พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 21 ตุลาคม 2558 - 27 ตุลาคม 2558

ข่าวทั่วไป Wednesday October 21, 2015 14:44 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 21 ตุลาคม 2558 - 27 ตุลาคม 2558

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 21-22 ต.ค. มีหมอกบางในตอนเช้า กับมีฝนบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 23-27 ต.ค. อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย และมีอากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตกและตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว สภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย หากร่างกายปรับตัวไม่ทัน โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย เนื่องจากระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง หากพืชได้รับน้ำไม่เพียงพอในระยะผลิดอกออกผลจะทำให้ผลผลิตลดลง

ส่วนสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคราแป้งในมะขามหวาน และโรคราสนิมในกาแฟ เป็นต้น หากพบควรรีบกำจัด เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ไปยังต้นอื่นๆ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 21-22 ต.ค. มีหมอกบางในตอนเช้า กับมีฝนบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 23-27 ต.ค. อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย และมีอากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาล สภาพอากาศจะแปรปรวน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

ส่วนระยะต่อไปจะเป็นฤดูหนาว เกษตรกรควรจัดเตรียมอุปกรณ์กันหนาวสำหรับตนเองเอาไว้ด้วย และวัสดุสำหรับเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนสำหรับสัตว์เลี้ยงเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน เพื่อป้องกันสัตว์หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

สำหรับชาวนาในระยะนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่นหนอนกระทู้ หนอนห่อใบ และหนอนกอ เป็นต้น ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นเสียหายผลผลิตลดลง หรือด้อยคุณภาพ หากพบควรรีบกำจัด

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 21-22 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 23-27 ต.ค. มีหมอกบางในตอนเช้า กับมีฝนบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตกและตอนล่างของภาค ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส

ระยะนี้แม้จะมีฝน แต่ปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติม และให้น้ำอย่างประหยัด โดยให้น้ำเฉพาะบริเวณทรงพุ่ม หรือวิธีน้ำหยด รวมทั้งกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นเพื่อไม่แย่งอาหารและน้ำจากต้นพืช

สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชรอบใหม่หลังการทำนา ควรเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น รวมทั้งวางแผนการใช้น้ำที่กักเก็บไว้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้พอเพียงตลอดช่วงแล้ง

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 21-22 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 23-27 ต.ค. มีหมอกบางในตอนเช้า กับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส

ระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อน ทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ รวมทั้งกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อไม่ให้แย่งอาหารและน้ำกับต้นพืช และเป็นที่อาศัยหลบซ่อน ของโรคและศัตรูพืช

เนื่องจากระยะนี้ปริมาณและการกระจายของฝนจะเริ่มลดลง เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่กักเก็บเอาไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตรตลอดช่วงแล้ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 21-22 ต.ค. ฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 23-27 ต.ค. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส

ในระยะนี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายกับพื้นที่การเกษตร โดยจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณโคนต้นพืชนาน ทำให้รากพืชขาดอากาศต้นพืชตายได้

สำหรับพื้นที่ที่มีฝนตกต่อเนื่อง สภาพอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพารา และกาแฟ ควรระวังและป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง โดยหมั่นกำจัดวัชพืชภายในสวนให้โล่งเตียน เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก

ส่วนไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ชาวสวนควรตัดแต่งกิ่งที่ฉีกขาดและมีโรคหรือแมลงทำลายทิ้งเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง ในช่วงวันที่ 21-22 ต.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ในช่วงวันที่ 23-27 ต.ค. ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส

ในระยะนี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายกับพื้นที่การเกษตร โดยจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณโคนต้นพืชนาน ทำให้รากพืชขาดอากาศต้นพืชตายได้

สำหรับพื้นที่ที่มีฝนตกต่อเนื่อง สภาพอากาศมีความชื้นสูง ชาวสวนยางพารา และกาแฟ ควรระวังและป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง โดยหมั่นกำจัดวัชพืชภายในสวนให้โล่งเตียน เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก

ส่วนไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ชาวสวนควรตัดแต่งกิ่งที่ฉีกขาดและมีโรคหรือแมลงทำลายทิ้งเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ