พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 12 ธันวาคม 2559 - 18 ธันวาคม 2559

ข่าวทั่วไป Monday December 12, 2016 13:00 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 12 ธันวาคม 2559 - 18 ธันวาคม 2559

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 12-14 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 15-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-25 กม. /ชม. ในวันที่ 15-18 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 14-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียสบริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 7-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

  • เกษตรกร ระยะนี้จะมีอากาศหนาวเย็นโดยทางตอนบนของภาคจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณอื่น เกษตรกรควรให้ความอบอุ่นแก่ตนเองอย่างเพียงพอ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
  • ไม้ผล สำหรับไม้ผลที่ออกดอกในช่วงฤดูหนาว เช่น ลิ้นจี่และลำไย เป็นต้น เกษตรกรควรงดให้น้ำ ดูแลบริเวณโคนต้นให้โล่งเตียน เมื่อมีอากาศหนาวเย็นยาวนานเพียงพอจะทำให้พืชแตกตาดอกได้ดี
  • สัตว์เลี้ยง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรทำแผงกำบังลมหนาวให้กับสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันลมโกรกโรงเรือน โดยเฉพาะสัตว์ที่ยังเล็กควรเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือน เพื่อป้องกันสัตว์หนาวเย็นจนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 12-13 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาในบางพื้นที่ โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 14-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ในช่วงวันที่ 14-18 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่งบริเวณตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 12-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียสบริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 9-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม. /ชม.

  • เกษตรกร สำหรับเกษตรกรที่จุดไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ตนเอง หากใช้งานเสร็จแล้วควรดับให้สนิททุกครั้ง เพื่อป้องกันไฟลุกลามจนกลายเป็นอัคคีภัย
  • สัตว์เลี้ยง ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรทำแผงกำบังลมหนาวให้กับสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันลมโกรกโรงเรือน ป้องกันสัตว์หนาวเย็น สำหรับสัตว์ที่ยังเล็กควรเพิ่มดวงไฟในโรงเรือน เพื่อให้ความอบอุ่น ป้องกันสัตว์อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย นอกจากนี้ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่โล่งแจ้งตอนกลางคืน เพราะอาจทำให้สัตว์ที่ไม่แข็งแรงตายได้
  • พื้นที่ทางการเกษตร เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้ง ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง ผู้ที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรเลือกปลูกพืชที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 12-14 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ในวันที่ 15-18 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม.

  • พื้นที่การเกษตร สำหรับเกษตรกรที่เกี่ยวข้าว นาปีไปแล้วและต้องการปลูกพืชรุ่นใหม่โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานควรเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและมีความเหมาะกับพื้นที่และภูมิอากาศ
  • ไม้ผล สำหรับไม้ผลที่ออกดอกแล้ว เช่น มะม่วง ชาวสวนควรให้น้ำแก่พืช โดยเริ่มจากปริมาณน้อยๆแล้วค่อยเพิ่มปริมาณขึ้น นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ดอกร่วงหล่น การติดผลลดลง

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 12-13 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีหมอกบางในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร ในช่วงวันที่ 14-18 ธ.ค. อากาศเย็นกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 18-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 2-3 เมตร

  • ไม้ผล สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะก่อนออกดอก เกษตรกรควรงดให้น้ำ เพื่อให้ต้นเตรียมแทงช่อดอก รอจนเห็นดอกชัดเจนแล้วจึงค่อยให้น้ำโดยให้ในปริมาณที่น้อยก่อนแล้วค่อยเพิ่มปริมาณขึ้น นอกจากนี้ควรดูแลวัชพืชบริเวณโคนต้นให้โล่งเตียน เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยหลบซ่อนของโรคและแมลงศัตรูพืช
  • สัตว์น้ำ ในช่วงวันที่ 14-18 ธ.ค. อุณหภูมิจะลดลง เกษตรกรควรรักษาสภาพน้ำอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์ปรับตัวไม่ทันอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อให้น้ำผสมเป็นเนื้อเดียวกัน รวมทั้งควรลดอาหารลงในช่วงดังกล่าว เนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนสัตว์น้ำจะกินอาหารได้น้อยลง อาหารที่เหลือจะทำให้น้ำเน่าเสีย สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

ในช่วงวันที่ 12-13 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ในช่วงวันที่ 14-18 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส

  • เกษตรกร เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมในระยะที่ผ่านมาควรระวังและป้องกันโรคที่มากับน้ำ เช่น โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคตาแดง และน้ำกัดเท้า เป็นต้น
  • พื้นที่การเกษตร สำหรับพื้นที่การเกษตรที่มีน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมาหากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกอย่าให้น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ หากพบต้นพืชล้มเอนควรผูกยึดให้ตั้งตรงถ้ามีบาดแผลควรทำความสะอาดตัดแต่งบาดแผลแล้วทาด้วยสารป้องกันเชื้อรา
  • ประมงชายฝั่ง ในช่วงวันที่14-18 ธ.ค. ภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีคลื่นลมแรงโดยมีคลื่นสูงประมาณ 2-3 เมตร เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งควรระวังป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ส่วนชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ตลอดสัปดาห์ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส

  • เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมในระยะที่ผ่านมาควรระวังและป้องกันโรคที่มากับน้ำ เช่น โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคตาแดง และ น้ำกัดเท้า เป็นต้น
  • พื้นที่การเกษตร สำหรับพื้นที่การเกษตรที่มีน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมาหากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกอย่าให้ น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ หากพบต้นพืชล้มเอนควรผูกยึดให้ตั้งตรงถ้ามีบาดแผลควรทำความสะอาด ตัดแต่งบาดแผลแล้วทาด้วยสารป้องกันเชื้อรา

รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตรในวันที่ 12 - 18 ธันวาคม 2559

ปริมาณฝนสะสมเดือนธันวาคม( 1-11 ธ.ค.) ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยตอนบนมีฝนตกเล็กน้อยบริเวณด้านตะวันออกของด้านตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก สำหรับภาคใต้มีฝนกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ซึ่งมีฝนสะสมประมาณ 800-1000 มม. โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนกลางและตอนล่างมีปริมารฝนมากกว่าบริเวณอื่นๆ

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยตอนบนมีฝนตกเล็กน้อยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออกตอนล่างและภาคตะวันออก สำหรับภาคใต้มีฝนตกกับฝนตกถึงหนักมากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคมต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งมีฝนสะสม 100 -300 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำ ระยะที่ผ่านมาศักย์การคายระเหยน้ำประเทศไทยมีค่าระหว่าง 15-20 มม.ยกเว้นบริเวณบางส่วนของภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งมีค่าศักย์การระเหยน้ำสะสม 20-25 มม.

สมดุลน้ำ ระยะที่ผ่านมาประเทศไทยตอนบนมีค่าสมดุลน้ำเป็นนลบเนื่องจากบริเวรดังกล่าวไม่มีฝนตก โดยมีค่าสมดุลน้ำสะสมอยู่ระหว่าง(-10)(-30) มม.เป็นส่วนใหญ่สำหรับบริเวณภาคใต้ มีค่าสมดุลน้ำเป็นบวกเนื่องจากมีฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยเฉพาะทางล่างของภาคใต้ฝั่งตะวันออกซึ่งมีค่าสมดุลน้ำสะสมระหว่าง 100 - 200 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านประเทศไทยตอนบนไม่มีฝนตก ทำให้พื้นที่โดยทั่วไปมีค่าสมดุลน้ำเป็นลบ และในช่วง 7 วันข้างหน้าจะมีฝนตกเล็กน้อย เกษตรควรวางแผนใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ และ ควรระมัดระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น สำหรับภาคใต้ปริมาณเละการกระจายของฝนลดลง พื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมระยะที่ผ่านมา เกษตรกรควรรีบ ระบายน้ำออกอย่าให้มีน้ำท่วมขังบริเวรโคนต้นพืชนาน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศต้นพืชตายได้ ส่วนบริเวณที่น้ำลดลงแล้วเกษตรกรควรรีบฟื้นฟูสภาพสวนและแหล่งน้ำให้ดีดังเดิม นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผลและพืชผักเป็นต้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ