พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระหว่าง 5 - 11 กันยายน พ.ศ. 2561

ข่าวทั่วไป Wednesday September 5, 2018 15:32 —กรมอุตุนิยมวิทยา

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ระหว่างวันที่ 5-11 กันยายน พ.ศ. 2561

ออกประกาศวันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2561

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 107/61

การคาดหมายลักษณะอากาศ ในช่วงวันที่ 5 – 6 ก.ย. 61 บริเวณประเทศไทยจะมีฝนลดลง กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณด้านตะวันตกของภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนในช่วงวันที่ 7-11 ก.ย. 61 บริเวณประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน และคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ลักษณะสำคัญทางอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 5 – 6 ก.ย. 61 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังปานกลาง ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ประเทศจีนตอนใต้ และเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 7 – 11 ก.ย. 61 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง และคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น

คำเตือน ในช่วงวันที่ 7 – 11 ก.ย. 61 ขอให้เกษตรกรบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ระมัดระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งและดินโคลนถล่ม สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

คำแนะนำสำหรับการเกษตร

ภาคเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 5 – 6 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 7 – 11 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 21-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักบางแห่งพื้นที่การเกษตรที่อยู่บริเวณเชิงเขา หรือที่ราบลุ่มเชิงเขาเกษตรกรควรระวังและป้องกันสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากฝนที่ตกสะสม รวมทั้งดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก
  • สำหรับฝนที่ตกต่อเนื่องทำให้สภาพอากาศมีความชื้นสูงเกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผักต่างๆ ซึ่งมักระบาดในช่วงที่ฝนตกชุก ซึ่งดินและอากาศมีความชื้นสูง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 5 – 6 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 7 – 11 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ70-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้ทางตอนบนและด้านตะวันออกของภาคยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกัน ความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังเมื่อมีฝนตกหนัก
  • ส่วนฝนที่ตกด้านตะวันตกและตอนล่างของภาคจะเป็นผลดีกับพืชผลทางการเกษตรที่ขาดน้ำในช่วงที่ผ่านมา
  • บริเวณที่มีน้ำท่วมขังเกษตรกรผู้ที่เลี้ยงสัตว์ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย โดยเฉพาะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เท้ากีบ เช่นโคและกระบือเป็นต้น

ภาคกลาง

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 5 – 7 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 8 – 11 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • สำหรับฝนที่ตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่ง อาจทำให้เกิดน้ำท่วมขังในที่ลุ่มได้ เกษตรกรควรจัดระบบระบายน้ำในแปลงปลูกพืชให้มีประสิทธิภาพ โดยดูแลคูคลองอย่าให้ตื้นเขิน ให้น้ำไหลได้สะดวก รวมทั้งจัดเตรียมวัสดุสำหรับกั้นน้ำและอุปกรณ์สำหรับสูบน้ำเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน
  • สำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อควรสำรวจขอบบ่อให้ดูมั่นคงแข็งแรงเพื่อป้องกันน้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อซึ่งจะทำ ให้สภาพน้ำ เปลี่ยน สัตว์น้ำ ปรับตัวไม่ทันอ่อนแอ และเป็นโรคได้ง่าย และเปิดเครื่องตีน้ำหลังจากมีฝนตกหนัก เพื่อปรับสภาพน้ำและเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ

ภาคตะวันออก

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ในช่วงวันที่ 5 – 7 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 8 – 11 ก.ย.61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70-80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม.ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียสอุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ระยะนี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่งพื้นที่การเกษตรซึ่งอยู่ในที่ลุ่ม เกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตร โดยปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในแปลงปลูก
  • สำหรับฝนที่ตกชุกกับมีฝนตกหนักบางแห่ง อาจทำให้มีปริมาณน้ำในแปลงนาเพิ่มสูงขึ้นและท่วมต้นข้าวได้ชาวนาควรหมั่นสำรวจแปลงนาและปรับปรุงระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมแปลงนาเมื่อมีฝนตกหนัก รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา โดยเฉพาะโรคไหม้ซึ่งจะระบาดมากในช่วงที่สภาพอากาศมีความชื้นสูง

ภาคใต้

พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร 7 วันข้างหน้า

ฝั่งตะวันออก ในช่วงวันที่ 5 – 7 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนในช่วงวันที่8 – 11 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียสความชื้นสัมพัทธ์ 75-85 %

ฝั่งตะวันตก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ตลอดช่วง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ในช่วงวันที่ 5 – 7 ก.ย. 61 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง1-2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 8 – 11 ก.ย. 61 ลมตะวันตกเฉียงใต้ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตรส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80-90 %

ผลกระทบต่อพืช/สัตว์

  • ภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีฝนเพิ่มขึ้นจากช่วงที่ผ่านมาโดยในช่วงวันที่ 7-10 ก.ย. 61 มีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งจะเป็นผลดีกับพืชที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต ส่วนพื้นที่ซึ่งมีฝนตกและหยุดสลับกันสภาพอากาศเหมาะแก่การระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ซึ่งศัตรูพืชดังกล่าวจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชเช่นใบอ่อนและยอดอ่อน ทำ ให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
  • ภาคใต้ฝั่งตะวันตกยังมีฝนต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่ง เกษตรกรควรระวังอันตราย และป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังบริเวณแปลงปลูกเมื่อมีฝนตกหนัก รวมทั้งควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสนิมใน กาแฟ โรคหน้ากรีดยาง ในยางพารา เป็นต้น โดยดูแลพื้นที่เพาะปลูกให้โปร่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นภายในสวน
รายงานสถานการณ์สมดุลน้ำใน 7 วันที่ผ่านมา และการคาดการณ์ผลกระทบต่อการเกษตร ในช่วงวันที่ 5 ส.ค. – 11 ก.ย. 2561

ปริมาณฝนสะสมเดือนกันยายน (ในช่วงวันที่ 1-4 ก.ย.) ประเทศไทยส่วนใหญ่มีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 100 มม. เว้นแต่บางพื้นที่บริเวณจังหวัดนครนายก ตราด ระนอง และพังงา ที่มีปริมาณฝนสะสม 100-300 มม.

ปริมาณฝนสะสม 7 วันที่ผ่านมา (ช่วงวันที่ 29 ส.ค. – 4 ก.ย. ) ประเทศไทยมีปริมาณฝนสะสมต่ำกว่า 150 มม. เป็นส่วนใหญ่

ศักย์การคายระเหยน้ำสะสม บริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนมากมีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 15-20 มม. เว้นแต่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางด้านตะวันออก และภาคตะวันออก มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 25-35 มม.สำหรับภาคใต้ส่วนใหญ่มีค่าศักย์การคายระเหยน้ำสะสม 25-30 มม.

สมดุลน้ำสะสม ประเทศไทยส่วนใหญ่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นบวก คือ 1–100 มม. เว้นแต่บริเวณภาคเหนือ ภาคใต้ตอนบนและตอนกลาง ที่มีค่าสมดุลน้ำสะสมเป็นลบ คือ (-1) – (-30) มม.

คำแนะนำ ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายงานฝนตกหนักหลายพื้นที่ และฝนหนักมากบางแห่ง สำหรับในช่วง 7 วันข้างหน้า ประเทศไทยจะยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม โดยดูแลระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังแปลงปลูก นอกจากนี้เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหายได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ