พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 10 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ข่าวทั่วไป Friday November 10, 2017 16:08 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 10 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ออกประกาศวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 135/60

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 10-14 พ.ย. ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น กับมีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 15-16 พ.ย. ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในระยะแรก หลังจากนั้นจะมีอากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกต่อเนื่อง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

คำเตือน ในช่วงวันที่ 10-16 พ.ย. เกษตรกรบริเวณภาคใต้ ขอให้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 10-14 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศาเซลเซียส ส่วนในวันที่ 15-16 พ.ย. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-30 กม. /ชม.

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • สัตว์เลี้ยง ในช่วงนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์อย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย รวมทั้งควรหมั่นสังเกตหากพบสัตว์ที่ป่วยควรรีบแยกออกจากกลุ่มและทำการรักษาเพื่อไม่ให้ เชื้อโรคแพร่ไปยังตัวอื่นๆ
  • พืชไร่/ ไม้ดอก/พืชผัก ระยะนี้อากาศเย็นและชื้น กับมีหมอกในตอนเช้า เหมาะกับการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคแอนแทรคโนสในถั่วเหลือง โรคดอกเน่าในดาวเรือง และโรคราน้ำค้างในพืชผักตระกูลกะหล่ำ เกษรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก เมื่อพบควรรีบควบคุมก่อนระบาดไปยังต้นอื่นๆ

ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 10-13 พ.ย. อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 14-16 พ.ย. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 18-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • ข้าวนาปี สำหรับข้าวนาปีที่อยู่ในระยะตั้งท้องถึงออกรวง เกษตรกร ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคไหม้คอรวง และศัตรูพืชจำพวกหนอน เช่น หนอนกอ และหนอนกระทู้คอรวงเป็นต้น ซึ่งจะทำให้ ต้นข้าวเสียหาย ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ
  • สัตว์เลี้ยง ระยะนี้จะมีอากาศหนาวเย็น โดยในช่วงวันที่ 14 - 16 พ.ย. อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส เกษตรกรควรจัดเตรียมวัสดุและอุปกรณ์สำหรับให้ความอบอุ่นแก่ตนเองและสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย
ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 10-14 พ.ย. มีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อย โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ส่วนในวันที่ 15-16 พ.ย. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • พืชไร่ /ไม้ผล/พืชผัก เนื่องจากฝนที่ตกและหยุดสลับกัน สภาพอากาศเหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ดังนั้น เกษตรกรที่ปลูก พืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชดังกล่าว ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • สัตว์น้ำ สำหรับสภาพอากาศที่หนาวเย็นทำให้สัตว์กินอาหารได้น้อยลง เกษตรกรควรลดปริมาณอาหารให้น้อยลง เพื่อไม่ให้อาหารที่เหลือทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งผลกระทบกับสัตว์ รวมทั้งเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อปรับอุณหภูมิน้ำ และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคตะวันออก

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 10-14 พ.ย. มีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะสูงขึ้นเล็กน้อย โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ส่วนในวันที่ 15-16 พ.ย. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-2 องศาเซลเซียส โดยมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • เกษตรกร เนื่องจากระยะต่อไปจะเป็นช่วงแล้ง ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตร ในช่วงที่มีฝนตกน้อย
  • ไม้ผล สำหรับไม้ผลที่อยู่ในระยะเตรียมแตกตาดอก เกษตรกรควรงดให้น้ำรอจนเห็นดอกชัดเจนแล้วจึงค่อยให้น้ำโดยให้ในปริมาณที่น้อยก่อนแล้วค่อยเพิ่มปริมาณขึ้น นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืช จำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไรชนิดต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต การแตกตาดอกลดลง

ภาคใต้

สภาพอากาศ 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างของภาค ในช่วงวันที่ 10-13 พ.ย. ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15 -35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1- 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 14-16 พ.ย. ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20 -35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ตลอดช่วง ลมตะวันออก ความเร็ว 15 -35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์
  • พื้นที่การเกษตร ในระยะนี้จะมีฝนตกชุกกับมีฝนตกหนักบางแห่งโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออก เกษตรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรจัดระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ ไม่ควรปล่อยให้น้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูกเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้
  • พืชสวน ในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกัน เกษตรกรที่ปลูกพืชสวน ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจาก เชื้อรา โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล โรครากขาว และหน้ากรีดยางในยางพารา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหาย และตายได้
  • ชาวเรือและชาวประมง ในช่วงวันที่ 14 - 16 พ.ย. บริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง ประมาณ 2 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 10-16 พฤศจิกายน 2560

ปริมาณฝนสะสมเดือนพฤศจิกายน (ในช่วงวันที่ 1-9 พ.ย.) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 25 มม. สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสม 10-300 มม. โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-300 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 25 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีปริมาณฝนสะสม 10-300 มม. โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 100-300 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 15-30 มม. ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่น โดยมีค่าอยู่ระหว่าง 25-30 มม.

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-10)-(-30) มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสม 10-300 มม. โดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีค่าสมดุลน้ำสะสม 100-300 มม. ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันตกตอนกลางมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-1)-(-20) มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณภาตใต้ของประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่วนประเทศไทยตอนบนมีฝนน้อย และในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนเล็กน้อยบางพื้นที่ กับมีหมอกในตอนเช้า เกตรกรควรให้น้ำเพิ่มเติมแก่พืชตามความเหมาะสม ส่วนภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกโดยภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว และจัดระบบระบายน้ำบริเวณแปลงปลูกพืชให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูกเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้

รายงานลักษณะอากาศในระยะ 7 วันที่ผ่านมา

ระหว่างวันที่ 3- 9 พฤศจิกายน บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนในระยะครึ่งแรกของช่วง จากนั้นอ่อนกำลังลง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ นอกจากนี้ไต้ฝุ่น "ด็อมเร็ย(Damrey,1723)" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางได้เคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงเช้าของวันที่ 4 พ.ย. แล้วอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนก่อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศกัมพูชาในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน แล้วอ่อนกำลังลงตามลำดับจนเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาในช่วงเช้าของวันต่อมา อีกทั้งหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมภาคใต้ได้เคลื่อนตัวลงสู่บริเวณอ่าวไทยตอนล่างแล้วทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันในช่วงเช้าของวันที่ 6 จากนั้นเคลื่อนตัวทางตะวันตกค่อนทางเหนืออย่างช้าๆเข้าสู่อ่าวไทยตอนกลางแล้วอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในช่วงบ่ายของวันต่อมาก่อนเคลื่อนเข้าปกคลุมจังหวัดชุมพรและประจวบคีรีขันธ์ แล้วเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลอันดามันในวันสุดท้ายของช่วง ลักษณะดังกล่าวทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นส่วนมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีฝนเพิ่มขึ้นในระยะกลางและปลายช่วง สำหรับภาคใต้มีฝนตกหนาแน่นส่วนมากทางฝั่งตะวันออกของภาค

ภาคเหนือ มีอากาศเย็นเกือบทั่วไปเกือบตลอดช่วง กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ทางตอนบนของภาค สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดดอยมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ในระยะกลางและปลายช่วง เว้นแต่ในวันที่ 6 พ.ย. มีฝนร้อยละ 70 ของพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นทั่วไปเกือบตลอดช่วง กับมีอากาศหนาวบางพื้นที่ในวันที่ 3 พ.ย. สำหรับบริเวณเทือกเขาและยอดภูมีอากาศหนาว โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ เว้นแต่ในวันที่ 5 พ.ย.มีฝนร้อยละ 60 ของพื้นที่ ภาคกลาง มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ในระยะต้นและกลางช่วง โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ในวันที่ 4 และ 8 พ.ย. และมีฝนมากกว่าร้อยละ 65 ของพื้นที่ในช่วงวันที่ 5-6 พ.ย. ภาคตะวันออก มีอากาศเย็นหลายพื้นที่ส่วนมากในระยะครึ่งแรกของช่วง โดยมีฝนร้อยละ 10-60 ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง กับมีฝนหนักบางแห่งในวันที่ 7 พ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักหลายแห่ง และหนักมากบางแห่ง เว้นแต่ในวันที่ 4 และ 6 พ.ย. มีฝนร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยมีรายงานน้ำท่วมบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในวันที่ 8 พ.ย. ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีอากาศเย็นบางพื้นที่ โดยมีฝนน้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ในระยะต้นและกลางช่วง จากนั้นมีฝนมากกว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักบางแห่ง

ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณจังหวัด นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนจังหวัดที่มีฝนตกหนักได้แก่ ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎ์ ภูเก็ตและตรัง

สำหรับบริเวณที่มีฝนตกหนักและหนักมากที่สุดตามภาคต่างๆ และกรุงเทพมหานครมีดังนี้

ภาคตะวันออก           44.5 มม. ที่ อ.เมือง จ.ตราด                        เมื่อวันที่  7 พ.ย.
ภาคใต้               170.0 มม. ที่ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง                     เมื่อวันที่  4 พ.ย.
ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ไม่มีรายงานฝนตกหนัก

สำหรับบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำที่สุดตามภาคต่างๆ และกรุงเทพมหานครมีดังนี้

ภาคเหนือ             13.8 ซ. ที่ กกษ.เชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย           เมื่อวันที่ 5 พ.ย.

6.6 ซ. ที่ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 3 พ.ย.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  15.6 ซ. ที่ กกษ.นครพนม อ.เมือง จ.นครพนม             เมื่อวันที่ 3 พ.ย.

8.0 ซ. ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง อ.ภูเรือ จ.เลย เมื่อวันที่ 6 พ.ย.

ภาคกลาง             18.1 ซ. ที่ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี                       เมื่อวันที่ 6 พ.ย.
ภาคตะวันออก          17.8 ซ. ที่ กกษ. ฉะเชิงเทรา อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 4 พ.ย.
ภาคใต้               20.0 ซ. ที่ กกษ.หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์       เมื่อวันที่ 6 พ.ย.
                              และ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่                  เมื่อวันที่ 6,9 พ.ย.
กรุงเทพมหานคร        22.5 ซ. ที่ ท่าอากาศยานกรุงเทพ เขตดอนเมือง            เมื่อวันที่ 4 พ.ย.

หมายเหตุ
เกณฑ์ปริมาณฝน                         ฝนเล็กน้อย            ฝนปานกลาง             ฝนหนัก             ฝนหนักมาก
ปริมาณฝนที่วัดได้ (มม.)                  0.1-10.0            10.1-35.0        35.1- 90.0              > 90.0
เกณฑ์อากาศหนาว                       อากาศเย็น            อากาศหนาว             อากาศหนาวจัด
อุณหภูมิอากาศ(องศาเซลเซียส)            16.0-22.9             8.0-15.9              ต่ำกกว่า 8.0

สอต. หมายถึง สถานีอุตุนิยมวิทยา, กกษ. หมายถึง กลุ่มงานอากาศเกษตร

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ