พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 06 กุมภาพันธ์ 2558 - 12 กุมภาพันธ์ 2558

ข่าวทั่วไป Friday February 6, 2015 15:22 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 06 กุมภาพันธ์ 2558 - 12 กุมภาพันธ์ 2558

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 6-9 ก.พ. อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 14-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4-8 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ในช่วงวันที่ 10-12 ก.พ. อุณหภูมิจะเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 17-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ระยะนี้จะมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้าโดยเฉพาะทางตอนบนและด้านตะวันตกของภาคจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณอื่นๆ เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะออกดอก เช่น ลิ้นจี่และลำไย เกษตรกรควรงดให้น้ำรอจนกว่าเห็นดอกชัดเจนแล้วค่อยให้น้ำ โดยให้ในปริมาณที่น้อยก่อนแล้วค่อย เพิ่มปริมาณขึ้น
  • ส่วนในช่วงที่มีหมอกหนา เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะ ราน้ำค้างในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตด้อยคุณภาพ
  • เกษตรกรควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด เพื่อจะได้มีน้ำพอใช้ในช่วงแล้ง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 6-9 ก.พ. อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อากาศเย็นถึงหนาว และมีลมแรงอุณหภูมิต่ำสุด 12-19 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูจะอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ในช่วงวันที่ 10-12 ก.พ. อุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อย อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า กับมีหมอกหนาในบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 17-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูจะมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม.

  • สำหรับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย หากร่างกายปรับตัวไม่ทัน
  • ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทัน จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • เนื่องจากระยะนี้ปริมาณน้ำระเหยมีมาก เกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน
  • ระยะนี้มีแดดจัด เกษตรกรที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เพื่อป้องกันผิวหนังไหม้เกรียม และควรดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 6-9 ก.พ. อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 17-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ในช่วงวันที่ 10-12 ก.พ. อุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อยกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 20-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • เนื่องจากอุณหภูมิที่แตกต่างกันมากระหว่างกลางวันและกลางคืน ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • สำหรับ เกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรมีน้ำสำรองให้แก่พืชอย่างเพียงพอ เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้งปริมาณและการกระจายของฝนจะมีน้อย ถ้าพืชได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโต หากพืชขาดน้ำจะทำให้สูญเสียผลผลิตโดยสิ้นเชิง

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 6-9 ก.พ. อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อากาศเย็น และมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร หลังจากนั้น อุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อยกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

  • ระยะนี้ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะติดผลอ่อน เช่น เงาะ มังคุด และทุเรียน เกษตรกรควรดูแลให้น้ำอย่างเพียงพอ เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ผลอ่อนร่วงหล่น การติดผลลดลง
  • สำหรับในช่วงที่อากาศแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด ในพืชไร่ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชทำให้ต้นทรุดโทรม ผลผลิตด้อยคุณภาพ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ทางตอนบน มีเมฆบางส่วนกับมีหมอกบางในตอนเช้า ส่วนทางตอนล่างของภาค จะมีฝนบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 6-9 ก.พ. ตั้งแต่จังหวัดชุมพรขึ้นมา ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป ลมตะวันออก ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ในช่วงวันที่ 10-12 ก.พ. ตั้งแต่จังหวัดชุมพรขึ้นมา ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป ลมตะวันออก ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

  • ระยะนี้ทางตอนบนของภาคสภาพอากาศจะแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ต้นพืชทรุดโทรม ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • สำหรับชาวสวนยางพาราโดยเฉพาะทางตอนบนของภาค ควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูก
  • ส่วนทางตอนล่างของภาคบางช่วงอาจมีฝนบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืช ผักและพืชสวน เช่น หนอนกินใบมังคุด และหนอนร่านกินใบเงาะ เป็นต้น
  • อนึ่ง ในช่วงวันที่ 6-9 ก.พ.บริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปควรงดออกจากฝั่ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีเมฆบางส่วน กับมีฝนบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

  • ระยะนี้ทางตอนบนของภาคสภาพอากาศจะแห้ง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ต้นพืชทรุดโทรม ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • สำหรับชาวสวนยางพาราโดยเฉพาะทางตอนบนของภาค ควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูก
  • ส่วนทางตอนล่างของภาคบางช่วงอาจมีฝนบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืช ผักและพืชสวน เช่น หนอนกินใบมังคุด และหนอนร่านกินใบเงาะ เป็นต้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ