พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 13 พฤษภาคม 2559 - 19 พฤษภาคม 2559

ข่าวทั่วไป Friday May 13, 2016 15:38 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 13 พฤษภาคม 2559 - 19 พฤษภาคม 2559

ภาคเหนือ

อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ ในช่วงวันที่ 13-15 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 39-44 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 16-19 พ.ค. มีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนมากทางด้านตะวันออกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 38-40 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-30 กม./ชม

  • ระยะนี้จะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก และควรเพิ่มน้ำดื่มให้กับสัตว์ด้วย เพื่อป้องกันสัตว์เครียด อ่อนแอ และเจ็บป่วยได้ง่าย
  • สำหรับฝนที่ตกในระยะนี้จะมีปริมาณน้อย เกษตรกรควรให้น้ำแก่พืชเพิ่มเติม โดยเฉพาะไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล หากขาดน้ำจะทำให้ผลร่วงหล่น และแคระแกร็น รวมทั้งคลุมดินและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อรักษาความชื้นภายในดิน
  • นอกจากนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัยและไฟป่า โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูก อาคารบ้านเรือน และโรงเก็บพืชผลทางด้านการเกษตร

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 23-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 38-41 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 16-19 พ.ค. มีพายุฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนมากทางตอนบนของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ระยะนี้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งและปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งขณะมีฝนฟ้าคะนอง
  • สำหรับฝนที่ตกเพิ่มขึ้นในระยะนี้ และระยะต่อไปจะเข้าสู่ฤดูฝน ชาวไร่ที่ปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น อ้อยและมันสำปะหลังสามารถลงมือเพาะปลูกได้ พร้อมทั้งชุบท่อนพันธุ์ด้วยสารป้องกันเชื้อรา และไม่ควรปลูกแน่นจนเกินไป เพื่อลดความชื้นสะสมภายในแปลงปลูก ป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราซึ่งมักระบาดในช่วงฤดูฝน
  • เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงฤดูฝน เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควร ดูแลหลังคาโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้มีรอยรั่วซึม และทำแผงกำบังฝนสาดให้แก่สัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันสัตว์เปียกฝน จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 13-15 พ.ค. อากาศร้อนจัดโดยทั่วไป โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 27-30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 40-43 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 17-19 พ.ค. อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 38-41 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.

  • ระยะนี้จะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน โดยดูแลโรงเรือนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก รวมทั้งจัดหาน้ำดื่มให้กับสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันสัตว์เครียด อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • สำหรับฝนที่ตกในระยะนี้จะช่วยบรรเทาอากาศร้อนลงไปได้บ้าง แต่ปริมาณยังไม่มากและการกระจายยังมีน้อย ชาวนาที่ต้องการปลูกข้าวควรรอให้มีฝนตกสม่ำเสมอแล้วค่อยลงมือปลูก เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำของต้นข้าวในระยะต้นกล้า
  • นอกจากนี้เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ ใบและยอดอ่อนเสียหาย ผลผลิตด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออก

อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 26-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 17-19 พ.ค. มีพายุฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 36-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร

  • สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะผลแก่และเก็บเกี่ยวผลผลิต ชาวสวนควรดูแลบริเวณพื้นที่เพาะปลูกให้โล่งเตียน และไม่ควรกองสุมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยเฉพาะเปลือกและผลที่เน่าเสียร่วงหล่นของผลไม้ไว้ในสวน เพราะจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของโรค และแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคจำพวกเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงฤดูฝน
  • เนื่องจากระยะนี้บางพื้นที่อาจมีฝนตก เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ ใบและยอดอ่อนเสียหาย ผลผลิตด้อยคุณภาพ
  • ส่วนระยะต่อไปจะเข้าสู่ฤดูฝน เกษตรกรที่จะเตรียมดินปลูกพืชในระยะนี้ ควรเตรียมดินให้มีการระบายน้ำที่ดี และจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำขังในพื้นที่เพาะปลูก เมื่อมีฝนตกหนัก

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

อากาศร้อนโดยทั่วไป กับมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ตลอดช่วง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-40 องศาเซลเซียส

  • สำหรับอากาศร้อนในตอนกลางวัน ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน โดยดูแลโรงเรือนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก รวมทั้งจัดหาน้ำดื่มให้กับสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันสัตว์เครียด อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ระยะนี้ทางตะวันออกของภาค จะมีฝนตก แต่ปริมาณและการกระจายยังมีน้อย ไม้ผลที่อยู่ในระยะเจริญเติบโตทางผล เกษตรกรควรดูแลให้น้ำอย่างเพียงพอ เพราะหากขาดน้ำจะทำให้ผลชะงักการเจริญเติบโต นอกจากนี้ควรหมั่นสังเกตเพราะอาจมีศัตรูพืชจำพวกหนอนซึ่งจะกัดกินและทำลายผล ทำให้ผลเสียหาย ผลผลิตด้อยคุณภาพ

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

อากาศร้อนโดยทั่วไป ในช่วงวันที่ 13-17 พ.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ในช่วงวันที่ 18-19 พ.ค. โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมตะวันตก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง ประมาณ 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 25-29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส

  • สำหรับอากาศร้อนในตอนกลางวัน ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน โดยดูแลโรงเรือนให้โปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก รวมทั้งจัดหาน้ำดื่มให้กับสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันสัตว์เครียด อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ในระยะครึ่งหลังของช่วงภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณและการกระจายของฝนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการระบาดของ ศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ย และไรชนิดต่างๆ ในไม้ผล และพืชผัก แต่ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชเสียหายผลผลิตลดลง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ