พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 16 สิงหาคม 2560 - 22 สิงหาคม 2560

ข่าวทั่วไป Wednesday August 16, 2017 13:42 —กรมอุตุนิยมวิทยา

ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ

ระหว่าง 16 สิงหาคม 2560 - 22 สิงหาคม 2560

ภาคเหนือ

  • ไม้ผล สำหรับไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วโดยเฉพาะลำไย เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งแล้วทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา และใส่ปุ๋ยบำรุงต้น เพื่อให้ต้นฟื้นตัวได้เร็วมีเวลาพักตัวได้นานขึ้น เพื่อเตรียมแตกตาดอกในฤดูต่อไป รวมทั้งควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งมักระบาดในช่วงฤดูฝน
  • พืชไร่ ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ โดยจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกให้มีประสิทธิภาพอย่าให้น้ำขังในพื้นที่เพาะปลูกนาน เพราะจะทำให้เป็นโรคดังกล่าวได้ง่าย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • เกษตรกร สำหรับพื้นที่ซึ่งมีน้ำท่วมขัง เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการเดินย่ำน้ำที่สกปรก หากมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูทเพื่อป้องกันโรค เล็ปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู ส่วนพื้นที่ซึ่งมีน้ำท่วม เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคระบบทางเดินอาหาร โรคตาแดง และน้ำกัดเท้า เป็นต้น
  • สัตว์เลี้ยง เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะสัตว์เท้ากีบ เช่นโค กระบือ และสุกร เป็นต้น อาจเป็นโรคปากและเท้าเปื่อยได้ และเกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่ป่วยและสารคัดหลั่งจากสัตว์โดยตรงหากมีความจำเป็นต้องสัมผัสควรสวมถุงมือยางทุกครั้ง

ภาคกลาง

  • พื้นที่การเกษตร ในช่วงที่มีฝนตกทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพได้
  • สัตว์เลี้ยง ในช่วงฤดูฝนศัตรูสัตว์ต่างๆ เช่น ยุง เหลือบ ริ้น และไรต่างๆ จะเจริญเติบโตได้ดี เกษตรกรควรเฝ้าระวังศัตรูสัตว์ดังกล่าวมา รบกวนสัตว์เลี้ยง ทำให้สัตว์ชะงักการเจริญเติบโต และศัตรูสัตว์บางชนิดอาจเป็นพาหะนำโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงได้

ภาคตะวันออก

  • ไม้ผล สำหรับสวนผลไม้ที่อยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูกไม่ควรปล่อยให้น้ำขังบริเวณโคนต้นพืชเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ และไม่ควรกองสุมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรตลอดจน เปลือกและผลที่เน่าเสียไว้ในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช
  • พริกไทย ส่วนเกษตรกรที่ปลูกพริกไทยในระยะนี้มีฝนตกชุก เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรครากเน่า โดยจัดระบบระบายน้ำในพื้นที่เพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพ อย่าให้น้ำขังบริเวณโคนต้นพืช เพราะจะทำให้เป็นโรคดังกล่าวได้

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

  • พื้นที่การเกษตร ในช่วงนี้จะมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนัก ทำให้น้ำท่วมขังได้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรจัดระบบระบายน้ำในพื้นที่เพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพ
  • ยางพารา ในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่อง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพู เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

  • พื้นที่การเกษตร ในช่วงนี้ภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนัก ทำให้น้ำท่วมขังได้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรจัดระบบระบายน้ำในพื้นที่เพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพ
  • ยางพารา ในช่วงที่มีฝนตกต่อเนื่อง ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า โรคหน้ากรีดยาง และโรคราสีชมพู เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลง
  • ชาวเรือและชาวประมง ในช่วงวันที่ 16-19 ส.ค. บริเวณทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ