ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.75/2564 เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่เพื่อการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 วรรคสอง (1) มาตรา 89/1 มาตรา 89/12 วรรคหนึ่ง (3) (ข) (4) และวรรคสอง มาตรา 89/13 มาตรา 89/27 และมาตรา 89/29 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 56 วรรคสอง
และวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ในประกาศนี้
?บริษัทจดทะเบียน? หมายความว่า บริษัทมหาชนจำกัดที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์
จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดให้มีการซื้อขายหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์
?ผู้สอบบัญชี? หมายความว่า ผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
?ส่วนได้เสีย? หมายความว่า การได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์ทั้งทางตรงหรือทางอ้อมจากการตกลงเข้าทำรายการของบริษัทหรือบริษัทย่อย
หมวด 1
บททั่วไป
ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับบริษัทมหาชนจำกัดที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่โดยบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ และการเสนอขายหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์
(2) บริษัทจดทะเบียน
ข้อ 4 การแจ้ง การยื่น การรับรอง การส่งข้อมูลหรือเอกสาร หรือการดำเนินการอื่นใด
ในลักษณะเดียวกันต่อสำนักงานตามประกาศนี้ หากมิได้กำหนดไว้โดยเฉพาะเป็นประการอื่น
ให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน
หมวด 2
การจัดทำและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงิน
และผลการดำเนินงาน
ข้อ 5 การจัดทำและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน
ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ โดยอนุโลม ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดตามประกาศนี้
ข้อ 6 ให้บริษัทมีหน้าที่จัดทำและส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานตามหมวดนี้ เว้นแต่มีเหตุที่ทำให้บริษัทดังกล่าวสิ้นสุดหน้าที่ตามที่กำหนดในข้อ 10
หน้าที่การจัดทำและส่งรายงานตามวรรคหนึ่ง ให้เริ่มเมื่อแบบแสดงรายการข้อมูล
การเสนอขายหุ้นที่ยื่นต่อสำนักงานมีผลใช้บังคับแล้ว ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นการจัดทำและส่งงบการเงิน
ให้บริษัทจัดทำและส่งงบการเงินตั้งแต่งวดถัดจากงบการเงินที่ปรากฏในแบบแสดงรายการข้อมูลดังกล่าว
ข้อ 7 รายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน ได้แก่ ประเภทข้อมูลดังต่อไปนี้
(1) งบการเงินประจำงวด 6 เดือนแรกของปีบัญชีที่ผู้สอบบัญชีได้สอบทานแล้ว
(2) งบการเงินประจำรอบปีบัญชีที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้ว (3) การวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการ (Management Discussion and Analysis)
(4) แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีและรายงานประจำปี โดยมีข้อมูลอย่างน้อย
ตามแบบ 56-1 SME One Report ท้ายประกาศนี้
ข้อ 8 การส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานตามข้อ 7 ให้เป็นไปตามระยะเวลาและเงื่อนไขการส่งดังต่อไปนี้?
ประเภทข้อมูล ระยะเวลาและเงื่อนไขการส่ง
(1) งบการเงินประจำงวด 6 เดือนแรกของปีบัญชี ภายใน 90 วันนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี
(2) งบการเงินประจำรอบปีบัญชี
(3) การวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการ ภายใน 90 วันนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี
โดยให้ส่งพร้อมกับการส่งงบการเงินตาม (1) และ (2)
(4) แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีและรายงานประจำปี (แบบ 56-1 SME One Report) ภายใน 4 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี
ให้บริษัทจดทะเบียน จัดส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานตามวรรคหนึ่งในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบการรับส่งข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด โดยให้ถือว่าการส่งข้อมูลผ่านระบบข้างต้น
เป็นการส่งรายงานต่อสำนักงานตามประกาศนี้
ข้อ 9 ในกรณีที่บริษัทมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี หรือรายงานประจำปี ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงาน
การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ให้เป็นไป
ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) กรณีที่บริษัทยื่นแบบ 56-1 One Report ตามประกาศดังกล่าว โดยผนวกรายการตามแบบ 56-1 SME One Report ซึ่งเป็นรายการที่ไม่ซ้ำกันรวมไว้ในแบบที่ยื่นต่อสำนักงานแล้ว
ให้ถือว่าบริษัทดังกล่าวได้ส่งแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีและรายงานประจำปีตามหมวดนี้
ต่อสำนักงานแล้ว
(2) กรณีที่บริษัทยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลอื่น (นอกจากแบบ 56-1 One Report) และรายงานประจำปีตามประกาศดังกล่าว โดยผนวกรายการในแบบ 56-1 SME One Report
ซึ่งเป็นรายการที่ไม่ซ้ำกันรวมไว้ในแบบแสดงรายการและรายงานประจำปีที่ยื่นต่อสำนักงานแล้ว
ภายในระยะเวลาตามที่ประกาศดังกล่าวกำหนด หรือระยะเวลาตามข้อ 8 แล้วแต่ว่าระยะเวลาใดสั้นกว่า
ให้ถือว่าบริษัทดังกล่าวได้ส่งแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีและรายงานประจำปีตามหมวดนี้ต่อสำนักงานแล้ว
การผนวกรายการตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทแจ้งให้สำนักงานทราบในเวลาที่ยื่นข้อมูลด้วย
ข้อ 10 ให้บริษัทสิ้นสุดหน้าที่การจัดทำและส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและ
ผลการดำเนินงานตามหมวดนี้ เมื่อเกิดกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) มีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ
(2) อยู่ระหว่างถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
(3) บริษัทไม่ได้ขายหุ้นที่ออกใหม่ภายในระยะเวลาที่สำนักงานอนุญาต หรือ
บริษัทยกเลิกการเสนอขายหลักทรัพย์ตามที่ระบุในหนังสือชี้ชวน
(4) บริษัทเพิกถอนหุ้นออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
แห่งประเทศไทยโดยความสมัครใจ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งดังนี้
(ก) ภายหลังการทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดตามข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์
แห่งประเทศไทยว่าด้วยการเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียนในไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์แล้ว ปรากฏว่า
มีผู้ถือหุ้นรายอื่นซึ่งมิใช่ผู้ทำคำเสนอซื้อ บุคคลที่กระทำการร่วมกับผู้ทำคำเสนอซื้อ (concert party)
และบุคคลตามมาตรา 258 ของบุคคลเหล่านั้น ถือหุ้นรวมกันไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท
(ข) ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ถือหุ้นทุกรายว่าไม่ประสงค์จะได้รับข้อมูล
ตามประกาศนี้
(ค) คณะกรรมการบริษัทมีมติให้มีการรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเป็นการทั่วไป และ
มีการดำเนินการตามที่กำหนดในข้อ 11 แล้ว
(5) บริษัทพ้นจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน และมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้
(ก) ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
(ข) เป็นสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
(ค) บริษัทเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใดหลักเกณฑ์หนึ่งดังนี้
1. มีจำนวนผู้ถือหุ้นรวมกันไม่เกิน 100 ราย
2. คณะกรรมการบริษัทมีมติให้มีการรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเป็นการทั่วไป และมีการดำเนินการตามที่กำหนดในข้อ 11 แล้ว
(ง) บริษัทได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ถือหลักทรัพย์ทุกรายว่าไม่ประสงค์
จะได้รับข้อมูลตามประกาศนี้
ข้อ 11 ในการรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเป็นการทั่วไปตามข้อ 10(4) (ค) และ (5) (ค) 2. บริษัทและผู้รับซื้อหุ้นต้องเปิดเผยวัตถุประสงค์ในการรับซื้อหลักทรัพย์และข้อความที่แสดงว่าภายหลังการรับซื้อหุ้น บริษัทจะสิ้นสุดหน้าที่จัดทำและส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน
ของบริษัทต่อสำนักงาน ทั้งนี้ ผู้รับซื้อหลักทรัพย์ต้องดำเนินการเกี่ยวกับการรับซื้อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด
การประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ของสำนักงานตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงความเหมาะสมและความเพียงพอของข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้ถือหลักทรัพย์และมาตรการที่คุ้มครอง
ผู้ถือหลักทรัพย์เป็นสำคัญ
ข้อ 12 ให้บริษัทแจ้งเหตุที่ทำให้หน้าที่จัดทำและส่งรายงานที่แสดงฐานะการเงิน
และผลการดำเนินงานของบริษัทสิ้นสุดลงตามข้อ 10 ต่อสำนักงานก่อนถึงกำหนดเวลาส่งรายงานดังกล่าว
หมวด 3
การทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน
ข้อ 13 การทำธุรกรรมระหว่างบริษัทหรือบริษัทย่อยกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกันตามภาคผนวก 1 ท้ายประกาศนี้ ให้ถือเป็นการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการทำธุรกรรม
ที่มีลักษณะตามข้อยกเว้นในประกาศดังต่อไปนี้ โดยอนุโลม
(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการทำรายการ
ที่เกี่ยวโยงกัน
(2) ประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในรายการที่เกี่ยวโยงกัน
ข้อ 14 รายการที่เกี่ยวโยงกันซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของหมวดนี้ ได้แก่ รายการที่มีมูลค่ารายการดังต่อไปนี้
ข้อ 15 การคำนวณมูลค่าของรายการที่เกี่ยวโยงกัน ให้เป็นไปตามภาคผนวก 2
ท้ายประกาศนี้
ข้อ 16 ในพิจารณาการคำนวณมูลค่าของรายการที่เกี่ยวโยงกันตามภาคผนวก 2
ให้สำนักงานมีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) ให้บริษัทใช้ตัวเลขตามงบการเงินของบริษัทที่ได้มีการปรับปรุงตัวเลขด้วยรายการ
ที่เกิดขึ้นหลังวันที่ระบุในงบการเงินจนถึงวันที่มีการตกลงเข้าทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน ซึ่งผู้สอบบัญชีของบริษัทได้สอบทานตัวเลขดังกล่าวแล้ว
(2) เปลี่ยนแปลงมูลค่ารายการหรือมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ โดยสำนักงานอาจนับหรือไม่นับมูลค่าของรายการบางรายการตามงบการเงินเป็นมูลค่าที่ใช้ในการเปรียบเทียบได้ เมื่อปรากฏกรณีใดกรณีหนึ่ง
ดังนี้
(ก) บริษัทหรือบริษัทย่อยมีสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนมีจำนวนเป็นนัยสำคัญ
(ข) งบการเงินที่ใช้ในการพิจารณามูลค่าของรายการที่เกี่ยวโยงกันมิได้แสดงถึง
มูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจของบริษัทหรือบริษัทย่อยเนื่องจากลักษณะพิเศษของธุรกิจนั้น
(ค) ผู้สอบบัญชีของบริษัทหรือบริษัทย่อยไม่แสดงความเห็นต่อการจัดทำ
งบการเงิน หรือแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขในรายการบัญชีในงบการเงิน
(3) พิจารณานับรวมรายการที่เกี่ยวโยงกันหลายรายการเป็นรายการเดียวกัน
หากปรากฏว่ารายการดังกล่าวทำขึ้นโดยมีเจตนาแยกเป็นหลายรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามความในหมวดนี้
ข้อ 17 ก่อนการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน บริษัทต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง โดยไม่นับส่วนของผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสีย
เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง
?การทำรายการ? หมายความว่า การเข้าไปหรือตกลงใจเข้าทำสัญญา หรือ
ทำความตกลงใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อก่อให้เกิดการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์
การให้เช่า หรือเช่าสินทรัพย์ การให้หรือรับบริการ การให้หรือรับความช่วยเหลือทางการเงิน หรือ
การออกหลักทรัพย์ใหม่ รวมทั้งเพื่อก่อให้เกิดสิทธิหรือการสละสิทธิในการกระทำดังกล่าว
?การให้หรือรับความช่วยเหลือทางการเงิน? หมายความว่า การให้หรือการรับ
ความช่วยเหลือทางการเงินด้วยการรับหรือให้กู้ยืม ค้ำประกัน การให้สินทรัพย์เป็นหลักประกันหนี้สิน รวมถึงพฤติการณ์อื่นทำนองเดียวกัน
ข้อ 18 ในการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน ให้บริษัทดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดส่งหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นล่วงหน้าอย่างน้อย 14 วันก่อนวันประชุม
(2) หนังสือนัดประชุมที่จัดส่งให้แก่ผู้ถือหุ้นต้องมีข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้ถือหุ้น และอย่างน้อยต้องมีรายการขั้นต่ำดังนี้
(ก) วันที่ทำรายการ
(ข) วัตถุประสงค์การทำรายการ
(ค) ลักษณะทั่วไปของรายการ รายละเอียดธุรกรรม มูลค่ารวมสิ่งตอบแทน
การชำระราคา การคำนวณมูลค่ารายการ เหตุผลและความจำเป็นของการทำรายการ และแหล่งเงินทุน เป็นต้น
(ง) รายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวโยง เช่น ความสัมพันธ์กับบริษัท และ
ส่วนได้เสีย เป็นต้น
(จ) ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทในการทำรายการ ?
หมวด 4
การทำรายการที่มีนัยสำคัญต่อบริษัท
ข้อ 19 การทำรายการที่มีนัยสำคัญตามหมวดนี้ ได้แก่ การเข้าไปหรือตกลงใจเข้าทำสัญญา ทำความตกลงหรือทำความเข้าใจใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อการใดการหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) การก่อให้เกิดการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์
(2) การก่อให้เกิดสิทธิหรือการสละสิทธิในการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์
(3) การได้มาหรือโอนไปซึ่งสิทธิในการครอบครองสินทรัพย์ในระยะยาว
(4) การลงทุนหรือยกเลิกการลงทุน
รายการที่มีนัยสำคัญตามวรรคหนึ่ง ไม่ให้รวมถึงธุรกรรมที่เป็นการประกอบธุรกิจโดยทั่วไปของบริษัท ซึ่งคณะกรรมการบริษัทได้มีการพิจารณาอนุมัติแนวทางในการพิจารณา
เรื่องดังกล่าวไว้
ข้อ 20 รายการที่มีนัยสำคัญซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของหมวดนี้ ได้แก่ รายการที่มีมูลค่ารายการดังต่อไปนี้
ข้อ 21 การคำนวณมูลค่าของรายการที่มีนัยสำคัญต่อบริษัท ให้เป็นไปตามภาคผนวก 2 ท้ายประกาศนี้
ข้อ 22 ในพิจารณาการคำนวณมูลค่าของรายการที่มีนัยสำคัญ ให้สำนักงานมีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) เปลี่ยนแปลงมูลค่ารายการ โดยสำนักงานอาจนับหรือไม่นับมูลค่าของรายการบางรายการตามงบการเงินเป็นมูลค่าที่ใช้ในการเปรียบเทียบได้ เมื่อปรากฏกรณีใดกรณีหนึ่งดังนี้
(ก) บริษัทหรือบริษัทย่อยมีสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนมีจำนวนเป็นนัยสำคัญ
(ข) งบการเงินที่ใช้ในการพิจารณามูลค่าของรายการที่มีนัยสำคัญมิได้แสดง
ถึงมูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจของบริษัทหรือบริษัทย่อยเนื่องจากลักษณะพิเศษของธุรกิจนั้น
(ค) ผู้สอบบัญชีของบริษัทหรือบริษัทย่อยไม่แสดงความเห็นต่อการจัดทำ
งบการเงิน หรือแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขในรายการบัญชีในงบการเงิน
(2) พิจารณานับรวมรายการที่มีนัยสำคัญหลายรายการเป็นรายการเดียวกัน
หากปรากฏว่ารายการดังกล่าวทำขึ้นโดยมีเจตนาแยกเป็นหลายรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามความในหมวดนี้
ข้อ 23 ก่อนการทำรายการที่มีนัยสำคัญ บริษัทต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง โดยไม่นับส่วนของผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสีย
ข้อ 24 ในการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติการทำรายการที่มีนัยสำคัญ ให้บริษัทดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดส่งหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นล่วงหน้าอย่างน้อย 14 วันก่อนวันประชุม
(2) หนังสือนัดประชุมที่จัดส่งให้แก่ผู้ถือหุ้นต้องมีข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้ถือหุ้น และอย่างน้อยต้องมีรายการขั้นต่ำดังนี้
(ก) วันที่ทำรายการ
(ข) คู่กรณีและความสัมพันธ์
(ค) วัตถุประสงค์การทำรายการ
(ง) ลักษณะทั่วไปของรายการ รายละเอียดสินทรัพย์ที่มีการได้มาหรือจำหน่ายไป มูลค่ารวมสิ่งตอบแทน การชำระราคา การคำนวณมูลค่ารายการ เหตุผลและความจำเป็นของ
การทำรายการ และแหล่งเงินทุน
(จ) ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทในการทำรายการ
ประกาศ ณ วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2564
(นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ประธานกรรมการ
คณะกรรมการกำกับตลาดทุน
ที่มา: http://www.sec.or.th/