พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 28 มีนาคม – 3 เมษายน พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Wednesday March 28, 2018 14:46 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 3 เมษายน พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันพุธที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 38/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 29-31 มี.ค. ประเทศไทยมีอากาศร้อน กับมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเพิ่มขึ้นส่วนในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย. บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ จะยังคงมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงได้บางพื้นที่ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกมีฝนลดลง

คำเตือน ในช่วงวันที่ 29-31 มี.ค. ขอให้เกษตรกรบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองที่จะเกิดขึ้น ส่วนในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย. ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 28 - 30 มี.ค. อากาศร้อน กับมีฝนฟ้าะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 31 มี.ค.– 3 เม.ย. อากาศร้อน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 18-24 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 32-38 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 55-65%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สภาพอากาศที่ร้อนและแห้งในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการเกิดอัคคีภัยและไฟป่า โดยทำแนวกันไฟรอบพื้นที่เพาะปลูก อาคารบ้านเรือน ตลอดจนโรงเก็บพืชผลทางด้านการเกษตร รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพราะควันไฟจะทำทัศนวิสัยลดลง เป็นอันตรายต่อการสัญจรและเป็นมลพิษทางอากาศ
  • สำหรับสภาพอากาศที่ร้อนในตอนกลางวัน เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรลดอุณหภูมิภายในโรงเรือน โดยดูแลโรงเรือนให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก หรือฉีดน้ำเป็นฝอยภายในโรงเรือนรวมทั้งจัดหาน้ำดื่มให้กับสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันสัตว์เครียด อ่อนแอ และเจ็บป่วยได้ง่าย
  • เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูดใน พืชไร่ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 29 - 31 มี.ค. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่และมีลมกระโชกแรง ส่วนในช่วงวันที่ 1 – 3 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 60-70%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 29-31 มี.ค. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว และควรหลีกเลี่ยงการตากผลผลิตทางการเกษตรไว้กลางแจ้ง เพราะจะทำให้เปียกชื้นเสียหายได้
  • ระยะนี้ปริมาณน้ำระเหยมีมาก ทำให้ความชื้นในดินลดลงเกษตรกรควรคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชและโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อรักษาความชื้นในดิน ส่วนผู้ที่ต้องการจะปลูกพืชรอบใหม่ ควรเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และควรมีน้ำสำรองให้แก่พืชในระยะเจริญเติบโตอย่างเพียงพอ หากพืชได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ผลผลิตลดลง
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยงควรดูแลสภาพน้ำให้เหมาะสมกับชนิดของสัตว์น้ำที่เลี้ยง รวมทั้งดูแลจำนวนสัตว์น้ำที่เลี้ยงให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่หากขาดความสมดุลจะทำให้สัตว์น้ำอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 28 - 30 มี.ค. อากาศร้อน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 31 มี.ค. - 3 เม.ย. อากาศร้อน กับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของ พื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียสลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้แม้จะมีฝนแต่มีปริมาณน้อย ซึ่งไม่พอเพียงกับความต้องการของพืช เกษตรกรควรจัดหาน้ำให้แก่พืชที่ปลูกเพิ่มเติมตามความเหมาะสม และคลุมโคนต้นพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อรักษาความชื้นในดิน
  • สำหรับสภาพอากาศที่ร้อนในตอนกลางวัน เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ควรลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนโดยการดูแลให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก หรือฉีดน้ำเป็นฝอยภายในโรงเรือนรวมทั้งจัดหาน้ำดื่มให้กับสัตว์เลี้ยงอย่างเพียงพอ เพื่อป้องกันสัตว์เครียด อ่อนแอ และเจ็บป่วยได้ง่าย

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 29 - 31 มี.ค. มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-40 ของพื้นที่และมีลมกระโชกแรง ส่วนในช่วงวันที่ 1 – 3 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 65-75%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ในช่วงวันที่ 29-31 มี.ค. จะมีพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว รวมทั้งควรผูกยึดและค้ำยันกิ่งของไม้ผลให้อยู่ในสภาพมั่นคงและแข็งแรง เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักต้นโค่นล้มเมื่อมีลมแรง
  • สำหรับสวนผลไม้ หากในช่วงที่ผ่านมามีผลร่วงหล่นเนื่องจากลมแรง เกษตรกรควรนำไปกำจัดให้ถูกวิธี โดยเผาหรือฝังให้ลึกไม่ควรกองสุมอยู่ภายในบริเวณสวน เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและศัตรูพืช
  • ส่วนฝนที่ตกในบางช่วง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและด้อยคุณภาพ

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 28 - 30 มี.ค. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 31 มี.ค. - 3 เม.ย. มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิ ต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80%

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้แม้จะมีฝนตก แต่มีปริมาณน้อย ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช เกษตรกรควรให้น้ำ เพิ่มเติมตามความเหมาะสม และคลุมดินบริเวณแปลงปลูกพืชด้วยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดการระเหยของน้ำบริเวณผิวดิน รักษาความชื้นภายในดิน รวมทั้งระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกปากดูด เช่น เพลี้ยและไร ชนิดต่างๆ ซึ่งจะดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้พืชทรุดโทรม ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • นอกจากนี้ เกษตรกรควรวางแผนการใช้น้ำที่มีอยู่ให้เหมาะสมเพื่อจะได้มีน้ำ ใช้ในช่วงแล้ง รวมทั้งใช้น้ำ ที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ให้น้ำบริเวณทรงพุ่ม หรือระบบน้ำหยด
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 28 มี.ค. - 3 เม.ย. 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนมีนาคม (ในช่วงวันที่ 1-27 มีนาคม) บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม.เว้นแต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างด้านตะวันออกและภาคตะวันออกตอนล่าง มีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 100-150 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีปริมาณฝนสะสม 25-100 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา บริเวณประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. สำหรับภาคใต้มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 50 มม. เว้นแต่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนกลางมีปริมาณฝนสะสมสูงสุด 50-100 มม.

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 25-40 มม. โดยภาคเหนือตอนบนและภาคใต้ตอนล่างมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสมมากกว่าบริเวณอื่นๆ

สมดุลน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-1)-(-40) มม. เว้นแต่ภาคตะวันออกตอนล่างมีค่าสมดุลน้ำสะสม 1-20 มม. สำหรับภาคใต้ส่วนมากมีค่าสมดุลน้ำสะสม (-1)-(-40) มม. เว้นแต่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีค่าสมดุลน้ำสะสม 1-40 มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมาบริเวณประเทศไทยมีรายงานฝนตกหนักหลายพื้นที่กับมีฝนตกหนักมากบางแห่ง และมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางพื้นที่เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว และควรระวังการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งจะกัดกินส่วนอ่อนของพืชทำให้ผลผลิตเสียหายได้ สำหรับภาคใต้จะมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ตลอดช่วง เกษตรกรควรระวังการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชสวน และพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ