value-at-risk : VaR) ที่เกิดจากการทำธุรกรรมตามวรรคหนึ่ง (1) (2) (3) หรือ (4) รวมกันดังนี้

(ก) เกินกว่า 2 เท่าของตัวชี้วัดของกองทุนรวม (benchmark) สำหรับกรณีที่เป็นการคำนวณโดยใช้วิธี relative VaR approach

(ข) เกินกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม สำหรับกรณีที่เป็นการคำนวณโดยใช้วิธี absolute VaR approach

(2) การทำธุรกรรมโดยมีมูลค่าการทำธุรกรรมตามวรรคหนึ่ง (1) (2) (3) หรือ (4) รวมกันแล้วเกินกว่าร้อยละ 100 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ทั้งนี้ โดยกองทุนรวมต้องไม่มีการลงทุนแบบซับซ้อนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข้อ 9 บริษัทจัดการต้องจัดให้มีระบบงานในการบริหารและจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมอย่างมีนัยสำคัญ โดยระบบงานดังกล่าวอย่างน้อยต้องครอบคลุมในเรื่องการติดตามและประเมินผลขาดทุน รวมถึงการจำกัดผลขาดทุนด้วย

ข้อ 10 ให้บริษัทจัดการจัดทำและจัดส่งรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมอย่างมีนัยสำคัญดังต่อไปนี้ ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนและสำนักงานทุกรอบระยะเวลาบัญชี

(1) ข้อมูลฐานะการลงทุนที่เกิดขึ้นจริง

(2) บทวิเคราะห์และคำอธิบายเกี่ยวกับผลตอบแทนและความเสี่ยง

(3) รายงานมูลค่าความเสียหายสูงสุด (VaR)

ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ให้บริษัทจัดการจัดทำและจัดส่งรายงานข้อมูลตามวรรคหนึ่งทุกรอบระยะเวลา 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชีหรือของปีปฏิทินด้วย

ข้อ 11 ในการจัดส่งรายงานตามข้อ 10 ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน ให้บริษัทจัดการจัดส่งไปพร้อมกับรายงานเพื่อแสดงข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนรวมซึ่งบริษัทจัดการมีหน้าที่ต้องจัดส่งให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน ทุกรอบระยะเวลาบัญชีหรือทุกรอบระยะเวลา 6 เดือน ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 12 แล้วแต่กรณี

ข้อ 12 ให้บริษัทจัดการจัดทำและจัดส่งรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมอย่างมีนัยสำคัญดังต่อไปนี้ต่อสำนักงานเป็นรายเดือนภายในวันที่ 20 ของเดือนถัดไป

(1) รายงานมูลค่าความเสียหายสูงสุด (VaR) ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการเปิดเผยรายงานดังกล่าวเป็นรายเดือนบนเว็บไซต์ของบริษัทจัดการด้วย

(2) รายงานผลการทดสอบผลกระทบต่อมูลค่าทรัพย์สินที่กองทุนรวมมีการลงทุนหากเกิดเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญ (stress test)

ข้อ 13 ในการจัดส่งรายงานตามข้อ 10 และข้อ 12 ต่อสำนักงาน ให้บริษัทจัดการจัดส่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักงานจัดไว้ โดยดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการรับส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

หมวด 6

ระบบงานสำหรับการลงทุนในกองทุนต่างประเทศ

ข้อ 14 ในกรณีที่กองทุนรวมมีนโยบายการลงทุนในกองทุนต่างประเทศ บริษัทจัดการต้องจัดให้มีระบบงานเพิ่มเติมในการตรวจสอบและสอบทาน (due diligence process) เกี่ยวกับกองทุนต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากองทุนต่างประเทศนั้นมีมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ลงทุนอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ ตามแนวทางที่สำนักงานกำหนด

ข้อ 15 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

(นายรพี สุจริตกุล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่มา: http://www.sec.or.th/


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ