พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 6 - 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ข่าวทั่วไป Wednesday December 6, 2017 16:10 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 6 - 12 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ออกประกาศวันพุธที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 146/60

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 6-8 ธ.ค. ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า สำหรับภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออกบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ส่วนในช่วงวันที่ 9-12 ธ.ค. ประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง สำหรับสถานการณ์ของบริเวณภาคใต้บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะล และนราธิวาส จะยังคงมีฝนตกหนัก บางพื้นที่ ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ตลอดช่วง

คำเตือน ระยะนี้บริเวณภาคใต้จะมีฝนตกหนัก เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำท่วมขัง ส่วนบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรง ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่ง

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 6-8 ธ.ค. ทางตอนบนของภาคอากาศหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 14-16 องศาเซลเซียส ส่วนทางตอนล่างของภาคอากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 17-22 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 9 -12 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 13-21 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 2-8 องศาเซลเซียส กับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ อุณหภูมิสูงสุด 27-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงฤดูหนาวอากาศจะจมตัว เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงการจุดไฟเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เนื่องจากควันไฟจะไม่สามารถลอยขึ้นไปในบรรยากาศได้แต่จะแผ่ปกคลุมบริเวณข้างเคียง เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และทำให้ทัศนวิสัยลดลง เป็นอันตรายต่อการใช้รถใช้ถนน
  • ระยะนี้สภาพอากาศแห้ง เกษตรกรควรคลุมพื้นที่เพาะปลูก และบริเวณโคนต้นพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต ด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน และรักษาอุณหภูมิดิน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 6-8 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 14-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 9 -12 ธ.ค. อากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 14-20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 26-31 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูมีอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม. /ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งและบางช่วงอาจมีลมแรง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัย โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูก อาคารบ้านเรือน และโรงเก็บพืชผลทางด้านการเกษตร
  • สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรทำแผงกำบังลมหนาว เพื่อไม่ให้ลมโกรกโรงเรือน ป้องกันสัตว์เลี้ยงหนาวเย็น จนอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
  • ส่วนเกษตรกรที่ต้องการปลูกพืชในระยะนี้ควรมีน้ำสำรองให้แก่พืชในระยะเจริญเติบโต เพราะหากพืชได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ผลผลิตลดลง หากขาดน้ำจะทำให้สูญเสียผลผลิตโดยสิ้นเชิง

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 6-8 ธ.ค. อากาศเย็น กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 9-12 ธ.ค. อากาศเย็น อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส กับมีลมแรง อุณหภูมิต่ำสุด 17-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินใบและยอดอ่อนของพืช ทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนอย่าให้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เพื่อป้องกันสัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 6-8 ธ.ค. อากาศเย็น อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 9-12 ธ.ค. อากาศเย็น กับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 19-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

-สำหรับเกษตรกรที่ปลูกพืชไร่ ไม้ดอก และพืชผัก ควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืช ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

  • เนื่องจากระยะนี้และระยะต่อไปปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่เก็บกักไว้ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้มีน้ำใช้ทางด้านการเกษตร ในช่วงแล้ง

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 6-8 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากตั้งแต่จ.ชุมพรลงไป ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 9-12 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากตั้งแต่จ.นครศรีธรรมราชลงไป ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 25-31 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

ฝั่งตะวันตกในช่วงวันที่ 6-9 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนบนของภาค ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 10-12 ธ.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนล่างของภาค ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 25-30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

-ในระยะนี้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีปริมาณและการกระจายของฝนมากกว่าทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก กับจะมีฝนตกหนักได้บางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว

-สำหรับพื้นที่ซึ่งมีน้ำท่วม หากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูก อย่าให้น้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่าต้นพืชตายได้

-ในระยะนี้บริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นลมแรงโดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่ง

รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 6-12 ธ.ค. 2560

ปริมาณฝนสะสมเดือนธันวาคม (ในช่วงวันที่ 1-5 ธ.ค.) บริเวณประเทศไทยตอนบนไม่มีรายงานฝนตก สำหรับภาคใต้ ฝั่งตะวันออกส่วนมากมีปริมาณฝนสะสม 100-300 มม. ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีปริมาณฝนสะสม 25-100 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนไม่มีรายงานฝนตก สำหรับภาคใต้ตอนบนส่วนมากมีปริมาณฝนสะสม 50-300 มม. ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีปริมาณฝนสะสม 150-800 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 15-30 มม. โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างด้านตะวันออก และภาคกลางด้านตะวันออก มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่นๆ

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-10)-(-30) มม. สำหรับภาคใต้ตอนบนส่วนมาก มีค่าสมดุลน้ำสะสม 20-300 มม. ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีค่าสมดุลน้ำสะสม 100-600 มม. เป็นส่วนใหญ่

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ และในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศหนาวเย็น เกษตรกรควรดูแลสุขภาพของสัตว์เลี้ยงให้สมบูรณ์แข็งแรงและให้น้ำแก่พืชเพิ่มเติมตามความเหมาะสม สำหรับภาคใต้จะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ เกษตรกรควรระวังอันตราย และป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว และควรจัดระบบระบายน้ำบริเวณแปลงปลูกพืชให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวน และพืชผักต่างๆ ที่จะทำให้ต้นพืชเสียหาย ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ