การส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีของตัวกลางในธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม/กองทุนส่วนบุคคล และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 2, 2008 09:14 —ประกาศ ก.ล.ต.

2 เมษายน 2551เรียน ผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ทุกบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ประเภทการจัดการกองทุนรวม/กองทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ทุกบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ประเภทการเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ที่ กลต.น.(ว) 13/2551 เรื่อง การส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีของตัวกลางในธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม/กองทุนส่วนบุคคล และธุรกิจ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตามที่คณะอนุกรรมการยกระดับ Corporate Governance (CG) ด้านบริษัทหลักทรัพย์มีความเห็นว่าบริษัทหลักทรัพย์ในฐานะที่เป็นตัวแทนในตลาดทุนควรมีบทบาทอย่างจริงจังในการผลักดันให้เกิดการกำกับดูแลกิจการที่ดีขึ้น และสำนักงานได้มีประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข./น. 4/2549 เรื่อง ระบบงานเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจจัดการกองทุน ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2549 และประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ อข./น. 5/2549 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับระบบงานการประกอบธุรกิจจัดการกองทุน ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2549 นั้น สำนักงานขอเรียนว่า ระบบงานและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจจัดการกองทุนตามประกาศข้างต้น กำหนดให้บริษัทจัดการจัดให้มีระบบงานที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพียงพอในการจัดการกองทุน โดยฝ่ายจัดการของบริษัทมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายสำคัญๆ ในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจจัดการกองทุนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น การบริหารความเสี่ยง การคำนวณมูลค่ายุติธรรมของตราสาร การใช้สิทธิออกเสียง (Proxy Voting) และการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เป็นต้น ซึ่งนโยบายดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท รวมทั้งมีระบบในการควบคุมดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงาน และระบบในการติดตามประเมินผล โดยมีการรายงานผลการตรวจสอบและการติดตามประเมินผลต่อคณะกรรมการบริษัท นั้น จากระบบงานและแนวทางปฏิบัติข้างต้น คณะกรรมการบริษัทจึงมีบทบาทสำคัญในการวางกรอบนโยบายและติดตามดูแลการทำงานของฝ่ายจัดการ ดังนั้น การมีโครงสร้างคณะกรรมการบริษัทที่เหมาะสมจะช่วยให้คณะกรรมการบริษัททำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คณะกรรมการจึงควรต้องมีความเป็นอิสระจากฝ่ายจัดการในระดับหนึ่ง และไม่ควรมีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายจัดการของบริษัทจัดการในลักษณะที่อาจถูกครอบงำโดยกลุ่มบุคคลใด และไม่ควรมีกรรมการคนใดหรือกลุ่มใดมีเสียงเด็ดขาดในการกำหนดนโยบาย ดังนั้น เพื่อให้มีความสมดุลเรื่องอำนาจและการสอบทานการปฏิบัติงานของฝ่ายจัดการ จึงควรมีการกำหนดให้ประธานกรรมการบริษัทเป็นคนละคนกับผู้มีอำนาจสูงสุดของฝ่ายจัดการ (CEO in practice) สำนักงานจึงเห็นควรที่บริษัทจัดการที่ยังคงมีประธานกรรมการและผู้มีอำนาจสูงสุดของฝ่ายจัดการเป็นคนเดียวกัน พิจารณาดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยเร็วด้วย จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ ขอแสดงความนับถือ (นายประสงค์ วินัยแพทย์) รองเลขาธิการ เลขาธิการแทนฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุนโทรศัพท์ 0-2263-6087โทรสาร 0-2263-6348

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ