ลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 15, 2010 17:11 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทธ/น/ข. 37/2553

เรื่อง ลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

____________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตราดังต่อไปนี้

(1) มาตรา 16/6 และมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 100 มาตรา 103(10) มาตรา 114 มาตรา 115 มาตรา 116 และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 134 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542

(2) มาตรา 15 มาตรา 18 มาตรา 23(3) และมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 มาตรา 45 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิก

(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ/น/ข. 57/2552 เรื่อง ลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์ ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ/น/ข. 85/2552 เรื่อง ลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ข้อ 2 ในประกาศนี้

(1) คำว่า “บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการ” ให้หมายความเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอย่างอื่นของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ หรือประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แล้วแต่กรณี

(2) “บุคลากรในธุรกิจตลาดทุน” หมายความว่า บุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์ และบุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(3) “บุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์” หมายความว่า บุคคลซึ่งปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของบริษัทหลักทรัพย์หรือเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ดังต่อไปนี้

(ก) กรรมการ ผู้จัดการ และบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทหลักทรัพย์

(ข) ผู้จัดการกองทุน

(ค) ผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

(ง) ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน

(4) “บุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า บุคคลซึ่งปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังต่อไปนี้

(ก) กรรมการ ผู้จัดการ และบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(ข) ผู้จัดการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(ค) ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(5) “ผู้จัดการกองทุน” หมายความว่า ผู้จัดการกองทุนรวม และผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล

(6) “ผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์” หมายความว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินใจลงทุนหรือจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

(7) “ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน” หมายความว่า ผู้ทำหน้าที่ติดต่อ ชักชวน ให้คำแนะนำหรือวางแผนเกี่ยวกับการซื้อขายหรือการลงทุนในหลักทรัพย์ให้กับผู้ลงทุนซึ่งมีสองประเภท ได้แก่ ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนประเภท ก ซึ่งสามารถทำการวิเคราะห์คุณค่าหรือความเหมาะสมในการซื้อขาย หรือการลงทุนในหลักทรัพย์ได้ และผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนประเภท ข ซึ่งไม่สามารถทำการวิเคราะห์คุณค่าหรือความเหมาะสมในการซื้อขายหรือการลงทุนในหลักทรัพย์ได้

(8) “ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” หมายความว่า ผู้ทำหน้าที่ติดต่อ ชักชวน ให้คำแนะนำหรือวางแผนเกี่ยวกับการซื้อขายหรือการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้กับ ผู้ลงทุนซึ่งมีสองประเภท ได้แก่ ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนประเภท ก ซึ่งสามารถทำการวิเคราะห์คุณค่า หรือความเหมาะสมในการซื้อขายหรือการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ และผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนประเภท ข ซึ่งไม่สามารถทำการวิเคราะห์คุณค่าหรือความเหมาะสมในการซื้อขายหรือการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้

(9) “สถาบันการเงิน” หมายความว่า กิจการที่ประกอบธุรกิจดังต่อไปนี้

(ก) ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

(ข) ธุรกิจหลักทรัพย์

(ค) ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(ง) ธุรกิจประกันภัย หรือ

(จ) ธุรกิจสถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

หมวด 1

การมีลักษณะต้องห้าม

_______________

ส่วนที่ 1

ลักษณะต้องห้าม

________________

ข้อ 3 บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(1) มีความบกพร่องในด้านความสามารถตามกฎหมายหรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลตลาดทุน หรือมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจตามที่กำหนดไว้ในข้อ 4 เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 1

(2) มีประวัติการถูกดำเนินการหรือถูกลงโทษที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5 เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2

(3) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติต่อลูกค้า ผู้ลงทุนบริษัทหรือผู้ถือหุ้นโดยรวม หรือตลาดเงินหรือตลาดทุนโดยรวม ในเรื่องที่มีนัยสำคัญตามที่กำหนดไว้ในข้อ 6 เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3

ข้อ 4 ให้กรณีดังต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 1

(1) เป็นบุคคลที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือเป็นบุคคลล้มละลาย หรือ

(2) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือ

(3) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษโดยสำนักงานหรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอันเนื่องจากกรณีที่สำนักงานกล่าวโทษ หรือเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษหรือไม่ และพ้นโทษจำคุกหรือพ้นจากการรอลงโทษมาแล้วไม่ถึงสามปี ทั้งนี้ เฉพาะในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุนตามที่ระบุในบัญชีท้ายประกาศนี้ หรือ

(4) เป็นบุคคลที่สำนักงานปฏิเสธหรือถอนการแสดงรายชื่อของบุคคลในระบบข้อมูลรายชื่อกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เนื่องจากเป็นผู้ที่มีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจให้เป็นกรรมการและผู้บริหารตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วย การกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท

ข้อ 5 ให้กรณีดังต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2

(1) อยู่ระหว่างถูกกล่าวโทษโดยหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ หรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอันเนื่องจากกรณีที่หน่วยงานดังกล่าวกล่าวโทษ หรือเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษหรือไม่ และพ้นโทษจำคุกหรือพ้นจากการรอลงโทษมาแล้วไม่ถึงสามปี ทั้งนี้ เฉพาะในมูลเหตุเนื่องจากการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน และทำให้เกิดความเสียหายไม่ว่าจะต่อสถาบันการเงินที่ตนสังกัดหรือต่อลูกค้า หรือ

(2) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษหรือไม่ และพ้นโทษจำคุกหรือพ้นจากการรอลงโทษมาแล้วไม่ถึงสามปี ทั้งนี้ ในความผิดอาญาแผ่นดินเกี่ยวกับการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือ

(3) เป็นผู้ที่ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือกฎหมายอื่นในลักษณะเดียวกันและยังไม่พ้นสามปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หรือ

(4) เป็นผู้ที่หน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินหรือหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย ไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศ พิจารณาว่ามีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการ ผู้จัดการหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือผู้บริหารของสถาบันการเงิน หรือบุคลากรที่มีหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบริการทางการเงิน จัดการหรือรับเงินทุนของลูกค้า ทั้งนี้ เฉพาะในมูลเหตุเนื่องจากการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง หรือทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือ

(5) อยู่ระหว่างถูกดำเนินการอันเป็นผลให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในลักษณะดังต่อไปนี้

(ก) ถูกสำนักงานสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ หรือมีลักษณะที่ทำให้การให้ความเห็นชอบสิ้นสุด หรือถูกดำเนินการอื่นในทำนองเดียวกันอันเป็นผลให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนหรือกรรมการของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ และ

(ข) การดำเนินการตาม (ก) สืบเนื่องจากการปฏิบัติงานในฐานะเป็นบุคลากรในตำแหน่งที่มีผลกระทบถึงความเหมาะสมในการปฏิบัติงานในตำแหน่งที่พิจารณา และ

(ค) เหตุของการดำเนินการตาม (ก) เป็นเรื่องการกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และประกาศที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว ในมูลเหตุเนื่องจากการบริหารงานที่มีลักษณะหลอกลวง ฉ้อโกง ทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือขาดความระมัดระวัง ขาดความซื่อสัตย์สุจริต หรือขาดจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่เยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ

ข้อ 6 ให้กรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีพฤติกรรมดังต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3

(1) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมประพฤติผิดต่อหน้าที่หรือการให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นธรรม ขาดความรับผิดชอบหรือความรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น หรือ

(2) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมที่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม หรือการเอาเปรียบผู้ลงทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น หรือ

(3) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมในการเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลหรือเอกสารอันเป็นเท็จที่อาจทำให้สำคัญผิด หรือโดยปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน ผู้ถือหุ้น หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลหรือเอกสารที่ยื่นหรือจัดส่งต่อสำนักงาน คณะกรรมการกำกับตลาดทุน คณะกรรมการ ก.ล.ต. หน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน หรือผู้ลงทุน หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น หรือ

(4) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมที่เป็นการละเลยการตรวจสอบดูแลตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้นิติบุคคลหรือกิจการที่ตนมีอำนาจในการจัดการ หรือผู้ปฏิบัติงานซึ่งอยู่ภายใต้การตรวจสอบดูแล (ถ้ามี) กระทำการใดหรืองดเว้นกระทำการใดอันเป็นการฝ่าฝืนหรือขัดต่อกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า กฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน หรือประกาศที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว อันอาจก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือธุรกิจทรัสต์โดยรวม หรือความเสียหายต่อชื่อเสียง ฐานะ การดำเนินธุรกิจ หรือลูกค้าของธุรกิจนั้น หรือ

(5) มีเหตุอันควรเชื่อว่ามีหรือเคยมีพฤติกรรมที่เป็นการขาดจรรยาบรรณ หรือมาตรฐานในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์หรือธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งกำหนดโดยสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักทรัพย์หรือธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่สำนักงานยอมรับ หรือมีหรือเคยมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของบุคคลอื่น

ส่วนที่ 2

ผลบังคับของการมีลักษณะต้องห้าม

_____________

ข้อ 7 ในกรณีที่ผู้มีลักษณะต้องห้ามตามส่วนที่ 1 เป็นผู้ยื่นขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ให้สำนักงานใช้เหตุแห่งการมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวในการปฏิเสธการให้ความเห็นชอบบุคคลดังกล่าวได้

ข้อ 8 สำหรับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนที่เป็นกรรมการหรือผู้จัดการของบริษัทหลักทรัพย์ หรือกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หากปรากฏในภายหลังว่ามีลักษณะต้องห้ามตามส่วนที่ 1 ให้สำนักงานดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 1 หรือลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2 ตามข้อ 5(1) ถึง (3) ให้สำนักงานสั่งเพิกถอนการให้ความ เห็นชอบ

(2) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2 ตามข้อ 5(4) หรือ (5) ให้สำนักงานสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบตามแต่เหตุแห่งการมีลักษณะต้องห้ามนั้น

(3) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 สำนักงานอาจสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบตามสมควรแก่กรณี

ข้อ 9 สำหรับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนที่เป็นกรรมการหรือผู้จัดการของสถาบันการเงินที่จัดตั้งตามกฎหมายอื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทหลักทรัพย์ หากปรากฏในภายหลังว่ามีลักษณะต้องห้ามตามส่วนที่ 1 ให้บริษัทหลักทรัพย์หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดำเนินการห้ามบุคคลดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ตามระยะเวลาดังต่อไปนี้

(1) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 1 ตั้งแต่เมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดในเรื่องที่กำหนด หรือเมื่อสำนักงานได้มีหนังสือกล่าวโทษบุคคลนั้นต่อพนักงานสอบสวน หรือมีหนังสือแจ้งการมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจ แล้วแต่กรณี จนกว่าบุคคลนั้นจะพ้นจากการมีลักษณะดังกล่าว

(2) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2 ตั้งแต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงที่มีลักษณะตามข้อ 5 ต่อสำนักงาน และสำนักงานได้มีหนังสือแจ้งบุคคลที่ถูกพิจารณาและบริษัทหลักทรัพย์หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่บุคคลนั้นดำรงตำแหน่งอยู่ให้ทราบถึงการมีลักษณะดังกล่าว จนกว่าบุคคลนั้นจะพ้นจากการมีลักษณะดังกล่าว

(3) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 ตั้งแต่วันที่ระบุไว้ในหนังสือของสำนักงานซึ่งแจ้งบุคคลที่ถูกพิจารณาและบริษัทหลักทรัพย์หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่บุคคลนั้นดำรงตำแหน่งอยู่ให้ทราบถึงการมีลักษณะต้องห้ามที่กำหนดตามข้อ 6 แล้ว จนกว่าจะพ้นเงื่อนไขหรือระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด

ข้อ 10 สำหรับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนอื่นนอกจากข้อ 8 และข้อ 9 หากปรากฏในภายหลังว่ามีลักษณะต้องห้ามตามส่วนที่ 1 ให้มีผลดังต่อไปนี้ (1) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 1 ให้การให้ความเห็นชอบสิ้นสุดลงเมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดในเรื่องที่กำหนด หรือเมื่อสำนักงานได้มีหนังสือกล่าวโทษบุคคลนั้นต่อพนักงานสอบสวนหรือมีหนังสือแจ้งการมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจ แล้วแต่กรณี (2) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2 ตามข้อ 5(1) ถึง (3) ให้การให้ความเห็นชอบสิ้นสุดลงเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อสำนักงาน และสำนักงานได้มีหนังสือแจ้งบุคคลที่ถูกพิจารณาและบริษัทหลักทรัพย์หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่บุคคลนั้นดำรงตำแหน่งอยู่ให้ทราบถึงการมีลักษณะดังกล่าว

(3) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 2 ตามข้อ 5(4) หรือ (5) ให้มีผลเมื่อสำนักงานสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบตามแต่เหตุแห่งการมีลักษณะต้องห้ามนั้น

(4) กรณีเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 ให้มีผลเมื่อสำนักงานสั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบตามสมควรแก่กรณี

ข้อ 11 ในการใช้ดุลยพินิจปฏิเสธการให้ความเห็นชอบตามข้อ 7 หรือสั่งห้ามการปฏิบัติหน้าที่ พักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบตามข้อ 8(2) และ (3) หรือข้อ 9(3) หรือข้อ 10(3) และ (4) แล้วแต่กรณี ให้สำนักงานมีอำนาจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้ แทนหรือประกอบการดำเนินการดังกล่าวได้

(1) กำหนดระยะเวลาหรือเงื่อนไขในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบหรือห้ามการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวในคราวต่อไป โดยระยะเวลาที่กำหนดต้องไม่เกินสิบปี สำหรับการพิจารณาการมีลักษณะต้องห้ามในแต่ละกรณี

(2) กำหนดระยะเวลาการสั่งพักการให้ความเห็นชอบ ซึ่งเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วให้บุคคลดังกล่าวสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในตำแหน่งเดิมต่อไปได้โดยไม่ต้องยื่นคำขอความเห็นชอบ ทั้งนี้ ระยะเวลาที่กำหนดต้องไม่เกินกว่าอายุการให้ความเห็นชอบ ที่เหลืออยู่

(3) ในกรณีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 มีลักษณะไม่ร้ายแรง หรือเกิดขึ้นมาแล้วเกินกว่าสิบปีนับถึงวันที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงาน สำนักงานอาจไม่ยกกรณีดังกล่าวขึ้นพิจารณาเป็นเหตุในการปฏิเสธการให้ความเห็นชอบ สั่งพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ หรือห้ามการปฏิบัติหน้าที่ หรืออาจลดระดับการดำเนินการเป็นการตำหนิพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวก็ได้

หมวด 2

การพิจารณาลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3

_______________________

ส่วนที่ 1

ปัจจัยที่ใช้ประกอบการพิจารณา

____________________

ข้อ 12 ในการพิจารณาความร้ายแรงของพฤติกรรมที่มีผลกระทบต่อการมีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 หรือการพิจารณาดำเนินการตามข้อ 11 ให้สำนักงานนำปัจจัยดังต่อไปนี้มาใช้ประกอบการพิจารณา

(1) บทบาทความเกี่ยวข้องและพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกพิจารณา

(2) การลงโทษที่บุคคลนั้นได้รับไปแล้ว

(3) ผลกระทบหรือความเสียหายต่อลูกค้า ผู้ลงทุน บริษัทหรือผู้ถือหุ้นโดยรวม ตลาดเงินหรือตลาดทุนโดยรวม หรือผลประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกับข้อเท็จจริงหรือพฤติกรรมที่พิจารณา

(4) การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้า ผู้ลงทุน บริษัทหรือผู้ถือหุ้นโดยรวม ตลาดเงินหรือตลาดทุนโดยรวม เพื่อแก้ไข เยียวยา หรือป้องกันมิให้เกิดข้อเท็จจริงหรือพฤติกรรมทำนองเดียวกันนั้นซ้ำอีก

(5) พฤติกรรมอื่นของผู้ถูกพิจารณาที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานหรือขัดขวางการปฏิบัติงานของสำนักงาน

(6) ประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดที่แสดงถึงความไม่เหมาะสมที่จะเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน หรือกรรมการของศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ส่วนที่ 2

คณะกรรมการ

______________________

ข้อ 13 ให้สำนักงานด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่พิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน รวมทั้งเสนอความเห็นต่อสำนักงานเกี่ยวกับการพิจารณาสั่งห้ามการปฏิบัติหน้าที่ พักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนที่มีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 หรือพิจารณาให้ความเห็นต่อสำนักงานในเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์การลงโทษเพื่อให้สำนักงานใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากตลาดเงินหรือตลาดทุนจำนวนไม่เกินห้าคนซึ่งไม่เป็นเลขาธิการหรือพนักงานของสำนักงาน โดยจำนวนนี้อย่างน้อยต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้แทนของผู้ลงทุนจำนวนหนึ่งคน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจำนวนหนึ่งคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งจากรายชื่อบุคคลที่สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์หรือสมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นผู้เสนออีกสองคน ให้คณะกรรมการเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ และให้สำนักงานแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการกรรมการรายใดมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณาในลักษณะที่อาจมีผลกระทบต่อการให้ความเห็นอย่างเป็นกลาง ให้ผู้นั้นแจ้งการมีส่วนได้เสียนั้นและห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

ส่วนที่ 3

กระบวนการพิจารณา

______________________

ข้อ 14 เพื่อให้การใช้ดุลยพินิจสั่งการของสำนักงานตามประกาศนี้มีความชัดเจนและผ่านกระบวนการทบทวนตามสมควร ในการสั่งห้ามการปฏิบัติหน้าที่ หรือพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนเนื่องจากการมีลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 3 สำนักงานจะกระทำได้ต่อเมื่อได้ดำเนินการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) เปิดโอกาสให้ผู้ถูกพิจารณามีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริง

(2) เสนอข้อเท็จจริงรวมทั้งคำชี้แจงของผู้ถูกพิจารณา (ถ้ามี) ให้คณะกรรมการเพื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และหากคณะกรรมการประสงค์จะให้ผู้ถูกพิจารณาชี้แจงเพิ่มเติม ให้สำนักงานจัดให้มีการชี้แจงเช่นนั้นในการปฏิบัติอื่นใดนอกจากที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ข้อ 15 สำนักงานอาจไม่ดำเนินการตามข้อ 14 วรรคหนึ่งได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) กรณีดังกล่าวได้ผ่านกระบวนการพิจารณาอื่นที่ทำให้ผู้ถูกพิจารณามีโอกาสชี้แจง และเคยผ่านการพิจารณาให้ความเห็นในรูปองค์คณะที่มีผู้มีความรู้ประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจในตลาดทุนเป็นองค์คณะด้วยหรือโดยองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องมาอย่างเพียงพอแล้ว หรือ

(2) คณะกรรมการได้กำหนดแนวทางพิจารณาดำเนินการสำหรับกรณีที่มีข้อเท็จจริงทำนองเดียวกันกับกรณีที่พิจารณานี้ไว้ชัดเจนเพียงพอแล้ว

หมวด 3

หน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจ

สัญญาซื้อขายล่วงหน้า

_________________________

ข้อ 16 ให้บริษัทหลักทรัพย์หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้ารายงานเป็นลายลักษณ์อักษรต่อสำนักงาน เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่บุคลากรในธุรกิจตลาดทุนซึ่งปฏิบัติหน้าที่ให้บริษัทหลักทรัพย์หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีลักษณะดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รู้หรือมีเหตุอันควรรู้ถึงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว

(1) การมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546

(2) ลักษณะต้องห้ามกลุ่มที่ 1 หรือกลุ่มที่ 2 ตามประกาศนี้ แต่ไม่รวมถึงการมีลักษณะต้องห้ามอันเนื่องจากการดำเนินการของสำนักงาน

ข้อ 17 เมื่อสำนักงานมีคำสั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ ให้บริษัทหลักทรัพย์หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดำเนินการให้กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 หรือตามประกาศนี้ พ้นจากการเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทหลักทรัพย์หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าภายในระยะเวลาที่จำเป็นและสมควรโดยไม่ชักช้า

หมวด 4

บทเฉพาะกาลและวันมีผลใช้บังคับของประกาศ

___________

ข้อ 18 ในกรณีที่คณะกรรมการตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ/น/ข. 57/2552 เรื่อง ลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์ ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 หรือประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ/น/ข. 85/2552 เรื่อง ลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 รับพิจารณาข้อเท็จจริงและเสนอความเห็นเกี่ยวกับการสั่งการกับบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้คณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาต่อไปได้จนเสร็จสิ้นตามประกาศนี้

ข้อ 19 ให้บรรดาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออก วางแนวปฏิบัติ หรือที่ใช้บังคับอยู่โดยอาศัยอำนาจในบทเฉพาะกาล ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ/น/ข. 57/2552 เรื่อง ลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์ ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 หรือประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ/น/ข. 85/2552 เรื่อง ลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะมีประกาศ คำสั่ง และหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 20 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดที่อ้างอิงประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ/น/ข. 57/2552 เรื่อง ลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจหลักทรัพย์ ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 หรือประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ/น/ข. 85/2552 เรื่อง ลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้ ข้อ 21 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เพื่อปรับปรุงลักษณะต้องห้ามบางลักษณะของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนให้เหมาะสมขึ้นและสอดคล้อง

กับการกำหนดลักษณะที่ขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์โดยยังคงกำหนด

ลักษณะต้องห้ามบางประการไว้เช่นเดิม จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้

บัญชีแนบท้ายประกาศ

ความผิดตามข้อ 4(3)               พระราชบัญญัติหลักทรัพย์          พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขาย          พระราชบัญญัติทรัสต์
                             และตลาดทรัพย์ พ.ศ. 2535          ล่วงหน้า พ.ศ. 2546          เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

พ.ศ. 2550

การกระทำอันไม่เป็นธรรม          มาตรา 238 ถึงมาตรา 243        มาตรา 92 ถึงมาตรา 100                 -
เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์
หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

การกระทำโดยทุจริต หรือ          มาตรา 306 ถึงมาตรา 311        มาตรา 145 ถึงมาตรา 147       มาตรา 85 ถึงมาตรา 87
การทำให้เสียหายต่อทรัพย์สิน       มาตรา 314 และมาตรา 315        มาตรา 149 และมาตรา 150      มาตรา 89 และมาตรา 90
ต่อเจ้าหนี้ หรือต่อประชาชน

จงใจแสดงข้อความอันเป็น                มาตรา 312                    มาตรา 148                  มาตรา 88
เท็จในสาระสำคัญหรือปกปิด
ข้อความจริงอันเป็นสาระสำคัญ
ที่ควรบอกให้แจ้งในเอกสารใดที่
ต้องเปิดเผยต่อประชาชนหรือต้อง
ยื่นต่อสำนักงานหรือคณะกรรมการ
กำกับตลาดทุนหรือคณะกรรมการ
ก.ล.ต.

ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจ        มาตรา 289 ประกอบกับ          มาตรา 125 ประกอบกับ          มาตรา 77 ประกอบกับ
สัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือการเป็น           มาตรา 90                       มาตรา 16                 มาตรา 54
ทรัสตีโดยไม่ได้รับอนุญาตและอาจ
เข้าข่าย เป็นการหลอกลวงหรือ
ฉ้อโกงประชาชน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ