พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่างวันที่ 02 พฤศจิกายน 2558 - 08 พฤศจิกายน 2558

ข่าวทั่วไป Monday November 2, 2015 15:13 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 02 พฤศจิกายน 2558 - 08 พฤศจิกายน 2558

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 2 - 4 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 8 พ.ย. อากาศเย็น กับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณยอดดอย อากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

เนื่องจากสัปดาห์นี้อากาศจะเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทัน โดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็ก ควรเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือน รวมทั้งไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งแจ้งตอนกลางคืน เพราะอาจทำให้สัตว์ที่ไม่แข็งแรงเจ็บป่วยและตายได้

ส่วนสภาพอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่นโรคราแป้งในมะขามหวาน โดยจะทำให้ใบอ่อน ยอดอ่อนร่วง ชะงักการเจริญเติบโต หากพบควรตัดยอดหรือส่วนที่เสียหายทิ้ง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 2 - 4 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า และมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 8 พ.ย.อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อย โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 21-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณยอดภู อากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

สัปดาห์นี้เป็นช่วงต้นฤดูหนาว อากาศจะเปลี่ยนแปลง เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย หากร่างกายปรับตัวไม่ทัน รวมทั้งจัดเตรียมวัสดุและอุปกรณ์สำหรับกันหนาวและให้ความอบอุ่นแก่ตนเองไว้ด้วย นอกจากนี้ควรเตรียมจัดทำแผงกำบังลมหนาวและอุปกรณ์หรือวัสดุสำหรับเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ไว้ให้พร้อม

ส่วนข้าวนาปีซึ่งอยู่ในระยะตั้งท้องและออกรวง ชาวนาต้องดูแลให้น้ำอย่างพอเพียง เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ผลผลิตลดลง รวมทั้งระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนโดยเฉพาะหนอนกระทู้คอรวง ซึ่งจะกัดกินทำให้ต้นข้าวเสียหาย

สำหรับสภาพอากาศแห้งในตอนกลางวัน ประกอบกับปริมาณน้ำระเหยมีมาก เกษตรกรควรคลุมบริเวณโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางด้านการเกษตร เช่นใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เพื่อป้องกันน้ำระเหยจากผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 2 - 4 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 8 พ.ย.มีหมอกบางในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อย โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วงต้นฤดูหนาว อากาศเปลี่ยนแปลง โดยมีอากาศเย็นในตอนเช้ากับมีฝนตกในบางวัน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชรอบใหม่หลังการทำนา ควรเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น รวมทั้งวางแผนการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้พอเพียงตลอดช่วงแล้ง

สำหรับสภาพอากาศแห้งในตอนกลางวัน ประกอบกับปริมาณน้ำระเหยมีมาก เกษตรกรควรคลุมบริเวณโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่นใบไม้ ฟางข้าว และหญ้าแห้ง เพื่อป้องกันน้ำระเหยจากผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 2 - 4 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งถึงเป็นแห่งๆ ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 8 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร

ระยะนี้แม้จะมีฝน แต่ปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ และพืชผักควรให้น้ำเพิ่มเติมหากพืชได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตด้อยคุณภาพ

นอกจากนี้ควรใช้น้ำที่เก็บกักไว้อย่างประหยัด และวางแผนการใช้น้ำทางการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง

ในช่วงวันที่ 2-4 พ.ย. บริเวณอ่าวไทยตอนบน ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 2 - 4 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 8 พ.ย. มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 21-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส

สัปดาห์นี้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขังในแปลงปลูก

ผู้ที่ปลูกไม้ผล และยางพาราควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล และโรครากขาวในยางพารา ซึ่งมักระบาดในช่วงที่ดินมีความชื้นสูง

ในช่วงวันที่ 2-4 พ.ย. บริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดจากคลื่นลมแรงซัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆถึงกระจาย ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส

ผู้ที่ปลูกไม้ผล และยางพาราควรดูแลสวนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล และโรครากขาวในยางพารา ซึ่งมักระบาดในช่วงที่ดินมีความชื้นสูง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ