ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทน. 11/2564 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 29, 2021 13:27 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน
ที่ ทน. 11/2564.
เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวม
เพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุน
ประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551  มาตรา 109 วรรคหนึ่ง และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และ
ตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535  มาตรา 133 วรรคสอง มาตรา 134 วรรคหนึ่ง และมาตรา 140 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542  และมาตรา 129/3 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562  คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1   ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2564  เป็นต้นไป
ข้อ 2   ให้ยกเลิก
                    (1)  ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 89/2558  เรื่อง หลักเกณฑ์
การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวม
เพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558
                    (2)  ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 17/2560  เรื่อง หลักเกณฑ์
การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวม
เพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
(3)  ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 57/2560  เรื่อง หลักเกณฑ์
การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวม
เพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
(4)  ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 16/2561  เรื่อง หลักเกณฑ์
การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวม
เพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2561
(5)  ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 73/2561  เรื่อง หลักเกณฑ์
การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวม
เพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
(6)  ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 12/2562  เรื่อง หลักเกณฑ์
การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวม
เพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562
(7)  ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 64/2562  เรื่อง หลักเกณฑ์
การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวม
เพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2562
(8)  ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 32/2563  เรื่อง หลักเกณฑ์
การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวม
เพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 8) ลงวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2563
                    (9)  ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 60/2563  เรื่อง หลักเกณฑ์
การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวม
เพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2563
(10)  ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 77/2563  เรื่อง หลักเกณฑ์
การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวม
เพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563
          ข้อ 3   ในประกาศนี้
          คำว่า ?ผู้ลงทุนสถาบัน? ?ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ? และ ?ผู้ลงทุนรายใหญ่? ให้มีความหมายเช่นเดียวกับความหมายของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ
ตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่  เว้นแต่จะมีข้อความใดในประกาศนี้ที่แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
           คำว่า ?กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ? ?กองทุนรวมเพื่อการออม? ?กองทุนรวมดัชนี? ?กองทุนรวมตลาดเงิน? ?กองทุนรวมฟีดเดอร์? ?กองทุนรวมมีประกัน? ?กองทุนรวมวายุภักษ์?
?กองทุนรวมหน่วยลงทุน? ?กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม? และ ?กองทุนรวมอีทีเอฟ?  หมายความว่า   กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะของกองทุนรวมดังกล่าวตามประกาศการลงทุน
          ?ประกาศการลงทุน?  หมายความว่า   ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน
ว่าด้วยการลงทุนของกองทุน
          ?กองทุน?  หมายความว่า   กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
แล้วแต่กรณี  เว้นแต่จะมีข้อความใดในประกาศนี้ที่แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
          ?กองทุนรวม?  หมายความว่า   กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อ
ผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย และกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน
                    ?กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป?  หมายความว่า   กองทุนรวมที่ประสงค์จะเสนอขายหน่วยลงทุนต่อผู้ลงทุนเป็นการทั่วไป โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ลงทุนที่จะซื้อหน่วยลงทุนไว้เฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ผู้ลงทุนรายใหญ่และผู้มีเงินลงทุนสูง แต่ไม่รวมถึงกองทุนรวมวายุภักษ์
                    ?กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย?  หมายความว่า   กองทุนรวมที่มีนโยบาย
การลงทุนในลักษณะผ่อนคลายกว่ากองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป และจำกัดการเสนอขายและ
การถือหน่วยลงทุนไว้เฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่และผู้มีเงินลงทุนสูง
                    ?ผู้มีเงินลงทุนสูง?  หมายความว่า   ผู้ที่จะลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวม
ในครั้งแรกตั้งแต่ 500,000 บาทขึ้นไป (initial minimum subscription)
                    ?กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน?  หมายความว่า   กองทุนรวมที่ได้รับอนุมัติ
จากสำนักงานให้จัดตั้งอยู่แล้วก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับซึ่งมีผู้ถือหน่วยทั้งหมดเป็นผู้ลงทุนประเภทสถาบัน  ทั้งนี้ ตามบทนิยามคำว่า ?ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน? แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการ
กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 22/2552  เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
                     ?กองทุนรวมหุ้นระยะยาว?  หมายความว่า   กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นก่อนวันที่
1 มกราคม พ.ศ. 2563  และมีนโยบายการลงทุนในลักษณะของกองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามประกาศการลงทุน
                     ?กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ?  หมายความว่า   กองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
                    ?กองทุนต่างประเทศ?  หมายความว่า   กองทุนใดกองทุนหนึ่งดังต่อไปนี้
                    (1)  กองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเป็นโครงการลงทุนแบบกลุ่ม (collective investment scheme)  ทั้งนี้ ไม่ว่ากองทุนดังกล่าวจะจัดตั้งในรูปบริษัท ทรัสต์ หรือรูปอื่นใด
                    (2)  กองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการลงทุน
ในทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure fund)  ทั้งนี้ ไม่ว่ากองทุนดังกล่าวจะจัดตั้ง
ในรูปแบบบริษัท ทรัสต์ หรือรูปอื่นใด
                    (3)  กองทรัสต์หรือกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก
ในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือในกิจการที่ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์  ทั้งนี้
ไม่ว่ากองทรัสต์หรือกองทุนดังกล่าวจะจัดตั้งในรูปบริษัท ทรัสต์ หรือรูปอื่นใด
                     ?ลงทุน?  หมายความว่า   การจัดการลงทุนในทรัพย์สินหรือการเข้าเป็นคู่สัญญา
ในธุรกรรมทางการเงิน หรือการได้มาหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินหรือธุรกรรมดังกล่าว
                    ?บริษัทจัดการ?  หมายความว่า   บริษัทจัดการกองทุนรวม หรือบริษัทจัดการกองทุน
ส่วนบุคคล แล้วแต่กรณี
                    ?บริษัทจัดการกองทุนรวม?  หมายความว่า   บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
                    ?บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคล?  หมายความว่า   บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
                    ?ผู้จัดการกองทุน?  หมายความว่า   ผู้จัดการกองทุนรวมหรือผู้จัดการกองทุน
ส่วนบุคคลซึ่งทำหน้าที่ตัดสินใจลงทุนหรือจำหน่ายไปซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นใดที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์ สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือหาดอกผลโดยวิธีอื่น
                    ?โครงการ?  หมายความว่า   โครงการจัดการกองทุนรวม
                    ?สมาคม?  หมายความว่า   สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาต
ให้จัดตั้งและจดทะเบียนกับสำนักงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่เกี่ยวกับการจัดการลงทุน
                    ?ผู้ดูแลผลประโยชน์?  หมายความว่า   ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม                                          ?มูลค่าหน่วยลงทุน?  หมายความว่า   มูลค่าทรัพย์สินสุทธิหารด้วยจำนวนหน่วยลงทุน
ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดเมื่อสิ้นวันทำการที่คำนวณนั้น
                    ?ข้อผูกพัน?  หมายความว่า   ข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการ
กองทุนรวมตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุน
กับบริษัทจัดการกองทุนรวม
                    ?มติพิเศษ?  หมายความว่า   มติของผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า
3 ใน 4 ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งเข้าร่วมประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน หรือของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งส่งหนังสือแจ้งมติและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
                    ?มติเสียงข้างมาก?  หมายความว่า   มติของผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีคะแนนเสียงข้างมากของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งเข้าร่วมประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
หรือของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งส่งหนังสือแจ้งมติและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
                    ?วันทำการ?  หมายความว่า   วันเปิดทำการตามปกติของบริษัทจัดการ
                    ?วันทำการซื้อขายหน่วยลงทุน?  หมายความว่า   วันทำการซื้อขายหน่วยลงทุน
ที่บริษัทจัดการกองทุนรวมกำหนดไว้ในโครงการ

                    ?ตลาดหลักทรัพย์?  หมายความว่า   ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
                     ?เงินทุนจดทะเบียน?  หมายความว่า   เงินทุนที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับจาก
การจำหน่ายหน่วยลงทุนและนำมาจดทะเบียนไว้กับสำนักงาน
                    ?เงินทุนโครงการ?  หมายความว่า   เงินทุนโครงการที่บริษัทจัดการกองทุนรวม
ยื่นขอจดทะเบียนไว้กับสำนักงานตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการจดทะเบียน
กองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมและการแก้ไขเพิ่มเติมรายการทางทะเบียน
                    ?ควบรวมกองทุนรวม?  หมายความว่า   การควบกองทุนรวมหรือการรวมกองทุนรวม แล้วแต่กรณี
                    ?ควบกองทุนรวม?  หมายความว่า   การควบกองทุนรวมตั้งแต่ 2 กองทุนรวมขึ้นไป
เข้าเป็นกองทุนรวมเดียว โดยจัดตั้งกองทุนรวมใหม่ขึ้นมาเพื่อซื้อหรือรับโอนทรัพย์สิน สิทธิ และหน้าที่
ของกองทุนรวมเดิม และเลิกกองทุนรวมเดิม
                    ?รวมกองทุนรวม?  หมายความว่า   การรวมกองทุนรวมตั้งแต่ 2 กองทุนรวมขึ้นไป
เข้าเป็นกองทุนรวมเดียว โดยกองทุนรวมที่รับโอนซื้อหรือรับโอนทรัพย์สิน สิทธิ และหน้าที่ของ
กองทุนรวมที่โอนมาเป็นของตน และเลิกกองทุนรวมที่โอน
                    ?กองทุนรวมใหม่?  หมายความว่า   กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในการควบกองทุนรวม
                    ?กองทุนรวมเดิม?  หมายความว่า   กองทุนรวมที่ทำการควบกองทุนรวมเข้าด้วยกัน
                     ?ผู้ประกัน?  หมายความว่า   ผู้ที่ทำสัญญาประกันกับบริษัทจัดการกองทุนรวม
ในการให้ประกันว่าผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับชำระเงินลงทุน หรือเงินลงทุนและผลตอบแทน
แล้วแต่กรณี ตามจำนวนที่รับประกันไว้
          ข้อ 4   ประกาศฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการกำหนดมาตรฐานการจัดการกองทุน เพื่อให้บริษัทจัดการดูแลและจัดการกองทุนดังกล่าวด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยใช้ความรู้ ความสามารถและความชำนาญ และด้วยความเอาใจใส่และระมัดระวังตามมาตรฐานหรือเยี่ยงผู้มีวิชาชีพในลักษณะเดียวกันจะพึงกระทำ





หมวด 1
หลักเกณฑ์ทั่วไป
          ข้อ 5   ในการจัดการกองทุน บริษัทจัดการต้องแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนในลักษณะ
ที่เหมาะสม โดยบุคคลที่จะแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการกองทุนจะต้องเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการ
กำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน
          ข้อ 6   บริษัทจัดการต้องจัดให้มีการวัดผลการดำเนินงานของกองทุนอย่างสม่ำเสมอ และเปิดเผยผลการดำเนินงานตลอดจนข้อมูลอื่นที่เกี่ยวกับความเป็นไปของกองทุนนั้นในแต่ละช่วงเวลา เช่น รายละเอียดการลงทุน ฐานะการเงิน ค่าใช้จ่าย และความเห็นของผู้ดูแลผลประโยชน์ (ถ้ามี) เป็นต้น ต่อผู้ลงทุนและบุคคลทั่วไปด้วยวิธีการที่เพียงพอที่จะทำให้ผู้ลงทุนและบุคคลทั่วไปรับทราบข้อมูล
อย่างต่อเนื่องทุกช่วงเวลาให้เหมาะสมกับสถานการณ์
          การวัดผลการดำเนินงาน การคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน และการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักวิชาการอันเป็นที่ยอมรับหรือเป็นมาตรฐานสากล  ทั้งนี้ ตามที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
          ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร ให้สำนักงานมีอำนาจกำหนดให้บริษัทจัดการ
ปฏิบัติเพิ่มเติมหรือแตกต่างจากมาตรฐานการปฏิบัติงานที่สมาคมกำหนดตามวรรคสองได้
                    ข้อ 7   ให้บริษัทจัดการจัดทำงบการเงินของกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติทางการบัญชีว่าด้วยการบัญชีสำหรับกิจการที่ดำเนินธุรกิจเฉพาะด้าน
การลงทุนตามที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน  ทั้งนี้ งบการเงินดังกล่าวต้อง
มีการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชี
ในตลาดทุน หรือโดยผู้สอบบัญชีที่ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีของ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพบางประเภท  เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
(1)  กรณีที่เป็นกองทุนรวมที่มีการเสนอขายหน่วยลงทุนทั้งหมดให้แก่บุคคลซึ่งไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย บริษัทจัดการอาจจัดทำงบการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีของ International Accounting Standards Board หรือ American Institution of Certified Public Accountants หรือ Financial Accounting Standards Board โดยงบการเงินดังกล่าวต้องมีการตรวจสอบและ
แสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีที่สามารถประกอบธุรกิจการเป็นผู้สอบบัญชีได้โดยชอบในประเทศที่มีการเสนอขายหน่วยลงทุนนั้น  ทั้งนี้ บริษัทจัดการต้องกำหนดเรื่องดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนในโครงการ
(2)  กรณีที่เป็นการจัดทำงบการเงินประจำงวดการบัญชีของกองทุนรวมที่มีการเลิกกองทุนรวมภายใน 15 เดือนนับแต่วันที่จดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม หรือเป็นการจัดทำ
งบการเงินประจำงวดการบัญชีสุดท้ายของกองทุนรวม บริษัทจัดการอาจจัดทำงบการเงินประจำงวด
การบัญชีดังกล่าว ณ วันเลิกกองทุนรวมเพียงครั้งเดียวได้ โดยมีระยะเวลาเกิน 12 เดือนแต่ไม่เกิน 15 เดือน
                    ข้อ 8   บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจะกู้ยืมเงิน ก่อภาระผูกพันใด ๆ หรือเข้าทำธุรกรรมการขายโดยมีสัญญาซื้อคืน ในนามของกองทุนส่วนบุคคลได้ต่อเมื่อเป็นไปตามลักษณะดังต่อไปนี้
(1)  เป็นการกู้ยืมเงินเพื่อการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์
หรือสถาบันการเงินต่างประเทศที่สามารถให้บริการธุรกรรมดังกล่าวได้ตามกฎหมายของประเทศที่
สถาบันการเงินนั้นให้บริการ
(2)  เป็นการก่อภาระผูกพันที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนของกองทุนส่วนบุคคลที่สามารถดำเนินการได้ตามประกาศการลงทุน
(3)  เป็นการเข้าทำธุรกรรมการขายโดยมีสัญญาซื้อคืนหลักทรัพย์เพื่อประโยชน์
ในการบริหารสภาพคล่องของลูกค้า โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(ก)  คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต้องเป็นผู้ลงทุนสถาบัน
ให้คำว่า ?ผู้ลงทุนสถาบัน? ตามวรรคหนึ่ง  หมายความว่า   ผู้ลงทุนสถาบัน
ตามข้อ 4(1) ถึง (23) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 4/2560  เรื่อง การกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ และผู้ลงทุนรายใหญ่ ลงวันที่
8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
(ข)  มีการระบุเรื่องดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนในสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล
                     ข้อ 9   ในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการกองทุน บริษัทจัดการต้องเปิดเผย
ข้อมูลที่มีความถูกต้อง เป็นปัจจุบัน และไม่มีลักษณะที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง





หมวด 2
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับการจัดการกองทุนรวม
ส่วนที่ 1
บททั่วไป
                     ข้อ 10   บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องดูแลให้โครงการและข้อผูกพันเป็นไป
ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนประกาศ กฎ และคำสั่ง ที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว
                    ในกรณีที่ข้อกำหนดในโครงการหรือข้อผูกพันขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ในกฎหมาย ประกาศ กฎ หรือคำสั่งตามวรรคหนึ่ง  ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขโครงการหรือข้อผูกพันโดยไม่ชักช้า  เว้นแต่เป็นกรณีที่หลักเกณฑ์ในกฎหมาย ประกาศ กฎ หรือคำสั่งดังกล่าว
เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว  ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม
หลักเกณฑ์ดังกล่าวในลักษณะที่ผู้ถือหน่วยลงทุนและผู้ลงทุนทั่วไปสามารถเข้าตรวจดูได้ รวมถึงแจ้งให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมและสำนักงานทราบแทนการดำเนินการดังกล่าวโดยไม่ชักช้า
                     ข้อ 11   บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องกำหนดชื่อของกองทุนรวมให้เป็นไปตาม
ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปและเพื่อผู้ลงทุน
ที่มิใช่รายย่อย และการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล
                    ข้อ 12   บริษัทจัดการกองทุนรวมจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม เงินตอบแทนอื่นใด
หรือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควร จากผู้ซื้อหน่วยลงทุน ผู้ถือหน่วยลงทุน ผู้ขายคืนหน่วยลงทุน
หรือกองทุนรวมได้ต่อเมื่อมีการกำหนดอัตราและวิธีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม เงินตอบแทนอื่นใด
หรือค่าใช้จ่ายดังกล่าวไว้ในโครงการและหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นไป
ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
                    (1)  การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการโฆษณาจากกองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนรวม
ต้องกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายขั้นสูงที่จะเรียกเก็บจากกองทุนรวม และเรียกเก็บได้ไม่เกินอัตราดังกล่าว                    (2)  การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการ ให้เลือกปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
          (ก)  เรียกเก็บเป็นจำนวนคงที่ หรือเป็นอัตราร้อยละของมูลค่าทรัพย์สินหรือ
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม หรือเป็นอัตราคงที่ต่อหน่วยลงทุน
          (ข)  เรียกเก็บโดยอิงกับผลการดำเนินงาน (performance based management fee)
ทั้งนี้ โดยให้เรียกเก็บได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด
                    (3)  เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิด
ในแต่ละครั้งจากผู้ลงทุน แทนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขายรายปีจากกองทุนรวม
                    ค่าธรรมเนียม เงินตอบแทน และค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่สามารถประมาณการได้ซึ่งเรียกเก็บ
จากกองทุนรวม เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินกว่าอัตราขั้นสูงของยอดรวมค่าธรรมเนียม เงินตอบแทน
และค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่สามารถประมาณการได้ ที่ระบุไว้ในโครงการและหนังสือชี้ชวนเสนอขาย
หน่วยลงทุนของกองทุนรวม
                    ข้อ 13   ในกรณีที่กองทุนรวมมีมูลค่าน้อยกว่า 50 ล้านบาท ให้บริษัทจัดการ
กองทุนรวมกำหนดวิธีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการเป็นอัตราร้อยละของมูลค่าทรัพย์สินหรือ
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมเท่านั้น
                    ในกรณีที่มูลค่าของกองทุนรวมในขณะจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม
มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท  หากต่อมากองทุนรวมดังกล่าวมีมูลค่าลดลงน้อยกว่า 50 ล้านบาท
ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่งตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
                    (1)  ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการเป็นอัตรา
ร้อยละของมูลค่าทรัพย์สินหรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมไว้อยู่แล้ว ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บ
ตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นอัตราร้อยละที่ไม่สูงกว่าอัตราร้อยละของค่าธรรมเนียมเดิมที่บริษัทจัดการ
กองทุนรวมเรียกเก็บในช่วงเวลาที่กองทุนรวมมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาทโดยคำนวณตามมูลค่า
ที่ตราไว้ของหน่วยลงทุน
                    (2)  ในกรณีอื่นนอกเหนือจากกรณีตามวรรคสอง (1) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวม
เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่งในอัตราที่แสดงได้ว่าเหมาะสมและเป็นธรรม  ทั้งนี้ โดยได้รับ
ความเห็นชอบจากสำนักงาน
                    มูลค่าของกองทุนรวมตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้คำนวณตามมูลค่าที่ตราไว้
ของหน่วยลงทุน
                    ข้อ 14   ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ห้ามบริษัทจัดการ
กองทุนรวมเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนเกินกว่าจำนวนเงินทุนโครงการที่จดทะเบียนไว้แล้วจนถึงวันที่
16 มกราคม พ.ศ. 2559  และจะแก้ไขเพื่อเพิ่มเงินทุนโครงการอีกไม่ได้


                     ข้อ 15   ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมมีประกัน เมื่อเกิดหรือรู้ว่าเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ที่ทำให้ต้องจัดให้มีผู้ประกันรายใหม่ บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีผู้ประกันรายใหม่ที่มีคุณสมบัติและ
มีข้อกำหนดตามสัญญาประกันในระดับที่ไม่ต่ำกว่าของผู้ประกันรายเดิม ณ ขณะทำสัญญาเดิมหรือ
ตามที่กำหนดไว้ในข้อผูกพัน แล้วแต่กรณี  เว้นแต่ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
                    (1)  บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับมติพิเศษให้จัดให้มีผู้ประกันรายใหม่เป็นอย่างอื่น
                    (2)  บริษัทจัดการกองทุนรวมได้สงวนสิทธิไว้ในโครงการว่า ในกรณีที่ปรากฏ
เหตุดังกล่าวบริษัทจัดการกองทุนรวมจะเลิกกองทุนรวมมีประกัน หรือจัดการกองทุนรวมดังกล่าวต่อไป
โดยยกเลิกการประกันและเลิกใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน โดยถือว่า
ได้รับมติพิเศษ
                    ในการขอมติพิเศษตามวรรคหนึ่ง (1) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเปิดเผยรายละเอียดซึ่งเป็นสาระสำคัญที่แตกต่างกันระหว่างผู้ประกันรายเดิมกับรายใหม่ และเรื่องที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนที่สืบเนื่องจากการเปลี่ยนผู้ประกันรายใหม่ ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบด้วย
                    ในกรณีที่การจัดให้มีผู้ประกันรายใหม่เกิดขึ้นเนื่องจากความผิดของบริษัทจัดการ
กองทุนรวมเอง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนตัวผู้ประกัน
หรือที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ยังไม่อาจจัดให้มีผู้ประกันรายใหม่ให้แก่กองทุนรวมมีประกันหรือ
ผู้ถือหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี
ส่วนที่ 2
การขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวม
                     ข้อ 16   ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ขายคืน
หน่วยลงทุนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในโครงการซึ่งต้องไม่เกินกว่าระยะเวลาดังนี้
                    (1)  กรณีเป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่เสนอขายภายใต้โครงการ Cross-border
Public Offers of ASEAN Collective Investment Schemes ต้องไม่เกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดตาม Part I :
The Qualifications of the CIS Operator, Trustee / Fund Supervisor, and requirements relating to Approval, Valuation, and Operational Matters ซึ่งอยู่ใน Appendix C : Standards of Qualifying CIS ของ
Memorandum of Understanding on Streamlined Authorisation Framework for Cross-border Public Offers
of ASEAN Collective Investment Schemes
                    (2)  กรณีเป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่เสนอขายภายใต้โครงการ Asia Region Funds Passport ต้องไม่เกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดตาม Annex 3 : Passport Rules ของ Memorandum of
Cooperation on the Establishment and Implementation of the Asia Region Funds Passport
                    (3)  กรณีเป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มุ่งเน้นลงทุนแบบมีความเสี่ยงต่างประเทศ
ตามประกาศการลงทุนซึ่งมิใช่กองทุนรวมตาม (1) และ (2) ต้องไม่เกินกว่า 5 วันทำการนับแต่วันรับซื้อคืนหน่วยลงทุน โดยมิให้นับรวมวันหยุดทำการของผู้ประกอบธุรกิจการจัดการกองทุนต่างประเทศที่มีลักษณะในทำนองเดียวกับธุรกิจการจัดการกองทุนรวม และผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการชำระราคา โดยบริษัทจัดการกองทุนรวมได้ระบุเกี่ยวกับวันหยุดทำการ
ในต่างประเทศดังกล่าวไว้แล้วในโครงการ
                    (4)  กรณีเป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอื่นซึ่งมิใช่กองทุนรวมตาม (1) (2)
และ (3) ต้องไม่เกินกว่า 5 วันทำการนับแต่วันรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
                        ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมยังไม่สามารถชำระค่าขายคืนตามกำหนดเวลา
ในวรรคหนึ่ง เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน
ราคาขายหน่วยลงทุน หรือราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุน ตามที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบ
จากสำนักงาน ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนภายใน 5 วันทำการนับแต่
วันที่เสร็จสิ้นการคำนวณดังกล่าว
                        บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องไม่ชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง
ในวันส่งคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน  เว้นแต่เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในลักษณะของกองทุนรวมตลาดเงินซึ่งได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนสำหรับ
กองทุนรวมดังกล่าวตามที่กำหนดในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ
ตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป
กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย และกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน
                    ข้อ 17   บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องไม่กระทำการใด หรือรู้เห็นหรือตกลงกับ
บุคคลอื่นในการกระทำการใด ที่ส่งผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับประโยชน์เสมือนหนึ่งว่าได้รับชำระ
ค่าขายคืนหน่วยลงทุนโดยไม่เป็นไปตามกำหนดเวลาในข้อ 16
                    ข้อ 18   ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวันหรือเวลา
ในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนให้แตกต่างจากที่กำหนดไว้ในโครงการหรือข้อผูกพันของ
กองทุนรวมเป็นการชั่วคราว อันเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงวันหรือเวลาในการให้บริการของผู้ให้บริการตามที่สำนักงานกำหนดซึ่งส่งผลกระทบต่อการซื้อขายทรัพย์สินที่กองทุนรวมไปลงทุน บริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถดำเนินการดังกล่าวได้เพียงเท่าที่มีความจำเป็น  ทั้งนี้ ให้ถือว่าบริษัทจัดการ
กองทุนรวมได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามโครงการหรือข้อผูกพันแล้ว
                    ข้อ 19   บริษัทจัดการกองทุนรวมจะไม่ขายหรือไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามคำสั่ง
ที่รับไว้แล้ว หรือจะหยุดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนได้ เฉพาะในกรณีที่กำหนดไว้
ในโครงการ ซึ่งต้องไม่เกินกว่ากรณีดังต่อไปนี้
                    (1)  ตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถเปิดทำการซื้อขายได้ตามปกติ
                    (2)  บริษัทจัดการกองทุนรวมพิจารณาแล้ว มีความเชื่อโดยสุจริตและสมเหตุสมผล
ว่าเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งดังนี้ โดยได้รับความเห็นชอบของผู้ดูแลผลประโยชน์แล้ว ซึ่งให้กระทำได้
ไม่เกิน 1 วันทำการ  เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันเวลาดังกล่าวจากสำนักงาน
          (ก)  มีเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถจำหน่าย จ่าย โอน หลักทรัพย์หรือทรัพย์สิน
ของกองทุนรวมเปิดได้อย่างสมเหตุสมผล
          (ข)  ไม่สามารถคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวมเปิดได้อย่างเป็นธรรม
และเหมาะสม
          (ค)  มีเหตุจำเป็นอื่นใดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน
                    (3)  กองทุนรวมได้ลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในต่างประเทศ และมีเหตุการณ์ดังนี้เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อกองทุนรวมอย่างมีนัยสำคัญ
          (ก)  ตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่กองทุนรวมลงทุนไม่สามารถเปิดทำการซื้อขายได้ตามปกติ  ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่กองทุนรวมลงทุนในหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์
แห่งนั้นเกินกว่าร้อยละ 10 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
          (ข)  มีเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้อย่างเสรี
และทำให้ไม่สามารถโอนเงินออกจากประเทศหรือรับโอนเงินจากต่างประเทศได้ตามปกติ หรือ
          (ค)  มีเหตุที่ทำให้กองทุนรวมไม่ได้รับชำระเงินจากหลักทรัพย์หรือทรัพย์สิน
ที่ลงทุนไว้ตามกำหนดเวลาปกติ ซึ่งเหตุดังกล่าวอยู่เหนือการควบคุมของบริษัทจัดการกองทุนรวม
และผู้ดูแลผลประโยชน์เห็นชอบด้วยแล้ว
                    (4)  เป็นการไม่ขายหน่วยลงทุนตามคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนที่รับไว้แล้ว หรือ
เป็นการหยุดรับคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนแก่ผู้ลงทุนเฉพาะราย เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้
          (ก)  บริษัทจัดการกองทุนรวมมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ลงทุนรายนั้น ๆ
มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
                              1.  การกระทำที่เป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินตามกฎหมาย
เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ
                              2.  การให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
                              3.  การกระทำที่เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งเกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน
โดยบุคคลผู้มีอำนาจตามกฎหมาย
          (ข)  บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถดำเนินการรู้จักลูกค้า และตรวจสอบ
เพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าได้ในสาระสำคัญ
                    (5)  อยู่ในระหว่างดำเนินการเปลี่ยนให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรายอื่นเข้าบริหารจัดการกองทุนรวมภายใต้การจัดการของตนอันเนื่องมาจากการที่บริษัทจัดการกองทุนรวมรายเดิม
ไม่สามารถดำรงความเพียงพอของเงินกองทุนได้ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของผู้ประกอบธุรกิจการจัดการกองทุนรวม การจัดการกองทุนส่วนบุคคล การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน และการเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งให้กระทำได้
ไม่เกิน 3 วันทำการ
                    (6)  อยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อเลิกกองทุนรวมตามข้อ 29(4)
                     ข้อ 20   ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นแทนเงินได้ต่อเมื่อบริษัทจัดการกองทุนรวมได้กำหนดกรณีที่เป็นเงื่อนไขการชำระและขั้นตอนการดำเนินการไว้อย่างชัดเจนในข้อผูกพัน โดยขั้นตอนที่กำหนดดังกล่าวต้องสามารถปฏิบัติได้จริง และเป็นธรรมต่อผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดนั้นทุกราย  ทั้งนี้
กรณีที่เป็นเงื่อนไขมีได้เฉพาะกรณีใดกรณีหนึ่งหรือหลายกรณี ดังต่อไปนี้
                    (1)  กองทุนรวมเปิดกำหนดวิธีการชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนให้สามารถชำระ
เป็นหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นแทนเงินไว้เป็นการทั่วไป
                    (2)  การชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุน
นำหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นนั้นไปชำระเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอื่นที่บริษัทจัดการ
กองทุนรวมเดียวกันเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ
                    (3)  บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนเป็นเงิน
                    (4)  ผู้ถือหน่วยลงทุนตกลงรับชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนเป็นหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นแทนเงิน และบริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับมติพิเศษให้ชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุน
เป็นหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นแทนเงินได้
ส่วนที่ 3
การจ่ายเงินปันผล
                    ข้อ 21   เว้นแต่มีหลักเกณฑ์กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามประกาศนี้ การจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวมให้จ่ายได้จากกำไรสะสมหรือกำไรสุทธิ เมื่อกองทุนรวมมีกำไรสะสมหรือมีกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่จะจ่ายเงินปันผล และการจ่ายเงินปันผลดังกล่าวจะต้องไม่ทำให้กองทุนรวม
มีผลขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการจ่ายเงินปันผลนั้น
                     ในกรณีกองทุนรวมเปิด บริษัทจัดการกองทุนรวมจะจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุน
ด้วยวิธีการที่ต่างกันสำหรับหน่วยลงทุนที่ขายในช่วงระยะเวลาที่ต่างกันได้ ต่อเมื่อได้กำหนด
กรณีดังกล่าวไว้ในโครงการ และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานก่อนดำเนินการจ่ายเงินปันผล
ในแต่ละครั้งแล้ว
                    ในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ใช้สิทธิขอรับเงินปันผลจำนวนใดภายในอายุความ
ใช้สิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ห้ามบริษัทจัดการกองทุนรวมนำเงินปันผล
จำนวนดังกล่าวไปใช้เพื่อการอื่นใดนอกจากเพื่อประโยชน์ของกองทุนรวมนั้น
                    ข้อ 22   ห้ามมิให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวม
ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนโดยออกเป็นหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน
                     ข้อ 23   ห้ามมิให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวม
เพื่อการเลี้ยงชีพทุกประเภท
                    ข้อ 24   การจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว จะจ่ายได้เมื่อกองทุนรวม
มีกำไรสะสมและจะต้องไม่ทำให้กองทุนรวมมีผลขาดทุนสะสมในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการจ่าย
เงินปันผลนั้น
                    ในการจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวมหุ้นระยะยาวในแต่ละครั้ง ให้เลือกจ่าย
ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
                    (1)  จ่ายจากเงินปันผลหรือดอกเบี้ยรับที่ได้รับจากทรัพย์สินของกองทุนรวม
                    (2)  จ่ายได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของกำไรสะสมดังกล่าว หรือกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่จะจ่ายเงินปันผลนั้น แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า
                     ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับกับการจ่ายเงินปันผล
ของกองทุนรวมเพื่อการออม โดยอนุโลม
                     ข้อ 25   ในกรณีที่กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรมที่มุ่งลงทุนในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินปันผลหรือเงินตอบแทนอื่นในลักษณะเดียวกัน
จากการลงทุนในทรัพย์สินประเภทใดประเภทหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมนำเงินดังกล่าวจ่ายเป็นเงินปันผลแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวม อย่างน้อย 1 ครั้งในรอบปีบัญชีที่ได้รับประโยชน์ตอบแทน  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด
                    (1)  หน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
                    (2)  หน่วยทรัสต์ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการออกและ
เสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
                    (3)  ตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศที่มีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรงหรือโดยอ้อมผ่านการลงทุนในหน่วยลงทุนตาม (1) หรือหน่วยทรัสต์ตาม (2) รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิล่าสุด ณ วันปิดสมุดทะเบียน
เพื่อจ่ายประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนนั้น
                    (4)  หน่วยของกองทุนต่างประเทศที่มีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย
ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรงหรือโดยอ้อมผ่านการลงทุนในหน่วยลงทุนตาม (1) หน่วยทรัสต์ตาม (2)
หรือตราสารตาม (3) รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิล่าสุด ณ วันปิดสมุดทะเบียนเพื่อจ่ายประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนนั้น
                     ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับกองทุนรวมดังต่อไปนี้
                    (1)  กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
                    (2)  กองทุนรวมเพื่อการออม
ส่วนที่ 4
การควบกองทุนรวมและการรวมกองทุนรวม
                     ข้อ 26   การควบรวมกองทุนรวมต้องเป็นการควบกองทุนรวมหรือการรวมกองทุนรวม
ที่อยู่ภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการกองทุนรวมเดียวกัน โดยบริษัทจัดการกองทุนรวมต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้ถือหน่วยลงทุนของแต่ละกองทุนรวมด้วยความเป็นธรรม
                     ข้อ 27   กองทุนรวมตั้งแต่ 2 กองทุนรวมขึ้นไปจะดำเนินการเพื่อควบรวมกองทุนรวมได้ต่อเมื่อได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุนตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในโครงการและข้อผูกพัน ภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
                     (1)  กรณีการควบรวมกองทุนรวมระหว่างกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุน ความเสี่ยงและระดับความเสี่ยงของการลงทุน (risk spectrum) เดียวกัน บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องได้รับ
มติเสียงข้างมากของแต่ละกองทุนรวมที่จะควบรวมกองทุนรวมดังกล่าว
                    (2)  กรณีการควบรวมกองทุนรวมระหว่างกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุน ความเสี่ยงและระดับความเสี่ยงของการลงทุน (risk spectrum) แตกต่างกัน บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องได้รับ
มติพิเศษของแต่ละกองทุนรวมที่จะควบรวมกองทุนรวมดังกล่าว
                    ข้อ 28   สำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเดิมหรือกองทุนรวมที่โอนที่คัดค้านหรือที่ไม่ได้ออกเสียงในการควบรวมกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดให้มีวิธีการในการให้สิทธิแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวในการที่จะออกจากกองทุนรวมก่อนที่การควบรวมกองทุนรวมแล้วเสร็จ
โดยวิธีการนั้นต้องมีระยะเวลาเพียงพอและเป็นธรรมแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าว  ทั้งนี้ ให้คำนึงถึง
มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน และราคาขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนในเวลาก่อนหน้า
การควบรวมกองทุนรวม ตลอดจนโอกาสในการรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการควบรวมกองทุนรวม
ของผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวด้วย
ส่วนที่ 5
การเลิกกองทุนรวม
                     ข้อ 29   ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการเพื่อเลิกกองทุนรวมตามที่กำหนด
ในข้อ 30 เมื่อปรากฏกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
                    (1)  กรณีกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปหรือกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย
มีจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนลดลงเหลือน้อยกว่า 35 รายในวันทำการใด
                    (2)  กรณีกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน มีจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนลดลงเหลือน้อยกว่า 10 ราย  เว้นแต่เป็นกองทุนรวมดังนี้
                            (ก)  กองทุนรวมที่มีการจำหน่ายหน่วยลงทุนทั้งหมดให้แก่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนประกันสังคม
                            (ข)  กองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศซึ่งจดทะเบียนกองทรัพย์สิน
เป็นกองทุนรวมกับสำนักงานก่อนวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2547  และกองทุนรวมดังกล่าวมี
ผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นบุคคลต่างประเทศที่มีลักษณะทำนองเดียวกับกองทุนรวม กองทุนบำเหน็จ
บำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่านั้น
                    (3)  กรณีที่มีการขายคืนหน่วยลงทุนในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้
                          (ก)  มีการขายคืนหน่วยลงทุนสุทธิ ณ วันใดวันหนึ่งเกินกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
                          (ข)  มียอดรวมการขายคืนหน่วยลงทุนสุทธิในช่วงระยะเวลา 5 วันทำการ
ซื้อขายหน่วยลงทุนใดติดต่อกันคิดเป็นจำนวนเกินกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด  ทั้งนี้ กรณีที่เป็นกองทุนรวมที่มีกำหนดระยะเวลาการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนเป็นช่วง (interval fund) การพิจารณาระยะเวลาการขายคืนหน่วยลงทุน ให้พิจารณาจากเฉพาะในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ซึ่งกองทุนรวมเปิดให้รับซื้อคืนหน่วยลงทุนเท่านั้น
ความใน (3) วรรคหนึ่ง มิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนรวมที่บริษัทจัดการกองทุนรวมพิจารณาแล้ว มีความเชื่อโดยสุจริตและสมเหตุสมผลว่าการเลิกกองทุนรวมจะไม่เป็นประโยชน์ต่อ
ผู้ถือหน่วยลงทุนที่เหลืออยู่เนื่องจากกองทุนรวมยังคงมีทรัพย์สินคงเหลือที่มีคุณภาพและมีสภาพคล่อง
อย่างเพียงพอ และผู้ถือหน่วยลงทุนที่เหลืออยู่จะไม่ได้รับผลกระทบจากการขายคืนนั้น
                    (4)  กรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงซึ่งบริษัทจัดการกองทุนรวมพิจารณาแล้วมีความเชื่อ
โดยสุจริตและสมเหตุสมผลว่าจะมีการขายคืนหน่วยลงทุนตาม (3) วรรคหนึ่ง และการเลิกกองทุนรวมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวม
                    ความในวรรคหนึ่ง (3) และ (4) มิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนรวมดังต่อไปนี้
                    (1)  กองทุนรวมตลาดเงิน
                    (2)  กองทุนรวมดัชนี
                    (3)  กองทุนรวมอีทีเอฟ
                    (4)  กองทุนรวมหน่วยลงทุน
                    (5)  กองทุนรวมฟีดเดอร์
                     ข้อ 30   ในกรณีที่ปรากฏเหตุเลิกกองทุนรวมตามข้อ 29 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการเพื่อเลิกกองทุนรวม ดังต่อไปนี้
                     (1)  กรณีเป็นกองทุนรวมปิด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการภายในวันทำการถัดจากวันที่ทราบเหตุดังกล่าว
                     (2)  กรณีที่เป็นกองทุนรวมเปิด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการตามขั้นตอน
และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด
หมวด 3
อำนาจของสำนักงาน
ข้อ 31   ในการจัดการกองทุน ให้สำนักงานเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุนมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ ให้บริษัทจัดการปฏิบัติเพื่อให้มีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของลูกค้าที่เป็นกองทุนส่วนบุคคล หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
                     ข้อ 32   ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ
ในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่กำหนดในประกาศนี้ หรือรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการกองทุนเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ลงทุนหรือเพื่อให้มีมาตรฐานการดำเนินงานเป็นอย่างเดียวกัน  ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ และเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบการปฏิบัตินั้นได้
                    เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดแนวทาง (guideline) การปฏิบัติในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ เพื่อเป็นการให้แนวทางปฏิบัติที่ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องตามประกาศนี้ และหากบริษัทจัดการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าบริษัทจัดการมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้ในเรื่องที่มีการออกแนวทางนั้น
                     ข้อ 33   ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมมีเหตุจำเป็นโดยไม่สามารถปฏิบัติ
ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประกาศนี้หรือหลักเกณฑ์เพิ่มเติมอื่นใดที่ออกตามประกาศนี้ สำหรับ
การจัดการกองทุนรวมใดที่มีการเสนอขายหน่วยลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้สำนักงาน
มีอำนาจผ่อนผันการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเฉพาะในส่วนที่ไม่มีผลกระทบต่อผู้ลงทุน
ในประเทศไทยให้กับบริษัทจัดการกองทุนรวมได้ โดยบริษัทจัดการกองทุนรวมต้องแสดงได้ว่า
การขอผ่อนผันดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองผู้ลงทุน
ในประเทศที่กองทุนรวมมีการเสนอขายหน่วยลงทุนนั้น (host country)
                    ข้อ 34   เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน หรือในกรณีที่มีความจำเป็น
เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ หรือเพื่อรักษาเสถียรภาพในระบบตลาดการเงินให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดให้บริษัทจัดการกองทุนรวมหยุดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเป็นการชั่วคราว  ทั้งนี้ ไม่เกินกว่า 20 วันทำการติดต่อกัน
                    ข้อ 35   ในกรณีที่ปรากฏเหตุดังต่อไปนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจเพิกถอนการอนุมัติ
ให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมได้
          (1)  มีการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการหรือข้อผูกพันที่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนประกาศ กฎ หรือคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว
                    (2)  มีการจำหน่ายหน่วยลงทุนโดยบริษัทจัดการกองทุนรวมมิได้ปฏิบัติหรือดูแลให้มี
การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปตามที่
กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการจัดส่งหรือแจกจ่ายหนังสือชี้ชวนและการเสนอขายหน่วยลงทุน
                    (3)  ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน  หากปรากฏข้อเท็จจริงว่ามี
ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเป็นบุคคลอื่นใดที่มิใช่ผู้ลงทุนประเภทสถาบันตามที่ระบุไว้ในโครงการ
                    ในกรณีที่สำนักงานสั่งเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการให้มีการเลิกกองทุนรวมทันที
                    ข้อ 36   เพื่อให้การบริหารจัดการกองทุนรวมเป็นไปตามนโยบายหรือหลักเกณฑ์
ในการกำกับดูแลที่มีผลใช้บังคับในขณะนั้นหรือเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ลงทุน ในกรณีที่ปรากฏ
ข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจสั่งการให้บริษัทจัดการกองทุนรวม
กระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามที่สำนักงานเห็นสมควรภายในระยะเวลาที่กำหนด
                    (1)  กองทุนรวมมีการจัดการที่มีลักษณะหรือรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือ
เงื่อนไขตามที่ประกาศเกี่ยวข้องกำหนด แต่มีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าความมุ่งหมายหรือเนื้อหา
สาระที่แท้จริง (substance) ของการจัดการกองทุนรวมนั้นเข้าลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติหรือหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
                    (2)  การจัดการกองทุนรวมอาจขัดต่อนโยบายสาธารณะหรือนโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้อง
กับตลาดทุน
                    (3)  การจัดการกองทุนรวมอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อตลาดทุนไทย
โดยรวม
                    (4)  การจัดการกองทุนรวมอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุน หรืออาจทำให้
ผู้ลงทุนไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือเพียงพอประกอบ
การตัดสินใจลงทุน
                    (5)  การดำเนินการของกองทุนรวมไม่สอดคล้องกับโครงการที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงาน
                    อำนาจสั่งการตามวรรคหนึ่งให้รวมถึงการสั่งการในเรื่องดังต่อไปนี้
                    (1)  ชี้แจง หรือเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม
                    (2)  แก้ไขลักษณะของกองทุนรวมให้ถูกต้อง
                    (3)  ระงับการเสนอขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติม
บทเฉพาะกาล
                    ข้อ 37   ในกรณีที่ยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวมตามข้อ 6 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวซึ่งใช้บังคับอยู่
ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ จนกว่าจะได้มีหลักเกณฑ์ตามที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบ
จากสำนักงาน
                     ข้อ 38   ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 89/2558  เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุน
ที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 17 ธันวาคม
พ.ศ. 2558  หรืออ้างอิงประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สน. 87/2558  เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่
17 ธันวาคม พ.ศ. 2558  ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้ ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้
                    ข้อ 39   ให้บรรดาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 89/2558  เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน และกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558  หรือที่ใช้บังคับอยู่
ตามบทเฉพาะกาลของประกาศดังกล่าว ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีประกาศ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออก
หรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ
                                 ประกาศ  ณ  วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2564



          (นางสาวรื่นวดี  สุวรรณมงคล)
          เลขาธิการ
          สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
          ประธานกรรมการ
          คณะกรรมการกำกับตลาดทุน

          ที่มา: http://www.sec.or.th/

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ